บะซเว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บะซเว
นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของพม่า
ดำรงตำแหน่ง
12 มิถุนายน พ.ศ. 2499 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
ก่อนหน้าอู้นุ
ถัดไปอู้นุ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 ตุลาคม พ.ศ. 2458
ทวาย, พม่าของอังกฤษ
เสียชีวิต6 ธันวาคม พ.ศ. 2530 (72 ปี)
ย่างกุ้ง, พม่า
เชื้อชาติพม่า
ศาสนาศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
พรรคการเมืองสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์
คู่สมรสนุนุซเว
บุตรNay Nwe Ba Swe
Nay Myo Ba Swe
Nay Kyi Ba Swe
Nay Tun Ba Swe
Nay Yee Ba Swe
Nay Bala Ba Swe
Nay Nyunt Ba Swe
Nay Phoo Ba Swe
Nay Si Ba Swe
Nay Min Ba Swe
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
อาชีพนักการเมือง

บะซเว (พม่า: ဘဆွေ) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการตะคีนในพม่า เป็นผู้เลื่อมใสในลัทธิสังคมนิยม และได้เป็นผู้นำระดับสูงของพม่าหลังได้รับเอกราช และยุติบทบาททางการเมืองหลังการรัฐประหารของนายพลเนวีน

บทบาทในสมัยอาณานิคม[แก้]

บะซเวเกิดเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2458 ที่ทวาย เคยเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งแต่ไม่จบ และเริ่มมีบทบาททางการเมืองใน พ.ศ. 2477 โดยเข้าร่วมในขบวนการตะคีน โดยเขาได้ร่วมในการจัดตั้งขบวนการกรรมกรเพื่อกระตุ้นให้กรรมกรเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ค่อยได้ผลเพราะกรรมกรส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ในที่สุดจึงถูกจับคุมขังระยะหนึ่งในช่วง พ.ศ. 2481 หลังจากพ้นโทษออกมา เขาได้จัดตั้งพรรคชาวนาและกรรมกรพม่า เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ในช่วงแรกตะคีนได้ร่วมมือกับบะมอจัดตั้งกลุ่มเสรีภาพจนถูกอังกฤษจับขัง จนเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาในพม่า บะซเวเป็นหนึ่งในตะคีนที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น จนเมื่อตะคีนตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ บะซเวได้เข้าร่วมในสันนิบาตนี้เช่นกัน

หลังได้รับเอกราช[แก้]

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง บะซเวได้ร่วมมือกับผู้นำสันนิบาตฯ คนอื่นกำจัดกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าออกไปจากพรรคได้สำเร็จ บะซเวยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นหลังการเสียชีวิตของออง ซาน เมื่อพม่าได้รับเอกราชและอู้นุเป็นนายกรัฐมนตรี บะซเวได้ผลักดันให้ลัทธิสังคมนิยมเป็นแนวทางทางเศรษฐกิจของพม่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งในรัฐบาลมากขึ้นระหว่างกลุ่มของทินและอู้นุ กับกลุ่มของบะซเวและจอเญ่น

บะซเวได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2499 จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นช่วงที่อู้นุลาอุปสมบท เมื่อลาสิกขาแล้ว อู้นุจึงมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่สิ้นสุด จนอู้นุตัดสินใจลาออกใน พ.ศ. 2501 และให้พลเอก เนวี่น เข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการ จนมีการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2503 กลุ่มของบะซเวและจอเญ่นใช้ชื่อว่าสันนิบาตเสรีชนฯ ฝ่ายมั่นคง (တည်မြဲဖဆပလ, Ti myè hpa hsa pa la) ส่วนกลุ่มของอู้นุที่เคยใช้ชื่อว่าสันนิบาตเสรีชนฯ ฝ่ายสะอาด (သန့်ရှင်းဖဆပလ, Thant shin hpa hsa pa la) ได้จัดตั้งพรรคใหม่ชื่อว่าพรรคสหภาพ (ပြည်ထောင်စုပါတီ, Pyidaungsu) พรรคของอู้นุชนะการเลือกตั้ง[1] ส่วนบะซเวและจอเญ่นไม่ได้รับเลือกตั้ง อู้นุจึงได้จัดตั้งรัฐบาลอีก แต่เพราะทหารไม่พอใจนโยบายผ่อนปรนให้ชนกลุ่มน้อย ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ไม่พอใจที่อู้นุประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้พลเอก เนวี่น ก่อการรัฐประหารในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 บะซเวที่แม้จะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอู้นุและสนับสนุนฝ่ายทหารกลับถูกรัฐบาลทหารคุมขังอยู่จนถึง พ.ศ. 2509 จึงได้รับการปล่อยตัว และถึงแก่กรรมเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2530 รวมอายุได้ 72 ปี

อ้างอิง[แก้]

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "อูบะส่วย." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 398–404.
  1. Martin Smith (1991). Burma – Insurgency and the Politics of Ethnicity. London and New Jersey: Zed Books. pp. 54, 57, 163, 176, 178, 186.