พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธรรมพัชรญาณมุนี

(ฌอน ชยสาโร)
คำนำหน้าชื่อพระเดชพระคุณ
ชื่ออื่นพระอาจารย์ชยสาโร
ส่วนบุคคล
เกิด7 มกราคม พ.ศ. 2501 (66 ปี)
นิกายมหานิกาย
การศึกษาปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา
บรรพชาพ.ศ. 2522
อุปสมบทพ.ศ. 2523
พรรษา44

พระธรรมพัชรญาณมุนี มีนามเดิมว่า ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน (อังกฤษ: Shaun Michael Chiverton) ฉายา ชยสาโร สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษผู้ซึ่งถ่ายทอดความลึกซึ้งทางธรรมฉบับภาษาไทยได้อย่างสละสลวยและเป็นที่ประทับใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลก[1]

ประวัติ[แก้]

การศึกษา[แก้]

พระธรรมพัชรญาณมุนี เกิดวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2501 เกาะไอล์ออฟไวต์ ประเทศอังกฤษ เมื่อยังเล็กท่านมีสุขภาพไม่ดี มีอาการหอบหืด แม้จะต้องหยุดโรงเรียนบ่อย แต่ก็ได้ใช้เวลาในการศึกษาด้วยตนเอง ด้วยความเป็นคนที่ช่างคิด ช่างค้นคว้าจึงมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยมจนบิดามีความหวังให้เข้าสอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ แต่สิ่งที่สนใจจริงแล้วก็คืออะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราจะได้จากการเป็นมนุษย์ อะไรคือความจริงสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับสมมุติของแต่ละสังคม ทำไมคนเราอยากจะอยู่อย่างเป็นมิตรแต่กลับรบราฆ่าฟันกันอยู่เรื่อยไป

ทั้งนี้ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศว่า พระชยสาโรภิกขุ เป็นพระเถระที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นอเนกประการ ควรแก่การยกย่องประกาศเกียรติคุณ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาล เป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนสืบไป

เกียรติคุณอื่นที่ได้รับ ท่านได้รับรางวัลการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 และได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2553 จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม

ประกาศเกียรติคุณ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การแสวงหาสัจธรรม[แก้]

เมื่อไม่มีบุคคลใดสามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ ท่านจึงเริ่มอ่านหนังสือต่างๆมากมายหลากหลาย จนกระทั่งพบคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาว่าเป็น "สัจธรรมความจริง" ที่กำลังแสวงหาอยู่ จึงสนใจการฝึกจิตและศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ท่านเริ่มทำงานเก็บเงินและออกเดินทางหาประสบการณ์ในประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศอิหร่านซึ่งลำบากมาก ถึงขนาดที่ว่าเคยโดนซ้อม แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อจนมีคนชวนท่านไปอยู่ที่บ้านเพื่อให้สอนภาษาอังกฤษให้แลกกับการให้ที่พักและอาหาร หรือเมื่อครั้งท่านไปประพฤติตนเป็นฤๅษีที่อินเดีย แต่สุดท้ายก็มีเหตุจากปัจจัยภายนอกทำให้ท่านต้องเดินทางกลับ ท่านเดินทางไปทั่ว จนแน่ใจว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม อันเป็นหนทางที่ต้องการแทนการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยท่านใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ท่านต้องการตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลา 2 ปี จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ท่านได้พบและเริ่มปฏิบัติกับพระอาจารย์สุเมโธ (พระชาวต่างชาติรูปแรกที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท) ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ และได้ถือเพศเป็นอนาคาริก (ปะขาว) อยู่กับท่านพระอาจารย์สุเมโธ ถือศีล 10 เป็นเวลา 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์[แก้]

แม้ว่าท่านจะได้ปฏิบัติมาบ้างเมื่ออยู่กับพระอาจารย์สุเมโธมาแล้วก็ตาม แต่หลวงพ่อชาก็ยังไม่บวชให้ ท่านรับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่าง ๆ จากหลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลวงพ่อชาถามว่า อยากบวชไหม หากบอกว่า อยาก ท่านก็จะตอบว่า ยังไม่ให้บวช จนกว่าจะตอบว่า "แล้วแต่หลวงพ่อ" ท่านจึงได้บวช เมื่อ พ.ศ. 2523 โดยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์[2]

ก่อนเดินทางมาประเทศไทย ท่านได้ตั้งใจว่าจะอยู่ที่วัดหนองป่าพง ให้ครบ 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เมื่อมาพบหลวงพ่อชา ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและความเป็นครูที่มีทั้งเมตตา และปัญญาในการสอนอย่างลึกซึ้ง จึงสามารถทนต่อความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตแบบพระวัดป่า ที่เข้มงวดในวินัย และการฝึกปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้า และการอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ชาวไทยจนเกิดความก้าวหน้าและเบิกบานในธรรม แนวการสอนของหลวงพ่อชาเน้นการปฏิบัติการรักษาศีล และข้อวัตรปฏิบัติ ความอดทน ความเพียร การใคร่ครวญหลักธรรม และน้อมมาสู่ใจให้เฝ้าสังเกตจนรู้ทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถใช้สติปัญญาในการสร้างประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นพร้อมกันไป ทำให้ท่านผูกพันกับหลวงพ่อชามาก

เหตุที่เลือกยึดหลักเถรวาท เพราะท่านมีความตั้งใจ ต้องการจะทุ่มเทกาย ถวายชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานและที่ชอบฝ่ายเถรวาท เพราะถูกจริต ตรงไปตรงมา ไม่มีพิธีรีตองมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เข้ามาเกี่ยวกับกาย กับใจ กับทุกข์ การที่จะอยู่กับป่ากับ ธรรมชาติ อย่างที่สาวกพระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

แม้ว่าท่านจะเป็นชาวต่างชาติแต่เรื่องภาษาไม่ใช่อุปสรรค เพราะท่านเชื่อว่าภาษาพื้นฐาน คือบาลีสันสกฤต ซึ่งทั้งคนไทยและต่างชาติก็ต้องเริ่มมาเรียนรู้เหมือนกัน ภาษามีความยากพอกัน แต่คนไทยอาจจะง่ายกว่าที่ศัพท์ไทยมีบาลีสันสกฤต ท่านจึงต้องพยายามและขยันมากหน่อย แต่ก็ไม่นาน โดยท่านใช้วิธีการท่องตัวอักษรจนกระทั่งอ่านได้ จากนั้นก็อยู่คนเดียว ค่อย ๆ อ่าน ดูศัพท์ในดิกชันนารี อีกทั้งอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ได้เรียนทฤษฎีอะไรมากมาย ก็ปฏิบัติไปด้วย มีการพิสูจน์ไปด้วย ได้ปรึกษาหารือกับครูบาอาจารย์ ได้อ่านได้ฟัง พูดคุยกับพระด้วยกัน ทั้งหมดเป็นชีวิตของท่าน ท่านเองก็ต้องคลุกคลีกับสิ่งนี้อยู่แล้วจึงไม่ยากเท่าไร

ปัจจุบันพระอาจารย์ชยสาโรพำนักอยู่ ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา[3]

ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พระธรรมพัชรญาณมุนีได้ถวายพระธรรมเทศนาบนธรรมาสน์ เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์[4]

การแปลงสัญชาติเป็นกรณีพิเศษ[แก้]

พระธรรมพัชรญาณมุนี (สมณศักดิ์ ณ ขณะนั้นเป็น พระราชพัชรมานิต) ได้ยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยต่อกระทรวงมหาดไทย กระทั่งวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นกรณีพิเศษแก่พระธรรมพัชรญาณมุนีด้วยเหตุผลที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ กับเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติมาก่อน ถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษต่อประเทศไทยและพระพุทธศาสนา[5]

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) เมตตาตั้งนามสกุลภาษาไทยให้ว่า 'โพธานุวัตน์'

สมณศักดิ์[แก้]

  • 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชพัชรมานิต พิสิฐธรรมคุณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [6]
  • 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพพัชรญาณมุนี วิปัสสนาวิธีโกศล วิมลภาวนาวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
  • 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระธรรมพัชรญาณมุนี ภาวนาวิธีสุวิธาน สีลาจารสุวิมล โกศลกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชยสาโรภิกขุ แรงศรัทธาบนความต่าง"[ลิงก์เสีย] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553.
  2. "พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2011-05-12.
  3. " ธรรมเทศนาพระอาจารย์ชยสาโร" เก็บถาวร 2010-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. ในหลวง พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ รัชกาลที่ 9
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นกรณีพิเศษ
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2019-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 136, ตอนที่ 40 ข, 28 กรกฎาคม 2562 , หน้า 13
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เล่ม 138, ตอนที่ 34 ข, วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, หน้า 3

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]