ยุทธวิธีทางทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยุทธวิธีทางทหาร เป็นศาสตร์และศิลป์ของการจัดกำลังทหาร เป็นเทคนิคสำหรับการจัดยุทโธปรกรณ์ในกับหน่วยรบและการใช้ยุทโธปกรณ์และหน่วยรบในการเผชิญหน้ากับศัตรูและเอาชนะศัตรูในการทำศึก[1][2] การเปลี่ยนแปลงปรัชญาและเทคโนโลยีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันถูกสะท้อนออกมาด้วยการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางทหาร ศาสตร์การทหารในปัจจุบัน ยุทธวิธีเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในการวางแผนสามระดับ อันได้แก่ (1)แผนยุทธศาสตร์, (2)แผนปฏิบัติการ และ (3)แผนยุทธวิธี การวางแผนระดับสูงที่สุด คือ ยุทธศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยกำลังทางทหารจะแปลเป็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างไร โดยเชื่อมโยงว่าด้านการเมืองต้องการอะไรจึงต้องใช้กำลัง และเมื่อบรรลุสิ่งที่ต้องการอะไรบ้างจึงจะยุติสงคราม ระดับกลาง คือ แผนปฏิบัติการ เป็นการแปรแผนยุทธศาสตร์ลงไปเป็นแผนยุทธวิธี ซึ่งโดยหลักแล้วเกี่ยวข้องกับการจัดกำลังพลและกำหนดภาระหน้าที่ที่ต้องกระทำรวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ต้องบรรลุ ส่วนแผนยุทธวิธี เป็นการเตรียมแนวทางปฏิบัติเพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจดำเนินการหรือตอบสนองต่ออุปสรรคเฉพาะหน้าในรูปแบบต่างๆขณะทำศึก โดยพื้นฐานความเข้าใจทั่วๆไป การตัดสินใจทางยุทธวิธี เป็นไปเพื่อให้บรรลุผลดีที่สุดและส่งประโยชน์เฉพาะหน้าโดยทันทีซึ่งเป็นขอบเขตในภาพเล็ก ในขณะที่การตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ กระทำเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดโดยภาพรวมอันเป็นขอบเขตภาพใหญ่สุด ซึ่งไม่คำนึงถึงผลลัพท์ในเชิงยุทธวิธี

แนวคิด[แก้]

ยุทธวิธีทางทหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ยุทธวิธีทางทหารตอบคำถามว่าควรจัดวางกำลังพลและใช้กำลังพลอย่างไรจึงจะดีที่สุด การปฏิบัติหลายๆอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลยตั้งแต่การสงครามถือกำเนิดขึ้นในโลก เช่น การซุ่มโจมตี, การค้นหาและเข้าตีจากด้านข้าง, การตรวจตราและลาดข่าวอย่างสม่ำเสมอ, การสร้างและการใช้สิ่งกีดขวางเป็นเครื่องป้องกัน เป็นต้น วิธีที่ว่าด้วยการใช้ภูมิประเทศเพื่อความได้เปรียบมากที่สุดก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก พื้นที่สูง, แม่น้ำ, หล่มโคลน, ทางสัญจร, คอคอด และปราการธรรมชาติ ล้วนสามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ก่อนคริตศตวรรษที่สิบเก้า ยุทธวิธีทางทหารมากมายล้วนถูกตีกรอบให้คำนึงถึงแต่พื้นที่การรบ ซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังพลอย่างไรระหว่างการต่อสู้ในพื้นที่เปิดเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน มียุทธวิธีพิเศษเฉพาะทางต่างๆเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองสถานการณ์ในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ยุทธวิธีรักษาความปลอดภัยให้กับห้องภายในอาคาร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีที่สำคัญที่สุดคือ มุมมองด้านเทคโนโลยีพร้อมทั้งสังคมวิทยาของเหล่าทหาร เทคโนโลยีและความแตกต่างเชิงสังคมถูกสะท้อนออกมาเป็นความหลากหลายที่แตกต่างกันของทหารและนักรบ เช่น นักรบกรีกโบราณ (กรีกฮ็อปปริเต), ทหารโรมัน, อัศวินยุคกลาง, พลธนูบนหลังม้าแบบเติร์ก-มองโกล, พลหน้าไม้จีน, ทหารราบเสื้อแดงอังกฤษ หรือ Air Cavalry trooper และ ชนชาติ สปาร์ต้า (Sparta) แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดในแบบของตนเอง เช่น ยุโธปกรณ์ที่ใช้, การส่งกำลังบำรุง และเงื่อนไขทางสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้การปฏิบัติตัวในสนามรบแตกต่างกัน แต่ก็ล้วนต้องการผลลัพท์เดียวกันจากการใช้ยุทธวิธี

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการใช้ยุทธวิธี เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้หลายยุทธวิธีเก่าๆในอดีตกลายเป็นยุทธวิธีที่ล้าสมัยและไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Wragg, David W. (1973). A Dictionary of Aviation (first ed.). Osprey. p. 259. ISBN 9780850451634.
  2. Carl von Clausewitz (1832). On War.