วิวัฒนาการเบนออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกจาบปีกอ่อนของดาร์วินเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและมีชื่อเสียงในกระบวนการวิวัฒนาการเบนออก ที่สปีชีส์บรรพบุรุษแผ่ปรับตัวกลายเป็นสปีชีส์ลูกหลานต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ทั้งเหมือนกันและไม่เหมือนกัน

วิวัฒนาการเบนออก[1] (อังกฤษ: divergent evolution) เป็นการสะสมความแตกต่างระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิต ซึ่งนำไปสู่การเกิดสปีชีส์ใหม่ ๆ แต่ก็สามารถใช้กับรูปแบบทางชีววิทยาระดับโมเลกุล เช่น หมายถึงโปรตีนอนุพันธ์ต่าง ๆ ของยีนที่มีกำเนิดเดียวกัน (homologous genes) สองยีนหรือมากกว่านั้น ดังนั้น ทั้งยีนแบบ orthologous (คือยีนกำเนิดเดียวกันที่สืบมาจากการเกิดสปีชีส์) และแบบ paralogous (คือยีนกำเนิดเดียวกันที่มาจากการเพิ่มขึ้นของยีน [gene duplication]) สามารถมีความต่างที่จัดว่ามาจากวิวัฒนาการเบนออก เพราะเหตุหลังนี่ วิวัฒนาการเบนออกจึงสามารถเกิดระหว่างสองยีนในสปีชีส์เดียวกัน

ความคล้ายคลึงกันระหว่างสปีชีส์ที่วิวัฒนาการเบนออกจากกันมาจากการมีกำเนิดเดียวกัน ดังนั้น จึงจัดว่ามีต้นกำเนิดเดียวกัน (homologous) เปรียบเทียบกับ วิวัฒนาการเบนเข้าที่เกิดเมื่อสิ่งมีชีวิตปรับตัวอย่างเป็นอิสระจากกันและกันแล้วเกิดโครงสร้างคล้ายกันแต่มีกำเนิดต่างกัน (analogous) เช่น ปีกของนกและของแมลง

การใช้คำ[แก้]

นักธรรมชาตินิยมชาวอเมริกัน (J. T. Gulick 1832-1923) เป็นบุคคลแรกที่ใช้คำว่า "divergent evolution"[2]

วิวัฒนาการเบนออกเกิดเมื่อโครงสร้างที่มีกำเนิดเดียวกัน ได้ปรับตัวต่าง ๆ กันในสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น แขน/ขาหน้าซึ่งปัจจุบันเป็นอวัยวะสำหรับพายในวาฬ เป็นปีกในค้างคาว เป็นมือในไพรเมต และเป็นขาในม้า เช่นกัน วิวัฒนาการเบนออกได้แยกสายพันธุ์มนุษย์จากชิมแปนซี[3]

นกจาบปีกอ่อนของดาร์วิน เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับวิวัฒนาการเบนออก ที่นก 15 สปีชีส์วิวัฒนาการเบนออกจากนกจาบปีกอ่อนสปีชีส์เดียวที่บินมาถึงหมู่เกาะกาลาปาโกส[4]

อนึ่ง วิวัฒนาการเบนออกของหมาบ้านและหมาป่าจากบรรพบุรุษเดียวกัน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง[5] งานศึกษาดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียในหมาบ้านและหมาป่าพบว่า มีการเบนออกจากกันอย่างมาก แต่งานก็ยังสนับสนุนสมมติฐานว่า หมาบ้านเป็นลูกหลานของหมาป่า[6]

การเกิดสปีชีส์ คือการเบนออกของสปีชีส์หนึ่งกลายเป็นสปีชีส์ลูกหลานสองสปีชีส์หรือเกินกว่านั้น เกิดเมื่อประชากรส่วนหนึ่งของสปีชีส์แยกออกจากกลุ่มหลักแล้วทำให้ผสมพันธุ์กันไม่ได้ ในการเกิดสปีชีส์ต่างบริเวณและรอบบริเวณ เครื่องกีดขวางการผสมพันธุ์เป็นอุปสรรคทางกายภาพ (เช่น น้ำท่วม เทือกเขา ทะเลทรายเป็นต้น) เมื่อแยกกันแล้ว กลุ่มที่แยกจากกันก็จะเริ่มปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของตนเอง ๆ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนความถี่ยีนอย่างไม่เจาะจงและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หลังจากผ่านไปหลายชั่วยุคโดยวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง กลุ่มทั้งสองก็จะไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้แม้มาอยู่รวมกันอีก[7]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "divergent evolution", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (พฤษศาสตร์) วิวัฒนาการเบนออก
  2. Closed accessGulick, John T. (September 1888). "Divergent Evolution through Cumulative Segregation". Journal of the Linnean Society of London, Zoology. 20 (120): 189–274. doi:10.1111/j.1096-3642.1888.tb01445.x. สืบค้นเมื่อ 26 September 2011. (ต้องรับบริการ)
  3. MacAndrew, Alec. "Human/chimpanzee divergence". สืบค้นเมื่อ 2 February 2016.
  4. Lack, David. 1947. Darwin's Finches. Cambridge University Press (reissued in 1961 by Harper, New York, with a new preface by Lack; reissued in 1983 by Cambridge University Press with an introduction and notes by Laurene M. Ratcliffe and Peter T. Boag).
  5. "Unraveling the mysteries of dog evolution". สืบค้นเมื่อ 2 February 2016.
  6. Vilà, Carles; Savolainen, Peter; Maldonado, Jesús E.; Amorim, Isabel R.; Rice, John E.; Honeycutt, Rodney L.; Crandall, Keith A.; Lundeberg, Joakim; Wayne, Robert K. (13 June 1997). "Multiple and Ancient Origins of the Domestic Dog". 276 (5319): 1687–1689. doi:10.1126/science.276.5319.1687. PMID 9180076. สืบค้นเมื่อ 14 December 2016 – โดยทาง www.sciencemag.org. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  7. "Sympatric speciation". สืบค้นเมื่อ 2 February 2016.