ราโมน บารังเกที่ 3 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปั้นแกะสลักของราโมน บารังเกที่ 3 โดยโจเซพ ลีลโมนา
ลายมือชื่อของราโมน บารังเกที่ 3

ราโมน บารังเกที่ 3 (กาตาลา: Ramon Berenguer III) หรือ ผู้ยิ่งใหญ่ (el Gran; ค.ศ. 1082–1131) เป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนา, ฌิโรนา และอูโซนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1086 (ร่วมกับบารังเก ราโมนที่ 2 และครองตำแหน่งเพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1097) และเป็นเคานต์แห่งพรอว็องส์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในชื่อราโมน บารังเกที่ 1 ด้วยสิทธิ์ของภรรยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1112 จนเสียชีวิตในบาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 1131

ประวัติ[แก้]

ราโมน บารังเกเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1082 ในเมืองรอแดซ ไวเคาน์ตีรอแดซ เคาน์ตีตูลูซ ราชอาณาจักรแฟรงก์ เขาเป็นบุตรชายของราโมน บารังเกที่ 2[1] ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา ปกครองร่วมกับบารังเก ราโมนที่ 2 ผู้เป็นอา เขากลายเป็นผู้ปกครองเดี่ยวในปี ค.ศ. 1097 เมื่อบารังเก ราโมนที่ 2 ถูกบังคับให้ออกไปจากประเทศ

เพื่อตอบโต้การรุกรานที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มอัลโมราวิดใน ค.ศ. 1102 ราโมนโจมตีกลับโดยมีอาร์มังก็อลที่ 5 เคานต์แห่งอูร์เฌ็ลย์ให้ความช่วยเหลือ แต่พ่ายแพ้และอาร์มังก็อลถูกสังหารที่สมรภูมิมุลยารูซา[2]

ในช่วงที่เขาปกครอง ชาวกาตาลามุ่งมั่นกับการขยายอาณาเขตออกไปทั้งสองฝั่งของเทือกเขาพิรินี ด้วยการแต่งงานและการยึดมาเป็นบริวารทำให้เขาสามารถรวมเคาน์ตีกาตาลาเกือบทั้งหมด (ยกเว้นอูร์เฌ็ลย์กับปาราลาดา) เข้ากับดินแดนของตน เขาได้สืบทอดต่อเคาน์ตีบาซาลูกับซาร์ดัญญา และแต่งงานกับดุส ทายาทหญิงแห่งพรอว็องส์ อำนาจของเขาจึงแผ่ไพศาลไปทางตะวันออกจนถึงนิส

ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเคานต์แห่งอูร์เฌ็ลย์ ราโมน บารังเกสามารถพิชิตบาร์บัสโตรและบาลาเกได้ และยังสานสัมพันธไมตรีกับปิซาและเจนัว สาธารณรัฐทางทะเลจากอิตาลี และในปี ค.ศ. 1114 และ ค.ศ. 1115 ได้ร่วมมือกับปิซาโจมตีเกาะมุสลิมมาจอร์กาและอิบิซา[3] ซึ่งกลายเป็นรัฐบรรณาการของเขา ทาสชาวคริสต์มากมายในเกาะทั้งสองได้รับอิสรภาพกลับคืนมา ราโมน บารังเกยังโจมตีเมืองขึ้นของชาวมุสลิมบนแผ่นดินใหญ่ (เช่น บาเลนเซีย, แยย์ดา, โตร์โตซา) โดยมีปิซาคอยให้ความช่วยเหลือ ในปี ค.ศ. 1116 ราโมนเดินทางไปโรมเพื่อร้องเรียนต่อสมเด็จพระสันตะปาปาปาสตาลที่ 2 ให้ประกาศสงครามครูเสดเพื่อปลดปล่อยตาร์ราโกนา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่พำนักมุขนายกมหานครของศาสนจักรในกาตาลุญญา (ก่อนหน้านั้นชาวกาตาลาอยู่ในการปกครองทางศาสนาของอัครมุขนายกแห่งนาร์บอน)

ในปี ค.ศ. 1127 ราโมน บารังเกลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับชาวเจนัว[4] ช่วงใกล้บั้นปลายชีวิตเขากลายเป็นอัศวินเทมพลาร์[5] เขายกเคาน์ตีกาตาลาทั้งห้าแห่งให้ราโมน บารังเกที่ 4 บุตรชายคนโต และยกพรอว็องส์ให้บารังเก ราโมน บุตรชายคนเล็ก

เขาเสียชีวิตในวันที่ 23 มกราคม/19 กรกฎาคม ค.ศ. 1131 และถูกฝังในอารามซันตามาริอาดาริโปลย์

การแต่งงานและทายาท[แก้]

ภรรยาคนแรกของราโมนคือมาริอา โรดริเกซ เด บิบาร์ บุตรสาวคนที่สองของเอลซิด ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ

  • มาริอา แต่งงานกับบาร์นัตที่ 3 เคานต์แห่งบาซาลู (เสียชีวิต ค.ศ. 1111)

อาลมอดิส ภรรยาคนที่สองของเขาไม่มีบุตร

ภรรยาคนที่สามของเขาคือดุส ทายาทหญิงแห่งพรอว็องส์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1127)[1] การแต่งงานของทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคน คือ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Cheyette, Fredric L. (2001). Ermengard of Narbonne and the World of the Troubadours. Cornell University Press, p. 20.
  2. Reilly, Bernard F. (2003). The Medieval Spains. Cambridge University Press, p. 107.
  3. Reilly, Bernard F. (1995). The Contest Christian and Muslim Spain:1031-1157. Blackwell Publishing, p. 176.
  4. Phillips, Jonathan P. (2007). The Second Crusade: Extending the Frontiers of Christendom. Yale University Press, p. 254.
  5. Nicholson, Helen (2010). A Brief History of the Knights Templar. Constable & Robinson Ltd., p. 102.