พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์30 กันยายน ค.ศ. 139920 มีนาคม ค.ศ. 1413
ราชาภิเษก13 ตุลาคม ค.ศ. 1399[1]
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
รัชกาลถัดไปสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ
พระราชสมภพ3 เมษายน ค.ศ. 1367[2]
ปราสาทโบลิงโบรค, ลิงคอล์นเชอร์ ในอังกฤษ
สวรรคต20 มีนาคม ค.ศ. 1413 ~(45 ปี)
Jerusalem Chamber ลอนดอน
พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ

ทอมัส ดยุกแห่งแคลเร็นซ์
จอห์น ดยุกแห่งเบดฟอร์ด
ฮัมฟรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์
แบลนช เจ้าหญิงอีเล็คเตอร์แห่งพาเลไทน์

สมเด็จพระราชินีฟิลิปปาแห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน
สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ
ราชวงศ์แลงคาสเตอร์
พระราชบิดาจอห์นแห่งกอนท์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ที่ 1
พระราชมารดาบลานซแห่งแลงคาสเตอร์
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Henry IV of England) (3 เมษายน ค.ศ. 1367 – 20 มีนาคม ค.ศ. 1413) เป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์แลงคาสเตอร์ของราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรไอร์แลนด์

สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367 ที่ปราสาทโบลิงโบรค, ลิงคอล์นเชอร์ ในอังกฤษ เป็นพระราชโอรสของจอห์นแห่งกอนท์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ที่ 1 และ บลานซแห่งแลงคาสเตอร์ ทรงเสกสมรสกับแมรีแห่งโบฮุน และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1399 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1413 ที่เวสท์มินสเตอร์แอบบี ลอนดอน

วัยเยาว์[แก้]

พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367 ที่ปราสาทบอลิงบรูก พระองค์เป็นบุตรชายของจอห์นแห่งกอนท์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ (พระราชโอรสที่มีชีวิตรอดลำดับที่สามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3) กับบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ ซึ่งทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหกคน เฮนรีเป็นบุตรคนที่ห้าและเป็นบุตรชายที่มีชีวิตรอดลำดับที่สาม เนื่องจากเกิดที่ปราสาทบอลิงบรูกเฮนรีจึงถูกเรียกว่าเฮนรี บอลิงบรูก หลังเสด็จพระราชสมภพได้หนึ่งปีบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ พระมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรมที่ปราสาททัตบรี โดยสันนิษฐานว่าน่าจะป่วยเป็นกาฬโรค พระบิดาของเฮนรีสมรสใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองกับกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา เจ้าหญิงสเปนซึ่งเป็นพระราชธิดาคนโตของพระเจ้าเปโดรผู้โหดเหี้ยมแห่งกัสติยา


บอลิงบรูกน้อยเป็นเพื่อนเล่นในวัยเด็กของริชาร์ด บอร์โดซ์ ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งซึ่งเป็นบุตรชายของเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสคนโตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (พระเชษฐาของจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรี) ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1377 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้แต่งตั้งพระราชนัดดาน้อยทั้งสองเป็นอัศวินการ์เตอร์ ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายนพระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสคนโตของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว ริชาร์ด บุตรชายวัย 10 ปีของเจ้าชายดำจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ตามสิทธิของบุตรหัวปี โดยมีจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีและพระปิตุลาของกษัตริย์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เฮนรีให้การสนับสนุนพระเจ้าริชาร์ดอย่างเต็มที่และกษัตริย์ได้ตั้งเฮนรีเป็นเอิร์ลแห่งเดอร์บีในวันที่ 16 กรกฎาคมของปีนั้น


ในปี ค.ศ. 1378 จอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีต้องการให้เฮนรีสมรสกับแมรี เดอ โบฮัน บุตรสาวและทายาทของฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลแห่งเฮริฟอร์ด กอนท์ได้ลักพาตัวแมรีจากปราสาทเพรสชีมายังปราสาทอารันเดล โดยมีโจน มารดาของแมรีให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่จอห์นแห่งกอนท์ในการเคลื่อนย้ายตัวบุตรสาว เฮนรีกับแมรีได้สมรสกันในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1380 ที่ปราสาทอารันเดล แต่เนื่องจากทั้งคู่ยังอายุน้อย (เจ้าสาวมีอายุเพียง 12 ปี) จึงมีการแนะนำว่าควรปล่อยให้การสมรสไม่สมบูรณ์ไปก่อน แต่ทั้งคู่ไม่ยอมทำตามคำแนะนำ ในปี ค.ศ. 1382 แมรีได้ให้กำเนิดบุตรชายที่มีอายุอยู่ได้เพียง 4 วัน เฮนรีกับแมรีมีบุตรธิดาด้วยกัน ดังนี้

  • เอ็ดเวิร์ด (เกิด ค.ศ. 1382) มีอายุอยู่ได้เพียง 4 วัน
  • เฮนรี (เกิด ค.ศ. 1387) ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ
  • ทอมัส (เกิด ค.ศ. 1388) ดยุคแห่งแคลเรนซ์
  • จอห์น (เกิด ค.ศ. 1389) ดยุคแห่งเบดฟอร์ด
  • ฮัมฟรีย์ (เกิด ค.ศ. 1390) ดยุคแห่งกลอสเตอร์
  • บลานช์ (เกิด ค.ศ. 1392)
  • ฟิลิปปา (เกิด ค.ศ. 1394)


ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1384 เฮนรีได้เป็นเอิร์ลแห่งนอร์แทมตันโดยสิทธิ์ของภรรยา

ความขัดแย้งกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 2[แก้]

ภาพผู้นำทั้งห้าของกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์โยนถุงมือเกราะทิ้งต่อหน้าพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 (จากซ้ายไปขวา) ริชาร์ด ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 11 แห่งอารันเดล, ธอมัสแห่งวูดสต็อก ดยุคที่ 1 แห่งกลอสเตอร์, ธอมัส เดอ มาวบราย เอิร์ลแห่งนอร์ติงแฮม, เฮนรี บอลิงบรูก เอิร์ลแห่งเดอร์บี และธอมัส เดอ โบแชมป์ เอิร์ลที่ 12 แห่งวอริค

ในปี ค.ศ. 1386 จอห์นแห่งกอนท์ได้ออกเดินทางไปทำศึกในสเปน ในตอนนั้นเฮนรีมีอายุได้ 20 ปี แม้จะรูปร่างเตี้ยแต่พระองค์มีร่างกายกำยำ ทรงมีผมสีน้ำตาลแดง เคราสีแดง และดวงตาสีน้ำตาล ทั้งยังกล้าหาญและกระฉับกระเฉงตามแบบราชวงศ์แพลนแทเจเนต พระองค์เป็นหนึ่งในห้าผู้นำของกลุ่มขุนนางที่มีชื่อเรียกว่า "กลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ (อังกฤษ: Lords Appellant)" ร่วมกับริชาร์ด ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 11 แห่งอารันเดล, ธอมัสแห่งวูดสต็อก ดยุคที่ 1 แห่งกลอสเตอร์, ธอมัส เดอ มาวบราย ดยุคที่ 1 แห่งนอร์ฟอล์ก และธอมัส เดอ โบแชมป์ เอิร์ลที่ 12 แห่งวอริค โดยขุนนางกลุ่มนี้ได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ที่มีความเป็นทรราชย์มากขึ้นเรื่อยๆ


ปีต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1387 เฮนรีร่วมกับกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์นำกองทัพคว้าชัยชนะเหนือกษัตริย์ ต่อมาในช่วงปลายเดือนนั้นกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้เข้าพบพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ที่หอคอยแห่งลอนดอน กษัตริย์จำใจต้องทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์อย่างไม่มีทางเลือก ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1388 กลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้ตั้งรัฐสภาที่มีชื่อเรียกว่า "รัฐสภาอันไร้ความปราณี (อังกฤษ: Merciless Parliament)" และได้ออก "ฎีกาว่าด้วยผู้ทรยศ (อังกฤษ: Appeal of Treason)" เพื่อกำจัดกลุ่มผู้ฝักใฝ่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นขุนนางและผู้ติดตามในครัวเรือนของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 โดยไม่สนใจกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน รัฐสภาอันไร้ความปราณีถูกยุบ พระเจ้าริชาร์ดได้กลับมาปกครองแต่อยู่ในสถานะกษัตริย์หุ่นเชิดที่ถูกชักใยโดยกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ ตลอดระยะเวลาสามปีต่อมาได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นเป็นระยะ พระเจ้าริชาร์ดเริ่มได้อำนาจกลับมา และเมื่อจอห์นแห่งกอนท์กลับมาจากทำศึกในสเปนพระองค์ได้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกัน


ในช่วงปี ค.ศ. 1390 เฮนรีใช้เวลามากมายไปกับการทำสงครามครูเสด โดยพระองค์ได้ร่วมกับกลุ่มอัศวินทิวทอนิกทำการปิดล้อมเมืองวิลนีอุส นครหลวงของลิทัวเนีย ในช่วงปี ค.ศ. 1392 พระองค์ได้เข้าร่วมสงครามครูเสดอีกครั้งในปรัสเซียแต่ประสบความล้มเหลว พระองค์จึงออกแสวงบุญไปเยรูซาเล็มและปฏิญาณว่าจะปลดปล่อยเมืองจากพวกนอกรีตแต่ทำไม่สำเร็จ


ในปี ค.ศ. 1394 เฮนรีประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อแมรี เดอ โบฮัน ภรรยาของพระองค์เสียชีวิตในการคลอดบุตร ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1397 เฮนรีถูกตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเฮริฟอร์ด ทว่าต่อมาในปี ค.ศ. 1398 เฮนรีทะเลาะเบาะแว้งกับธอมัส เดอ มาวบราย ดยุคที่ 1 แห่งนอร์ฟอร์ก เปิดช่องให้พระเจ้าริชาร์ดที่ยังแค้นเฮนรีเรื่องกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้ข้ออ้างในการเนรเทศเฮนรีออกจากประเทศเป็นเวลา 1 ปี มาวบรายเองก็ถูกเนรเทศเช่นกัน เฮนรีได้เดินทางไปเบรอตาญและได้พบกับฌานแห่งนาวาร์ ชายาของฌ็องที่ 4 ดยุคแห่งเบรอตาญ

การขึ้นเป็นกษัตริย์[แก้]

ภาพเฮนรี บอลิงบรูกกำลังอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ต่อหน้าขุนนางทั้งทางโลกและทางธรรมในปี ค.ศ. 1399

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1399 จอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน เฮนรีควรได้สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งแลงคัสเตอร์, เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ และเอิร์ลแห่งลิงคอล์นของพระบิดา แต่พระเจ้าริชาร์ดฉวยโอกาสในตอนที่พระองค์ยังถูกเนรเทศริบดินแดนมรดกอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์และขยายเวลาการเนรเทศจาก 1 ปีเป็นตลอดชีวิต


เฮนรีได้ติดต่อธอมัส อารันเดล อดีตอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีที่เสียตำแหน่งจากการเคยอยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์เช่นกัน อารันเดลชี้ช่องทางให้เฮนรีเดินทางกลับอังกฤษพร้อมกองกำลังติดอาวุธในช่วงที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ออกไปทำศึกในไอร์แลนด์ เฮนรีได้ขึ้นฝั่งที่ราเวนสเปอร์ในมณฑลยอร์กเชอร์ในวันที่ 19 สิงหาคม เนื่องจากกษัตริย์ได้พากลุ่มอัศวินที่จงรักภักดีไปกับพระองค์ การขึ้นฝั่งของเฮนรีจึงไม่มีฝ่ายใดออกมาต่อต้าน ดยุคแห่งยอร์กผู้ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรในช่วงที่กษัตริย์ไม่อยู่ได้หันมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเฮนรี ทั้งยังมีเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ให้การสนับสนุน พระองค์จึงมีอำนาจมากพอที่จะท้าชิงบัลลังก์กษัตริย์ เมื่อพระเจ้าริชาร์ดเดินทางกลับมาจากไอร์แลนด์ไม่มีใครให้การสนับสนุนกษัตริย์อีกแล้ว ในวันที่ 29 กันยายนเฮนรีได้จับกุมตัวพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 และได้จำขังพระองค์ไว้ในปราสาทพอนเตอแฟรค กษัตริย์ถูกบังคับให้สละราชสมบัติเพื่อหลีกทางให้เฮนรี รัฐสภาได้ประกาศให้เฮนรีเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ผู้ครองบัลลังก์แห่งอังกฤษและเวลส์ในวันที่ 30 กันยายน พระองค์ได้ก่อตั้งกลุ่มอัศวินบาธในวันที่ 12 ตุลาคมและได้รับการสวมมงกุฎที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 13 ตุลาคม ในวันที่ 15 ตุลาคม เฮนรี พระโอรสคนโตของพระเจ้าเฮนรีถูกตั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์, ดยุคแห่งคอร์นวอลล์, เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ และเจ้าชายแห่งอากีแตน ในช่วงปี ค.ศ. 1400 เฮนรีได้ขอสมรสกับฌานแห่งนาวาร์ซึ่งพระสวามีของพระนางได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อปี ค.ศ. 1399 พระนางยอมรับคำขอสมรสแต่ประกาศว่าจะบริหารปกครองเบรอตาญไปก่อนจนกว่าการสมรสจะเกิดขึ้น

รัชสมัยแห่งการก่อกบฏ[แก้]

ภาพพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ จากพงศาวดารของฌ็อง ฟรัวซาร์

รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 เป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการก่อกบฏ หลายคนมองว่าพระองค์แย่งชิงบัลลังก์มาอย่างไม่ชอบธรรม กลุ่มบุคคลสำคัญที่เคยช่วยพระองค์ปราบพระเจ้าริชาร์ดมุ่งมั่นกับการสร้างฐานอำนาจให้ตนเองมากกว่าการค้ำจุนราชบัลลังก์ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1400 กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตกษัตริย์ได้วางแผนจับกุมตัวพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในงานเลี้ยงฉลองวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์เพื่อเอาบัลลังก์กลับคืนมาให้พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ทว่าแผนการล้มเหลว มีผู้สมคบคิดคนหนึ่งทรยศนำแผนการไปบอกแก่พระเจ้าเฮนรี แกนนำทั้งหมดถูกจับกุมตัวและถูกประหารชีวิต ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์มีการประกาศว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตแล้วที่ปราสาทพอนเตอแฟรค ภายหลังในปี ค.ศ. 1871 ดีน สแตนลีย์แห่งเวสต์มินสเตอร์ได้ทำการพิสูจน์โครงกระดูกของพระองค์และไม่พบร่องรอยของความรุนแรงจึงคาดว่าพระองค์น่าจะสวรรคตเพราะความหิว แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน


ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคมพระเจ้าเฮนรีได้นำทัพขึ้นเหนือเพื่อเตรียมบุกสกอตแลนด์ กองทัพอังกฤษไปถึงสกอตแลนด์ในเดือนสิงหาคมและได้ทำการปิดล้อมปราสาทเอดินบะระแต่ประสบความล้มเหลว ในวันที่ 16 กันยายน ในเวลส์ โอไวน์ เกลินดูร์ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรีด้วยการประกาศตนเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเข้ายึดปราสาทคอนเวย์ โดยมีพันธมิตรคือกลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลมอร์ติเมอร์ที่มองว่าเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์ ลูกหลานในสายไลโอเนลแห่งแอนท์เวิร์ป ดยุคแห่งแคลเรนซ์ (พระเชษฐาของจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 4) คือทายาทโดยชอบธรรมของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ซึ่งควรได้เป็นกษัตริย์ตามสิทธิของบุตรหัวปี


ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1401 ได้เกิดยุทธการที่เฮิดด์เกน กองทัพอังกฤษพ่ายแพ้แก่อกองทัพเวลส์บริเวณใกล้กับอาเบเริสทรุยส์ ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1402 กองทัพอังกฤษได้ทำยุทธการที่เนสบิตมัวร์ปราบกลุ่มชาวสกอตแลนด์ที่ทำการรุกราน ในวันที่ 22 มิถุนายน กองกำลังอังกฤษพ่ายแพ้ต่อกลุ่มกบฏชาวเวลส์อีกครั้งในยุทธการที่เบรินกลาส ในวันที่ 14 กันยายนเฮนรี ฮอตสเปอร์นำกองกำลังอังกฤษปราบกลุ่มผู้รุกรานชาวสกอตแลนด์ในยุทธการที่ฮัมเบิลตันฮิลล์


ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1402 ฌานแห่งนาวาร์ คู่หมั้นของพระเจ้าเฮนรี กับธิดาของพระนางเดินทางออกจากเบรอตาญมาอังกฤษ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1403 พระเจ้าเฮนรีกับฌานสมรสกันที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ แต่พระราชินีคนใหม่ไม่เป็นที่นิยมของทั้งประชาชนและชนชั้นสูง


ภาพการเสียชีวิตของฮอตสเปอร์ในยุทธการที่ชรูวส์บรี โดยริชาร์ด คาตัน วูดวิลล์ ปี ค.ศ. 1910

ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น เฮนรี เพอร์ซีหรือฮอตสเปอร์ บุตรชายของเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์และเขยของตระกูลมอร์ติเมอร์ประกาศตนเป็นพันธมิตรกับโอไวน์ เกลินดูร์และตระกูลมอร์ติเมอร์ในการต่อสู้กับพระเจ้าเฮนรี แต่ก่อนที่เฮนรี เพอร์ซีจะได้รวมกองทัพเข้ากับกลุ่มของตระกูลมอร์ติเมอร์ พระเจ้าเฮนรีได้นำทัพขึ้นเหนือและปราบเพอร์ซีได้ในยุทธการที่ชรูวส์บรีในวันที่ 21 กรกฎาคม เพอร์ซีถูกกองทัพของกษัตริย์สังหาร ผู้นำคนอื่นๆ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอและถูกตัดหัวเสียบประจาน แต่พระเจ้าเฮนรีละเว้นโทษตายให้แก่เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ บิดาของเพอร์ซีที่หนีไปสกอตแลนด์


ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1404 โอไวน์ เกลินดูร์ประกาศตัวเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1405 เฮนรีแห่งมอนเมาธ์ เจ้าชายแห่งเวลส์นำกองทัพอังกฤษปราบกลุ่มกบฏเวลส์ได้ที่ยุทธการที่กรอสมอนต์ (มอนเมาธ์เชอร์) กลุ่มกบฏเวลส์พ่ายแพ้ต่อกองกำลังอังกฤษอีกครั้งในยุทธการที่อัส์กในวันที่ 5 พฤษภาคม ในวันที่ 8 มิถุนายนริชาร์ด สกรอป อาร์ชบิชอปแห่งยอร์กได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 4 โดยมีเฮนรี เพอร์ซี เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ให้การสนับสนุน สกรอปพ่ายแพ้และถูกประหารชีวิต นอร์ทัมเบอร์แลนด์หนีไปสกอตแลนด์อีกครั้ง ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1406 พระเจ้าเฮนรีจับตัวเจมส์ ทายาทในบัลลังก์สกอตแลนด์มาอยู่ในการควบคุม เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์รุกรานอังกฤษอีกครั้งในปี ค.ศ. 1408 โดยมีสกอตแลนด์ให้การสนับสนุน พระเจ้าเฮนรีนำทัพไปหากองกำลังดังกล่าวที่แบรมแฮมมัวร์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์และคว้าชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด นอร์ทัมเบอร์แลนด์ถูกสังหารในสนามรบ

บั้นปลายพระชนมาชีพ[แก้]

หลุมฝังศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษที่อาสนวิหารแคนเทอร์บรี

หลังทำการปิดล้อมกลุ่มกบฏชาวเวลส์ที่อาเบเริสทรุยธ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1407 เฮนรี เจ้าชายแห่งเวลส์สามารถยึดอาเบเริสทรุยส์ได้ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1408 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1409 พระองค์ยึดปราสาทฮาร์เลชในเวลส์ได้ ในปีนั้นเจ้าชายเฮนรีผู้เป็นทายาทในบัลลังก์ได้ขึ้นเป็นเสนาบดี สุขภาพของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 เริ่มย่ำแย่ พระองค์ป่วยเป็นโรคที่ทำให้เสียโฉม (คาดว่าน่าจะเป็นโรคเรื้อน, โรคซิฟิลิส หรือไม่ก็โรคสะเก็ดเงิน) จนปลีกวิเวกจากสังคม ทั้งยังถูกรัฐสภากล่าวหาบริหารจัดการงบประมาณสำหรับการทำศึกสงครามผิดพลาดในราชสำนัก เริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นและธอมัส อารันเดล อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีได้ขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ในราชสำนัก กระทั่งในปี ค.ศ. 1410 ฝ่ายตรงข้ามซึ่งนำโดยเจ้าชายเฮนรีได้ขับไล่เขาลงจากอำนาจ

ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับเจ้าชายเฮนรีผู้เป็นพระราชโอรสย่ำแย่ลงเมื่อเกิดกบฏขึ้นในฝรั่งเศส กษัตริย์ต้องการผูกมิตรกับกลุ่มผู้นำกบฏ ขณะที่เจ้าชายต้องการช่วยสหายชาวบูร์กอญของพระองค์ทำสงครามกับกลุ่มกบฏ หลังมีความเห็นไม่ลงรอยกันพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ได้ถอดเจ้าชายเฮนรีออกจากสภากษัตริย์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1411 ต่อมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 1412 พระเจ้าเฮนรีที่ 4 กลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ เจ้าชายเฮนรีได้เข้ามารับช่วงต่อบริหารบ้านเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูกยังคงตึงเครียดจนกระทั่งในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1413 พระเจ้าเฮนรีที่ 4 เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 46 พรรษา ร่างของพระองค์ถูกฝังที่อาสนวิหารแคนเทอร์บรีตรงข้ามกับหลุมศพของเจ้าชายดำ เจ้าชายเฮนรี พระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 กษัตริย์รัชกาลต่อมา

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Weir 2008, p. 124.
  2. Mortimer, I. (6 December 2006). "Henry IV's date of birth and the royal Maundy" (PDF). Historical Research. 80 (210): 567–576. doi:10.1111/j.1468-2281.2006.00403.x. ISSN 0950-3471. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 September 2019.

ผลงานที่อ้างถึง[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์แลงคาสเตอร์)
สาขาหนึ่งของราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท

(ค.ศ. 1399ค.ศ. 1413)
สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 5