ราชวงศ์จิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์จิ้น

晉朝
ค.ศ. 265–ค.ศ. 420
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (สีเหลือง) เมื่อ ค.ศ. 280
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (สีเหลือง) เมื่อ ค.ศ. 280
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงลกเอี๋ยง (265–311)
ฉางอาน (312–316)
เจี้ยนคัง (317–420)
ภาษาทั่วไปจีนโบราณ
ศาสนา
พุทธ, เต๋า, ขงจื๊อ, ศาสนาพื้นบ้าน
การปกครองราชาธิปไตย
จักรพรรดิ 
• ค.ศ. 265–290
พระเจ้าจิ้นหวู่
• ค.ศ. 419–420
พระเจ้าจิ้นกง
อัครมหาเสนาบดี 
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 265
ค.ศ. 317
• สิ้นสุด
ค.ศ. 420
ประชากร
• ค.ศ. 290
34,620,000
สกุลเงินเหรียญจีน
รหัส ISO 3166CN
ก่อนหน้า
ถัดไป
วุยก๊ก
ง่อก๊ก
ราชวงศ์เหนือ-ใต้
ราชวงศ์หลิวซ่ง

ราชวงศ์จิ้น ([tɕîn]; จีน: 晉朝; พินอิน: Jìn Cháo) หรือ จักรวรรดิจิ้น บางครั้งจะถูกเรียกกันว่า ซือหม่าจิ้น (司馬晉) หรือ สองจิ้น (兩晉) เป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีน ซึ่งดำรงอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 266 ถึง ค.ศ. 420 ถูกก่อตั้งสถาปนาโดยซือหม่าหยานหรือสุมาเอี๋ยน (เมื่อขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า พระเจ้าจิ้นอู่ตี้) บุตรชายคนโตของซือหม่าเจาหรือสุมาเจียว ผู้ซึ่งเคยได้รับการสถาปนาตั้งตนเป็นจิ้นอ๋องมาก่อน ราชวงศ์จิ้นมีมาก่อนยุคสมัยสามก๊ก และถูกรับช่วงต่อโดยสิบหกอาณาจักรในแผ่นดินจีนตอนเหนือ และราชวงศ์หลิวซ่งในแผ่นดินจีนตอนใต้

ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์นี้มีอยู่สองช่วงเวลาหลัก จิ้นตะวันตก(ค.ศ. 266 - ค.ศ. 316) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะรัฐที่สืบทอดต่อจากวุยก๊กหรือรัฐเฉาเว่ย์ ภายหลังจากที่สุมาเอี๋ยนทำการแย่งชิงราชบังลัก์จากพระเจ้าโจฮวน ราชธานีของจิ้นตะวันตกนั้นช่วงแรกอยู่ในลั่วหยาง(ลกเอี๊ยง) แม้ว่าภายหลังจะมีการย้ายไปที่ฉางอัน(ซีอาน มณฑลส่านซีในปัจจุบัน) ใน ค.ศ. 280 ภายหลังจากพิชิตง่อก๊กหรือรัฐอู๋ตะวันออกลงได้ จิ้นตะวันตกได้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จุดจบของยุคราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัยสามก๊ก อย่างไรก็ตาม 11 ปีต่อมา หนึ่งในสงครามกลางเมืองของจีนซึ่งเป็นที่รู้จักกันคือ สงครามแปดอ๋อง ได้ปะทุขึ้นภายในราชวงศ์ ทำให้ราชวงศ์อ่อนแอลงอย่างมาก ต่อมาภายหลังจากนั้น ใน ค.ศ. 304 ราชวงศ์ต้องเผชิญพบกับการลุกฮือก่อการกบฎและถูกรุกรานจากชนเผ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นซึ่งเรียกกันว่า ห้าชนเผ่า ซึ่งได้เข้ามาก่อตั้งรัฐราชวงศ์ที่มีอายุสั้นขึ้นหลายแห่งในแผ่นดินจีนทางตอนเหนือ สิ่งนี้เป็นการเปิดฉากของยุคสมัยสิบหกอาณาจักรที่อยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายและนองเลือดในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งเหล่าบรรดารัฐทางตอนเหนือของจีนได้ก่อตั้งขึ้นและล่มสลายอย่างรวดเร็ว ด้วยการต่อสู้รบอย่างต่อเนื่องทั้งฝ่ายหนึ่งและฝ่ายจิ้น รัฐฮั่นเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐทางเหนือที่ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงความสับสนวุ่นวายนี้ บุกเข้าตีลั่วหยางจนแตกใน ค.ศ. 311 เข้ายึดฉางอันใน ค.ศ. 316 และทำการสำเร็จโทษต่อจักรพรรดิจิ้นหมิ่นใน ค.ศ. 318 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของจิ้นตะวันตก ซือหม่ารุ่ยหรือสุมารุย ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิจิ้นหมิ่น จากนั้นได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นมาใหม่โดยมีราชธานีอยู่ที่เจี้ยนคัง(หนานจิงในปัจจุบัน) เป็นการเปิดฉากยุคสมัยจิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420) ราชวงศ์จิ้นตะวันออกยังคงมีความขัดแย้งกับรัฐทางตอนเหนืออย่างต่อเนื่องสำหรับตลอดช่วงเวลาของการดำรงอยู่ และเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือหลายครั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน ค.ศ. 383 ราชวงศ์จิ้นตะวันออกได้สร้างความปราชัยอย่างพินาศย่อยยับต่อรัฐเฉียนฉิน(前秦) ซึ่งเป็นรัฐที่ถูกปกครองโดยชนเผ่าตี ซึ่งรวมแผ่นดินทางตอนเหนือเป็นปึกแผ่นในช่วงเวลาอันสั้น ๆ ผลผวงของการสู้รบครั้งนั้น รัฐเฉียนฉินได้แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ และกองทัพจิ้นสามารถยึดดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำฮวงโหกลับคืนมาได้ ในที่สุดจิ้นตะวันออกก็ถูกขุนพลนามว่า หลิวยฺวี่ เข้ายึดอำนาจ และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์หลิวซ่ง ราชวงศ์จิ้นตะวันออกได้รับการยอมรับว่าเป็นราชวงศ์ที่สองในหกราชวงศ์

จิ้นตะวันตก (คริสต์ศักราช 265 – 316)[แก้]

ประวัติ[แก้]

ซือหม่าเอี๋ยน (สุมาเอี๋ยน) ประกาศตั้ง ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ขึ้นแทนที่ราชวงศ์เว่ย(วุยก๊ก)ของเฉาเชาหรือโจโฉ เมื่อถึงปี 280 จิ้นตะวันตกปราบก๊กอู๋ลงได้ สภาพการแบ่งแยกอำนาจของสามก๊กก็สลายตัวไป ทั้งแผ่นดินจีนรวมเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง เกิดความสันติสุขขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง

ราชวงศ์จิ้นตะวันตกเป็นยุคสมัยที่กลุ่มตระกูลใหญ่ก้าวเข้ามาเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง เนื่องจากนโยบายการปกครองของซือหม่าเอี๋ยนหรือ จิ้นอู่ตี้ โน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตระกูลชนชั้นสูง อีกทั้งกฎหมายยังให้สิทธิพิเศษต่อขุนนางเจ้าที่ดิน ในการจัดสรรการถือครองที่ดินและผลประโยชน์อื่น ๆ โดยอ้างอิงจากระดับชั้นตำแหน่งขุนนาง ระเบียบเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือการเพาะสร้างอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้กับกลุ่มตระกูลใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมครั้งใหญ่ เพราะเพื่อรักษาสิทธิพิเศษนี้ ถึงกับตั้งข้อรังเกียจไม่ยอมนั่งร่วมโต๊ะหรือแต่งงานข้ามสายเลือดกับตระกูลที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ ทำให้ผู้อยู่นอกวงถึงแม้จะได้เข้ารับราชการก็จะยังคงถูกมองอย่างแปลกแยกและกีดกันไม่ให้ได้รับการเลื่อนขั้นในตำแหน่งสูงขึ้น

ขณะที่ขุมกำลังจากตระกูลใหญ่เหล่านี้เติบโตขึ้น ข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทว่าอำนาจการปกครองจากส่วนกลางกลับอ่อนแอลง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในเวลาต่อมา ในยุคสมัยนี้ บ้านเมืองเสื่อมโทรม กลุ่มผู้มีอำนาจใช้ชีวิตอย่างความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและคดโกง ขณะที่คนจนถูกเรียกเก็บภาษีแพงลิบลิ่ว เหล่าปัญญาชนที่เกิดมาท่ามกลางยุคสมัยแห่งความวุ่นวายนี้ ต่างท้อแท้สิ้นหวัง พากันหลีกหนีความเป็นจริง ไม่ถามไถ่ปัญหาบ้านเมือง ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเสพสุราและพูดคุยเรื่องราวไร้สาระ หรือเสนอแนวคิดเชิงดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นในสังคม เป็นต้น

ดังนั้น ศาสตร์ในการทำนายทายทักและแนวคิดเชิงอภิปรัชญา จึงเป็นที่นิยมอย่างสูงขณะเดียวกัน การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในราชสำนักก็ทวีความเข้มข้นขึ้น อำนาจในการปกครองของฝ่ายราชสำนักตกอยู่ในภาวะวิกฤต

จิ้นอู่ตี้ เนื่องจากได้รับบทเรียนจากราชวงศ์วุ่ยที่ไม่ได้จัดสรรอำนาจให้เชื้อพระวงศ์เป็นเหตุให้ราชวงศ์จิ้นซึ่งอยู่ในตระกูลอื่นเข้าฉกฉวยอำนาจได้โดยง่าย ดังนั้น เพื่อรักษาพระราชอำนาจของตนไว้ จึงทรงอวยยศเหล่าเชื้อพระวงศ์ขึ้นเป็นอ๋อง ให้อำนาจในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของกลุ่มอำนาจภายนอก ทำให้เชื้อพระวงศ์เหล่านี้สามารถบัญชาการกำลังทหารจำนวนไม่น้อย เมื่อถึงสมัยของจิ้นฮุ่ยตี้ การอวยยศซึ่งแต่เดิมมีจุดมุ่งหมายเพื่ออารักขาฐานอำนาจของราชสำนัก กลับเป็นบ่อเกิดของข้อขัดแย้งในการแบ่งลำดับขั้นการบริหาร ทำให้ภายในราชสำนักเกิดการแย่งชิงอำนาจครั้งใหญ่ บรรดาอ๋องพระราชทานต่างก็ถูกม้วนเข้าสู่วังวนแห่งอำนาจทางการเมือง

นับตั้งแต่ปี 291 เป็นต้นมา เมืองลั่วหยาง ได้เกิดเหตุจลาจล ‘8 อ๋องชิงบัลลังก์’ อ๋องทั้ง 8 ได้แก่ อ๋องเลี่ยง อ๋องเหว่ย อ๋องหลุน อ๋องจ่ง อ๋องหยิ่ง อ๋องอี้ อ๋องหยงและอ๋องเย่ว์ ต่างยกกำลังเข้าห้ำหั่นกันเกิดเป็นสงครามภายในขึ้น เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองครั้งนี้กินเวลาถึง 16 ปี ทหารและพลเรือนลัมตายนับแสน หลายเมืองถูกทำลายล้างยับเยิน เป็นเหตุให้ราชวงศ์จิ้นตะวันตกที่แต่เดิมก็ไม่ได้มีผลสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจมากนักอยู่แล้ว กลับยิ่งต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างสาหัส สุดท้ายจิ้นฮุ่ยตี้ถูกวางยาสิ้นพระชนม์ บรรดาอ๋องต่างฆ่าฟันกันจนสิ้นเรี่ยวแรง

นับแต่สมัยฮั่นตะวันออกเป็นต้นมา ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในในแถบชายแดนภาคตะวันตกและภาคเหนือก็ได้ทยอยอพยพเข้าสู่แผ่นดินจีน เมื่อถึงปลายราชวงศ์วุ่ยและจิ้น เนื่องจากเกิดภาวะแรงงานขาดแคลนจึงมักมีการกวาดต้อนชนกลุ่มน้อยจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศ ชนเผ่าต่างๆ เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว จึงได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่น ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่แต่เดิมเป็นปศุสัตว์เร่ร่อน หันมาทำไร่ไถนา บ้างก็ได้รับการศึกษา เข้ารับราชการ เป็นต้น ต่อมาเนื่องจากได้รับการบีบคั้นจากการปกครองของเจ้าที่ดินชาวฮั่น และการรีดเก็บภาษีขั้นสูง ทำให้ความสัมพันธ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนในที่สุด พากันลุกขึ้นก่อหวอดต่อต้านการปกครองจากส่วนกลาง โดยกลุ่มที่เริ่มทำการก่อนได้แก่กลุ่มขุนศึกของชนเผ่าต่างๆ

ในช่วงปลายของจลาจล ‘8 อ๋องชิงบัลลังก์’ ขณะที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผู้นำของแต่ละกลุ่มต่างทยอยกันเสียชีวิตในการศึก หัวหน้าของชนเผ่าซงหนูหลิวหยวน ก็ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ โดยใช้ชื่อว่าฮั่นกว๋อ ภายหลังหลิวหยวนสิ้นชีพลง บุครชายชื่อหลิวชง ยกกำลังเข้าบุกลั่วหยางนครหลวงของจิ้นตะวันตก จับจิ้นหวยตี้ เป็นตัวประกันและสำเร็จโทษในเวลาต่อมา โดยเชื้อพระวงศ์ทางนครฉางอันเมื่อทราบเรื่องก็ปราศยกให้จิ้นหมิ่นตี้ ขึ้นครองบัลลังก์สืบทอดราชวงศ์จิ้นต่อไปทันที ประชาชนที่หวาดเกรงภัยจากสงครามทางภาคเหนือ ต่างพากันอพยพลงใต้

จวบถึงปี 316 กองกำลังของชนเผ่าซ่งหนูบุกเข้านครฉางอันเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จับกุมจิ้นหมิ่นตี้ เพื่อรับโทษทัณฑ์ จิ้นตะวันตกจึงถึงกาลล่มสลายราชวงศ์จิ้นตะวันตกอยู่ในอำนาจรวม 51 ปี มีกษัตริย์เพียง 4 พระองค์ และเป็นราชวงศ์เดียวในยุคสมัยวุ่ยจิ้นเหนือใต้ (คริสต์ศักราช 220 – 589) ที่มีการปกครองแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว

จิ้นตะวันออก (คริสต์ศักราช 317 – 420)[แก้]

ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ก่อตั้งขึ้นหลังจากการอพยพโยกย้ายราชธานีของเหล่าข้าราชสำนักจิ้นลงสู่ภาคใต้ ภายหลังการล่มสลายของ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ซึ่งแม้ว่าจะยังคงนับเนื่องเป็นราชวงศ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โบราณของจีน แต่แท้จริงแล้ว ขอบข่ายอำนาจการปกครองเพียงสามารถครอบคลุมดินแดนทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียงเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บ้านเมืองทางตอนเหนือระส่ำระสายไปด้วยไฟสงครามการแย่งชิงของแว่นแคว้นต่าง ๆภายใต้การนำของกลุ่มชนเผ่าจากนอกด่าน รวมทั้งชาวฮั่นเอง สถานการณ์ความแตกแยกนี้ ยังคงดำเนินไปท่ามกลางการผลุดขึ้นและล่มสลายลงของราชวงศ์จิ้นตะวันออก จวบจนถึงยุคแห่งการตั้งประจันของ ราชวงศ์เหนือ-ใต้ ซึ่งกินเวลากว่า 300 ปี สถาปนาจิ้นตะวันออก

ปีคริสต์ศักราช 316 เมื่อ จิ้นหมิ่นตี้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายถูกชนเผ่าซ่งหนูจับเป็นเชลย ราชวงศ์จิ้นตะวันตกก็ถึงกาลอวสาน บรรดาขุนนางเก่าของราชวงศ์จิ้นที่ไม่ยอมรับในชะตากรรม ยังคงมีความเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้สถานการณ์อยู่ทุกหนแห่ง

ปีคริสต์ศักราช 317 ภายใต้การสนับสนุนจากเหล่าตระกูลชนชั้นสูงในจงหยวน (ที่ราบภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโห) และเจียงหนัน (ดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียง) ซือหม่ารุ่ย ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหลางหย่าหวัง จึงตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จิ้นสืบต่อมา ทรงพระนามว่า จิ้นหยวนตี้ และสถาปนาเมืองเจี้ยนคัง (เมืองหนันจิงมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นราชธานี ถือเป็นจุดเริ่มของจิ้นตะวันออกถึงแม้จะย้ายเมืองหลวงมายังแดนเจียงหนันทางตอนใต้ของจีน แต่เนื่องจากยังคงมีการสืบราชบัลลังก์ต่อมา จึงคงมีความมุ่งหวังที่จะรวมแผ่นดินทางตอนเหนือกลับเข้ามาอีกครั้ง ตลอดยุคสมัยนี้ มีขุนศึกที่อาสายกทัพขึ้นเหนือหลายครั้ง จู่ถี้ปราบอุดรก็เป็นครั้งหนึ่งของความพยายามในการรวมประเทศ จู่ถี้แต่เดิมอยู่ในกลุ่มตระกูลใหญ่จากทางเหนือ ระยะแรกเมื่ออพยพลงสู่ใต้นั้น เนื่องจากยังมีสมัครพรรคพวกและประชาชนที่ภักดีอยู่ทางเหนือ จึงเห็นว่าการยกทัพขึ้นเหนือมีโอกาสประสบชัยอย่างมาก ดังนั้น ก่อนการประกาศก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันออก จึงขอการสนับสนุนจากซือหม่ารุ่ยหรือจิ้นหยวนตี้ในเวลาต่อมา เพื่อปราบกบฏฝ่ายเหนือ ซือหม่ารุ่ยแต่งตั้งจู่ถี้เป็นเจ้าเมืองอี้ว์โจวแล้วมอบเสบียงให้จำนวนหนึ่ง จู่ถี้นำกำลังข้ามแม่น้ำไป (เหนือใต้ของจีนกางกั้นด้วยแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียง) สะกดทัพของสือเล่ออีกทั้งเข้ายึดดินแดนส่วนหนึ่งของแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโหที่อยู่เหนือขึ้นไปไว้ได้

ขณะนั้นเอง ราชสำนักทางตอนใต้เกิดกบฏหวังตุนเป็นเหตุให้การยกทัพขึ้นเหนือของจู่ถี้ต้องหยุดชะงักไป จู่ถี้โกรธแค้นถึงกับล้มป่วยและเสียชีวิตลงในปี 321 จากนั้นสือเล่อเข้าโจมตีเอาดินแดนเหอหนานกลับคืนไปได้ แผนการรวมประเทศครั้งนี้จึงล้มเหลวลง การแก่งแย่งในราชสำนักแม้ว่าบ้านเมืองในสมัยราชสำนักจิ้นตะวันออกที่ได้รับการค้ำจุนจากบรรดากองกำลังของตระกูลใหญ่จากจิ้นตะวันตกจะมีการพัฒนาอยู่บ้าง แต่ทว่า ภายในนั้นกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มเจ้าถิ่นที่มีอำนาจแต่เดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ที่โยกย้ายเข้ามา ซึ่งโดยมากฝ่ายตระกูลใหญ่จากจงหยวนเป็นผู้กุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ส่วนกลุ่มผู้นำฝ่ายใต้ถูกกีดกันจากวิถีทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการช่วงชิงระหว่างกลุ่มตระกูลใหญ่กับราชสำนัก หรือแม้แต่กลุ่มตระกูลฝ่ายเหนือด้วยกันเองก็มีการแย่งชิงที่ดุเดือดไม่แพ้กัน

ช่วงระหว่างปีคริสต์ศักราช 317 – 399 รัชสมัยจิ้นหยวนตี้ถึงจิ้นอันตี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์จิ้นตะวันออกมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าระหว่างนี้มีการก่อความไม่สงบบ้างประปรายแต่ก็ถูกบรรดาขุนนางและกลุ่มตระกูลใหญ่ร่วมกันกดดันให้สลายตัวไปในที่สุด พัฒนาการดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่ที่ผลัดกันขึ้นกุมอำนาจทางการเมืองในสมัยจิ้นตะวันออก อันได้แก่ ตระกูลหวัง อี่ว์ หวน เซี่ย ขณะที่กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจใด ๆ เป็นเหตุให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพคลอนแคลน ยากจะก้าวไปข้างหน้า

หลังจากจิ้นหยวนตี้สถาปนาจิ้นตะวันออกแล้ว หวังเต่าได้เข้ากุมอำนาจบริหารการปกครองภายใน ส่วนหวังตุนถือกำลังทหารคุมอยู่ภายนอก เป็นเหตุให้จิ้นหยวนตี้รู้สึกถึงการคุกคามจากตระกูลหวัง หลังจากจิ้นหยวนตี้เสด็จสวรรคต

จิ้นหมิงตี้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ปี 324 หวังตุนป่วยหนัก หมิงตี้ฉวยโอกาสยกทัพปราบ สุดท้ายหวังตุนป่วยหนักเสียชีวิต กองกำลังที่เหลือถูกกวาดล้างสิ้น

เมื่อถึงรัชสมัยจิ้นเฉิงตี้ อี่ว์เลี่ยง อาศัยฐานะพระเจ้าอาเข้ากุมอำนาจทางการเมืองไว้ ขณะที่อี่ว์เลี่ยงต้องการกีดกันจู่เยว์ ที่ครองเมืองอี้ว์โจว และหวาดระแวงซูจวิ้น ที่มีความชอบจากการปราบหวังตุน

ปี 327 อี่ว์เลี่ยงส่งสาส์นเรียกซูจวิ้นเข้าเมืองหลวง แต่ซูจวิ้นเกรงว่าอี่ว์เลี่ยงจะหาโอกาสกำจัดตน จึงชิงร่วมมือกับจู่เยว์ยกกำลังเข้าเมืองเจี้ยนคัง ต่อมาปี 329 อี่ว์เลี่ยงปราบกบฏซูจวิ้นสำเร็จ ยึดอำนาจคืนได้ทั้งหมด ชั่วระยะเวลาสั้น ๆที่จิ้นตะวันออกสงบลงนั้น หวนเวิน ที่ครองเมืองจิงโจวในรัชสมัยจิ้นมู่ตี้

ปี 347 ยกทัพปราบแคว้นสู (มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) จากนั้นอาสาบุกขึ้นเหนือเพื่อขยายอำนาจของตน ทำให้ราชสำนักจิ้นหวาดระแวง ต่อมาแม้ว่าภายหลังหวนเวินบุกขึ้นเหนือ 3 ครั้ง รุกคืบแล้วถูกตีกลับคืน สุดท้ายยังคงไม่อาจสำเร็จกิจการใหญ่

การศึกที่ลำน้ำเฝยสุ่ย[แก้]

แม้ว่าหวนเวินล้มเหลวในการยกทัพขึ้นเหนือ แต่ยังคงสามารถยึดครองอำนาจทางการเมืองไว้ได้ จวบจนปี 373 หวนเวินล้มป่วยเสียชีวิต เซี่ยอันซึ่งมาจากกลุ่มทายาทตระกูลใหญ่ จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในการบริหารบ้านเมือง เซี่ยอันใช้การถ่วงดุลอำนาจและประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ช่วยลดการกระทบกระทั่งของหลายฝ่ายลงได้ จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก และได้รับการยกย่องอย่างสูง ในช่วงเวลาดังกล่าวจิ้นตะวันออกจึงมีความสงบสุขในชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ปี 382 ฝูเจียน ผู้นำแคว้นเฉียนฉิน ทางตอนเหนือ มีกำลังกล้าแข็งขึ้น จึงเรียกระดมกำลังพลครั้งใหญ่บุกลงมาทางใต้ เพื่อหวังรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งอีกครั้ง ขณะที่ทัพของฝูเจียนเต็มไปด้วยความฮึกเหิมลำพอง จิ้นตะวันออกก็เตรียมรับมือไว้พร้อมสรรพ สองทัพตั้งประจันกันที่สองฝั่งลำน้ำเฝยสุ่ย และด้วยการประสานของเซี่ยอัน เหล่านายทัพจากกลุ่มตระกูลใหญ่ร่วมมือประสานเสริม จนในที่สุดโจมตีทัพใหญ่ของฝูเจี้ยนแตกพ่ายกลับไป ชัยชนะของฝ่ายใต้ครั้งนี้ ทำให้แผนการรวมประเทศต้องล้มพับไปอีกครั้ง ทางตอนใต้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ เศรษฐกิจและสังคมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกช่วงหนึ่ง อันเป็นปัจจัยสำคัญสู่การต่อสู้ยึดเยื้อในสงครามแย่งชิงดินแดนที่แบ่งเป็นเหนือใต้ตั้งประจันกันในเวลาต่อมา

บ้านเมืองไม่เป็นระบบ เหตุแห่งความล่มสลาย[แก้]

ภายหลังการศึกที่เฝยสุ่ย ทำให้ฝ่ายเหนือแตกแยกกันอีกครั้ง ภาวะภัยคุกคามจากภายนอก (ราชวงศ์จิ้นตะวันออก) ผ่อนคลายลง ข้อขัดแย้งจากการแบ่งชนชั้นการปกครอง การแก่งแย่งอำนาจของชนชั้นสูงและการกดขี่ขูดรีดราษฎรทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเกณฑ์แรงงาน

ในรัชสมัยจิ้นมู่ตี้ ราษฎรถึงกับยอมเป็นคนพิการ เพราะเพื่อต้องการหลบเลี่ยงการเกณฑ์แรงงาน ชายหนุ่มไม่กล้าตบแต่งภรรยา เมื่อมีบุตรก็ไม่สามารถเลี้ยงดู ชาวนามากมายสิ้นเนื้อประดาตัว จำต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพื่อหลบหนีการเกณฑ์แรงงาน หลังการศึกทีเฝยสุ่ย ทำให้อำนาจทางการเมืองของ เซี่ยอัน กล้าแข็งขึ้น สะกิดความระแวงของ จิ้นเขาอู่ตี้ จึงหาทางลดอำนาจของเซี่ยอัน แล้วหันไปมอบอำนาจให้กับน้องชาย คือ ซือหม่าเต้าจื่อ

หลังจากที่เซี่ยอันเสียชีวิต ซือหม่าเต้าจื่อเข้ากุมอำนาจทางการทหารแต่ผู้เดียว เปิดศึกแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มตระกูลใหญ่อีกครั้ง ภายหลังการหักล้างอย่างดุเดือด สภาพการณ์โดยรวมจึงกลายเป็น หวนเซวียน (บุตรชายของหวนเวิน) คุมกำลังบริเวณตอนกลางของแม่น้ำฉางเจียง หลิวเหลาคุมตอนล่างของแม่น้ำ ขณะที่เกาหย่าคุมลำน้ำหวยหนัน ขอบเขตที่ราชสำนักจิ้นสามารถควบคุมจึงเหลือเพียง 8 เมือง

ปีคริสต์ศักราช 399 ซือหม่าหยวนเสี่ยน สั่งระดมเกณฑ์ทหาร กลับเป็นเหตุให้เกิดจลาจล กลุ่มลัทธิเต๋านิกายอู๋โต่วหมี่ได้ทำการก่อหวอดขึ้น กลุ่มแรงงานทาสและชาวนาที่อดอยากต่างก็พากันมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหมื่นแสนอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นบรรดาเจ้าที่ดินจากแดนเจียงตงทั้ง 8 เมืองที่ประสบความเสียหายจากการเกณฑ์แรงงานครั้งนี้ ก็ฉวยโอกาสลุกฮือขึ้นเช่นเดียวกันราชสำนักจิ้นตะวันออกเห็นว่ากองกำลังเจียงตงแข็งกล้าขึ้น จึงยกกำลังทหารเข้าล้อมปราบ

จวบจนปีค.ศ. 410 จึงถูกกำจัดสิ้น การปราบปรามจลาจลครั้งนี้ ได้ทำให้กำลังทางทหารของราชวงศ์จิ้นตะวันออกอ่อนโทรมลงอย่างมาก เหิงเซวียน ที่คุมกำลังอยู่ตอนกลางของลำน้ำฉางเจียงจึงฉวยโอกาสบุกเข้าเมืองหลวงเจี้ยนคัง ปลดฮ่องเต้จิ้นอันตี้สังหารซือหม่าเต้าจื่อและหยวนเสี่ยนสองพ่อลูก สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ ขณะนั้นกลุ่มตระกูลใหญ่ที่เคยให้การสนับสนุนต่อราชสำนักจิ้นตะวันออกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม หนึ่งเดียวที่สามารถเข้าต่อกรกับหวนเซวียนได้มีเพียงหลิวอี้ว์ที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้นจากผลงานปราบแคว้นโฮ่วเอี้ยนและโฮ่วฉินจากทางเหนือ รวมดินแดนภาคใต้ที่สูญเสียไปกลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

ปี 418 หลิวอี้ว์ ระดมกำลังปราบหวนเซวียนแตกพ่ายไป จากนั้น ตั้งซือหม่าเต๋อเหวินขึ้นเป็นกษัตริย์ คืนบัลลังก์ให้กับจิ้นตะวันออก

ปี 420 หลิวอี้ว์ บีบให้ฮ่องเต้สละราชย์ ประกาศสถาปนารัฐซ่ง แล้วตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่า ซ่งอู่ตี้ เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์จิ้นตะวันออกเนื่องจากราชวงศ์จิ้นตะวันออกย้ายเมืองหลวงมายังเจียงหนันทางตอนใต้ เปิดโอกาสให้บรรดานักปราชญ์ผู้มีความรู้จำนวนมากเดินทางอพยพมาด้วย ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนทางใต้มากขึ้น เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมและสังคมประเพณี รวมทั้งงานฝีมือของทางเหนือและใต้ก็มีการผสมผสานกลมกลืนกัน ทำให้งานฝีมือในยุคจิ้นตะวันออกมีความก้าวหน้าก้าวใหญ่ นอกจากนี้ นับแต่ราชวงศ์วุ่ย ของโจโฉจากยุคสามก๊กเป็นต้นมา ประเทศจีนได้มีวิวัฒนาการด้านตัวอักษรอย่างก้าวกระโดด เมื่อถึงยุคจิ้นตะวันออก จึงกำเนิดปราชญ์ กวีและนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อมากมาย อาทิ หวังซีจือ เซี่ยหลิงยุ่นว์ เถาหยวนหมิง เป็นต้น ได้มีการปฏิรูปรูปแบบการเขียนกาพย์กลอนครั้งใหญ่ วางรากฐานให้กับการวิวัฒนาการสู่ยุคทองของวรรณคดีจีนในสมัยราชวงศ์สุยและถังในเวลาต่อมา

ก่อนหน้า ราชวงศ์จิ้น ถัดไป
ยุคสามก๊ก ราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีน
(ค.ศ. 265–420)
ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้