วัดบางอ้อยช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางอ้อยช้าง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 79 หมู่ที่ 2 ซอยบางกรวย-ไทรน้อย 29 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางอ้อยช้าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในหมู่ที่ 2 บ้านวัดบางอ้อยช้าง ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง รวบรวมของเก่าแก่ของสำคัญในชุมชน

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น เดิมที่ตั้งหมู่บ้านที่ปลูกต้น อ้อยช้าง สำหรับเลี้ยงช้าง และยังได้ส่งส่วยอ้อยไปเลี้ยงช้างหลวงที่กรุงศรีอยุธยา จึงเรียกหมู่บ้านว่า บ้านส่วยอ้อย ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดบางอ้อยช้างขึ้นมา จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านวัดบางอ้อยช้าง ตามชื่อวัด[1] จากอีกแหล่งข้อมูลระบุว่าชาวบ้านก็ได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นในบริเวณชุมชน ราว พ.ศ. 2304 เป็นหนึ่งในสามชุมชนที่รวบรวมเสบียงเวลาเกิดศึกสงครามร่วมกับทัพหลวง รวมถึงส่งชายฉกรรจ์ในพื้นที่ไปร่วมรับใช้ชาติร่วมกับกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินในการกู้แผ่นดิน ทำให้วัดมีการสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง รวบรวมของเก่าแก่ของสำคัญในชุมชน

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปสลักด้วยศิลาแลงสมัยสุโขทัย และถอดได้เป็นท่อน ๆ อายุประมาณ 600 ปี สันนิษฐานว่าเอาแบบมาจากลังกา เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานในอุโบสถหลังเก่าที่มีลักษณะเป็นแบบมหาอุตย์จนถึง พ.ศ. 2495 จึงได้อันเชิญมายังอุโบสถหลังใหม่ ภายในพระอุโบสถหลังใหม่ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยสีอะครีลิก ลักษณะของภาพแบ่งเป็น 4 ผนังคือ ผนังด้านที่ 1 ตอนมหาสุบินนิมิต ตอนประสูติ ตอนมหาภิเนษกรมณ์ ตอนตรัสรู้ ผนังด้านที่ 2 ตอนเสด็จโปรดปัญจวคีย์ ตอนแสดงปาฏิหาริย์ ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนปรินิพพาน ผนังด้านที่ 3 (ผนังหุ้มกลองหลังพระประธาน) วาดเรื่องไตรภูมิ และผนังด้านสุดท้าย (ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน) วาดเป็นตอนมารผจญ นอกจากเนื้อหาพุทธประวัติยังสอดแทรกประวัติศาสตร์ของวัดบางอ้อยช้าง เช่น ภาพวาดตอนรัชกาลที่ 5 เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลทางชลมารค เป็นต้น

รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปที่สร้างปี พ.ศ. 2535 รอยพระพุทธบาท หล่อด้วยทองสำริดขนาด 54 นิ้ว กว้าง 19.5 นิ้ว หนัก 190 กิโลกรัม คาดว่ารอยพระพุทธบาทพบโดยท่านพระอธิการทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดองค์แรก ที่ได้ธุดงด์ไปทางเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2339

ศาลาการเปรียญ มีภาพจิตรกรรมลวดลายทองรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาบนฝ้าเพดานไม้เหนือศีรษะ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมานานแล้ว ภายในมีธรรมาสน์บุษบกยอดมหากฐินที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยา[2]

พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง[แก้]

พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้างโดยเปิดอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2541–2542 เป็นอาคาร 3 ชั้น รวบรวมของเก่า เช่น ตาลปัตรของรัชกาลที่ 5 ที่มีสัญลักษณ์นารายณ์ทรงครุฑตามศิลปะของรัชกาลที่ 5 ชุดของหลวงปู่ที่เย็บด้วยมือทั้งหมดหนังสือพระไตรปิฎก ตู้ไม้สักลายรดน้ำที่ยังไม่ปิดทองหีบทองที่ใช้บรรจุศพลายเทพพนมพิกุลและลายบัว ตะลุ่มหรือพานแว่นฟ้า ยังมีเครื่องถ้วยชามของจีนในสมัยราชวงศ์ชิง สมุดข่อยโบราณและชุดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวสวนเมืองนนท์ เช่น หม้อไว้เพาะทุเรียน หม้อหุงข้าว ไห โอ่งทำมือยุคแรกของจีนที่มีสีเขียวหยก[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบางอ้อยช้าง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. หนุ่มลูกทุ่ง (23 มีนาคม 2553). ""วัดบางอ้อยช้าง" มรดกล้ำค่าแห่งเมืองนนท์". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "วัดบางอ้อยช้าง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.