จ่างซุน อู๋จี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จ่างซุน อู๋จี้
ภาพวาดของจ่างซุน อู๋จี้
เกิดค.ศ. 594
เสียชีวิตค.ศ. 659
ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี
ญาติจักรพรรดินีจ่างซุน (น้องสาว)
จักรพรรดิถังไท่จง (น้องเขย)
จักรพรรดิถังเกาจง (หลานชาย)

จ่างซุน อู๋จี้ (จีน: 長孫無忌; พินอิน: Zhǎngsūn Wúji; เวด-ไจลส์: Chang-sun Wu-chi , 594 – 659) นามปากกาว่า ฟู่จี (พินอิน: Fǔjī; เวด-ไจลส์: Fu-Chi) ตำแหน่งเมื่อสิ้นชีวิตเป็น เจ้ากง (จีน: 趙公; พินอิน: Zhào Gōng; เวด-ไจลส์: Chao Kung) เป็นขุนนางจีนซึ่งดำรงตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดี ในสมัยต้น ราชวงศ์ถัง เป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ของ จักรพรรดินีจางซุน จักรพรรดินีใน จักรพรรดิถังไท่จง จักรพรรดิองค์ที่ 2 และพระมาตุลา (ลุง) ของ จักรพรรดิถังเกาจง จักรพรรดิองค์ที่ 3

ซึ่งจ่างซุน อู๋จี้ผู้นี้เป็นทั้งที่ปรึกษาและพระสหายของจักรพรรดิไท่จงตั้งแต่ก่อนสถาปนาราชวงศ์ถังครั้งยังเป็น หลี่ซื่อหมิน รวมถึงเมื่อสถาปนาราชวงศ์ถังแล้วและองค์ชายหลี่ซื่อหมินได้เป็นฉินอ๋องและเขาอาจจะเป็นพ่อสื่อให้กับจักรพรรดิไท่จงได้พบรักกับแม่นางจางซุนน้องสาวของเขา

ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า เหตุการณ์ที่ประตูเสฺวียนอู่ เมื่อ พ.ศ. 1169 อันตรงกับช่วงปลายรัชสมัย จักรพรรดิถังเกาจู่ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังเขามีส่วนช่วยให้องค์ชายหลี่ซื่อหมินพระราชโอรสองค์รองมีชัยชนะเหนือองค์ชาย หลี่เจี้ยนเฉิง องค์รัชทายาทและองค์ชาย หลี่หยวนจี๋ พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกับองค์ชายหลี่ซื่อหมินและจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องค์ชายหลี่ซื่อหมินได้เป็นรัชทายาทส่วนจ่างซุน อู๋จี้ได้รับการปูนบำเหน็จอย่างสูงโดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี

ในช่วงปลายรัชสมัยจักรพรรดิไท่จงเขาได้กราบทูลเสนอพระนามขององค์ชาย หลี่จื้อ พระราชโอรสองค์เล็กซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิถังเกาจง ให้ขึ้นเป็นรัชทายาทแทนองค์ชาย หลี่ไท่ พระราชโอรสองค์รองที่มีจิตใจโหดเหี้ยมทำให้เขามีอำนาจอย่างสูงในราชสำนักรวมถึงได้กลับมาเป็นอัครมหาเสนาบดีอีกสมัยหนึ่งแต่เพราะไปขัดราชโองการของจักรพรรดิเกาจงเรื่องการปลด จักรพรรดินีหวัง ออกจากตำแหน่งทำให้ พระสนมอู่ พระสนมเอกในจักรพรรดิเกาจงซึ่งกำลังก้าวขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักขณะนั้นได้ใช้โอกาสนี้จัดการกับจ่างซุน อู๋จี้โดยให้ขุนนางคนสนิทที่สนับสนุนพระนางคือ ซู่จิงจง ป้ายความผิดให้กับจ่างซุน อู๋จี้ว่าจะก่อกบฏพร้อมกับขุนนางอีก 3-4 คนทำให้เขาถูกเนรเทศไปอยู่ชายแดนแต่ก็ถูกบังคับให้ดื่มยาพิษจนเสียชีวิตระหว่างถูกเนรเทศเมื่อ พ.ศ. 1202