ซ่งฉื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซ่งฉื่อ (จีน: 宋史; พินอิน: Sòng Shǐ; "พงศาวดารซ่ง") เป็นพระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งในชุด 24 พงศาวดาร (二十四史) ของจีน บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง (宋朝; ค.ศ. 960–1279) เริ่มจัดทำใน ค.ศ. 1343 พร้อมกับพงศาวดาร เหลียวฉื่อ (遼史) และ จินฉื่อ (金史) ภายใต้การควบคุมของทัวทัว (脫脫) และอาหลู่ถู (阿鲁图) ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชวงศ์หยวน (元朝; ค.ศ. 1279–1368) เนื้อหาแบ่งเป็น 496 บท มีพระราชประวัติจักรพรรดิราชวงศ์ซ่ง ประวัติคร่าว ๆ ของบุคคลสำคัญในราชวงศ์ดังกล่าว และบันทึกเรื่องราวในสมัยนั้น

ความเป็นมา[แก้]

หลิว ปิ่งจง (劉秉忠) และหวัง เอ้อ (王鹗) ขุนนางราชวงศ์หยวน ทูลเสนอจักรพรรดิหยวนชื่อจู่ (元世祖) รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์หยวน ให้ประชุมพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1279), ราชวงศ์เหลียว (遼朝; ค.ศ. 907–1125), และราชวงศ์จิน (金朝; ค.ศ. 1115–1234) จักรพรรดิทรงอนุมัติ [1] แต่โครงการค้างคามายาวนาน จนเดือนมีนาคม ค.ศ. 1343 จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง (元惠宗) รัชกาลที่ 15 และรัชกาลสุดท้ายของราชวงศ์หยวน รับสั่งให้เริ่มทำพงศาวดารราชวงศ์ทั้งสามได้ โดยให้ขุนนางดังต่อไปนี้เป็นผู้เขียน คือ ก้ง ชือเต้า (贡师道), เจี๋ย หลู่ (贾鲁), ไท่ ปู้หฺวา (泰不华), ยฺหวี เชฺว (余阙), ยฺหวี เหวินจ้วน (于文传), วั่วยู่หลุนถู (斡玉伦徒), เวย์ ซู่ (危素), และขุนนางอื่นอีก 23 คน กับทั้งให้ขุนนางดังต่อไปนี้เป็นผู้กำกับดูแล คือ Toktogan, จาง ฉี่หยาน (张起岩), เถี่ยมู่เอ๋อร์ ถ่าชื่อ (铁木儿塔识; Temür Daš), หยาง จงตฺวัน (楊宗端), หลี ห่าวเหวิน (李好文), หวัง อี๋ (王沂), โอวหยาง เสฺวียน (欧阳玄), และเฮ่อ เหวย์อี (贺惟一) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1344 Toktogan ลาออกจากหน้าที่ดังกล่าว อาหลู่ถูจึงได้รับแต่งตั้งแทน ถึงแม้จะไม่คุ้นชินกับอักษรจีนก็ตาม[2]

พงศาวดารแล้วเสร็จและเผยแพร่ครั้งแรกในมณฑลเจ้อเจียง (浙江省) ใน ค.ศ. 1346 เป็นปีที่ 6 แห่งรัชกาลจื้อเจิง (至正) ของจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง

เนื้อหา[แก้]

ซ่งฉื่อ มีเนื้อหา 496 บท จึงมีเนื้อหามากที่สุดในชุด 24 พงศาวดาร[2] 496 บท แบ่งเป็น พระราชประวัติของจักรพรรดิ 47 บท, ประวัติบุคคลในประวัติศาสตร์ 255 บท, รายละเอียดบ้านเมือง 162 บท, และตารางต่าง ๆ เช่น ตารางวงศ์ตระกูล 32 บท บุคคลที่บันทึกประวัติไว้มีกว่า 2,000 คน ซึ่งมากกว่า จิ้วถังชู (舊唐書) พงศาวดารราชวงศ์ถัง (唐朝; ค.ศ. 618–907) ถึง 2 เท่า

บทที่ว่าด้วยรายละเอียดบ้านเมืองยังแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อย เช่น ดาราศาสตร์, ห้าธาตุ (五行), ปฏิทินหลวง (律历), ภูมิศาสตร์, แม่น้ำลำคลอง, จารีตประเพณีลัทธิขงจื๊อ, ดนตรีกวีศิลป์, ระบบราชการ, และเครื่องอุปโภคบริโภค

บทที่ว่าด้วยประวัติบุคคลมีเนื้อหามากกว่าในพงศาวดารฉบับอื่นใด ทั้งยังมีประวัติของกบฏ เช่น จาง ปางชาง (張邦昌), ฉิน ฮุ่ย (秦檜), ไช่ จิง (蔡京), หลิว อฺวี้ (劉豫), และ หฺวัง เฉียนช่าน (黃潛善) รวมถึงประวัตินักบวชหรือนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อ เช่น จาง ไจ้ (張載), จู ซี ( 朱熹), โจว ตุนอี๋ (周敦頤), เฉิง อี๋ (程頤), และเฉิง ฮ่าว (程顥)

อ้างอิง[แก้]

  1. Chan (2014), pp. 62–64.
  2. 2.0 2.1 "The History of the Song Dynasty". สืบค้นเมื่อ September 1, 2010.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Chan, Hok-lam (2014). "Chinese Official History at the Yuan Court: The Compilation of the Liao, Chin, and Sung Histories". China Under Mongol Rule. Princeton: Princeton University Press.
  • Chien, Cecilia Lee-fang (2004). Salt and State: An Annotated Translation of the Songshi Salt Monopoly Treatise. Michigan: Center for Chinese Studies, University of Michigan.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]