สงครามอาเจะฮ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดแสดงนายพล J.H.R. Köhler ถูกสังหาร

สงครามอาเจะฮ์ (Aceh war) หรือ สงครามบันดาอาเจะฮ์ เป็นสงครามระหว่างรัฐสุลต่านอาเจะฮ์ในสุมาตราเหนือกับเนเธอร์แลนด์ ในสมัยที่อาเจะฮ์ยังเป็นรัฐอิสระ สงครามเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2416 แม้สุลต่านแห่งอาเจะฮ์จะยอมจำนนต่อเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2446 แต่ยังคงมีการสู้รบแบบกองโจรจนถึง พ.ศ. 2485

สงครามอาเจะฮ์เกิดขึ้นเนื่องจากเนเธอร์แลนด์ต้องการยึดอาเจะฮ์เป็นอาณานิคม เริ่มจากในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2405 เนเธอร์แลนด์ยื่นคำขาดต่ออาเจะฮ์ 5 ข้อ ซึ่งมีใจความโดยสรุปคือให้อาเจะฮ์เลิกยอมรับกาหลิบที่กรุงคอนแสตนติโนเปิล มาขึ้นกับกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ และใช้ธงของเนเธอร์แลนด์ ให้เลิกทาส และยกดินแดนในสุมาตราให้เนเธอร์แลนด์ อาเจะฮ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้ทุกข้อ จึงเกิดสงครามอาเจะฮ์ขึ้น การสู้รบเริ่มขึ้นเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2416 โดยเนเธอร์แลนด์ส่งทหาร 10,000 คนมาโจมตีอาเจะฮ์แต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ นายพล J.H.R. Köhler ผู้นำทัพถูกสังหารซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวยุโรป เพราะเป็นครั้งแรกที่ชาติตะวันตกมาพ่ายแพ้แก่ชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาเจะฮ์ต้องสู้รบกับเนเธอร์แลนด์อย่างโดดเดี่ยวแม้จะทำสนธิสัญญาป้องกันประเทศกับอังกฤษไว้ แต่อังกฤษไม่ช่วยเพราะมีผลประโยชน์กับเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาประกาศวางตัวเป็นกลางในกรณีนี้ จักรวรรดิออตโตมันพยายามจะช่วยเหลืออาเจะฮ์ แต่ถูกชาติในยุโรปกดดันจนไม่อาจช่วยเหลือได้ เนเธอร์แลนด์พยายามโจมตีอาเจะฮ์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถปราบอาเจะฮ์ให้ราบคาบได้ ใน พ.ศ. 2420 เนเธอร์แลนด์ยึดเมืองบันดาอาเจะฮ์ได้ แต่อาเจะฮ์ก็ยังไม่ยอมจำนน ใน พ.ศ. 2424 เนเธอร์แลนด์ประกาศชัยชนะเหนืออาเจะฮ์ แต่อาเจะฮ์ก็ยังคงสู้รบแบบกองโจรต่อไป ภายใต้การนำของอูลามา โดยผู้นำที่มีชื่อเสียงคือเต็งกู ดีติโร ซึ่งได้ประกาศให้สงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อต่อต้านพวกนอกศาสนา แม้ใน พ.ศ. 2446 สุลต่านของอาเจะฮ์จะยอมจำนน แต่กองทัพกองโจรของอาเจะฮ์กลับย้ายฐานที่มั่นขึ้นไปบนเขาสูง และโจมตีเนเธอร์แลนด์ต่อไป จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนเธอร์แลนด์ถูกเยอรมันรุกราน จนต้องพักรบกับอาเจะฮ์ กองโจรของอาเจะฮ์จึงขับไล่ทหารเนเธอร์แลนด์ให้ถอนกำลังออกไปจากอาเจะฮ์ได้ในที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  • สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. สงครามอาเจะฮ์ ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 40 - 42