บรรดาศักดิ์อังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบขุนนางอังกฤษ (อังกฤษ: Peerage of England) ประกอบด้วยบรรดาศักดิ์ขุนนางอังกฤษที่พระราชทานให้ในสมัยของราชอาณาจักรอังกฤษช่วงก่อนสมัยพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งในปีนั้นอังกฤษและสกอตแลนด์ได้รวมกันเป็นสหราชอาณาจักร

ระดับและประเภท[แก้]

ขุนนางอังกฤษมีสองประเภท คือขุนนางสืบตระกูล (hereditary peer) และขุนนางตลอดชีพ (life peer)[1] ซึ่งในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1422–61) ขุนนางประกอบไปด้วยบรรดาศักดิ์ห้าระดับ ซึ่งถูกเรียกว่า "ขุนนางแห่งอาณาจักร" (Peers of the Realm) เรียงจากสูงไปต่ำดังนี้:

  • "ดยุค" (Duke) สตรีเรียก "ดัชเชส" (Duchess)
  • "มาร์ควิส" (Marquess) สตรีเรียก "มาร์เชอเนส" (Marchioness)
  • "เอิร์ล" (Earl) สตรีเรียก "เคาน์เตส" (Countess)
  • "ไวเคานต์" (Viscount) สตรีเรียก ไวเคาน์เตส (Viscountess)
  • "บารอน" (Baron) สตรีเรียก บารอเนส (Baroness)

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งอภิชน (aristocrat) อันเป็นชนชั้นสูงที่มิใช่ขุนนาง ได้แก่ฐานันดร "อัศวิน" (Knight) ซึ่งมีคำนำหน้าว่าเซอร์ และฐานันดร "บารอเนต" (Baronet) ซึ่งมีคำนำหน้าว่าลอร์ด โดยถือว่าบารอเนตอยู่สูงกว่าอัศวินทั้งปวง[1]

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ขุนนางเกือบทั้งหมดเป็นขุนนางสืบตระกูล แต่ในปี 1867 นิติกรของรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางตลอดชีพ และต่อมามีการตราพระราชบัญญัติขุนนางตลอดชีพ ค.ศ. 1958 เปิดทางให้พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นขุนนางตลอดชีพ เพื่อที่บุคคลนั้นจะสามารถเข้าประชุมสภาขุนนาง[1] บรรดาศักดิ์ของขุนนางตลอดชีพไม่สามารถตกทอดผ่านทายาท ขุนนางสืบตระกูลทุกคนสามารถเข้าร่วมการประชุมสภาขุนนาง (หากผ่านคุณสมบัติว่าด้วยอายุและสัญชาติ)[1]

อภิสิทธิ์[แก้]

ในอดีต ขุนนางจะมีอภิสิทธิ์บางประการ อภิสิทธิ์เหล่านี้ไม่ค่อยมีผลในปัจจุบันแล้ว[1] ได้แก่:

  • สิทธิที่จะถูกพิจารณาคดีในศาลเสวกใหญ่ (Court of the Lord High Steward) ตุลาการในศาลนี้ล้วนเป็นขุนนางด้วยกัน
  • สิทธิที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน
  • สิทธิที่จะได้รับความคุ้มกันจากการถูกจับกุมในคดีแพ่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ชาคริต ชุ่มวัฒนะ (2561). ระดับชั้นและบรรดาศักดิ์ขุนนางอังกฤษ. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 40(1): 158-179