ทองปาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทองปาน
ปกวีซีดี วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2549
กำกับไพจง ไหลสกุล
สุรชัย จันทิมาธร
ยุทธนา มุกดาสนิท
รัศมี เผ่าเหลืองทอง
เขียนบทคำสิงห์ ศรีนอก
วิทยากร เชียงกูล
ไพจง ไหลสกุล
อำนวยการสร้างไมค์ มอร์โรว์
The Isan Film Group
นักแสดงนำองอาจ มณีวรรณ
ผมหอม พิลาสมบัติ
เรืองยศ จันทรคีรี
สุรชัย จันทิมาธร
เสน่ห์ จามริก
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
พัทยา สายหู
คำสิงห์ ศรีนอก
ไพจง ไหลสกุล
ปีเตอร์ เอฟ. เบลล์
เทพศิริ สุขโสภา
ชเนษฐ์ วัลลภ ขุมทอง
ทรงยศ แววหงษ์
กำกับภาพแฟรงค์ กรีน
ตัดต่อไพจง ไหลสกุล
ดนตรีประกอบสุรชัย จันทิมาธร
วันฉายพ.ศ. 2520
ความยาว60 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย, ลาว
คำบรรยายภาษาอังกฤษ
ข้อมูลจากสยามโซน

ทองปาน เป็นภาพยนตร์ไทยกึ่งสารคดี ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง [1] เพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง โครงการนี้เป็นโครงการของสหรัฐอเมริกาโดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก [2] ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย หนองคาย หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จมอยู่ใต้น้ำ

ฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอน (London Film Festival) และได้รับรางวัลเกียรติยศ Outstanding Film of Southeast Asia [3] เข้ามาฉายในประเทศไทยครั้งแรกช่วงปลายปี พ.ศ. 2520 ที่สถาบันเกอเธ่ บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคม [4]

งานสร้าง[แก้]

จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ของทองปาน ชาวนาคนชายขอบผู้เคยต้องย้ายที่ทำกินมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากการสร้างเขื่อน ทองปานกำลังเดินทางไปซื้อยารักษาวัณโรคให้ภรรยา และถูกเชิญชวนให้มาร่วมการสัมมนาเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งมีนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา นักข่าว และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม [5] ระหว่างการสัมมนา ทองปานทำกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินอยู่เพียง 20 บาทหาย และไม่ได้ไปซื้อยา และพบว่าภรรยาตายเสียก่อนที่เขาจะกลับไปถึงบ้าน [6]

คณะผู้สร้างได้นำเรื่องของทองปานมาดัดแปลง ให้ทองปานเป็นอดีตชาวนาที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นกรรมกร เพราะทางการไม่ยอมปล่อยน้ำเหนือเขื่อน เขาได้รับการชักชวนจากนักศึกษามาร่วมสัมมนา บอกเล่าผลกระทบจากเขื่อน ภาพยนตร์นำเสนอภาพการสัมมนา สลับกับภาพชีวิตประจำวันของทองปาน เป็นการเสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการพัฒนาชนบทของรัฐบาล ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

ถ่ายทำที่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างการตัดต่อหลังถ่ายทำเสร็จไม่นานเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา บรรดาทีมงานและนักแสดงตกเป็นผู้ต้องหากระทำการเป็น คอมมิวนิสต์ หลบหนีเข้าป่า ไพจง ไหลสกุล ผู้สร้าง เขียนบทและกำกับ ต้องหนีไปต่างประเทศพร้อมกับฟิล์มหนังต้องห้าม ไม่มีโอกาสฉายในเมืองไทยรอบปกติ อีกทั้งเพลงประกอบเรื่อง ชื่อ คนกับควาย ของ สุรชัย จันทิมาธร ก็กลายเป็นเพลงต้องห้ามด้วย

นักแสดงนำผู้รับบท ทองปาน โพนทอง ชีวิตจริงเป็นนักมวยชื่อ องอาจ มณีวรรณ ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน (2525) ของวิจิตร คุณาวุฒิ รับบทเป็น พ่อสุด

ได้รับรางวัล Award of Merit จาก Asian American International Film Festival ที่นิวยอร์ก และจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่ วอชิงตันดีซี ลอนดอน เอดินเบิร์ก และฮ่องกง

เรื่องย่อ[แก้]

นักศึกษาคนหนึ่งเดินทางเข้ามาที่อำเภอเชียงคาน เมืองเล็กๆ ในจังหวัดเลย ติดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งกำลังจะมีการสร้างเขื่อนผามอง เขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง เขากำลังจะไปอำเภอปากชม เพื่อตามหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และได้พบกับคนถีบสามล้อรับจ้าง ชื่อ ทองปาน

ทองปาน เคยมีที่นาอยู่ที่กาฬสินธุ์ เมื่อมีการสร้างเขื่อนลำปาวกั้นลำน้ำปาว ที่นาของเขาไม่ได้ถูกเวนคืนเหมือนเพื่อนบ้าน แต่ตั้งอยู่ใต้เขื่อน นาของเขาล่ม เพราะขาดน้ำในหน้าแล้ง และน้ำท่วมในหน้าฝน ทางการให้เหตุผลว่าเขื่อนสร้างมาราคาแพงมาก ต้องรักษาไว้ให้ดี โดยคงระดับน้ำให้เหมาะสม ซึ่งทองปานก็ยอมรับผลกระทบแต่โดยดี

ในที่สุดทองปานก็พาลูกเมีย ย้ายไปรับจ้างในโรงเลื่อยฝั่งลาว ตามเพื่อนบ้านที่อพยพไปก่อนหน้า แต่ไม่นานก็ต้องเลิกหลังเกิดรัฐประหาร รัฐบาลใหม่ของลาวสั่งห้ามการตัดไม้ และส่งทหารเข้ามาเผาทำลายไม้เถื่อน ทองปานหันไปเป็นกรรมกรสร้างสนามบินที่โคราช หันมารับจ้างเลี้ยงไก่ เปลี่ยนไปเป็นนักมวย และมาถีบรถรับจ้างในตัวอำเภอเชียงคานในที่สุด

ในการสัมมนาที่จัดขึ้น ผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วยนักวิชาการ ตัวแทนจากธนาคารโลก แพทย์ นักอนุรักษ์ฝ่ายต่อต้านเขื่อน นายอำเภอเจ้าของท้องที่ ต่างอภิปรายข้อดีข้อเสียของเขื่อนอย่างกว้างขวาง มีการวิพากษ์ถึงการสร้างเขื่อนครั้งก่อนหน้า ว่าสร้างขึ้นโดยการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง โดยไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบ หรือถามความเห็นจากประชาชนในพื้นที่เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการอภิปราย โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วย

เมื่อคราวที่ทองปานจะต้องพูด ปรากฏว่าทองปานหายไปไหนไม่มีใครทราบ หลังการสัมมนานักศึกษาคนเดิมแวะไปตามหาทองปานที่บ้าน พบว่าทองปานเป็นห่วงเมียที่เป็นวัณโรค จึงหลบกลับมาก่อนและพบว่าเมียตายเสียแล้ว จากนั้นมา ไม่มีใครเคยพบเห็นทองปานอีกเลย

นักแสดง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปัจจุบัน โครงการสร้างเขื่อนนี้ยังคงมีอยู่ โดยใช้ชื่อว่า เขื่อนปากชม ตั้งอยู่บ้านห้วยขอบ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
  2. อ้างอิงจากบทบรรยายในภาพยนตร์
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, "ทองปาน" ภาพยนตร์ "ประหลาด" ของไทย
  4. สุดารัตน์ มุสิกวงศ์ และวิมลรัตน์ อรุณโรจน์สุริยะ, ทองปาน หนังต้องห้าม.. สัมภาษณ์ ไพจง ไหลสกุล
  5. การสัมมนาจริง เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ชื่อ เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร จัดที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์และเสน่ห์ จามริก อธิการบดีและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น เข้าร่วมสัมมนาด้วย ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้นำภาพถ่ายผู้ร่วมการสัมมนาไปพาดหัวข่าว กล่าวหาว่า ดร.ป๋วย และเสน่ห์ เข้าร่วมประชุมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเคจีบี เพื่อคิดล้มล้างระบอบการปกครอง
  6. คำสิงห์ ศรีนอก, บอกเล่าความเป็นมาของหนังเรื่องทองปาน
  • ทองปาน จาก thaicinema.org
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา และทองปาน, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549, ISBN 974-94851-7-3

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]