จักรพรรดิซ่งชินจง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซ่งชินจง
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง
ครองราชย์19 มกราคม ค.ศ. 1126 – 20 มีนาคม ค.ศ. 1127
ราชาภิเษก19 มกราคม ค.ศ. 1126
ก่อนหน้าจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง (宋徽宗)
ถัดไปจักรพรรดิซ่งเกาจง (宋高宗)
ประสูติ23 พฤษภาคม ค.ศ. 1106(1106-05-23)
จ้าว หฺวัน (趙桓)
สวรรคต14 มิถุนายน ค.ศ. 1161(1161-06-14) (61 ปี)
รัชศก
จิ้งคัง (靖康; ค.ศ. 1126–1127)
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิกงเหวิน ชุ่นเต๋อ เหรินเซี่ยว (恭文順德仁孝皇帝)
พระอารามนาม
ชินจง (欽宗)
ราชวงศ์สกุลจ้าว
พระราชบิดาจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง
พระราชมารดานางหวัง (王氏)

ซ่งชินจง (จีน: 宋欽宗; พินอิน: Sòng Qīnzōng; 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1000 – 14 มิถุนายน ค.ศ. 1161) ชื่อตัวว่า จ้าว หฺวัน (จีน: 趙桓; พินอิน: Zhào Huán) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 9 ของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) แห่งจักรวรรดิจีน และเมื่อแบ่งราชวงศ์ซ่งออกเป็นสมัยเหนือกับสมัยใต้ นับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 9 และองค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋朝) เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1126 จนถูกถอดจากราชสมบัติใน ค.ศ. 1127

จ้าว หฺวัน เป็นโอรสองค์หัวปีและเป็นรัชทายาทของจ้าว จี๋ (趙佶) ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง (宋徽宗) กับนางหวัง (王氏) ชายาของจ้าว จี๋ ผู้ได้ฐานันดรศักดิ์ชั้นมเหสีว่า "เสี่ยนกงหฺวังโฮ่ว" (顯恭皇后)

ใน ค.ศ. 1126 ราชวงศ์จิน (金朝) ของชาวนฺหวี่เจิน (女真) รุกรานราชวงศ์ซ่ง และปิดล้อมเปี้ยนจิง (汴京) เมืองหลวงของจักรวรรดิซ่ง จ้าว จี๋ (จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง) ตกพระทัย จึงเวนราชสมบัติให้จ้าว หฺวัน โอรส ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งชินจง ส่วนจ้าว จี๋ ได้สมัญญาพระเจ้าหลวง (太上皇) แล้วหนีภัยสงครามไปอยู่ชนบท ปล่อยให้จ้าว หฺวัน รับศึกแต่ผู้เดียว จ้าว หฺวัน ตั้งขุนพลหลี่ กัง (李綱) ไปปราบศึก แต่ไม่นานก็ถอดหลี่ กัง จากตำแหน่ง แล้วส่งจ้าว โก้ว (趙構) อนุชาของตน ไปเจรจากับราชวงศ์จิน แต่จ้าว โก้ว ถูกราชวงศ์จินจับกุมเรียกค่าไถ่แทน

ในสงครามดังกล่าว ราชวงศ์จินต้องปิดล้อมเปี้ยนจิง 2 ครั้ง ในการปิดล้อมครั้งแรก จ้าว หฺวัน ตกลงจะยอมแพ้และมอบเมือง ราชวงศ์จินจึงเลิกการศึก จ้าว จี๋ บิดาของเขา พอทราบว่า ข้าศึกเลิกล้อมเมืองแล้ว ก็กลับคืนมา ขณะเดียวกัน จ้าว หฺวัน ลอบชวนให้ราชวงศ์เหลียว (遼朝) ที่ล่มจมไปแล้ว มาร่วมมือกันปราบราชวงศ์จิน แต่ราชวงศ์เหลียวหักหลังไปไขความลับให้จักรพรรดิจินไท่จง (金太宗) แห่งราชวงศ์จินทราบ จินไท่จงจึงส่งกำลังมาล้อมเปี้ยนจิงอีกครั้งใน ค.ศ. 1127 ครั้งนี้ ราชวงศ์จินยึดเมืองสำเร็จในเหตุการณ์จิ้งคัง (靖康事變) และจับตัวจ้าว หฺวัน พร้อมครอบครัว ซึ่งรวมถึงจ้าว จี๋ บิดาของเขา ไปเป็นเชลย แต่จ้าว โก้ว อนุชาของเขา หลีกเร้นรอดไปถึงภาคใต้ แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิซ่งเกาจง (宋高宗) สืบราชวงศ์ซ่งต่อไป นักประวัติศาสตร์นับยุคสมัยจากนี้เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋朝)

จ้าว หฺวัน ถูกถอดจากราชสมบัติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1127 และเนรเทศไปจังหวัดฮุ่ยหนิง (會寧府) เมืองหลวงราชวงศ์จิน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1127 ต่อมาใน ค.ศ. 1128 จ้าว หฺวัน ถูกบังคับให้ไว้ทุกข์ให้แก่บรรพชนราชวงศ์จิน[1][2] นอกจากนี้ จักรพรรดิจินไท่จงยังประทานฐานันดรศักดิ์ที่หยามเหยียดให้แก่จ้าว หฺวัน เป็น "ฉงฮุนโหฺว" (重昏侯; "หลวงโง่ซ้ำ") และให้จ้าว จี๋ บิดาของเขา เป็น "ฮุนเต๋อกง" (昏德公; "พระยางั่ง")[2]

ค.ศ. 1141 ราชวงศ์จินฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ซ่งที่ไปตั้งมั่นอยู่ทางใต้ จึงเปลี่ยนฐานันดรศักดิ์ให้จ้าว หฺวัน เป็น "เทียนชุ่ยจฺวิ้นกง" (天水郡公; "พระยาเขตเทียนชุ่ย") และไม่กี่เดือนให้หลัง ก็ยังเริ่มให้ค่าครองชีพที่สมฐานะแก่จ้าว หฺวัน ด้วย จ้าว หฺวัน จึงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในดินแดนราชวงศ์จินในฐานะเชลยศึก[2]

ค.ศ. 1142 ราชวงศ์ซ่งทำสนธิสัญญาสันติภาพกับราชวงศ์จิน ทำให้จ้าว หฺวัน ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนอีก ต่อมาใน ค.ศ. 1156 ไห่หลิงหยางหวัง (海陵煬王) องค์ชายแห่งราชวงศ์จิน รับสั่งให้จ้าว หฺวัน ตีคลีประลองกับจักรพรรดิเหลียวเทียนจั้ว (遼天祚帝) ที่จับตัวมา จ้าว หฺวัน อ่อนแอเกินจึงตกม้า ส่วนเหลียวเทียนจั้วพยายามขับม้าหนี จึงถูกเกาทัณฑ์ยิงตาย

จ้าว หฺวัน ประชวรสิ้นพระชนม์ในดินแดนจินเมื่อ ค.ศ. 1161[3]

ครอบครัว[แก้]

บิดามารดา
คู่ครองและบุตร
  • นางจู (朱氏; ค.ศ. 1102–1127), ฐานันดรศักดิ์ชั้นมเหสีว่า "เหรินหฺวายหฺวังโฮ่ว" (仁懷皇后)
    • จ้าว เฉิน (趙諶; ค.ศ. 1117–1128), ได้เป็นรัชทายาท ฐานันดรศักดิ์ "หฺวังไท่จื่อ" (皇太子)
    • บุตรหญิง (เกิด ค.ศ. 1121), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ "โร่วเจียกงจู่" (柔嘉公主)
  • นางจู (朱氏; ค.ศ. 1110–1142), ฐานันดรศักดิ์ "เชิ่นเต๋อเฟย์" (慎德妃)
    • จ้าว จิ่น (趙謹; เกิด ค.ศ. 1127)
    • นางจ้าว (趙氏; เกิด ค.ศ. 1130)
  • เจิ้ง ชิ่ง-ยฺหวิน (鄭慶雲), ฐานันดรศักดิ์ "ไฉเหริน" (才人)
    • จ้าว ซฺวิ่น (趙訓; เกิด ค.ศ. 1129)
  • ตี๋ อฺวี้ฮุย (狄玉輝; เกิด ค.ศ. 1114), ฐานันดรศักดิ์ "ไฉเหริน" (才人)
    • นางจ้าว (趙氏; เกิด ค.ศ. 1129)

อ้างอิง[แก้]

  1. Tao, p. 32
  2. 2.0 2.1 2.2 Franke (1994), p. 233-234.
  3. Mote F.W. (2003). Imperial China 900-1800. Harvard University Press. p. 291. ISBN 0674012127.

บรรณานุกรม[แก้]