นิติเหตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิติเหตุ (อังกฤษ: causative event, legal cause หรือ proximate cause) เป็นศัพท์กฎหมาย หมายถึง เหตุการณ์ที่มีผลตามกฎหมาย โบราณใช้ว่า "นิติการณ์"[1]

ผลที่เกิดขึ้นนี้ ไม่คำนึงว่าเป็นเจตนาของผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ หากแต่เป็นเจตนาของกฎหมาย จึงเรียกว่า "นิติเหตุ" คือ เหตุของกฎหมาย และเพราะฉะนั้น นิติเหตุจึงต่างจาก นิติกรรม ตรงที่ผลของนิติกรรมนั้นเกิดขึ้นโดยเจตนาของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ตัวอย่างของนิติเหตุ เช่น เด็กห้าขวบประพันธ์วรรณกรรมขึ้นเรื่องหนึ่ง อันที่จริงเขาเพียงต้องการสรรค์สร้างตามจินตนาการของตน ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมนั้น แต่กฎหมายก็ให้เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าว[2]

ตัวอย่างอื่น ๆ ของนิติเหตุ เช่น การเกิด ก่อให้เกิดสภาพบุคคลตามกฎหมาย, การแก่ ก่อให้บุคคลมีความสามารถที่จะมีและใช้สิทธิตามกฎหมาย อาทิ เมื่อบุคคลปรกติเจริญวัยขึ้นจนบรรลุนิติภาวะ ก็จะมีความสามารถกระทำนิติกรรมเองได้โดยลำพัง, และการตาย ทำให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลงตามกฎหมาย และมรดกของผู้ตายต้องโอนไปยังทายาทต่อไป ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลที่กฎหมายบันดาลให้เกิด ซึ่งอาจสอดคล้องกับเจตนาของผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ได้[3]

นิติเหตุนับเป็นมูลแห่งหนี้ (obligation) จำพวกหนึ่ง คือ ละเมิด, การจัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้ ด้วย เช่นเดียวกับนิติกรรม ที่ก่อมูลหนี้จากนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญา[4] โดยนิติเหตุแยกออกเป็น 2 กรณี มีทางธรรมชาติและจากการกระทำของบุคคลได้ดังนี้

  1. ทางธรรมชาติ เป็นเหตุที่สามารถเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยกฎหมายเป็นตัวรับรองตามกฎหมาย เช่น การเกิดของบุคคลธรรมดาทำให้มีสภาพบุคคล ซึ่งทำให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือบุคคลใดอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ก็จะถือว่าบรรลุนิติภาวะ สามารถทำนิติกรมใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม การเสียชีวิตทำให้สิ้นสภาพบุคคล ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดแก่ทายาท เป็นต้น
  2. จากการกระทำของบุคคล แยกออกเป็น 2 ประการ
  • ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลในกฎหมายหรือไม่ก็ได้ - หรือ "นิติเหตุ" ที่ทำให้เกิดผลในทางกฎหมาย มีการเคลื่อนไหวในสิทธิ เช่น การทำละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายแม้จะมิได้มีเจตนา การเข้าถือสิทธิสังหาริมทรัพย์ไม่มีเจ้าของเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์
  • ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลในกฎหมาย - หรือ "นิติกรรม" โดยผู้กระทำจะต้องกระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและใจสมัคร มีเจตนามุ่งให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ อาจจะเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิ์

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. โสภณ รัตนากร, 2521-2522 : 9750.
  3. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 302.
  4. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2552 : 17.
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. .
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2552). คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้. (พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742887513.
  • โสภณ รัตนากร. (2521-2522). "นิติกรรม." สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (15 : ธรรมวัตร-นิลเอก). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์.

ดูเพิ่ม[แก้]