สมเด็จพระเอกาทศรถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์25 เมษายน พ.ศ. 2148 - พ.ศ. 2153 (5 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ถัดไปสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
พระมหาอุปราชเจ้าฟ้าสุทัศน์
พระราชสมภพพ.ศ. 2103
พิษณุโลก
สวรรคตพ.ศ. 2153 (50 พรรษา)
กรุงศรีอยุธยา
พระราชบุตรเจ้าฟ้าสุทัศน์
สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ราชวงศ์สุโขทัย
พระราชบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระราชมารดาพระวิสุทธิกษัตรีย์
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ

สมเด็จพระเอกาทศรถ[1] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 19 แห่งอาณาจักรอยุธยาและพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. 2148 ถึง 2153/54[2] และเป็นเจ้าแห่งล้านนาระหว่าง พ.ศ. 2148 ถึง 2151/52 สืบราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัชสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่สงบสุขเนื่องจากสยามเป็นรัฐที่มีอำนาจผ่านการพิชิตดินแดนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในรัชสมัยของพระองค์เริ่มมีชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาเป็นกองทหารรับจ้าง โดยเฉพาะสมเด็จพระเอกาทศรถมีกองทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่นภายใต้บังคับบัญชาของยามาดะ นางามาสะ หรือออกญาเสนาภิมุข

พระราชประวัติ[แก้]

สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า พระองค์ขาว ตามสีพระวรกาย[3] เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2103[4] เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระโสทรานุชาในพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระเอกาทศรถได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกรบอยู่เสมอจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2[3] เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2148 โดยไม่มีพระราชโอรส[5] บรรดาเสนาอำมาตย์จึงอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์แต่เพียงพระองค์เดียว ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรพรรดิสร บวรราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาษภาษกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนศวรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศัย สมุทยตโรมนต์ สากฬจักรพาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดีวิบุลย์ คุณรุจิตฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธ์ มกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตร[6]

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ไม่มีข้าศึกเข้าประชิดพระนคร แต่มีต่างชาติเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากยิ่งกว่าแต่ก่อน เช่น พระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ พญาตองอู พญาล้านช้าง นอกจากนี้ยังมีพระราชสาส์นติดต่อกับอุปราชโปรตุเกสประจำเมืองกัวด้วย[4]

สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2153 ขณะพระชนมพรรษา 50 พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ 5 ปี สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ซึ่งเป็นพระราชโอรสจึงได้สืบเสวยราชสมบัติต่อ

พระราชกรณียกิจ[แก้]

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างวัดวรเชษฐารามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2136 เพื่อเป็นพระราชานุสรณ์ถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบรมเชษฐาธิราช[7]

สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ส่งเอกอัครราชทูตพร้อมด้วยทูตานุทูตไปยังฮอลันดาจำนวน 20 คน ไปในเรือลำเดียวกันกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ในแบบอย่างเต็มยศ คือมีพระราชสาส์น ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่มีค่า ถูกต้องตามแบบแผนประเพณีของการเจริญพระราชไมตรีสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางไปถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2151 คณะทูตานุทูตที่ได้ส่งไปประเทศฮอลันดา ถือเป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป

อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของฮอลันดาไม่ได้ระบุชื่อราชทูตหรือบุคคลใด ๆ ในคณะทูต ทราบเพียงแต่จำนวนว่ามีหัวหน้าสองท่าน (ราชทูตและอุปทูต) พนักงานรักษาเครื่องราชบรรณาการ เจ้าพนักงานพระราชสาส์น และอื่น ๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมอร์ริส เจ้าชายแห่งออเรนจ์ในวันถัดจากที่เดินทางมาถึง[8]

พระราชโอรส[แก้]

  1. เจ้าฟ้าสุทัศน์ ได้เป็นพระมหาอุปราช แล้วเสวยยาพิษสิ้นพระชนม์
  2. สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ครองราชย์เพียง 1 ปี 2 เดือน ก็ถูกถอดจากราชสมบัติแล้วสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
  3. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้แก่

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนาม ผู้ที่ทำลับแลไฟ ถวายพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในการพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
  2. "History of Ayutthaya - Historical Events - Timeline 1600-1649". www.ayutthaya-history.com.
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 121
  4. 4.0 4.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 126
  5. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 123
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 251
  7. "วัดวรเชษฐาราม". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
  8. "ประวัติสัมพันธไมตรีสยาม-เนเธอร์แลนด์ รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ (1)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-14. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 126-127. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระเอกาทศรถ ถัดไป
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2148 — พ.ศ. 2153)
สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระนเรศวร
พระมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุโขทัย)

เจ้าฟ้าสุทัศน์