ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีวัน สรัตซีมีร์
ซาร์แห่งบัลแกเรีย
ครองราชย์1356–1396
ก่อนหน้าซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์
ถัดไปซาร์กอนสตันตินที่ 2
ประสูติ1324/1325
ลอแวช
สวรรคต1397
คู่อภิเษกอันนาแห่งวอเลเคีย
พระราชบุตรดอรอแตยาแห่งบัลแกเรีย
ซาร์กอนสตันตินที่ 2 แห่งบัลแกเรีย
ราชวงศ์สรัตซีมีร์
พระราชบิดาซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์
พระราชมารดาแตออดอราแห่งวอเลเคีย

ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ (บัลแกเรีย: Иван Срацимир) เป็นซาร์แห่งบัลแกเรียในวีดินตั้งแค่ ค.ศ. 1356 - 1396 คาดว่าพระองค์น่าจะประสูติใน ค.ศ. 1324 หรือ 1325 และน่าจะสวรรคตใน ค.ศ. 1397 แม้ว่าจะเป็นพระราชโอรสองค์โตในซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ไม่ได้เป็นผู้สืบราชสมบัติโดยตรงของบิดา แต่เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาคืออีวัน ชิชมันที่ได้สืบทอดต่อจากพระบิดาแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงสถาปนาตนเป็นซาร์ในวีดิน เมื่อราชอาณาจักรฮังการีเข้าโจมตีและยึดครองวีดิน พระองค์ได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาในการชับไล่กองทัพของฮังการี

ภายหลังจากการสวรรคตของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ใน ค.ศ. 1371 ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ได้ตัดความสัมพันธ์กับเตอร์โนโว และให้อาร์คบิชอปแห่งวีดินขึ้นตรงกับอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลเพื่อแสดงถึงความเป็นอิสระ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของวีดิน ส่งผลให้ดินแดนของพระองค์ปลอดภัยจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งกำลังรุกรานพื้นที่ทางใต้ของคาบสมุทรบอลข่าน และพระองค์มิได้ส่งความช่วยเหลือใดๆแก่พระอนุชาของพระองค์ในการป้องกันดินแดนจากการรุกรานของออตโตมัน จนกระทั่งหลังสงครามการเสียกรุงเตอร์นอวอใน ค.ศ. 1393 พระองค์จึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านออตโตมันมากขึ้น และได้เข้าร่วมในกองทัพครูเสดของพระเจ้าซีกิสมุนท์แห่งฮังการี อย่างไรก็ตามหลังจากการรบที่นิกอปอล กองทัพออตโตมันสามารถเข้ายึดเมืองวีดินได้ และจับตัวซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ไปจองจำไว้ในเมืองบูร์ซา ซึ่งพระองค์อาจถูกรัดคอจนสวรรคตที่นั่น แม้ว่าพระโอรสของพระองค์ เจ้าชายกอนสตันตินจะอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งซาร์และปกครองดินแดนบางส่วนของพระบิดาของพระองค์ แต่โดยทั่วไปแล้วนักประวัติศาสตร์มักนับซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ เป็นซาร์พระองค์สุดท้ายของบัลแกเรียยุคกลาง

เนินเขาสรัตซีมีร์บนคาบสมุทรตรีนิตีในแอนตาร์กติกาเป็นสถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์[1]

วัยเยาว์[แก้]

พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระองค์จากพงศาวดารมานัสเสส ฉบับแปลภาษาบัลแกเรีย

ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ประสูติที่เมืองลอแวชใน ค.ศ. 1324 หรือ 1325 โดยเป็นพระโอรสพระองค์ที่สองของซารีนาแตออดอราและซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1331–1371) ซึ่งขณะนั้นพระบิดาของพระองค์ยังดำรงตำแหน่งเป็นเดสเปิตแห่งลอแวช[2] ต่อมาพระบิดาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วมใน ค.ศ. 1337 ขณะมีพระชนมายุสิบกว่าพรรษา ร่วมกับพระเชษฐาของพระองค์คือมีคาอิล อาแซนที่ 4และอีวัน อาแซนที่ 4[3] การสถาปนาในครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหายนะแก่บัลแกเรีย เนื่องจากไม่มีการระบุอย่างชัดเจนถึงสิทธิพระราชอำนาจของพระโอรส นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน[2]

อีวัน สรัตซีมีร์ขึ้นมามีบทบาทอย่างโดดเด่นในคริสต์ทศวรรษ 1340 เนื่องจากพระองค์อภิเษกสมรสกับอันนาแห่งวอเลเคียและมีพระราชบุตรแล้ว ขณะที่พระเชษฐาพระองค์ใหญ่อย่างมีคาอิล อาแซนและพระชายายังไม่มีพระราชบุตรทั้งที่เสกสมรสมากว่าสิบปี ต่อมาซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ตั้งตำแหน่งใหม่คือ ยุวจักรพรรดิ (junior emperor) ใน ค.ศ. 1352 เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนพระราชบัลลังก์อย่างราบรื่นและปลอดภัย และนับแต่นั้นอีวัน สรัตซีมีร์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะยุวจักรพรรดิ[4] ทว่าประมาณช่วงปลาย ค.ศ. 1347 หรือช่วงต้น ค.ศ. 1348 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ตัดสินพระทัยหย่ากับพระมเหสีพระองค์แรก และส่งไปพำนักที่อาราม จากนั้นได้อภิเษกสมรสใหม่กับซารีนาซาราซึ่งเป็นชาวยิว เหตุการณ์ครั้งนี้ทำลายความสัมพันธ์ของอีวัน สรัตซีมีร์และพระบิดาของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้นความขัดแย้งยิ่งมีมากขึ้น เมื่ออีวัน ชิชมันประสูติจากพระมเหสีพระองค์ที่สองใน ค.ศ. 1350/1351[5] ความขัดแย้งถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ. 1355–1356 เมื่อมีคาอิล อาแซนที่ 4 ซึ่งเป็นรัชทายาทที่ไม่อาจโต้แย้งได้สิ้นพระชนม์จากการรบกับออตโตมันใน[6] ตามระบบมาฌอรา อีวัน สรัตซีมีร์จะเป็นลำดับถัดไปในการสืบราชสมบัติ แต่การที่อีวัน ชิชมันเป็นผู้กำเนิดในสีม่วงคือประสูติในสมัยครองราชย์ของพระบิดา ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และซารีนาซารา-แตออดอราได้ประกาศให้อีวัน ชิชมันเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติ[4][6] สิ่งที่บอกใบ้ถึงความบาดหมางระหว่างพระองค์กับพระบิดาคือพระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ที่ไม่ปรากฎภาพของพระองค์ ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมดปรากฎในพระวรสารนั้น อันรวมถึงพระชามาดาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ด้วย ดังนั้นจึงอาจหมายความได้ว่าอีวัน สรัตซีมีร์ถูกตัดออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาพระองค์เองเป็นจักรพรรดิในวีดินหรือพระองค์ถูกปฏิเสธตำแหน่งยุวจักรพรรดิและได้รับตำแหน่งผู้ปกครองวีดินเป็นการชดเชย[4][7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Sratsimir Hill. SCAR Composite Gazetteer of Antarctica.
  2. 2.0 2.1 Андреев, p. 293
  3. Божилов, Гюзелев, p. 611
  4. 4.0 4.1 4.2 Божилов, Гюзелев, p. 612
  5. Андреев, pp. 293–294
  6. 6.0 6.1 Андреев, p. 294
  7. Fine, p. 366

แหล่งข้อมูล[แก้]

  • Андреев (Andreev), Йордан (Jordan); Лалков, Милчо (Milcho Lalkov) (1996). Българските ханове и царе (The Bulgarian Khans and Tsars) (ภาษาบัลแกเรีย). Велико Търново (Veliko Tarnovo): Абагар (Abagar). ISBN 954-427-216-X.
  • Андреев, Йордан; Лазаров, Иван; Павлов, Пламен (1999). Кой кой е в средновековна България [Who is Who in Medieval Bulgaria] (ภาษาบัลแกเรีย). Петър Берон. ISBN 978-954-402-047-7.
  • Вожилов (Bozhilov), Иван (Ivan); Гюзелев, Васил (1999). История на средновековна България VII-XIV век (History of Medieval Bulgaria 7th-14th centuries) (ภาษาบัลแกเรีย). София (Sofia): Анубис (Anubis). ISBN 954-426-204-0.
  • Вожилов (Bozhilov), Иван (Ivan). Фамилията на Асеневци (1186–1460). Генеалогия и просопография (The House of Asen (1186-1460). Genealogy and Prosopography.) (ภาษาบัลแกเรีย). София (Sofia): Българска академия на науките (Bulgarian Academy of Sciences). ISBN 954-430-264-6.
  • Fine, J. (1987). The Late Medieval Balkans, A Critical Survey from the Late Twelfth Century to the Ottoman Conquest. The University of Michigan Press. ISBN 0-472-10079-3.
  • Георгиева (Georgieva), Цветана (Tsvetana); Генчев, Николай (Nikolay Genchev) (1999). История на България XV-XIX век (History of Bulgaria 15th-19th centuries) (ภาษาบัลแกเรีย). София (Sofia): Анубис (Anubis). ISBN 954-426-205-9.
  • Иречек (Jireček), Константин (Konstantin) (1978). "XXIII Завладяване на България от турците (Conquest of Bulgaria by the Turks)". ใน Петър Петров (บ.ก.). История на българите с поправки и добавки от самия автор (History of the Bulgarians with corrections and additions by the author) (ภาษาบัลแกเรีย). София (Sofia): Издателство Наука и изкуство.
ก่อนหน้า ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย ถัดไป
ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย
ซาร์แห่งบัลแกเรีย
(ราชวงศ์สรัตซีมีร์)

(ค.ศ. 1356 - 1396)
ซาร์กอนสตันตินที่ 2 แห่งบัลแกเรีย