พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Partai Komunis Indonesia, PKI) เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้มีอำนาจปกครองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พรรคนี้ถูกปราบปรามอย่างหนักใน พ.ศ. 2508 และถูกคว่ำบาตรในปีต่อมา[1][2]

องค์กรที่เกิดขึ้นก่อน[แก้]

เฮก เซฝลีต

องค์กรเริ่มต้นที่สำคัญก่อตั้งโดยนักสังคมนิยมชาวดัตช์ เฮก เซฝลีตใน พ.ศ. 2457 ในชื่อสมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีส (Indies Social Democratic Association; ภาษาดัตช์: Indische Sociaal-Democratische Vereeniging, ISDV) มีสมาชิก 85 คน จากพรรคการเมืองนิยมสังคมนิยมของดัตช์ 2 พรรคคือ SDAP และพรรคสังคมนิยมเนเธอร์แลนด์ที่ต่อมากลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เนเธอร์แลนด์ (SDP) ที่มีสาขาในดัตช์อีสต์อินดีส[3] สมาชิกขององค์กรนี้ได้นำแนวคิดลัทธิมาร์กมากระตุ้นให้ชาวอินโดนีเซียต่อต้านระบอบอาณานิคม

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2458 สมาคมได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาดัตช์ โลกเสรี (Het Vrije Woord) บรรณาธิการคือ อดอล์ฟ บาร์ สมาคมนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียกร้องเอกราชเมื่อแรกก่อตั้ง ในช่วงดังกล่าวสมาคมนี้มีสมาชิกประมาณ 100 คน เป็นชาวอินโดนีเซียเพียง 3 คน สมาคมนี้ได้กลายเป็นสมาคมหัวรุนแรงและต่อต้านการควบคุมจากศูนย์กลาง สมาชิกพรรค SDAP ในเนเธอร์แลนด์เริ่มลำบากใจที่จะร่วมมือกับสมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีส ใน พ.ศ. 2460 กลุ่มปฏิรูปของสมาคมได้แยกตัวออกไปตั้งพรรคประชาธิปไตยสังคมอินดีส ในปีเดียวกันนี้ สมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีสได้ตีพิมพ์เอกสารเป็นภาษาอินโดนีเซียครั้งแรกในชื่อ เสียงเสรีภาพ (Soeara Merdeka)

เซฝลีต ผู้นำสมาคมเห็นว่าการปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นสิ่งที่ควรทำตามในอินโดนีเซีย สมาคมได้จัดตั้งผู้พิทักษ์แดง มีสมาชิกประมาณ 3,000 คน ใน พ.ศ. 2460 ได้เกิดการต่อสู้และจัดตั้งโซเวียตในสุราบายา รัฐบาลอาณานิคมได้กดดันโซเวียตและสมาคม ผู้นำสมาคมถูกส่งตัวกลับไปเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งเซฝลีต ผู้นำทหารในการลุกฮือขึ้นก่อการ ถูกตัดสินจำคุก 40 ปี

ในเวลาต่อมา สมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีสได้เป็นสมาชิกภายในสหภาพอิสลามซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ สมาชิกสหภาพ 2 คนจากเซอมารังคือ เซอมวน และดาร์โซโนได้สนใจแนวคิดของเซฝลีต ในที่สุดสมาชิกสหภาพอิสลามได้ตกลงจะจัดตั้งองค์กรที่เน้นการปฏิวัติด้วยลัทธิมาร์กคือสหภาพประชาชน สมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีสยังคงดำเนินงานต่อไปและตีพิมพ์ เสียงจากประชาชน ต่อมา สมาชิกภายในองค์กรได้เปลี่ยนจากที่แต่เดิมเป็นชาวดัตช์เป็นส่วนใหญ่กลายเป็นมีชาวอินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่ ใน พ.ศ. 2462 เหลือสมาชิกชาวดัตช์เพียง 25 คน จากสมาชิก 400 คน

การก่อตั้งและการเติบโต[แก้]

การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในปัตตาเวีย พ.ศ. 2468

ในการประชุมสมาคมประชาธิปไตยสังคมอินดีสเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 ในเซอมารังได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมคอมมิวนิสต์อินดีส (ภาษาอินโดนีเซีย: Perserikatan Komunis di Hindia) เซอมวนเป็นหัวหน้าพรรคและดาร์โซโนเป็นรองประธาน ส่วนเลขาธิการพรรคเป็นชาวดัตช์ สมาคมนี้ถือเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พรรคนี้เข้าร่วมคอมมิวนิสต์สากลใน พ.ศ. 2464

ในการประชุมสหภาพอิสลาม พ.ศ. 2464 สมาชิกกังวลเกี่ยวกับกลยุทธของเซฝลีตและพยายามหยุดยั้ง อากุส ซาลิม เลขาธิการขององค์กรได้สั่งคว่ำบาตรสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกพรรคอื่นด้วย แม้จะมีการต่อต้านจากตัน มะละกาและเซอมวน แต่ก็ได้บังคับให้กลุ่มคอมมิวนิสต์เปลี่ยนกลยุทธ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเจ้าอาณานิคมเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางการเมือง สหภาพอิสลามจึงหันมาสนใจกิจกรรมทางศาสนาแทน ปล่อยให้กลุ่มคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มชาตินิยมที่ทำงานอยู่องค์กรเดียว

เซอมวนได้ไปร่วมประชุมแรงงานตะวันออกไกลที่มอสโกในราว พ.ศ. 2464 ร่วมกับ ตัน มะละกา เมื่อกลับมา ตัน มะละกาพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานอินโดนีเซียเพื่อนัดหยุดงานระดับชาติแต่ล้มเหลว ตัน มะละกาถูกจับและเขาตัดสินใจลี้ภัยไปรัสเซียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2465 เซอมวนเดินทางกลับจากรัสเซียและเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงาน และได้จัดตั้งองค์กรแรงงานสหภาพแห่งอินโดนีเซีย (Persatuan Vakbonded Hindia) สำเร็จเมื่อ 22 กันยายน

ในการประชุมโคมินเทิร์น พ.ศ. 2467 ได้กล่าวถึงสมาคมคอมมิวนิสต์อินดีสว่าได้เริ่มเน้นการสร้างสหภาพ จำเป็นต้องปรับปรุงวินัย และต้องจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตอินโดนีเซียขึ้น สมาคมคอมมิวนิสต์อินดีสได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียใน พ.ศ. 2467

การปฏิวัติ พ.ศ. 2469[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2468 คณะกรรมการสูงสุดของโคมินเทิร์นได้สั่งให้คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียเข้าร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมกับองค์กรที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่กลุ่มที่สุดโต่งนำโดยอาลีมินและมุสโก เรียกร้องให้ปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลอาณานิคมของดัตช์ ในการประชุมที่ปรัมบานัน ชวากลาง สหภาพการค้าที่ถูกควบคุมโดยคอมมิวนิสต์ตัดสินใจปฏิวัติโดยเริ่มจากการนัดหยุดงานของคนงานทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นสัญญาณ จากนั้น การปฏิวัติจะเริ่มขึ้น

แผนการปฏิวัติเริ่มต้นที่ปาดัง ในเกาะสุมาตรา แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเข้าปราบปรามให้สงบได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 การจับกุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้พรรคต้องต่อสู้ใต้ดิน ความแตกแยกในกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ทำให้การปฏิวัติไม่ได้วางแผนดีพอ ตัน มะละกาซึ่งในขณะนั้นเป็นตัวแทนโคมินเทิร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ไม่ได้เห็นด้วยกับแผนนี้ เพราะเขาเชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียยังได้รับการสนับสนุนไม่มากพอ ในที่สุด แผนการปฏิวัติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2469 ถูกยกเลิกไป แต่ก็มีการปฏิวัติในขอบเขตจำกัดขึ้นในปัตตาเวีย ในวันที่ 12 พฤศจิกายน มีเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นที่ปาดัง บันตัม และสุราบายา การปฏิวัติในปัตตาเวียเกิดขึ้นเพียง 1-2 วัน และใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถปราบปรามได้ทั้งประเทศ ผลจากการปฏิวัตที่ล้มเหลว มีผู้ถูกจับกุม 13,000 คน ถูกจำคุก 4,500 คน ถูกกักขัง 1,308 คน และลี้ภัยไปเมืองดิกุล นิวกีนีตะวันตก 823 คน[4] มีคนตายในเมืองหลวงหลายคน นักการเมืองที่ไม่ได้นิยมคอมมิวนิสต์หลายคนกลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลอาณานิคมระหว่างที่มีการควบคุมการปฏิวัติของฝ่ายคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกลายเป็นพรรคนอกกฎหมายโดยรัฐบาลดัตช์อีสต์อินดีสใน พ.ศ. 2470 ทำให้พรรคต้องกลายเป็นองค์กรนอกกฎหมายและต่อสู้ใต้ดินจนถึงยุคที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง[5]

การดำเนินงานในช่วงแรกของพรรคหลังกลายเป็นพรรคนอกกฎหมายมีจำกัด เพราะผู้นำพรรคส่วนมากถูกจำคุก จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 มุสโซ ผู้นำพรรคกลับมาจากการลี้ภัยในมอสโก ได้จัดตั้งองค์กรของพรรคขึ้นมาใหม่ พรรคทำงานภายในแนวร่วมที่หลากหลาย เช่น เฆอรินโด และสหภาพการค้า ในฮอลแลนด์ พรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปทำงานในกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซีย ในองค์กรชาตินิยม และต่อมาก็สามารถควบคุมองค์กรนั้นได้[6]

หลังสงครามโลก[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียปรากฏขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อ พ.ศ. 2488 ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ หน่วยติดอาวุธจำนวนมากถูกพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมหรือมีอิทธิพล แม้ว่ากองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทที่สำคัญในการต่อสู้ต่อต้านเนเธอร์แลนด์ ประธานาธิบดีซูการ์โนมีความกังวลกับบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์และทำให้เกิดปัญหาในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวาและมหาอำนาจต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองกำลังอื่นๆมีความยากลำบาก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมได้จัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยประชาชน ต่อมา พรรคสังคมนิยมได้รวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงได้ควบคุมกองทัพเปอซินโด ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2491 มุสโซได้เดินทางมายังจาการ์ตาหลังจากลี้ภัยไปยังสหภาพโซเวียต 12 ปี และได้จัดตั้งคณะกรรมการโปลิตบูโรของพรรคขึ้นอีกครั้ง

หลังการลงนามในข้อตกลงเรฟิลใน พ.ศ. 2491 กองทัพส่วนใหญ่ของฝ่ายสาธารณรัฐกลับจากพื้นที่ความขัดแย้งทำให้กองทัพฝ่ายขวาเชื่อมั่นว่าสามารถต่อต้านกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ กองโจรและทหารที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกคว่ำบาตร ในมาดียุน กองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียที่ปฏิเสธการปลดอาวุธถูกฆ่า ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน การฆ่านี้ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียตอินโดนีเซียในวันที่ 18 กันยายน โดยมุสโซเป็นประธานาธิบดี และอามีร์ ซารีฟุดดินเป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพฝ่ายสาธารณรัฐเข้ามาปราบปรามและเข้ายึดครองมาดียุนได้ในวันที่ 30 กันยายน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียราวพันคนถูกฆ่า และถูกจำคุก 36,000 คน ผู้นำหลายคนรวมทั้งมุสโซถูกประหารชีวิตเมื่อ 31 ตุลาคม หลังจากพยายามหนีออกจากที่คุมขัง ไอดิตและลุกมันลี้ภัยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไม่ถูกคว่ำบาตรและยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้ พรรคถูกฟื้นฟูอีกครั้งใน พ.ศ. 2492

ใน พ.ศ. 2493 พรรคได้ปรากฏตัวอีกครั้ง โดยเป็นกลุ่มชาตินิยมภายใต้การนำของดีปา นูยันตารา ไอดิต ต่อต้านอาณานิคมและนโยบายนิยมตะวันตกของประธานาธิบดีซูการ์โน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2494 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเริ่มก่อตั้งกองทหารในเมดานและจาการ์ตา ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียหลบไปอยู่ใต้ดินในช่วงเวลาสั้นๆ

ทศวรรษ 2493[แก้]

ไอดิตปราศัยใน พ.ศ. 2498

ก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียสนับสนุนประชาธิปไตยแบบชี้นำของซูการ์โน และเป็นกลุ่มที่สนับสนุนซูการ์โน[7] พรรคได้รับเลือก 39 ที่นั่ง การต่อต้านการครอบครองอิเรียนจายาต่อไปของดัตช์เป็นหัวข้อสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกล่าวถึงในทศวรรษนี้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2500 มีการโจมตีสำนักงานของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในจาการ์ตา ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น พรรคมัสยูมีเรียกร้องให้คว่ำบาตรพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย[8]

ในวันที่ 3 ธันวาคม สหภาพการค้าที่ถูกครอบงำโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเริ่มเข้าควบคุมบริษัทของชาวดัตช์ เพื่อแสดงถึงการต่อต้านบริษัทต่างชาติทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นพรรคชาตินิยม

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เกิดความพยายามก่อรัฐประหารโดยกองทัพที่นิยมสหรัฐและพรรคการเมืองฝ่ายขวา กลุ่มกบฏมีฐานที่มั่นที่สุมาตราและซูลาเวซีได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ และจับกุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในพื้นที่ควบคุมไว้ พรรคคอมมิวนิสต์สนับสนุนซูการ์โนให้ปราบกบฏและให้นำกฎอัยการศึกมาใช้ ในที่สุดฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2502 มีปฏิบัติการในระดับกองทัพเพื่อปกป้องการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียใน พ.ศ. 2503 ซูการ์โนได้ประกาศคำขวัญนาซากม ซึ่งย่อมาจากชาตินิยม ศาสนา และคอมมิวนิสต์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในรัฐบาลซูการ์โน

ทศวรรษ 2503[แก้]

ดีปา นูซันตารา ไอดิต (ขวา) และราวังแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในการประชุมพรรคเอกภาพสังคมนิยมครั้งที่ 5 ที่เบอร์ลินตะวันออก เยอรมัน 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2501

แม้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจะสนับสนุนซูการ์โนแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2503 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ประกาศถึงการจัดงบประมาณที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของซูการ์โน เมื่อมีการจัดตั้งมาเลเซีย พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ออกมาต่อต้านเช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา การเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในช่วงนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากสหภาพโซเวียตและจีน มีองค์กรที่เป็นแนวร่วมมากมาย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2505 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเข้าร่วมรัฐบาล ไอดิตและโยโตได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2506 รัฐบาลมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้ประชุมกันเพื่อจัดตั้งมาฟิลินโด พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียปฏิเสธแนวคิดนี้เช่นกัน ทหารของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียข้ามพรมแดนไปยังมาเลเซียและรบกับกองทหารอังกฤษและออสเตรเลียที่ประจำการอยู่ที่นั่น บางกลุ่มเดินทางไปยังมลายาเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ แต่ส่วนใหญ่ถูกจับตัวได้ กองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจะมีกิจกรรมในเกาะบอร์เนียว

การฆ่าฟันครั้งใหญ่และจุดจบของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย[แก้]

การที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเติบโตและมีบทบาทในรัฐบาลซูการ์โนสร้างความกังวลให้แก่สหรัฐและมหาอำนาจตะวันตกที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 พรรคมูร์บากล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเตรียมก่อการรัฐประหาร พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเรียกร้องให้คว่ำบาตรพรรคมูร์บา ซึ่งซูการ์โนได้ทำตามในต้นปี พ.ศ. 2508 ในการเผชิญหน้ากับมาเลเซีย พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเรียกร้องให้ติดอาวุธประชาชนแต่กองทัพเพิกเฉย ในเดือนกรกฎาคม พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเริ่มฝึกทหารใกล้สนามบินฮาลิม ในวันที่ 8 กันยายน ผู้ประท้วงสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเริ่มประท้วงที่สุราบายา ในวันที่ 30 กันยายน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้จัดแรลลี่ในจาการ์ตา

ในคืนวันที่ 30 กันยายนและเช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508 นายพลระดับสูงของอินโดนีเซีย 6 คนถูกสังหาร นายพลซูฮาร์โตเข้ามามีบทบาทในกองทัพ และก่อรัฐประหารในวันที่ 2 ตุลาคม ประกาศต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซูฮาร์โตบีบให้ซูการ์โนลาออก และขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนใน พ.ศ. 2511 การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย สำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกเผา กลุ่มขององค์กรมุสลิมอันซอร์ได้จัดเดินขบวนต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในวันที่ 13 ตุลาคม มีชาวอินโดนีเซียสามแสนถึงล้านคนถูกฆ่าในการสังหารครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์นี้ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกคว่ำบาตรในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2509 สหภาพการค้าที่นิยมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกคว่ำบาตรในเดือนเมษายน

หลังพ.ศ. 2508[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียยังคงอยู่ในช่วงการสังหารหมู่ พ.ศ. 2508 – 2509 เมื่อไอดิตและโยโตถูกฆ่า ซูดิสมันขึ้นมาเป็นผู้นำก่อนจะถูกสังหารใน พ.ศ. 2510 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไปตั้งมั่นที่บลีตาร์ในชวาตะวันออกจนเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 จึงถูกโจมตี[9] ผู้นำรุ่นต่อมาคือ ซูกัตโน รุสลัน วิยายาซัสตราและอิสกันดาร์ ซูเบกตีถูกฆ่า สมาชิกพรรคบางส่วนหนีไปสาธารณรัฐประชาชนจีน บางส่วนไปยุโรปตะวันออก และยังดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ถูกโดดเดี่ยวจากการเมืองภายในอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีวาฮิดได้เชิญชวนอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกลับสู่อินโดนีเซียใน พ.ศ. 2542 และเปิดกว้างให้กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ แต่มีกลุ่มแนวร่วมอิสลามอินโดนีเซียออกมาต่อต้านข้อเสนอของวาฮิดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543[10] ใน พ.ศ. 2547 อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียยังถูกขึ้นบัญชีดำในการเข้าทำงานกับรัฐ

อ้างอิง[แก้]

  1. Mortimer (1974) p19
  2. Ricklefs(1982) p259
  3. marxist.com
  4. Sinaga (1960) p14
  5. Reid, Anthony (1973). The Indonesian National Revolution 1945-1950. Melbourne: Longman Pty Ltd. p. 83. ISBN 0-582-71046-4.
  6. marxist.org
  7. Indonesians Go to the Polls: The Parties and their Stand on Constitutional Issues by Harold F. Gosnell. In Midwest Journal of Political Science May, 1958. p. 189
  8. The Sukarno years: 1950 to 1965
  9. Harold Crouch, 227.
  10. Asian News Digest (2000) 1(18):279 and 1(19):295-296.

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

หนังสือและบทความ[แก้]

เว็บไซต์[แก้]