ตำนานพื้นบ้าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตำนานพื้นบ้าน (อังกฤษ: urban legend, urban myth, urban tale หรือ contemporary legend) เป็นคติชน (folklore) ยุคปัจจุบันรูปแบบหนึ่ง ประกอบด้วยเรื่องที่ผู้เล่าอาจเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง[1] เฉกเช่นเดียวกับคติชนและปกรณัม (mythology) ตำนานพื้นบ้านไม่ได้มุ่งหมายที่ความถูกต้องแท้จริงของเนื้อหา เพียงแต่ได้ไขเรื่องราวนั้นให้แพร่หลาย ฉะนั้น เนื้อหาจึงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงผกผันได้เป็นระยะ ๆ แต่ก็มีความสำคัญบางประการที่จูงใจให้ชุมชนรักษาและถ่ายทอดเรื่องนั้นต่อ ๆ ไป

แม้ในภาษาอังกฤษเรียก "urban" ซึ่งหมายถึง ชุมชนเมือง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องราวจะต้องเกิดในชุมชนเมืองเสมอไป ที่ใช้คำเช่นนั้นก็เพื่อให้ต่างกับคติชนดั้งเดิม (traditional folklore) ในยุคก่อนอุตสาหกรรมเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ นักสังคมวิทยากับนักคติชนวิทยาจึงพอใจจะเรียกตำนานพื้นบ้านว่า "ตำนานร่วมสมัย" (contemporary legend) มากกว่า

ตำนานพื้นบ้านนั้นบางทีก็เล่าซ้ำ ๆ กันในรูปแบบรายงานข่าว และในช่วงหลัง ๆ มักแพร่หลายในรูปแบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้คนมักอ้างว่าเรื่องราวที่โจษจันกันนั้นเกิดขึ้นแก่เพื่อนของเพื่อน เมื่อเล่าตำนานพื้นบ้านก็จึงมักอ้างถึง "เพื่อนของเพื่อน" (หรือที่ในภาษาไทยแต่โบราณว่า "กิร ดังได้สดับมา")

แม้เวลาผ่านไปหลายปี ตำนานพื้นบ้านบางเรื่องเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากก็มี เช่น เรื่องหญิงถูกแมงมุมซึ่งทำรังอยู่ในทรงผมของนางฆ่าตาย ตำนานพื้นบ้านในระยะหลัง ๆ มักสะท้อนพฤติการณ์สมัยใหม่ขึ้น เช่น เรื่องปล้นไต (Kidney Heist) ความว่า มีคนถูกดักทำร้าย โปะยาสลบ พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าไตหายไปข้างหนึ่ง เพราะถูกลักไปใช้ปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่น เป็นต้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Jan Harold Brunvand (2002). Encyclopedia of Urban Legends. New York City: W. W. Norton & Company. ISBN 0-393-32358-7.
  2. Mikkelson, Barbara (2008-03-12). "snopes.com:Kidney Thief". Urban Legends Reference Pages. สืบค้นเมื่อ 2010-06-30.