วังท่าพระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วังท่าพระ
วังล่าง
ท้องพระโรง
ประเภทวัง
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
การใช้งานดั้งเดิมสถานที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์
สถานะยังมีอยู่; เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
สถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลมหาวิทยาลัยศิลปากร
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนท้องพระโรง ตำหนักกลางวังท่าพระ และตำหนักพรรณราย
ขึ้นเมื่อ14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000067

วังท่าพระ หรือ วังล่าง ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง ริมถนนหน้าพระลานทางด้านทิศตะวันตก ใกล้ท่าช้างวังหลวง แต่เดิมวังท่าพระนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อพระพุทธรูปมาถึงประตูท่าช้าง ปรากฏว่าอัญเชิญเข้ามาไม่ได้เนื่องจากองค์พระนั้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะนำผ่านเข้ามาได้ จึงจำเป็นต้องรื้อทั้งประตูถอนทั้งกำแพงออก จึงได้เรียกขานอดีตท่าเรือนี้แทนว่าท่าพระ วังที่อยู่ใกล้กันนั้นจึงเรียกตามว่า "วังท่าพระ"[1]

ประวัติ[แก้]

เมื่อแรกเริ่ม วังท่าพระเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนกษัตรานุชิต หรือ "เจ้าฟ้าเหม็น" ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ โดยเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชชายาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนกษัตรานุชิต เสด็จประทับอยู่ ณ วังแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม (สมเด็จพระศรีสุลาไลย) เสด็จประทับจนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานวังนี้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส 3 พระองค์ คือ

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงพระราชทานต่อให้ไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับที่วังนี้ จนถึง พ.ศ. 2480 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงได้ทรงซื้อที่ดินตรงริมถนนพระรามที่ 4 คลองเตย สร้างตำหนักเป็นที่ประทับตากอากาศ เรียกว่า ตำหนักปลายเนิน แล้วโปรดประทับที่นั่นตลอดพระชนมายุ

วังท่าพระ เมื่อครั้งเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมนั้น วังนี้จัดเป็นที่ทรงงานและงานช่างทุกชนิด รวมทั้งเป็นที่อยู่ของช่างต่าง ๆ อาศัยอยู่ในวังขณะนั้นไม่ต่ำกว่า 200 คน จัดเป็นวังขนาดใหญ่วังหนึ่งทีเดียว แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จมาประทับ ตำหนักอาคารต่าง ๆ ก็มีสภาพเก่าทรุดโทรม บางแห่งชำรุดผุพังจนไม่อาจใช้สอยได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะจนมีสภาพเหมือนเดิม ส่วนตำหนักที่ประทับนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ 3 หลัง

ภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปประทับตำหนักปลายเนินแล้ว ทายาทของพระองค์จึงขายวังให้กับทางราชการ และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สร้างสถานศึกษาสำหรับวิชาศิลปะตามแบบยุโรปขึ้น ได้ใช้วังนี้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จวบจนปัจจุบัน

สถาปัตยกรรม[แก้]

  • ประตูและกำแพงวังท่าพระ

กำแพงก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาประกอบ กำแพงนี้คาดว่าก่อสร้างพร้อมกับวังท่าพระตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1 ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะด้านริมถนนหน้าพระลาน ถือเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

  • ท้องพระโรงและกำแพงแก้ว

ปัจจุบันเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะท้องพระโรงเป็นแบบเรือน 5 ห้อง เฉลียงรอบหันหน้ายาวออกหน้าวัง รูปทรงท้องพระโรงที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นั้นภายนอกคงยึดตามแบบที่ปรากฏเมื่อครั้งรัชกาลที่3 แต่ภายในคงไว้แต่เสาเดิม มีบันไดใหญ่เข้าทางด้านหน้าได้ทางเดียว กำแพงนั้นเป็นสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่5 มีลูกกรงที่ทำด้วยเหล็กหล่อเป็นลายสวยงาม และได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

  • ตำหนักกลางและตำหนักพรรณราย

สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกรุ่นแรก ๆ ในรัชกาลที่5 กล่าวคือเป็นตึกสองชั้น มีเฉลียงหลังหนึ่งหันเข้าหาอีกหลังหนึ่ง ส่วนหลังนอกนั้นอยู่ข้างสวนแก้ว ตึกหลังในที่มีเฉลียงทำเรียบกว่าหลังนอก และมีเสาทึบ หัวเสาเป็นแบบศิลปะโรมัน ช่องคูหาด้านล่างเป็นช่องโค้ง มีการตกแต่งที่ส่วนต่าง ๆ ภายนอกอาคารเล็กน้อย ส่วนตึกหลังนอกมีรูปทรงทึบกว่า มีการตกแต่งผิวหนังโดยการเซาะเป็นร่องในชั้นล่าง ส่วนชั้นบนผนังเรียบ มีเสาติดผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูต่าง ๆ ด้วยลายปูนปั้นหรือตีตารางไม้ไว้ในช่องแสงเหนือประตูบางส่วน ตึกหลังนอกมีกันสาด มีเท้าแขนรับกันสาดทำอย่างเรียบ ๆ และประดับชายคาด้วยลายฉลุไม้ ตึกหลังในนี้เป็นที่ประทับของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยตำหนักกลางนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของหอศิลป์และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร

  • ศาลาในสวนแก้ว

เรียกว่า ศาลาดนตรี เมื่อครั้งรัชกาลที่5 องค์เจ้าของวังเคยประทับที่ศาลานี้เพื่อชมการแสดงหรือประชันดนตรีซึ่งจะตั้งวงกันในสวนแก้ว เพราะในวังท่าพระขณะนั้นมีวงดนตรีประจำวังที่มีชื่อเสียง ศาลาในสวนนี้ทำเป็นศาลาโปร่งมีผนังด้านเดียว หันหน้าเข้าหาสวนแก้ว หลังคาเป็นแบบปั้นหยา มีลายประดับอาคารอย่างละเอียดซับซ้อนกว่าตัวตำหนัก จึงเข้าใจว่าสร้างทีหลัง ลายฉลุไม้ทั้งที่ชายคาท้าวแขนระเบียบทำอย่างประณีตงดงาม

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′11″N 100°29′24″E / 13.7529331°N 100.4899639°E / 13.7529331; 100.4899639