ปิยบุตร แสงกนกกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร ใน พ.ศ. 2563
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
(0 ปี 334 วัน)
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
ดำรงตำแหน่ง
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
(1 ปี 270 วัน)
ก่อนหน้าก่อตั้งพรรค
ถัดไปชัยธวัช ตุลาธน
(พรรคก้าวไกล)
เลขาธิการคณะก้าวหน้า
เริ่มดำรงตำแหน่ง
18 มีนาคม พ.ศ. 2563
(4 ปี 32 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2522 (44 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561–2563)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
คณะนิติราษฎร์
คู่สมรสเออเชนี เมรีโอ [en]
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยตูลูส (ปร.ด.)
อาชีพอาจารย์
นักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ7.7 ล้านบาท (พ.ศ. 2562)
ชื่อเล่นป๊อก

รองศาสตราจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล (เกิด 23 ตุลาคม พ.ศ. 2522) ชื่อเล่น ป๊อก เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และอดีตเลขาธิการพรรคพรรคอนาคตใหม่ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกคณะนิติราษฎร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยและฝรั่งเศส

ประวัติ[แก้]

ปิยบุตร เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ชื่อของเขามีที่มาจากวันเกิดของเขาซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายจีน แต่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของลูก ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องแลกกับการใช้ชีวิตอย่างเหน็ดเหนื่อย ทำงานหนักและอดออม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังลงท้ายด้วยภาระหนี้สินจากความต้องการสร้างอนาคตให้ลูก

ปิยบุตร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ[1] (ร่วมรุ่นกับ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์) แล้วเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 เขาได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ปิยบุตรจบปริญญาโท DEA (Master 2) สาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส วิทยานิพนธ์เรื่อง “ข้อความคิดเรื่องผู้มีส่วนได้เสียในคดีปกครองสิ่งแวดล้อม” (2546 - 2547) และ ปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก โดยมติเอกฉันท์ (Mention Très Honorable avec Félicitations) มหาวิทยาลัยตูลูส (Toulouse) ประเทศฝรั่งเศส (2553) วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศาลปกครอง: การกำเนิดของสถาบัน”[2]

ปิยบุตรให้ความสนใจประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมมาโดยตลอด แม้ในระหว่างที่เขาได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนปริญญาโทและเอกอยู่ที่นั่น ก็ไม่ได้ศึกษาเฉพาะวิชากฎหมายที่ตัวเองเรียนอยู่เท่านั้น แต่ยังใช้เวลาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมือง ปรัชญา วัฒนธรรม รวมทั้งขบวนการทางสังคมที่เคลื่อนไหวผลักดันประเด็นต่าง ๆ ทั้งในฝรั่งเศสและประเทศยุโรปอื่น ๆ ในขณะที่ยังคงติดตามการเมืองไทยและแสดงความคิดเห็นอยู่โดยตลอด

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 ปิยบุตร ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยตำแหน่งสุดท้ายคือ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน หลังรับราชการมาตั้งแต่ปี 2547[3][4][5][6][7][8][9]เพื่อจับมือกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองคล้ายกันอีกจำนวนหนึ่ง ยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองในนามพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความตั้งมั่นจะสร้างการเมืองใหม่แห่งความหวัง การกลับคืนสู่หนทางที่การปกครองจะยึดโยงอยู่กับประชาชน และสร้างสรรค์ประเทศไทยที่อนาคตอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง[10]

บทบาททางการเมือง[แก้]

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 ปิยบุตร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตนักธุรกิจในเครือไทยซัมมิท และผู้สนับสนุนจำนวน 24 คน ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ชื่อพรรคอนาคตใหม่[11] ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อมานายธนาธรได้รับมติเห็นชอบ 473 เสียงจากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก โดยตำแหน่งหัวหน้าพรรคดังกล่าวจะมีวาระตามข้อกำหนดของพรรค 4 ปี ในขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 เขาได้รับการโหวตจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาให้ได้รับฉายาว่า "ดาวเด่น" จากการเปิดประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด[12] หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เขาแยกออกมาตั้งกลุ่มชื่อ คณะก้าวหน้า

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เขาได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก ร่วมกับ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ บริเวณทำเนียบรัฐบาลไทย เขาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[13]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ด้านชีวิตส่วนตัวสมรสกับ เออเชนี เมรีโอ (Eugenie Merieau)[14] อดีตอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ประเทศเยอรมนี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ปิยบุตร ยันเอง อยู่ห้องเดียวกับ 'สุกรี' ผู้มาก่อนกาล ตั้งแต่ ป.1/3". มติชนออนไลน์. 2020-12-04. สืบค้นเมื่อ 2022-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "ปิยบุตร แสงกนกกุล – สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน". sameskybooks.net. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-15. สืบค้นเมื่อ 2022-09-15.
  3. การเมืองและการต่อสู้เรื่องการุณยฆาต ในฝรั่งเศส (ปิยบุตร แสงกนกกุล , 2547)
  4. "บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล". www.public-law.net.
  5. https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/laws30555nt_bib.pdf ปิยบุตร แสงกนกกุล รัฐประหารในกฎหมายไทย 2550
  6. https://prachatai.com/journal/2017/07/72552 ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำความรู้จัก “ศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง”
  7. "การเมืองเรื่องที่น่าสนใจในประเทศฝรั่งเศส โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล". www.public-law.net.
  8. "สืบค้นสารสนเทศ : ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ELIB". elibrary.constitutionalcourt.or.th.
  9. ""หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อาวุธทรงพลังในหมู่ "ลูกแกะ" โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล". www.public-law.net.
  10. ปิยบุตร แสงกนกกุล: ชัยชนะของอนาคตใหม่คือการเปลี่ยนความคิด
  11. ธนาธรและเพื่อน เปิดตัวทีมงาน พร้อมจดชื่อ ‘พรรคอนาคตใหม่’
  12. ฉายารัฐสภา “ดงงูเห่า” ตีตราวุฒิ สภาทหารเกณฑ์
  13. “ปิยบุตร” ร่วมม็อบ 14 ตุลา ปัดอยู่เบื้องหลัง เรียกร้อง “บิ๊กตู่” ลาออก
  14. Dr. Eugénie Mérieau - Georg-August-Universität Göttingen
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๓๒, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๒๐๙, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]