สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง1 มกราคม 2552
สำนักงานใหญ่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
งบประมาณประจำปี576.1338 ล้านบาท (พ.ศ. 2563)
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • สุวิทย์ เมษินทรีย์[1], ประธานกรรมการ
  • ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา, ผู้อำนวยการ
  • ธนา ธนาเจริญพร, รองผู้อำนวยการ
  • ดร.วิภู รุโจปการ, รองผู้อำนวยการ
  • จุลลดา ขาวสะอาด, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เว็บไซต์www.narit.or.th
เฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) (อังกฤษ: National Astronomical Research Institute of Thailand; NARIT) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยประเภทองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ของประเทศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในรูปแบบองค์การมหาชน เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการสร้างสังคมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนชาวไทย และนอกจากนี้ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระ 200 ปี แห่งการพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์ไทย พ.ศ. 2547 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

15 สิงหาคม พ.ศ. 2549 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกระดับประเทศ (National Membership) ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union)

22 ตุลาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

27 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551 ขึ้น และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25 ตอนที่ 138 ก วันที่ 31 ธันวาคม 2551

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีผลใช้บังคับ ถือวันเป็นสถาปนา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยงานดาราศาสตร์ของชาติ อย่างเป็นทางการ โดยได้เช่าอาคารศิริพานิชเป็นสำนักงานของสถาบัน ก่อนใหญ่มายังอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเมื่อปี พ.ศ. 2563

ผู้อำนวยการ[แก้]

  1. รองศาสตรจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม (1 มกราคม พ.ศ. 2552 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560)
  2. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา (30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน)

สถานที่ในกำกับดูแล[แก้]

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

จังหวัดเชียงใหม่[แก้]

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (เปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563)
  • ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ และฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (กม.31) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์
  • หอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่สถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม. 44.4 อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  • หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

สดร. ขยายการศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งงานวิจัย เทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านดาราศาสตร์วิทยุ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ มีแผนดำเนินการสร้าง “หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ” ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงสังเกตการณ์ด้านคลื่นวิทยุ และกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร เพื่อสร้างงานวิจัยด้านยีออเดซี่และวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และยังสามารถเข้าร่วมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกล (Very Long Baseline Interferometer: VLBI) เพื่อเชื่อมต่อและร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่าย VLBI ของโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ภูมิภาค[แก้]

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

สดร. ดำเนินโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จำนวน  5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถานศึกษาในท้องถิ่น สนับสนุนการบริการวิชาการดาราศาสตร์แก่ชุมชน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค

ต่างประเทศ[แก้]

กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ณ Cerro Tololo Inter-american Observatory, Chile

สดร. ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4-0.7 เมตร ในต่างประเทศ ณ พื้นที่มีทัศนวิสัยที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า ควบคุมการทำงานจากระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าได้ตลอดเวลาทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงานวิจัยระดับโรงเรียนโดย ครู อาจารย์ และนักเรียนอีกด้วย ปัจจุบัน ติดตั้งแล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่

  • หอดูดาวเซอร์โรโทโลโล อินเตอร์อเมริกัน ประเทศชิลี
  • หอดูดาวเกาเหมยกู่ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
  • หอดูดาวเซียร่ารีโมท มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
  • หอดูดาวสปริงบรู๊ค รีเซิร์ช ประเทศออสเตรเลีย

งานวิจัย[แก้]

สดร. ดำเนินแนวทางการวิจัยใน 4 Key Science Areas ได้แก่ Space Weather and Earth’s Climate, Understanding Physics of the Universe, Exoplanets and Astrobiology, Understanding the Origin of the Cosmos และอื่นๆ ได้แก่ Optics, RF, Data Archive ภายใต้  5 กลุ่มวิจัยหลัก ดังนี้

  1. กลุ่มทัศนศาสตร์และเครื่องมือทัศนศาสตร์ขั้นสูง - ศึกษาวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ และเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์เชิงแสง ที่ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรงยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ลดระยะโฟกัส การพัฒนาสเปกโทรกราฟ การสร้างอุปกรณ์ถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ และออกแบบพัฒนากล้องโทรทรรศน์ขนาดกลาง เป็นต้น
  2. กลุ่มดาราศาสตร์วิทยุ - ศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุในการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัลซาร์ หรือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงมากและแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ
  3. กลุ่มวิทยาศาสตร์บรรยากาศ - ศึกษาผลกระทบของอวกาศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเชื่อมโยงระหว่างการเกิดเมฆกับปริมาณรังสีคอสมิกที่วิ่งมาสู่โลก การเกิดละอองลอยปกคลุมท้องฟ้าที่ไม่ได้เกิดจากเผาชีวมวลที่มีผลกระทบต่อการศึกษาดาราศาสตร์ในขณะสังเกตการณ์บนท้องฟ้า  ศึกษาถึงผลของสภาพอากาศและละอองลอยต่อชั้นบรรยากาศโลกและดาวเคราะห์
  4. กลุ่มจักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี - ศึกษาวิจัยถึงกำหนดของจักรวาล กำเนิดและวิวัฒนาการของดาวดวงแรก การเกิดและวิวัฒนาการของกาแลกซีในยุคแรกของเอกภพ ทำความเข้าใจธรรมชาติของ สสารและปฏิสสาร หลุมดำ พลังงานมืด สสารมืด พัลซาร์ ดาวแปรแสง เควซาร์ และการปลดปล่อยรังสีแกมมาอย่างรุนแรง
  5. กลุ่มดาราศาสตร์แสง - ศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ใช้กล้องโทรทรรศน์แสงในการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ศึกษาดาวแปรแสง ศึกษาดาวคู่ และวิวัฒนาการของดาว เป็นต้น

ปัจจุบัน มีนักวิจัย 19 คน ผู้ช่วยนักวิจัยของโครงการต่างๆ 23 คน รวมทั้งสิ้น 42 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ค่า Impact Factor เฉลี่ยอยู่ในระดับ 4-5 ในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2562 มีนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ทั้งในและต่างประเทศของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในการทำวิจัย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มี Impact factor มากกว่า 4 ทั้งหมด 43 ผลงาน

ตัวอย่าง งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ดังกล่าว คือ “การค้นพบการเกิดดาวเคราะห์คล้ายโลกในระบบดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่” ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.วิภู รุโจปการ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้สังเกตการณ์ระบบดาวฤกษ์เกิดใหม่ NGC2547-ID8 ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา ศึกษาพบการระเบิดของฝุ่นรอบดาวฤกษ์ดังกล่าว ที่เกิดจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่รอบดาวเคราะห์ การชนกันลักษณะนี้จะนำไปสู่การก่อตัวของดาวเคราะห์ดวงใหม่เช่นเดียวกับการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราในอดีต งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ ในวารสาร Science ที่มี Impact Factor สูงถึง 34.66

อีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ คือการศึกษาชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b นำโดย ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ทำการสังเกตการณ์การผ่านหน้าของดาวเคราะห์ GJ3470b ด้วยกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ ผลการศึกษาพบว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ GJ3470b มีสีฟ้า และมีธาตุมีเทนเจือปนในชั้นบรรยากาศ นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ค้นพบธาตุมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบดังกล่าว งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society มี Impact factor 4.961 นอกจากนี้ผลของงานวิจัยนี้ ร่วมกับงานวิจัยอื่นด้านดาวเคราะห์นอกระบบในระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอก ของ ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือในโครงการ Springer Theses ของสำนักพิมพ์ Springer

การเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลก[แก้]

กระจกกล้องโทรทรรศน์ในโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ
ต้นแบบอุปกรณ์ชดเชยสนามแม่เหล็กโลก ณ สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง ประเทศจีน

สดร. ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายโครงการ แสดงถึงการยอมรับและศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในเวทีโลก เข้าร่วมโครงการขนาดใหญ่นี้ของประเทศไทย เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้พัฒนาศักยภาพ และสามารถศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าได้ทัดเทียมกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก และมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย

ตัวอย่าง โครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ สดร. เข้าร่วม มีดังนี้

  1. การเข้าร่วมโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array: CTA) เป็นความร่วมมือของ 25 ประเทศ มูลค่ารวม 400 ล้านยูโร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา High Energy Astroparticles จะติดตั้งหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ ณ ประเทศสเปน และชิลี สดร. เข้าร่วมโครงการ CTA ในส่วนการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ จำนวน 6,400 บาน โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  2. การเข้าร่วมโครงการ Jiangmen Underground Neutrino Observatory : JUNO ภายใต้สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการศึกษาอนุภาคนิวตริโน มีหน่วยงานร่วมดำเนินการมากกว่า 70 สถาบัน จาก 16 ประเทศทั่วโลก มูลค่ารวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ  ประเทศไทยเข้าร่วมในลักษณะการเป็น Consortium ของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบการออกแบบคอยล์แม่เหล็ก เพื่อป้องกันอุปกรณ์รับสัญญาณจากสนามแม่เหล็กโลก
  3. สดร. เข้าร่วมโครงการ Gravitational-Wave Optical Transient Observer : GOTO  ร่วมกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เพื่อติดตั้งกล้องโทรทรรศน์มุมกว้าง ที่สามารถถ่ายภาพวัตถุทั่วท้องฟ้าตลอดเวลาทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ เพื่อติดตามวัตถุที่อาจเป็นต้นกำเนิดของคลื่นความโน้มถ่วง เมื่อมีการตรวจวัดเหตุการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยหอสังเกตการณ์ LIGO  รวมถึงสามารถใช้ในการสำรวจท้องฟ้า เพื่อค้นหาวัตถุในระบบสุริยะที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

ความร่วมมือทางดาราศาสตร์กับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ[แก้]

สดร. มีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติที่ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโลกการเรียนรู้ให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์ดาราศาสตร์เพื่อการพัฒนาในระดับนานาชาติ 2 ศูนย์ ได้แก่ International Training Center in Astronomy under the Auspices of UNESCO (ITCA) และ Southeast Asia - Regional Office of Astronomy for Development (SEAROAD)

ปัจจุบัน (ปี 2563) มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวม 67 ฉบับ (ในประเทศ  33  ฉบับ และต่างประเทศ 34 ฉบับ)

ตัวอย่าง ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นดังนี้

  • Max Planck Institute for Radio Astronomy (Germany) ในการสร้างเครื่องรับสัญญาณวิทยุในช่วงคลื่น L-band และ K-band
  • Jodrell Bank Center for Astrophysics, University of Manchester (UK) ในการสร้าง Universal backend ซึ่งจะใช้ GPU เป็นตัวประมวลผลแทนแบบเดิม
  • Institut d’Optique Graduate School (France) ในการพัฒนาเครื่องมือขั้นสูงทางทัศนศาสตร์
  • National Astronomical Observatory of Japan (Japan) ในการทดสอบเพื่อการตรวจรับงานสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
  • Polar Research Institute of China, Chinese Academy of Sciences (China) ในการวิจัยดาราศาสตร์ที่ขั้วโลกใต้
  • Centre for Astrophysics and Space Science (CASS), CSIRO (Australia) ในความร่วมมือด้านดาราศาสตร์วิทยุ

ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย[แก้]

ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย (Thai Space Consortium) สดร. ริเริ่มและผลักดันให้เกิดความร่วมมือสำคัญของ 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ - สดร. สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ - สทอภ. และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน- สซ. ในการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อใช้ในการวิจัย ดาวเทียมดังกล่าว จะถูกออกแบบและสร้างโดยทีมวิศวกรและบุคลากรของ 3 หน่วยงาน เป็นการสร้างประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย และอนาคตจะเป็นพื้นฐานให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ คาดว่าจะสามารถส่งขึ้นสู่อวกาศได้ภายในปี 2567 ดาวเทียมดวงนี้ มีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม มี Payload หลัก ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. ซึ่งออกแบบและสร้างโดย สดร. มี Payload รอง ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดที่ศึกษาสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และจะถูกส่งไปที่วงโคจร 500-800 กิโลเมตร

การสร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทย[แก้]

กิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับประชาชน

สดร. สร้างความตระหนัก และสื่อสารดาราศาสตร์ไปสู่สาธารณชนในหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ ทั้งเด็กและเยาวชน ครูอาจารย์ ประชาชนทั่วไป และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความสนใจ ยกระดับและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้คำนึงถึงเนื้อหาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมมากกว่า 200,000 คน ต่อปี

โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัดเปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า”[แก้]

การฝึกปฏิบัติการใช้กล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียน

สดร. ได้ริเริ่ม โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัดเปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ตั้งแต่ปี 2558 ทำการคัดเลือกโรงเรียนจากทั่วประเทศเพื่อรับมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ชุดใหญ่ สำหรับจัดการเรียนการสอน กิจกรรมทางดาราศาสตร์ และสังเกตการณ์ท้องฟ้า ภายในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง มุ่งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ให้ทั่วถึงและทัดเทียมกันทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “60 พรรษา เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์”

ปัจจุบัน ได้ส่งมอบไปแล้วทั้งสิ้น 410 โรงเรียน 72 จังหวัด โรงเรียนที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียน และชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในวงกว้างที่ผ่านมาในปี 2558-2561 เกิดกิจกรรมดาราศาสตร์รวมมากกว่า 4,500 กิจกรรม และยังสนับสนุนสื่อเรียนรู้ให้แก่โรงเรียน สถานศึกษา หน่วยงาน หรือชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน ปีละมากกว่า 500 หน่วยงาน นอกจากนี้ ได้ขยายผลโครงการ เกิดเป็นโครงการ “มุมดาราศาสตร์ดาราศาสตรในโรงเรียน (Astro Corner)” มอบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์เพื่อให้โรงเรียนหรือสถานศึกษานำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรมทางดาราศาสตร์ เสริมสร้างทักษะ กระตุ้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และหวังว่าจะก่อให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ที่เข้มแข็ง นำดาราศาสตร์ให้เข้าถึงเยาวชนและประชาชนในทุกภูมิภาคอย่างเท่าถึงและทัดเทียมกัน

การสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคมไทย[แก้]

สดร. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “การสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคมไทย” มีการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ หลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งข่าวแจกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ แถลงข่าวกรณีมีปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์น่าสนใจ ในแต่ละปีมีการส่งข่าวแจกมากกว่า 90 ครั้ง มีเวปไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลและกิจกรรม มีผู้เข้าชมเว็ปไซต์มากกว่า 100,000 คนต่อเดือน มีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง สดร. กับประชาชน มีการอัปเดตข้อมูลข่าวสารผ่านเฟซบุ๊ค www.facebook.com/NARITpage มากกว่า 1,000 ครั้งต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิกแฟนเพจที่ติดตาม มากกว่า 350,000 คน ฯลฯ นอกจากนี้ในช่วงต้นปี มีการจัดแถลงข่าว 10 เรื่อง ดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลล่วงหน้า

ปัจจุบันมีประชาชนให้ความสนใจและเปิดรับข้อมูลข่าวสารดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าดาราศาสตร์มีส่วนทำให้เกิดกระแสความสนใจ สร้างความตระหนัก ความตื่นตัว สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย สดร. คาดหวังว่าจะใช้ดาราศาสตร์จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุและผลเพื่อเป็นรากฐานการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป

  • NARIT Facebook fanpage เป็น 1 ใน 100 ครีเอเตอร์ไทยที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี 2019 จากการจัดอันดับของ Rainmaker

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. มติครม. 14 มีนาคม 2566