ธนาคารทหารไทยธนชาต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ธนาคารทหารไทย)
ธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
SET:TTB
ISINTH0068010014 Edit this on Wikidata
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน
ธนาคาร
ก่อตั้ง8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500; 66 ปีก่อน (2500-11-08)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 3000 ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (ประธานกรรมการ)
ศุภเดช พูนพิพัฒน์ (รองประธานกรรมการ)
ปิติ ตัณฑเกษม (กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)
ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ (ผู้จัดการใหญ่)
รายได้เพิ่มขึ้น 68,791.46 ล้านบาท (2563)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 1,808,331.83 ล้านบาท (2563)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 204,712.63 ล้านบาท (2563)[2]
อันดับความน่าเชื่อถือFitch: BBB(tha)[3]
เว็บไซต์www.ttbbank.com

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: TMBThanachart Bank Public Company Limited; ชื่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ อักษรย่อ: ttb) หรือเรียกย่อว่า ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี)[4] เป็นธนาคารของประเทศไทย เกิดจากการรวมกิจการระหว่างกลุ่ม ING ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทย(TMB) และกลุ่มธนชาตและสโกเทียแบงค์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารธนชาต (TBANK)โดยลงนามในข้อตกลงสองฝ่ายในการควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเป็นธนาคารเดียวซึ่งดำเนินการตามแผนงานเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยสำหรับงานธุรกรรมบัตรเครดิต,บริการต่างประเทศ และบริการธนาคารบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์มีการปิดปรับปรุงแอปพลิเคชันของทั้งสองธนาคารคือ TMB Touch และ T Connect เพื่อดำเนินการเชื่อมต่อสองแอปพลิเคชันเป็นหนึ่งเดียวผ่านการส่งอัปเดตระบบใหม่ OTA ใน AppStore (iOS) และ PlayStore (Android)

ประวัติ[แก้]

ธนาคารทหารไทย[แก้]

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thai Military Bank Public Company Limited; ชื่อย่อ: TMB) ก่อตั้งโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท สำนักงานใหญ่แห่งแรกตั้งอยู่ที่ ถนนราชดำเนิน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) มีพนักงานเริ่มแรก 26 คน ต่อมาธนาคารฯได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2537

ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2547 ธนาคารได้เข้าซื้อกิจการธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้มีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับ 5 ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2556 ธนาคารได้เปิดตัว "มี บาย ทีเอ็มบี" (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า ทีทีบี มี) บริการธุรกรรมด้วยตนเอง (Self-Service Banking) ที่ไม่มีสมุดคู่ฝากบัญชี เป็นแห่งแรกของไทย

ธนาคารทหารไทยให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไปทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ และนับได้ว่าเป็นธนาคารในประเทศไทยเพียงธนาคารแรกที่ลูกค้าสามารถใช้บริการถอนเงิน ฝากเงิน และ โอนเงิน ในระหว่างบัญชีของธนาคารทหารไทยด้วยกันทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมข้ามเขตในช่องทางบริการต่าง ๆ

ธนาคารธนชาต[แก้]

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thanachart Bank Public Company Limited (TBANK)) เดิมเป็นบริษัทในกลุ่มธนชาต เริ่มต้นจากการเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในชื่อ บริษัท เงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน) (ก่อตั้งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2530 แต่ใช้ชื่อแรกหลังเปิดดำเนินกิจการว่า บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ อาคเนย์ธนกิจ จำกัด[5]) ต่อมาเปลี่ยนเป็นธนาคาร และเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 ภายใต้ใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจจากกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547

ในปี พ.ศ. 2550 ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (สโกเทียแบงก์) ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นธนาคารธนชาตอยู่ 24.99% ก่อนที่จะถือเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในอีกสองปีต่อมา ส่วนหุ้นอีก 51% ของธนาคารธนชาต เป็นการถือโดย บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปไม่มีตระกูลใดถือหุ้นใหญ่

พ.ศ. 2553 ธนาคารได้เข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจากการขอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยจากผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารนครหลวงไทย และการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยของธนาคารธนชาตเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อนึ่ง ธนาคารนครหลวงไทยได้มีการควบรวมกับธนาคารศรีนครมาก่อน และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 จึงได้ควบรวมกับธนาคารธนชาต

ธนาคารทหารไทยธนชาต[6][แก้]

ธนาคารทหารไทยธนชาต สาขาไชน่าทาวน์ (เยาวราช) ในปี พ.ศ. 2566

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562  ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ร่วมกับ ING Group N.V. บริษัท ทุนธนชาต และสโกเทียแบงก์ (Scotiabank) หรือธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (BNS) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ 2564 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 มีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อของธนาคารทหารไทย เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเข้าซื้อกิจการ

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ประกาศชื่อและโลโก้ใหม่อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อนิติบุคคลว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต โดยมีโลโก้คือ ttb (ทีทีบี) และ สโลแกนใหม่ Make REAL Change เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต รวมกิจการเสร็จสมบูรณ์เป็นทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) และเปิดให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีพันธกิจในการมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

รายนามประธานกรรมการ[แก้]

  1. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2500-2506)
  2. นายเสริม วินิจฉัยกุล (พ.ศ. 2506-2508)
  3. พลเอก พงษ์ ปุณณกันต์ (พ.ศ. 2508-2512)
  4. นายบุญมา วงศ์สวรรค์ (พ.ศ. 2512-2515)
  5. พลเอก เชวง ยังเจริญ (พ.ศ. 2515-2519)
  6. นายสมหมาย ฮุนตระกูล (พ.ศ. 2519-2521)
  7. นายโอสถ โกศิน (พ.ศ. 2521-2523)
  8. นายเทียน อัชกุล (พ.ศ. 2523-2527)
  9. นายสุนทร เสถียรไทย (พ.ศ. 2527-2530)
  10. นายไพจิตร โรจนวานิช (พ.ศ. 2530-2532)
  11. นายประสิทธิ์ รัตนเสถียร (พ.ศ. 2532-2536)
  12. นายเสรี สุขสถาพร (พ.ศ. 2536-2539)
  13. นายอรัญ ธรรมโน (พ.ศ. 2539-2541)
  14. นายสมใจนึก เองตระกูล (พ.ศ. 2541-2542)
  15. นายวีระชัย ตันติกุล (พ.ศ. 2543-2546)
  16. นายศุภชัย พิศิษฐวานิช (พ.ศ. 2546-2549)
  17. นายศานิต ร่างน้อย (พ.ศ. 2549-2551)
  18. นายวีรพงษ์ รามางกูร (พ.ศ. 2551-2554)
  19. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ (พ.ศ. 2554-2558)
  20. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ (พ.ศ. 2558-2561)
  21. นายประสงค์ พูนธเนศ (พ.ศ. 2561-2563)
  22. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]

ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564[7]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 ING BANK N.V. 22,190,033,791 23.02%
2 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 20,416,613,367 21.18%
3 กระทรวงการคลัง 11,364,282,005 11.79%
4 กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5,031,347,008 5.22%
5 กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 5,031,347,007 5.22%
6 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 2,930,362,907 3.04%
7 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 1,969,887,203 2.04%
8 กองทุนเปิด บัวหลวงทศพล 923,116,300 0.96%
9 MR. HENDRIK ROBERTUS CASTENDIJK 735,950,000 0.76%
10 นาง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 698,954,247 0.72%

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. งบการเงิน/ผลประกอบการ[ลิงก์เสีย] ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. อัตราความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings
  4. สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  5. หนังสือ 40 ปี ธนชาต เก็บถาวร 2021-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่หน้าที่ 39:สืบค้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564)
  6. "ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) | ประวัติธนาคาร". www.ttbbank.com.
  7. "ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย - ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์". www.set.or.th.
ก่อนหน้า ธนาคารทหารไทยธนชาต ถัดไป
ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทยธนชาต
(8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 - ปัจจุบัน)
ยังดำเนินการอยู่