มีป คีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มีป คีส
มีป คีส ในปี พ.ศ. 2530
เกิด15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452
เวียนนา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
เสียชีวิต11 มกราคม พ.ศ. 2553 (100 ปี)
โฮร์น นอร์ทฮอลแลนด์ เนเธอร์แลนด์
สาเหตุเสียชีวิตอุบัติเหตุ
มีชื่อเสียงจากช่วยแอบซ่อนชาวยิว เช่น อันเนอ ฟรังค์ และครอบครัว จากนาซีเยอรมัน
คู่สมรสยัน คีส (พ.ศ. 2448-2536)
(สมรสตั้งแต่ พ.ศ. 2484 จนกระทั่งสามีเสียชีวิต)
บุตรเปาล์ คีส (เกิด พ.ศ. 2493)
เว็บไซต์มีปคีสดอตคอม

แฮร์มีเนอ ซันทรูชิทซ์ (เยอรมัน: Hermine Santruschitz; 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 - 11 มกราคม พ.ศ. 2553) หรือเป็นที่รู้จักทั่วใปในภาษาดัตช์ว่า มีป คีส (ดัตช์: Miep Gies)[3] คือหนึ่งในชาวดัตช์ผู้ช่วยเหลืออันเนอ ฟรังค์, ครอบครัวของเธอ และชาวยิวอีกสี่คนในการหลบซ่อนตัวจากนาซีเยอรมัน ซึ่งทั้งหมดซ่อนตัวอยู่ในส่วนต่อเติมอาคารที่ทำการของบริษัทค้าขายของออทโท ฟรังค์ บิดาของอันเนอ ฟรังค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เดิมทีมีป คีส ถือสัญชาติออสเตรียโดยกำเนิด แต่ในปี พ.ศ. 2463 ครอบครัวชาวดัตช์รายหนึ่งรับเธอมาอุปถัมภ์เป็นการชั่วคราวด้วยวัยเพียงเจ็ดขวบ ซึ่งในภายหลังเธอรู้สึกผูกพันกับครอบครัวนี้อย่างมาก เดิมทีครอบครัวรับอุปการะเธอเพียงหกเดือน และก็ถูกขยายออกไปเป็นหนึ่งปีเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เปราะบางของเธอ จนในที่สุดเธอเลือกที่จะอยู่กับครอบครัวดังกล่าวต่อไป และอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ ในปี พ.ศ. 2476 เธอเริ่มทำงานให้กับออทโท ฟรังค์ นักธุรกิจเชื้อสายยิวผู้อพยพครอบครัวจากเยอรมนีมายังเนเธอร์แลนด์เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามชาวยิวโดยพรรคนาซี มีป คีส จึงกลายมาเป็นทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนที่ครอบครัวฟรังค์ไว้วางใจ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญที่ให้การช่วยเหลือครอบครัวตลอดระยะเวลาสองปีของการหลบซ่อนตัว เธอคือคนที่เก็บกู้สมุดบันทึกประจำวันของอันเนอไว้ได้หลังจากที่ครอบครัวถูกจับกุม และรักษาสมุดดังกล่าวไว้ในที่ปลอดภัยจนกระทั่งออทโท ฟรังค์ รอดชีวิตกลับมาจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในปี พ.ศ. 2488 ทำให้เธอได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของอันเนอ[4][5][6][7][8][9][10] นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ Anne Frank Remembered: The Story of the Woman Who Helped to Hide the Frank Family ร่วมกับแอลิสัน เลสลี โกลด์ และออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530

ชีวิตในช่วงต้น[แก้]

มีป คีส เกิดในเวียนนา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ด้วยชื่อแฮร์มีเนอ ซันทรูชิทซ์ (ภายหลังสะกดว่า ซันตรูชิตส์ ในเนเธอร์แลนด์) เธอถูกส่งตัวจากเวียนนาไปยังไลเดินในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2463 เพื่อหลีกหนีจากภาวะขาดแคลนอาหารในออสเตรียหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และอาศัยอยู่กับครอบครัวนีวเวินบืร์คซึ่งเป็นครอบครัวชนชั้นแรงงานที่มีบุตรธิดาของตนอยู่แล้ว 6 คนและรับอุปการะเธอเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน ครอบครัวนี้เองที่เรียกเธอด้วยชื่อเล่นว่า "มีป" อันเป็นชื่อที่รู้จักกันเป็นการทั่วไปในภายหลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 เธอย้ายที่อยู่ไปยังบ้านเลขที่ 25 ถนนคาสป์[11] ในกรุงอัมสเตอร์ดัมพร้อมกับครอบครัวผู้อุปการะของเธอ เธอเข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนและเป็นนักเรียนดีเด่น ผู้กล่าวว่าตนเองนั้น "สงบเสงี่ยมและเป็นตัวของตัวเองมาก" หลังจากที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม เธอเข้าทำงานในบริษัทสัญชาติเยอรมันที่มาเปิดสาขาในเนเธอร์แลนด์นามว่า "โอเพคทา" โดยเริ่มทำงานในฐานะพนักงานบัญชีก่อนที่จะถูกเลื่อนขั้นเป็นเลขานุการในภายหลัง ต่อมาออทโท ฟรังค์ ถูกโยกย้ายจากสำนักงานของบริษัทในเยอรมนีมายังเนเธอร์แลนด์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการใหญ่ประจำสาขาเนเธอร์แลนด์ ที่ซึ่งบริษัทเพิ่งจะเข้ามาขยายกิจการได้ไม่นาน มีปได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวฟรังค์เช่นเดียวกับยัน คีส คู่หมั้นของเธอ ต่อมาหนังสือเดินทางของเธอถูกยกเลิก เนื่องจากเธอปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสมาคมสตรีของพรรคนาซี ทำให้เธอได้รับคำสั่งเนรเทศออกจากเนเธอร์แลนด์กลับไปยังออสเตรีย (ซึ่งในขณะนั้นถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีและถือว่าเธอคือพลเมืองชาวเยอรมันคนหนึ่ง) ภายในระยะเวลา 90 วัน เธอและคู่หมั้นจึงรีบแต่งงานกันในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เพื่อที่จะได้สิทธิการเป็นพลเมืองชาวดัตช์และหลีกเลี่ยงการเนรเทศกลับออสเตรีย ด้วยความเชี่ยวชาญทั้งภาษาดัตช์และภาษาเยอรมันของมีป เธอได้ช่วยครอบครัวฟรังค์ซึมซับเอาวัฒนธรรมและปรับตัวเข้ากับสังคมดัตช์ เธอและสามีจึงเป็นแขกผู้แวะเวียนไปยังบ้านของครอบครัวฟรังค์อยู่เป็นประจำ

การให้ความช่วยเหลือ[แก้]

มีป คีส และเอก็อน เคร็นทซ์ ปี พ.ศ. 2532

มีป คีส และสามีของเธอ ร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ ของโอเพคทา เช่น วิคทอร์ คูเกลอร์, โยฮันเนิส ไกลมัน และแบ็ป โฟสเกยล์ ในการช่วยเหลือออทโท ฟรังค์, เอดิท ฟรังค์, มาร์กอท ฟรังค์ และอันเนอ ฟรังค์ รวมถึงครอบครัวฟานเพลส์ ได้แก่ แฮร์มันน์ ฟัน แป็ลส์, เอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ (ภรรยา), เปเตอร์ ฟัน แป็ลส์ (บุตรชาย) รวมถึงทันตแพทย์เพื่อนสนิทของครอบครัวอย่างฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์ หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นบนของที่ทำการบริษัท ซึ่งตั้งอยู่บนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ถึง 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487[12] มีป คีสให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกดีใจที่ได้ช่วยครอบครัวชาวยิวหลบซ่อนตัว เพราะเธอเป็นกังวลหลังจากได้เห็นชะตากรรมของชาวยิวรายอื่น ๆ ในอัมสเตอร์ดัม ในทุก ๆ วัน เธอเห็นรถบรรทุกที่เต็มไปชาวยิวแล่นไปยังสถานีรถไฟ ซึ่งหลังจากนั้นชาวยิวเหล่านี้จะถูกส่งขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่ค่ายกักกันของนาซี มีป คีสเก็บเรื่องการให้ความช่วยเหลือชาวยิวนี้ไว้เป็นความลับโดยไม่บอกใคร แม้กระทั่งครอบครัวบุญธรรมที่รับเธอมาเลี้ยงดู

มีป คีส หลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าสงสัยในขณะซื้อหาอาหารสำหรับครอบครัวผู้หลบซ่อนด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น ซื้อหาอาหารจากร้านค้าหลาย ๆ แหล่งในหนึ่งวัน เธอไม่เคยถือของในจำนวนที่เกินกว่าถุงใบหนึ่งหรือกระเป๋าในเสื้อคลุมของเธอจะบรรจุได้ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการขึ้นไปยังห้องลับในช่วงเวลาทำการของบริษัท เพื่อไม่ให้คนงานคนอื่น ๆ ของบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องเกิดความสงสัยอีกด้วย นอกจากนี้สามีของมีปยังได้ช่วยแบ่งเบาภาระของเธอด้วยบัตรปันส่วนอาหารที่เขาหามาได้จากตลาดมืด ด้วยเหตุที่มีปต้องซื้ออาหารจากหลาย ๆ แหล่งนี้เอง ทำให้เธอมีสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาผู้ค้าเหล่านั้น

ที่ห้องพักอาศัยของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากที่ซ่อนตัว มีป คีส และสามี (ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซีของดัตช์) ก็ได้ช่วยนักศึกษาผู้ต่อต้านนาซีหลบซ่อนตัวอีกด้วย[13]

การถูกจับกุม[แก้]

ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ในขณะที่เธอกำลังทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงาน มีปเงยหน้าขึ้นมองและพบว่ามีชายถือปืนชี้ไปที่อันเนอและพี่สาวของเธอพร้อมกับพูดว่า "นั่งลง! อย่าแม้กระทั่งเอะอะโวยวาย!" ครอบครัวผู้หลบซ่อนถูกหักหลัง ทำให้ตำรวจ กรือเนอโพลีไซ (Grüne Polizei; ตำรวจเขียว) เข้าจำกุมผู้ที่หลบซ่อนอยู่ ณ อาคารเลขที่ 263 ถนนปรินเซินครัคต์ รวมทั้งคูเกลอร์และโยฮันเนิส ไกลมัน ในวันถัดมามีปเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจเยอรมันเพื่อหาพวกเขา มีปเสนอเงินให้แก่ตำรวจเพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้ถูกจับกุม แต่ความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผล ทั้งนี้มีปและผู้ให้การช่วยเหลือคนอื่น ๆ อาจถูกประหารชีวิตได้หากพบว่าให้ที่หลบซ่อนแก่ชาวยิว อย่างไรก็ตามเธอไม่ได้ถูกจับกุมตัว เนื่องจากนายตำรวจผู้มาสอบสวนเธอก็มีภูมิลำเนามาจากกรุงเวียนนาซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอด้วยเช่นกัน[14] และแม้ว่าจะรู้สึกตกตะลึงและโศกเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีปและสามีของเธอก็ยังคงพำนักอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัมอย่างปลอดภัยตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของสงคราม

มีปเก็บกู้สมุดบันทึกของอันเนอได้และเก็บรักษามันไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของเธอ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากทางการจะเข้ามาเก็บกวาดสถานที่หลบซ่อน ต่อมาเมื่อสงครามจบสิ้นลงและเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอันเนอเสียชีวิตในค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน มีปจึงได้มอบกระดาษและสมุดบันทึกที่รวบรวมได้แก่ออทโท ฟรังค์ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวในบรรดาผู้หลบซ่อนทั้งหมด[9] โดยงานเขียนในสมุดบันทึกของอันเนอแสดงให้เห็นความสามารถด้านวรรณกรรมของเธอได้อย่างเด่นชัด และหลังจากที่ถ่ายทอดส่วนของครอบครัวของเขาลงไปแล้ว ออทโทก็ได้ตระเตรียมการเผยแพร่งานเขียนดังกล่าวสู่สาธารณชนในปี พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ มีป คีส ไม่ได้อ่านสมุดบันทึกเล่มดังกล่าวก่อนที่จะมอบให้แก่ออทโทเลย ซึ่งภายหลังมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าหากเธอได้อ่านมันเธอคงจะทำลายสมุดบันทึกเล่มนั้นทิ้ง เพราะภายในเต็มไปด้วยชื่อจริงของผู้ให้การช่วยเหลือครบทั้งห้าคน เช่นเดียวกับรายชื่อของผู้ค้าจากตลาดมืดหลายคน อย่างไรก็ตามออทโทได้โน้มน้าวให้เธออ่านบันทึกดังกล่าวในการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 จนสำเร็จ[10] และในปี พ.ศ. 2490 นี้เอง มีปและสามีของเธอก็ได้ย้ายที่พำนักไปยังบ้านเลขที่ 65 ถนนเยเกอร์ ใกล้กับจัตุรัสแมร์เวเดอ ซึ่งออทโทก็ได้ย้ายไปกับพวกเขาด้วย[11]

เกียรติยศและรางวัล[แก้]

ในปี พ.ศ. 2537 มีปได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเหรียญวัลเลินแบรย์โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในปีถัดมาเธอได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากยาดวาเชม และในปี พ.ศ. 2540 มีปได้รับพระราชทานยศชั้นอัศวินโดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซาจากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และมีการตั้งชื่อดาวเคราะห์ขนาดเล็กนามว่า 99949 มีปคีส เพื่อเป็นเกียรติให้แก่เธอ[15]

ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ว็อล์ฟกัง เพาล์ เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำเนเธอร์เแลนด์ เป็นผู้แทนมอบเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐออสเตรียให้แก่มีป คีส ณ บ้านพักของเธอ[16]

เสียชีวิต[แก้]

ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553 มีปเสียชีวิตลงด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการลื่นล้ม ณ บ้านพักคนชราในโฮร์น เมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 45 กิโลเมตร (28 ไมล์)[17] ทำให้เธอมีอายุยืนกว่าสามี 17 ปี และมีอายุรวม 100 ปี 10 เดือน 24 วัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "Miep Gies: Moving to Holland". Scholastic. สืบค้นเมื่อ 2011-08-22.
  2. Menachem Z. Rosensaft (January 12, 2010). "Sainthood for Miep Gies". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-26. สืบค้นเมื่อ 2010-05-12.
  3. Gies in isolation: [ˈɣis].
  4. Obituary Los Angeles Times, 12 January 2010.
  5. Obituary Washington Post, 12 January 2010.
  6. Obituary The Times, 13 January 2010.
  7. Obituary London Guardian, 13 January 2010.
  8. Obituary London Independent, 14 January 2010.
  9. 9.0 9.1 "Anne Frank guardian reaches 100". BBC News. 15 February 2009.
  10. 10.0 10.1 Carolyn Kellogg (17 February 2009). "Miep Gies, Anne Frank's custodian, turns 100". Los Angeles Times.
  11. 11.0 11.1 Anne Frank Remembered Book, 2010
  12. María Mercedes Romagnoli "The guardians of Holland" The International Raoul Wallenberg Foundation
  13. Goldstein, Richard (11 January 2010). "Miep Gies, Protector of Anne Frank, Dies at 100". The New York Times. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  14. Narative by Miep Gies
  15. JPL Small-Body Database.
  16. "Grand Decoration of Honour for Services". สืบค้นเมื่อ 27 September 2012.
  17. "Anne Frank diary guardian Miep Gies dies aged 100". BBC News. 12 January 2010. สืบค้นเมื่อ 12 January 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]