ประชุมกฎหมายแพ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าจัสติเนียนที่ 1 บนกระเบื้องโมเซก ณ วัดซันวีตาเล ประเทศอิตาลี

ประชุมกฎหมายแพ่ง (ละติน: Corpus Iuris Civilis)[1] เป็นประชุมข้อเขียนทางนิติศาสตร์ซึ่งจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก มีพระราชโองการให้รวบรวมและเผยแพร่ตั้งแต่ ค.ศ. 529 ถึง ค.ศ. 534 มักเรียกกันว่า ประชุมกฎหมายจัสติเนียน (Code of Justinian) แต่อันที่จริงแล้วชื่อนี้เป็นเพียงชื่อภาคแรกของประชุมกฎหมายจากทั้งหมดสี่ภาค คือ ประชุมกฎหมาย (Codex) เลือกเอาพระราชบัญญัติบางฉบับมาประมวลไว้, ประชุมคำวินิจฉัย (Digest) เลือกเอาคำวินิจฉัยของศาลและงานเขียนของนักนิติศาสตร์มาประมวลไว้, ประชุมตำรา (Institutiones) เป็นตำราเรียนกฎหมาย และประชุมกฎหมายใหม่ (Novellae) เลือกเอาพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นใหม่หลังจากเผยแพร่สามภาคแรกไปแล้วมาประมวลไว้ ประชุมกฎหมายแพ่งนี้ แม้บางส่วนมีลักษณะเป็นหนังสือเรียน แต่ก็มีผลเป็นกฎหมายทั้งสิ้น

พระเจ้าจัสติเนียนทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้ประชุมกฎหมายข้างต้น มีตุลาการทริโบเนียน (Tribonian) เป็นประธาน และมีอำนาจตรวจแก้ข้อความที่ประชุมกันไว้นั้นด้วย อย่างไรก็ดี คณะกรรมการจะได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาต้นฉบับไปมากน้อยเท่าไรนั้นไม่อาจทราบได้ เพราะไม่มีต้นฉบับหลงเหลืออีก ประชุมกฎหมายแพ่งเขียนและเผยแพร่เป็นภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาราชการในครั้งนั้น แม้ว่าภาษาที่แพร่หลายยิ่งกว่าในหมู่พ่อค้าประชาชนคือภาษากรีกก็ตาม

ประชุมกฎหมายแพ่งนี้ใช้บังคับมายาวนานเท่าไรและในแห่งหนตำบลใดบ้างนั้นมิอาจทราบได้เช่นกัน แต่เท่าที่ทราบ ในยุคมืดไม่มีการใช้ประชุมกฎหมายแพ่งเป็นการทั่วไป ต่อมาในมัชฌิมยุค ผู้คนทั้งฆราวาสและสงฆ์จึงเริ่มสนใจประชุมกฎหมายแพ่งอีกครั้ง โดยรับประชุมกฎหมายนั้นเข้ามาเป็นกฎหมายเอกชนของพวกตน ส่วนเนื้อหาในทางกฎหมายมหาชนนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน ประชุมกฎหมายแพ่งที่ได้รับการรื้อฟื้นเป็นกฎหมายเอกชนนี้เองกลายเป็นรากฐานแห่งระบบซีวิลลอว์ ทั้งยังเป็นพื้นแห่งกฎหมายศาสนจักร ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า "พระศาสนจักรอยู่ได้เพราะกฎหมายโรมัน" (ecclesia vivit lege romana)[2] ส่วนระบบคอมมอนลอว์นั้นรับอิทธิพลประชุมกฎหมายแพ่งน้อยมาก แต่หลักการพื้นฐานบางประการยังดำรงอยู่ในกฎหมายนอร์ม็องดี เช่น เรื่องสัญญา และเรื่องกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับกฎหมายจารีตประเพณี ขณะที่ในระดับโลกนั้น ประชุมกฎหมายแพ่งมีบทบาทสำคัญต่อกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง และภาคทั้งสี่ของประชุมกฎหมายแพ่งยังเป็นพื้นฐานนิติประเพณีตะวันตกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. The name "Corpus Juris Civilis" occurs for the first time in 1583 as the title of a complete edition of the Justinianic code by Dionysius Godofredus. (Kunkel, W. An Introduction to Roman Legal and Constitutional History. Oxford 1966 (translated into English by J.M. Kelly), p. 157, n. 2)
  2. Cf. Lex Ripuaria, tit. 58, c. 1: "Episcopus archidiaconum jubeat, ut ei tabulas secundum legem romanam, qua ecclesia vivit, scribere faciat". ([1])