ถุงน่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถุงน่อง

ถุงน่อง คือเครื่องแต่งกายแบบยางยืดที่ใช้ใส่เพื่อคลุมเท้าและขาส่วนล่างได้พอดี มีหลากหลายสี หลากหลายรูปแบบ มีลักษณะโปร่งใส ถุงน่องเป็นที่นิยมสวมใส่เป็นแฟชั่นความงามของผู้หญิง อาจใส่เพื่อเพิ่มความอบอุ่น


เมื่อพูดถึงถุงน่อง หลายคนคงบุ้ยใบ้ส่งเรื่องไปให้ฝ่ายผู้หญิงแต่รู้ไหมว่า ถุงน่องสมัยแรก ๆ เป็นแฟชั่นของผู้ชายโดยแท้

ร้อยปีหลังคริสตกาล ผู้ชายชาวโรมันนิยมสวมถุงเท้าทำด้วยผ้าสูงถึงหน้าแข้ง เรียกว่า 'อูโด' (udo หรือ udoenes เมื่อเป็นพหูพจน์) ต่อมาช่างเสื้อก็ตัดให้ยาวขึ้นถึงเข่า และจะสวมกับรองเท้าบู๊ตเสมอ ถ้าผู้ชายคนใดสวมอูโดโดยไม่สวมบู้ต ก็จะถูกตำหนิและถูกล้อเลียนว่าเป็นผู้ชายไม่แท้ น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องนี้เอาไว้ไม่ละเอียดนักจึงไม่มีหลักฐานอธิบายว่าทำไมต่อมาการล้อเลียนผู้ชายที่สวมถุงน่องจึงหมดไป จนถุงน่องกลายมาเป็นเครื่องแต่งกายของผู้ชายไปเลยในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ถุงน่องผ้าลินินสีขาวเป็นส่วนหนึ่งของชุดที่พระในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกสวมในพิธีชุมนุมสวด หลักฐานที่สำคัญก็คือภาพโมเสกในโบสถ์ที่ทำขึ้นในศตวรรษต่อมาที่แสดงให้เห็นว่าทั้งพระคริสต์และฆราวาสของจักรวรรดิโรมันนิยมสวมถุงน่องกัน ความนิยมอย่างจริง ๆ จัง ๆ เริ่มในศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งถุงน่องวิวัฒนาการมาเป็นกางเกงแทนที่จะเป็นถุงสองข้าง เมื่อวิลเลียมผู้ชนะสิบทิศ ยกทัพข้ามช่องแคบอังกฤษใน ปี ค.ศ. ๑๐๖๖ และปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์นอร์มันแห่งอังกฤษ พระราชโอรสของพระองค์โปรดการสวมกางเกงถุงน่อง (ลักษณะไม่ต่างจากถุงน่องที่นิยมกันในปัจจุบันนัก) ราคาแพง จนถึงศตวรรษที่ ๑๔ ถุงน่องเริ่ม 'เปิดเผย' รูปร่างที่อยู่ภายใต้ถุงน่องนั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นซึ่งนิยมแบบและสีแปลก ๆ จนผู้เคร่งศาสนาพากันประณามว่าไม่สุภาพ ในปี ค.ศ. ๑๕๖๑ พระนางเจ้าอลิชาเบธทรงสวมถุงน่องผ้าไหม ซึ่งนับเป็นถุงน่องผ้าไหมคู่แรกของโลก และทรงสวมแต่ถุงน่องชนิดนี้ต่อมาตลอดพระชนมายุของพระองค์ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๕๘๙ มีผู้ริเริ่มทำถุงน่องด้วยเครื่องจักร โดยใช้ด้ายเดี่ยวถักทอผ่านชุดกระสวย อันเป็นวิทยาการที่บุกเบิกวงการอุตสาหกรรมชุดสั้นใน ส่วนถุงน่องไนลอนอย่างที่ใช้กันทุกวันนี้ เริ่มมีขึ้นเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ก่อนหน้านั้นบริษัทเคมีชื่อดูปอง ประกาศความสำเร็จในการค้นพบไนลอน ซึ่งเป็นความหวังใหม่แก่วงการอุตสาหกรรมชุดชั้นใน เพราะช่วงนั้นเกิดการขาดแคลนผ้าไหมอย่างหนัก บริษัทดูปองได้สั่งให้โรงงานต่าง ๆ ทำถุงน่องด้วยไนลอน แล้วเก็บไว้จนกว่าจะถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม 'วันไนลอน' จึงนำออกขายตามห้างร้านต่าง ๆ สตรีทั่วอเมริกาต่างตื่นเต้นเฝ้ารอวันนี้ ประวัติศาสตร์แฟชั่นบันทึกว่าไม่เคยมีสินค้าอุปโภคชนิดใดที่สร้างความฮือฮาได้เท่านี้ แผนกชุดชั้นในของห้างร้านบางแห่งเกือบถึงขั้นจลาจล ประมาณว่าถึงสิ้นปีนั้น ถุงน่องผู้หญิงขายได้ถึง ๓๖ ล้านคู่ ตัวเลขอาจมากกว่านี้ด้วยซ้ำถ้ามีถุงน่องป้อนตลาดเพิ่มขึ้น ถุงน่องขาเรียว[1] จากเครื่องแต่งกายของพระมาเป็นชุดนักรบและแฟชั่นของวัยรุ่นชาย ถุงน่องกลายเป็นอาภรณ์เฉพาะของผู้หญิงได้อย่างไร นักประวัติศาสตร์แฟชั่นไม่แน่ใจนัก เป็นไปได้ว่าในอดีตผู้หญิงอาจสวมถุงน่องด้วยเช่นกัน แต่กระโปรงยาวปิดขาจึงทำให้มองไม่เห็น หลักฐานแน่ชัดที่บอกว่าในอดีตผู้หญิงสวมถุงน่อง ก็คือในศตวรรษที่ ๑๖ หนึ่งในบรรดาของกำนัลจากอังกฤษถึงราชินีแห่งสเปนนั้นเป็นถุงน่อง แต่เอกอัครราชทูตสเปนแสดงความไม่พอใจต่อของกำนัลชิ้นนั้น และบอกให้นำกลับไป คงเป็นเพราะถุงน่องเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงนั่นเอง ผิดกับในสมัยนี้ที่เห็นผู้หญิงใส่ถุงน่องกันทั่วไป ด้วยสีสันและลวดลายหลากหลาย... ดูเพลิดเพลินมิใช่น้อย [2]



อ้างอิง[แก้]

  1. ถุงน่องขาเรียว
  2. "ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม".