สถาบันปาสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์การแพทย์สถาบันปาสเตอร์ ถนนโวชิราด์ (Vaugirard) กรุงปารีส

สถาบันปาสเตอร์ หรือสถานปาสเตอร์ (อังกฤษ: Pasteur Institute, ฝรั่งเศส: Institut Pasteur) เป็นองค์กรวิจัยซึ่งไม่หวังผลกำไร เริ่มดำเนินการขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2430 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 วัตถุประสงค์ของสถาบันคือ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยในด้านชีววิทยา จุลชีพ โรค และวัคซีน ปัจจุบันมีสาขาในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ

ผู้ก่อตั้งสถาบันคือ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้วางรากฐานการแพทย์สมัยใหม่ โดยได้คิดค้นการพาสเจอไรซ์ซึ่งเป็นเทคนิคการฆ่าเชื้อในอาหารแบบหนึ่ง นอกจากนี้เขายังได้คิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า และแบคทีเรียโรคแอนแทรกซ์

สถาบันปาสเตอร์ถือเป็นสถาบันแนวหน้าในการต่อสู้กับโรคติดต่อนานาชนิดมากว่าศตวรรษแล้ว เช่น โรคคอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ ตลอดจนเป็นสถานที่ทำงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลหลายคน

ประวัติและผลงาน[แก้]

แองสติชู ปาสเตอ หรือสถาบันปาสเตอร์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2430 โดยหลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีและจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส โดยมุ่งหมายให้เป็นสถานค้นคว้าศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจุลชีววิทยาทั้งทางด้านการวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยต่อยอดประยุกต์ โดยปาสเตอร์ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วยกันในสถาบันของเขา ห้าแผนกแรกของสถาบันมีดังนี้

  • แผนกวิจัยจุลชีววิทยาทั่วไป มีเอมิล ดูโคลซ์ (Émile Duclaux) เป็นหัวหน้า
  • แผนกวิจัยสุขอนามัยและจุลชีพ มีชาร์ล จงแบร์ลองด์ (Charles Chamberland) เป็นหัวหน้า
  • แผนกวิจัยการเปลี่ยนสัณฐานของจุลชีพ มีอิลยา อิลยิช เมชนิคอฟ (Ilya Ilyich Mechnikov) ชาวรัสเซีย เป็นหัวหน้า
  • แผนกวิจัยโรคพิษสุนัขบ้า มีนายแพทย์ชาก-โชเซฟ กรองเชร์ (Jacques-Joseph Grancher) เป็นหัวหน้า
  • แผนกวิจัยจุลชีพเชิงเทคนิค มีนายแพทย์เอมิล รูซ์ (Emile Roux) เป็นหัวหน้า

หลังจากก่อตั้งเพียงหนึ่งปี รูซ์ได้เปิดหลักสูตรจุลชีววิทยาเป็นหลักสูตรแรกของโลกในชื่อ กูร์ เดอ มิโกรบี เตกนิค (Cours de Microbie Technique;หลักสูตรว่าด้วยเทคนิคทางจุลชีพ) ในระยะแรก สถาบันได้ประสบปัญหาทางการเงินซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เจ้านายต่างประเทศ และชนชั้นสูง ในเวลาต่อมาก็ได้รับเงินสนับสนุนจากการขายวัคซีนเพื่อเป็นทุนหล่อเลี้ยงสถาบัน

สถาบันมีบทบาทสำคัญมากในด้านสุขศาสตร์ทหาร โดยเฉพาะระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งทางสถาบันต้องรับมือกับเชื้อโรคประเภทต่าง ๆ รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังต้องให้วัคซีนโรคไข้รากสาดใหญ่กับทหารเพราะต้องดื่มน้ำจากลำธาร หรือน้ำฝน ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2457 สถาบันได้ผลิตวัคซีนถึง 670,000 ชุด และคงผลิตต่อไปตลอดสงคราม และตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง นักวิจัยสถาบันปาสเตอร์มุ่งมั่นศึกษาวิจัยในด้านชีววิทยาโมเลกุล

สถาบันเป็นที่ทำงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น

  • เอมิล รูซ์ และอะเล็กซองดร์ แยร์แซง (Alexandre Yersin) ค้นพบกลไกการทำงานของแบคทีเรียคอตีบ Corynebacterium diphtheriae และการกำจัดด้วยยาปฏิชีวนะ
  • อะเล็กซองดร์ แยร์แซง ค้นพบเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง Yersinia pestis พ.ศ. 2437
  • เออร์เนสต์ ดุชเชสน์ (Ernest Duchesne) ปริญญานิพนธ์กล่าวถึงการใช้เชื้อ Penicillium glaucum ในการรักษาโรค พ.ศ. 2440 (ซึ่งอาจสามารถช่วยเหลือชีวิตทหารและพลเรือนในสงครามโลกจำนวนมาก)
  • ปอล-หลุย ซีมงด์ (Paul-Louis Simond) ค้นพบบทบาทของหมัด ในการแพร่กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง พ.ศ. 2441
  • อัลแบร์ กัลเมตต์ (Albert Calmette) และเอมิล เกแรง (Camille Guérin) ค้นพบวิธีการเพาะเชื้อวัณโรครูปแท่ง Mycobacterium tuberculosis [จึงเรียกวัคซีนป้องกันวัณโรคว่า เบเซเช/บีซีจี ซึ่งมาจาก บาซิลลัส กัลเมตต์-เกแรง (Bacillus Calmette-Guérin) ต่อมา วัคซีนพัฒนา พ.ศ. 2464 ถือเป็นวัคซีนต้านโรควัณโรคที่ใช้งานได้เป็นแบบแรก]
  • อัลฟองซ์ ลาเวรอง (Alphonse Laveran) ค้นพบบทบาทของโปรโตซัวกับการแพร่เชื้อไข้ป่า (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2450)
  • อีลี เมตช์นิคอฟ (Élie Metchnikoff) เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2451)
  • คอนสแตนติน เลวาดิติ (Constantin Levaditi) และคาร์ล ลันด์ชไตน์เนอร์ (Karl Landsteiner) แสดงให้เห็นว่าไวรัสโปลิโอสามารถกำจัดได้ พ.ศ. 2453
  • เฟลิกซ์ เดเรลล์ (Félix d'Herelle) ค้นพบ "ตัวกินแบคทีเรีย" หรือแบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) ซึ่งเป็นไวรัสแพร่ในบรรดาแบคทีเรีย พ.ศ. 2460
  • ชูลส์ บอร์เดต์ (Jules Bordet) ค้นพบระบบภูมิต้านทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของแอนติบอดี และกลไกการกำจัดแอนติเจน (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2462)
  • ชาร์ล นิกอล (Charles Nicolle) อธิบายการแพร่เชื้อไข้รากสาดน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ผ่านเหา (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2471)
  • ชอง เลเกรต์ (Jean Laigret) พัฒนาวัคซีนโรคไข้เหลือง พ.ศ. 2475
  • อองดร์ ลูฟ (André Lwoff) ค้นพบโปรไวรัส พ.ศ. 2494
  • ปิแยร์ เลปีน (Pierre Lépine) พัฒนาวัคซีนโปลิโอหนึ่งในตัวแรก เมื่อ พ.ศ. 2497
  • แดเนียล โบเวต (Daniel Bovet) ค้นพบและสังเคราะห์ สารต้านฮิสตามีน (ยาแก้แพ้) (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2500)
  • ฟรองซัว ชาคอบ (François Jacob) ชาก โมนอด์ (Jacques Monod) และ อองดร์ ลูฟ ค้นพบวิธีควบคุมไวรัส (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2508)
  • ชอง-ปีแยร์ ชาโญว์ (Jean-Pierre Changeux) แยกตัวรับสารสื่อประสาทตัวแรกคือ ตัวรับอะซิติลโคลีน พ.ศ. 2513
  • ปีแยร์ ตีโอลเลย์ (Pierre Tiollais) และคณะ พัฒนาวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี วัคซีนในคนตัวแรกที่ได้จากการดัดแปรพันธุกรรมเซลล์สัตว์ พ.ศ. 2528
  • ลุก มองตาเญียร์ (Luc Montagnier) ฟรองซัว บาร์-ซีนูสซี (Françoise Barré-Sinoussi) และคณะ ค้นพบไวรัสเอชไอวีสองชนิดที่ทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) พ.ศ. 2526 (รางวัลโนเบล พ.ศ. 2551)

ในยุคปัจจุบันก็ได้มีการผลิตยาป้องกันโรคหลายชนิดได้แก่ วัคซีนวัณโรค คอตีบ บาดทะยัก ไข้เหลือง โปลิโอ และตับอักเสบชนิดบี เป็นต้น รวมถึงการค้นพบซัลโฟเอไมด์สำหรับการรักษาการติดเชื้อ กการค้นพบสารต้านพิษ

สาขาในประเทศต่าง ๆ[แก้]

สถาบันปาสเตอร์เป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก มีหน่วยวิจัยกว่า 100 หน่วย และนักวิจัยพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กว่า 2,700 คน ในจำนวนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ทำงานประจำ 500 คน และนักวิจัยต่างชาติชั่วคราว 600 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก หมุนเวียนมาทำวิจัยทุกปี นอกจากนี้ ยังมีสาขาทั่วโลกกว่า 24 สาขา มุ่งเน้นทำวิจัยกับโรคภัยไข้เจ็บในประเทศกำลังพัฒนา ต่อไปนี้เป็นรายชื่อที่ตั้งสถาบันปาสเตอร์ในประเทศต่าง ๆ

สถาบันปาสเตอร์ ณ เมืองลีย์ (Institut Pasteur de Lille)

ศูนย์วิจัย[แก้]

ปัจจุบัน สถาบันปาสเตอร์มีศูนย์วิจัยหลัก อยู่ 10 สาขา ได้แก่

  • ชีววิทยาและการติดเชื้อในเซลล์
  • ชีววิทยาการเจริญ
  • พันธุศาสตร์
  • วิทยาภูมิคุ้มกัน (immunology)
  • วิทยาการระบาด (epidemiology)
  • จุลชีววิทยา
  • ประสาทศาสตร์
  • ปรสิตวิทยาและวิทยารา (mycology)
  • ชีววิทยาและเคมีเชิงโครงสร้าง
  • วิทยาไวรัส (virology)

และยังมี หน่วยงาน บันทึกและรักษาเอกสารประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเชื้อโรค วารสาร และหนังสือ

ศูนย์เรียนรู้[แก้]

สถาบันปาสเตอร์เป็นแหล่งเรียนรู้วิจัยทั้งนักวิจัยอาชีพและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในหลายสาขา ปัจจุบันนี้มีนักศึกษาบัณฑิตศึกษา 300 คน และนักวิจัยหลังปริญญาเอก 500 คนจาก 40 ประเทศเข้าร่วมทำวิจัย รวมถึงมีเภสัชกร แพทย์ สัตวแพทย์ นักเคมี และนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นแวะเวียนเข้ามาทำวิจัยอยู่ประจำ

อ้างอิง[แก้]

  • Gascar, Pierre. La Strada di Pasteur, Jaca Book, Milano 1991. ISBN 88-16-40291-1.
  • Hage, Jerald and Jonathon Mote. "Transformational Organizations and a Burst of Scientific Breakthroughs," Social Science History (2010) 34#1 pp 13-46. online
  • Reynolds, Moira Davison. How Pasteur Changed History: The Story of Louis Pasteur and the Pasteur Institute (1994)
  • Seidel, Atherton. "Chemical research at the Pasteur Institute," Journal of Chemical Education, (1926) 3#11, p 1217+ DOI: 10.1021/ed003p1217
  • Weindling, Paul. "Scientific elites and laboratory organization in fin de siècle Paris and Berlin: The Pasteur Institute and Robert Koch’s Institute for Infectious Diseases compared," in Andrew Cunningham and Perry Williams, eds. The Laboratory Revolution in Medicine (Cambridge University Press, 1992) pp: 170–88.