ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง20 มกราคม พ.ศ. 2524; 43 ปีก่อน (2524-01-20)
เขตอำนาจเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา[1]
สำนักงานใหญ่60 ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
งบประมาณประจำปี3,225.2677 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[2]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์[3], เลขาธิการ
  • ชนธัญ แสงพุ่ม, รองเลขาธิการ
  • นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์[4], รองเลขาธิการ
  • ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร[5], รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์Sbpac.go.th

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อังกฤษ: Southern Border Provinces Administration Centre) หรือเรียกโดยย่อว่า ศอ.บต. (อังกฤษ: SBPAC) เป็นองค์กรพิเศษที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553

ประวัติ[แก้]

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลในสมัยนั้นวิเคราะห์ว่า ในการแก้ปัญหาภัยคุกคามจะใช้การปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้การพัฒนานำการปราบปราม และมีนโยบายการแก้ปัญหา เป็น 2 ด้านคือ การพัฒนา และ การปราบปราม โดยตั้ง ศอ.บต. ขึ้นอยู่กับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องการพัฒนา และตั้ง พตท.43 หรือกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 ขึ้นอยู่กับแม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลเรื่องการปราบปราม

ในปี พ.ศ. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นองค์กรในระดับนโยบาย โดย ศอ.บต. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของปลัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานภารกิจงานด้านฝ่ายพลเรือนและตำรวจ

การยุบ ศอ.บต.[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2545 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ปรับยุทธศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/2545 ยุบ ศอ.บต. คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พตท.43[6] ตามคำเสนอแนะของพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2545 และให้โอนอำนาจของคณะกรรมการการอำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเป็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติ อำนาจของ ศอ.บต. เป็นของกระทรวงมหาดไทย และอำนาจของ พตท.43 เป็นของกองทัพภาคที่ 4 / กอ.รมน.ภาค 4

การจัดตั้งหน่วยงานใหม่[แก้]

ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 69/2547 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547 ลงนามโดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ส่วนหน้าใช้ชื่อว่า “กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” (กอ.สสส.จชต.)[7] เป็นศูนย์ควบคุมและแกนหลักในการประสาน การปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 200/2548 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ. 2549 สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่องและความรุนแรงของการก่อเหตุในช่วงแรกยังอยู่ในระดับต่ำ แต่สันนิษฐานว่า การปลูกฝังอุดมการณ์การปรับเปลี่ยน และการเตรียมจัดตั้งองค์กรใหม่ น่าจะอยู่ในช่วงแห่งการฝังตัว จนเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดเหตุปล้นกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง และเกิดเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิต 108 คน รวมทั้งเหตุการณ์ที่ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิต 85 คน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2549 ในรัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ จัดตั้งหน่วยงาน ศอ.บต. ขึ้นอีกครั้ง และได้แต่งตั้งให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ ดำรงตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต.

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.)

ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานสำนักงานคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นนิติบุคคล ไม่ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557 มีการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพลเอกกิตติ อินทสร เป็นประธานกรรมการ นายบัญญัติ จันทน์เสนะ เป็นรองประธานกรรมการ พลโทเรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ เป็นรองประธานกรรมการ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เป็นกรรมการและเลขานุการ นายสนั่น สนธิเมือง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเป็นกรรมการและเลชานุการในคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 นับเป็นผอ.ศอ.บต.คนแรกที่เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

รายนามผู้บริหาร ศอ.บต.[แก้]

รายนามผู้อำนวยการ ศอ.บต.
ลำดับ นาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 เจริญจิตต์ ณ สงขลา พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2525
2 อนันต์ อนันตกูล พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2528
3 ประกิต อุตตะโมต พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532
4 วิโรจน์ ราชรักษ์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534
5 นิพันธ์ บุญญภัทโร พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536
6 วิสุทธิ์ สิงห์ขจรกุล พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540
7 ไพฑูรย์ บุญวัฒน์ 1 ต.ค. 2540 - 28 ธ.ค. 2540
8 พลากร สุวรรณรัฐ 29 ธ.ค. 2540 - พ.ศ. 2544
9 บัญญัติ จันทน์เสนะ พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2545
10 พระนาย สุวรรณรัฐ 1 พ.ย. 2549 – 5 พ.ย. 2552
11 ภาณุ อุทัยรัตน์ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 – 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553
รายนามเลขาธิการ ศอ.บต.
ลำดับ นาม วาระการดำรงตำแหน่ง
11 ภาณุ อุทัยรัตน์ พ.ศ. 2554 – 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (รักษาการ)
27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2559
12 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
13 ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2561
14 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร 9 เมษายน พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2566
15 พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์[8] 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

บทบาทหน้าที่[แก้]

ศอ.บต.ก่อตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2524 ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524 ต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 56/2539 ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2539 กำหนดบทบาทให้ ศอ.บต. ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นรัฐบาลส่วนหน้า มาตั้งหน่วยอำนวยการอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจำลองหน่วยงานอำนวยการด้านแผนงาน แผนเงิน และแผนคน ของรัฐบาลกลางมาอยู่ด้วยกัน สามารถสรุปภารกิจของ ศอ.บต. ได้ 3 ประการ คือ

  1. ระดมส่วนราชการและหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจมาดำเนินการพัฒนา และแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สนองตอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยระบบการประสานแผนเป็นเครื่องมือหลัก เพื่อแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมทั้งใช้ระบบการประสานงาน รวมทั้งดำเนินมาตรการ ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย ฯ
  2. ให้ความสำคัญกับข้าราชการและบุคลากรของรัฐ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐในการดำเนินนโยบาย ศอ.บต. มีหน้าที่สรรหาข้าราชการที่ดีมาปฏิบัติงาน การพัฒนาข้าราชการให้มีความรู้ความเข้าใจ ในวิถีชีวิตของประชาชนและวิธีปฏิบัติงานที่เหมาะสม รวมทั้ง โยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกัน ข้าราชการที่ดีก็มีระบบบำเหน็จความชอบ เป็นขวัญกำลังใจ
  3. ดำเนินภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับสังคมจิตวิทยา

การดำเนินงานของ ศอ.บต. อาศัยหลักการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงแต่งตั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการที่มีประสบการณ์เป็น คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. 2 คณะ และคณะกรรมการช่วยเหลือการดำเนินงานอีก 1 คณะ คือ

  • คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. ด้านการเมืองและการปกครอง
  • คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. ด้านเศรษฐกิจและสังคม

อ้างอิง[แก้]

  1. มาตรา 2 แห่ง พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 274 ง หน้า 8 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
  6. "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/2545". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-21. สืบค้นเมื่อ 2016-10-06.
  7. "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 69/2547 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2015-04-21.
  8. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 274 ง หน้า 8 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566