วิลเลียม วอลเลซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิลเลียม วอลเลซ
เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ
เกิดพ.ศ. 1813
ประเทศสก็อตแลนด์
เสียชีวิต23 สิงหาคม พ.ศ. 1848
สมิทฟีลด์ ประเทศอังกฤษ
สัญชาติสก็อต
การศึกษาเซอร์ (Sir)
อาชีพอัศวิน

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ (อังกฤษ: William Wallace; แกลิกสกอต: Uilleam Uallas [ˈɯʎam ˈuəl̪ˠəs̪]; Norman French: William le Waleys) (ประมาณ พ.ศ. 1813 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 1848) เป็นอัศวินและผู้รักชาติชาวสก็อต ผู้นำการต่อต้านการครอบครองสกอตแลนด์โดยอังกฤษระหว่างสงครามอิสรภาพของสกอตแลนด์ เซอร์ วิลเลียม วอลเลซได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของสก็อตแลนด์

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ เป็นแรงดลใจในงานกวีนิพนธ์ชื่อ "The Acts and Deeds of Sir William Wallace, Knight of Elderslie" โดยนักดนตรีเร่รอนในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชื่อ "แฮรี่ผู้ตาบอด" (Blind Harry) ซึ่งภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Braveheart พ.ศ. 2538 นำมาทำบทภาพยนตร์

ชีวิตและเหตุการณ์ในช่วงต้นชีวิต[แก้]

สถานที่เกิดและวันเกิดของเซอร์ วิลเลียม วอลเลซยังเป็นที่ถกเถียง ไม่ชัดเจน เข้าใจกันว่าเกิดที่เอลเดอร์สลี ซึงเป็นหมู่บ้านเหมืองเล็กๆ ใกล้ๆ เมืองจอห์นสโตน เรนฟริวไชร์ สก็อตแลนด์ตะวันตก แม้แต่บิดาของวอลเลซเองก็ยังเป็นที่ถกเถียงเช่นกัน บ้างว่าเป็นบุตรชาย 1 ใน 3 คนของเซอร์มัลคอม วอลเลซแห่งเอลเดอร์สลี แต่จากตราประจำตัวที่ค้นพบภายหลังบ่งว่าเป็นบุตรคนเล็กของ อลัน วอลเลซขุนนางศักดินาแห่งอาร์ยไชร์ วอลเลซเรียนภาษาละตินกับลุงสองคน

วอลเลซเกิดเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ครองราชย์มาแล้วมากกว่า 20 ปี ซึ่งนับเป็นช่วงแผ่นดินร่มเย็นเป็นสุข หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์จากการตกจากหลังม้าเมื่อ พ.ศ. 1829 เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระราชโอรส พระราชนัดดาหญิงอายุเพียง 4 ชันษา เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตจึงได้ขึ้นครองราชย์ และมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ทำหน้าที่แทน แต่จากความอ่อนแอทางการปกครอง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษจึงจัดการให้พระโอรสของพระองค์ทรงหมั้นกับมาร์กาเร็ตโดยหวังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองรัฐ แต่มาร์กาเร็ตสิ้นพระชนม์เมื่ออายุเพียง 20 พรรษาระหว่างการเดินทางจากบ้านเกิดที่นอร์เวย์มาสก็อตแลนด์เมื่อ พ.ศ. 1833 ทันทีที่สิ้นพระชนม์ก็เกิดการอ้างสิทธิ์ในการครองบัลลังก์

เมื่อใกล้เข้าสู่ภาวะสงครามเพื่อการแย่งชิงบัลลังก์จากบรรดาเจ้านายฝ่ายต่างๆ ผู้ที่คิดว่ามีสิทธิ์ เจ้านายที่มีเชื้อสายอยู่แถวหน้าๆ จึงไปทูลเชิญกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 ให้มาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่ก่อนที่จะทำหน้าที่นี้ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับขอให้ทุกฝ่ายที่มีสิทธิ์ได้ยอมรับก่อนว่าพระองค์เป็นเจ้าที่อยู่เหนือสกอตแลนด์ ซึ่งแม้ตอนแรกจะมีการต่อต้านบ้าง แต่ในที่สุดผู้มีสิทธิ์มากสุดสองราย คือ จอห์น บาลลิออล และ โรเบิร์ต บรูซ ได้ตกลงยอมรับตามนั้น โดยต่อมาศาลสูงศักดินา (great fudal court) ได้ตัดสินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 1835 ให้จอห์น บาลลิออล เป็นผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ แม้จะดูว่ายุติธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 1 ก็ได้ใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงทำให้การบริหารประเทศสก็อตแลนด์เป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเหตุให้ พระเจ้าจอห์น บาลลิออล ยกเลิกคำมั่น เมื่อเป็นดังนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดฯ จึงยกทัพเข้าตี เบอร์วิก-อัพออน-ทวีด เมืองชายแดนของสกอตแลนด์และสังหารศัตรูของพระองค์ที่อยู่ที่นั่นจนสิ้น ในเดือนเมษายนฝ่ายสก็อตแลนด์ก็แพ้สงคราม อังกฤษจึงบีบบังคับให้พระเจ้าจอห์น บาลลิออลสละราชสมบัติ พร้อมทั้งบังคับเจ้านายสก็อต 1,800 คนให้เข้าสวามิภักดิ์และได้กับนำเอา "หินแห่งสโคน" (Stone of Scone) ซึ่งใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ ไปไว้ที่ลอนดอน

ชีวิตนักรบ[แก้]

แฮรีผู้ตาบอดได้แต่งเรื่องว่าบิดาของวอลเลซถูกฆ่าตายพร้อมพี่ชายโดยทหารอังกฤษ เป็นเหตุให้วอลเลซต้องต่อสู้และฆ่าทหารอังกฤษไป 5 คน และจากการถูกข่มเหงจากผู้ว่าราชการเมืองดันดีและฆ่าบุตรชายของผู้ว่าราชการฯ แม้จะเป็นเรื่องที่แฮรีฯ สร้างขึ้น แต่ได้พิสูจน์ว่าเชื่อถือได้โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ดันดี

ระหว่างปี พ.ศ. 1839 - พ.ศ. 1840 วอลเลซได้สู้กับพวกอังกฤษและได้รับชัยชนะจากการกระทบกระทั่งเหล่านี้ ต่อมาวอลเลซได้เข้าร่วมรบกับเซอร์วิลเลียม ดักกลาส แห่งฮาร์ดี สามารถปลดปล่อยเมืองแอเบอร์ดีน เพิร์ท กลาสโกว์ สกอน และดันดีเป็นอิสระจากอังกฤษได้ เมื่อถึงระยะนี้ ฝ่ายราชวงศ์สก็อตถูกบีบอย่างหนักจากพระเจ้าเอ็ดเวริร์ด ที่ 1 ในเดือนเมษายน วอลเลซพร้อมผู้ติดตามได้ไปช่วยแอนดรูว์ มอเรย์ที่ "สเตอริง" ซึ่งกำลังลุกขึ้นต่อต้านอังกฤษ วอลเลซใช้ยุทธวิธีลอบโจมตีแล้วถอยหนี เป็นเหตุให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสั่งประหารชีวิตสมาชิกสภาบารอนแห่งไอร์ทั้งหมด วอลเลซตอบโต้ด้วยการสังหารทหารอังกฤษที่ค่ายไอร์เสียชีวิตทั้งค่ายและถอยเข้าป่าเซลเคิร์ก ชื่อเสียงของวอลเลซโด่งดังขึ้นและได้ย้ายจากที่ลุ่มป่าเซลเคิร์กไปอยู่ไฮแลนด์

ยุทธภูมิสะพานสเตอร์ลิง[แก้]

สะพานสเตอร์ลิง เมื่อ พ.ศ. 2549

ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 1840 วอลเลซได้ชนะการสู้รบที่สะพานสเตอร์ริงทั้งๆ ที่มีไพร่พลน้อยกว่าฝ่ายอังกฤษที่นำโดยเอิร์ลแห่งเซอรเรย์ซึ่งประกอบด้วยทหารม้า 300 นายและทหารราบ 10,000 คน วอลเลซล่อให้ทหารอังกฤษยกข้ามสะพานสเตอร์ลิงมาเกือบสุดแล้วโจมตีโตกลับกลับอย่างรวดเร็ว แต่ทหารอังกฤษส่วนหลังซึ่งกำลังมุ่งตามอย่างรวดเร็วกลับดันกลับจนไปอัดแน่นกันอยู่บนสะพานเป็นเหตุให้สะพานพังทลายลง ทหารอังกฤษจมน้ำตาย แฮรีฯ อ้างว่าฝ่ายวอลเลซแอบใช้เชือกดึงให้สะพานพัง ชัยชนะของวอลเลซที่สะพานสะเตอร์ลิงครั้งนี้สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวสก็อตเป็นอย่างมาก

หลังกลับจากการสู้รบที่สะพานสเตอริง วอลเลซได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางระดับเซอร์และได้รับการขนานนามว่า "ผู้พิทักษ์และแม่ทัพใหญ่แห่งสก็อตแลนด์" โดยกษัตริย์สก็อตแลนด์ที่ถูกกักขังในลอนดอนและมอบอำนาจการบริหารประเทศแก่วอลเลซ หกเดือนหลังการสู้รบที่สะพานสเตอร์ลิง วอลเลซได้นำทัพสู้รบกับอังกฤษทางด้านเหนือเพื่อแสดงให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้เห็นว่าสก็อตแลนด์ยังมีกำลังแข็งแกร่ง ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงกริ้ว

สงครามฟอลเคิร์ก[แก้]

ปีต่อมาวอลเลซแพ้การสู้รบที่ฟอลเคิร์ก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 1841 ฝ่ายอังกฤษยกกำลังย่ำยีสก็อตแลนด์และยึดพื้นที่คืนได้มาก ฝ่ายสก็อตใช้ยุทธวิธีเผาค่ายข้าศึกและเผาบ้านเรือนไร่นาของสก็อตเองหากเป็นฝ่ายล่าถอย ทำให้ฝ่ายอังกฤษขาดขวัญกำลังใจ แต่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดก็ยังไม่ลดละในการตามล่าตัววอลเลซ ยกกำลังติดตามจนวอลเลซต้องหนีและมอบอำนาจ "ผู้พิทักษ์และแม่ทัพใหญ่แห่งสก็อตแลนด์" ให้แก่โรเบิร์ต บรูซ เอิร์ลแห่งคาร์ริก และ จอห์นโคมีนแห่งบาเดนอชซึ่งเป็นเขยของอดีตกษัตริย์จอห์น บาลลิออล ซึ่งได้ตกลงปรองดองกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต่อมาเมื่อป๊ พ.ศ. 1845 ซึ่งวอลเลซไม่ยอมรับ

วอลเลซได้เดินทางไปราชสำนักฝรั่งเศสกับวิลเลียม ครอว์ฟอร์ดเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าฟิลิปส์ เลอ เบลในการต่อสู่เพื่ออิสรภาพของสก็อตแลนด์ ระหว่างเดินทางจากอังกฤษ เรือของวอลเลซถูกโจรสลัดผู้ลือนามคือ ริชาร์ด ลองโกวิลล์ ดักปล้น แต่วอลเลซกลับเป็นฝ่ายจับลองโกวิลล์ไปถวายพระเจ้าฟิลิปส์ แล้วขอพระราชทานอภัยโทษให้ลองโกวิลล์เพื่อให้เป็นฝ่ายช่วยข้างสก็อตแลนด์ เรื่อราวตอนนี้เชื่อว่าเป็นการเสริมแต่งของแฮรีฯ ต่อมา ในปี พ.ศ. 1846 วอลเลซได้รับการขอร้องให้กลับสก็อตแลนด์

การถูกจับประหารชีวิต[แก้]

อนุสาวรีย์ของวอลเลซที่ตั้งอยู่ใกล้จุดถูกประหาร

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ กลับถึงสก็อตแลนด์และซ่อนตัวที่ฟาร์มของวิลเลียม ครอว์ฟอร์ดใกล้เอโควูด ฝ่ายอังกฤษได้ระแคะระคายจึงออกตามจับ แต่วอลเลซเอาตัวรอดได้หลายครั้งและถูกจับตัวได้ในที่สุดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 1848 โดยจอห์น เดอ เมนทีท อัศวินผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด โดยจับตัววอลเลซมอบให้ทหารอังกฤษที่เมือง โรบรอยสตันใกล้กลาสโกว์และถูกส่งตัวไปลอนดอนถูกฟ้องในข้อหากบฏและฆ่าพลเรือนและนักโทษ วอลเลซกล่าวสู้คดีว่า "ข้าพเจ้ามิได้เป็นกบฏต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เป็นข้าแผ่นดินของพระองค์ พระเจ้าจอห์น บาลลิออล คือกษัตริย์ของข้าพเจ้า" และยืนยันไม่ยอมรับสารภาพ

ในวันที่ 23 สิงหาคม ปีเดียวกัน วอลเลซ ถูกเปลื้องผ้าในศาล ถูกม้าลากออกไปตามถนนในเมืองและถูกแขวนคอในลานเมืองสาธารณะที่ตลาดสมิทฟีลด์ (ด้วยวิธีการแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่) ศีรษะของวอลเลซถูกปักประจานที่สะพานลอนดอน ร่วมกับศีรษะของน้องชาย คือจอห์นและ ไซมอน ฟราเซีย ส่วนแขนขาของวอลเลซถูกแยกนำไปประจานที่นิวคาสเซิล เบอร์วิก สเตอร์ลิงและที่แอเบอร์ดีน

ดาบของวอลเลซถูกยึดไว้ที่ปราสาทลูดอนเป็นเวลานาน ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวอลเลซ ใกล้เมืองสเตอร์ลิง

เรื่องราวลักษณะนวนิยาย[แก้]

เรื่องราวเกี่ยวกับวอลเลซในยุคต้นๆ ของชีวิตไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็มีผู้นำไปเขียนเป็นนิยายประวัติศาสตร์ รวมทั้งกวีนิพนธ์ เช่น นักดนตรีเร่ ชื่อ "แฮรีผู้ตาบอด" แต่งบทกวีเรื่อง "วีรกรรมและมรดกของเซอร์วิลเลียม วอลเลซ อัศวินแห่งเอลเดอส์ลี" ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2013 นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเรื่องราวทั้งหมดหรือบางส่วนในกวีนิพนธ์ของแฮร์รีฯ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้นำเรื่องราวของเซอร์ วิลเลียม วอลเลซ ไปเขียนมากมายจนเกือบกลายเป็นนิยายปรัมปรา

เรื่องราวของเซอร์ วิลเลียม วอลเลซที่ค่อนข้างใกล้เคียงความจริงได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "Braveheart" นำแสดงและกำกับโดย เมล กิบสัน เมื่อ พ.ศ. 2538 ซึ่งได้รับรางวัลอะแคเดมีมากถึง 5 รางวัล แม้จะอิงประวัติศาสตร์อย่างมากแล้ว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังมีที่ผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ไม่น้อย

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ เสียชีวิตด้วยอายุเพียง 35 ปี และมีชีวิตอยู่ในระหว่างรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระยาเลอไท แห่งสมัยสุโขทัย

เกร็ด[แก้]

  • เมื่อ พ.ศ. 2545 เซอร์ วิลเลียม วอลเลซได้รับการจัดอันดับที่ 48 ในบรรดาชาวบริติชที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
  • พ.ศ. 2506 เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 10 ของชาวสก็อตที่โด่งดังของโลกโดยผู้อ่านหนังสือพิมพ์ เดอะกลาสโกว์เฮอราลด์
  • ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายจากเซอร์ วิลเลียม วอลเลซที่เป็นที่รู้จักได้แก่นายพลเรือจัตวา โอลิเวอร์ ฮาซาร์ด เพอร์รี และนายพลเรือจัตวา แมททิว กัลเบรต เพอร์รี วีรบุรุษกองทัพเรือของสหรัฐฯ ผู้ใช้เรือรบปิดอ่าวบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อ พ.ศ. 2396

อ้างอิง[แก้]

  • Brown, Chris. William Wallace. The True Story of Braveheart. Stroud: Tempus Publishing Ltd, 2005. ISBN 0-7524-3432-2.
  • Clater-Roszak, Christine. "Sir William Wallace ignited a flame." Military History 14 (1997): 12-15. .
  • Folklore, Myths and Legends of Britain. London: The Reader’s Digest Association, 1973, 519-20.
  • Harris, Nathaniel. Heritage of Scotland: A Cultural History of Scotland & Its People. London: Hamlyn, 2000. ISBN 0-600-59834-9..
  • MacLean, Fitzroy. Scotland: A Concise History. London: Thames & Hudson, 1997. ISBN 0-500-27706-0.
  • Morton, Graeme. William Wallace. London: Sutton, 2004. ISBN 0-7509-3523-5.
  • Reese, Peter. William Wallace: A Biography. Edinburgh: Canongate, 1998. ISBN 0-86241-607-8.
  • Scott, Sir Walter. "Exploits and death of William Wallace, the 'Hero of Scotland'."
  • Stead, Michael J., and Alan Young. In the Footsteps of William Wallace. London: Sutton, 2002.
  • Wallace, Margaret. William Wallace: Champion of Scotland. Musselborough: Goblinshead, 1999. ISBN 1-899874-19-4.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]