ฌ็อง ซีลแว็ง บายี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฌ็อง ซีลแว็ง บายี
Jean Sylvain Bailly
นายกเทศมนตรีกรุงปารีส คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
15 กรกฎาคม 1789 – 18 พฤศจิกายน 1791
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปเฌโรม เปตียง เดอ วีลเนิฟว์
ประธานสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
17 มิถุนายน 1789 – 3 กรกฎาคม 1789
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปฌ็อง เลอฟร็อง เดอ ปงปีญ็อง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 กันยายน ค.ศ. 1736(1736-09-15)
ปารีส, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1793(1793-11-12) (57 ปี)
ปารีส, ฝรั่งเศส
สาเหตุการเสียชีวิตถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองปิตุภูมิ (1790–1791)
วิชาชีพนักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, นักการเมือง

ฌ็อง ซีลแว็ง บายี (ฝรั่งเศส: Jean Sylvain Bailly) เป็นนักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, สมาชิกฟรีเมสัน[1][2] และเป็นผู้นำทางการเมืองในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสระหว่าง ค.ศ. 1789 ถึง ค.ศ. 1791 และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว

ประวัติ[แก้]

ฌ็อง ซีลแว็ง บายี เกิดในปารีส เป็นบุตรของฌัก บายี (Jacques Bailly) จิตรกรและผู้ดูแลประจำพระราชวังลูฟวร์ ในขณะที่นีกอลา บายี (Nicholas Bailly) ปู่ของเขาก็เป็นศิลปินและจิตรกรหลวงเช่นกัน ในขณะที่เขายังเด็ก เขามีความคิดอยากเจริญรอยตามบิดากับปู่ แต่แล้วแต่ก็หลงใหลในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดาราศาสตร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนีกอลา เดอ ลากาย เขาสามารถคำนวณการปรากฏตัวของดาวหางแฮลลีย์ในปี ค.ศ. 1759 ได้ล่วงหน้า และยังเป็นผู้ผลักดันการสร้างหอดูดาวที่พระราชวังลูฟวร์อีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 เขาได้รับการสรรหาเข้าเป็นผู้แทนฐานันดรที่สามในสภาฐานันดร[3] และหลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ[4] อย่างไรก็ตาม เมื่อฐานันดรที่สามประกาศตั้งสมัชชาแห่งชาติและถูกฝ่ายกษัตริย์กีดกันไม่ให้เข้าประชุมสภา บายีได้เป็นผู้นำสมาชิกฐานันดรที่สามกล่าวคำปฏิญาณสนามเทนนิส ต่อมาภายหลังการทลายคุกบัสตีย์ได้ไม่นาน เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสคนแรกภายใต้คณะปกครองซึ่งตั้งขึ้นใหม่ที่เรียกว่า คอมมูนปารีส

17 กรกฎาคม ค.ศ. 1791 เขาประกาศกฎอัยการศึกในปารีสจากเหตุจลาจลขับไล่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการสังหารหมู่ช็องเดอมาร์ส มีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคนจากคำสั่งสลายการชุมนุมของเขา ทำให้ความนิยมของเขาตกต่ำลง เขาจึงตัดสินใจลาออกในวันที่ 12 พฤศจิกายนของปีนั้นและหลบไปอยู่ที่เมืองน็องต์ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1793 บายีได้ออกจากน็องต์ไปพบกับสหาย ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส ที่เมืองเมอเลิง แต่ถูกจำหน้าและถุกจับกุมได้ในวันที่ 14 ตุลาคม และถูกกดดันให้เป็นพยานกล่าวหาพระนางมารี อ็องตัวแน็ต แต่เขาปฏิเสธ จึงถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาปฏิวัติในวันที่ 10 พฤศจิกายน และถูกตัดสินประหารชีวิตในวันต่อมา

เขาถูกนำตัวไปประหารด้วยกิโยตีนในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1793 ณ ช็องเดอมาร์ส อันเป็นสถานที่สำหรับประหารชีวิตผู้ทรยศขบวนการประชาธิปไตย ผืนธงขนาดเล็กที่เขาเคยใช้โบกเพื่อสั่งยิงประชาชน ถูกนำมาใช้เป็นธงให้สัญญาณการประหาร มีคนตะโกนถามขึ้นมาว่า "นายตัวสั่นเหรอ บายี?" เขาตอบกลับว่า "อ่า แต่เพราะว่ามันหนาวน่ะ" เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่มีฝนตกและอากาศเย็น

อ้างอิง[แก้]

  1. Cara, Monique; Cara, Jean-Marc; Jode, Marc (2011). Dictionnaire universel de la Franc-Maçonnerie (ภาษาฝรั่งเศส). Larousse. ISBN 9782035861368.
  2. Pierrat, Emmanuel; Kupferman, Laurent (2013). Le Paris des Francs-Maçons (ภาษาฝรั่งเศส). Le Cherche Midi. ISBN 9782749131429.
  3. Chronicle of the French Revolution, Longman 1989 p.96
  4. Chronicle of the French Revolution p.98, Longman 1989