จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2[1] (อังกฤษ: The Second Epistle of Paul to Timothy) เป็นหนังสือเล่มที่ 16 ของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งใน "จดหมายฝากศิษยาภิบาล" อันได้แก่ "จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 1" "จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2" และ "จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิตัส"

หนังสือเล่มนี้แต่เดิมเป็นจดหมายฉบับที่สองซึ่งเปาโลอัครทูต เขียนถึงทิโมธี ในประโยคแรกของตัวจดหมายระบุว่าผู้เขียนคือเปาโล และจากการอ้างอิงอื่น ๆ ก็ยืนยันตรงกัน หลังจากที่จดหมายฉบับแรกถูกเขียนถึงทิโมธีในราวปีค.ศ. 64 ต่อมาในปีค.ศ. 66 เปาโลถูกจำคุกอีกครั้งในกรุงโรม ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเนโร ในจดหมายฉบับที่สองของเปาโลที่เขียนถึงทิโมธี มีหลายข้อความที่ เปาโลอ้างว่ากำลังถูกคุมขังอยู่[2] ดังนั้น จดหมายฉบับนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นในปีค.ศ. 66 นั้นเอง

ตามประวัติศาสตร์เปาโลถูกจำคุกหลายครั้ง ระยะเวลาในการถูกจำคุกแต่ละครั้งอาจจะสั้นบ้าง หรืออาจจะยาวนานบ้าง แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ทรมานที่สุด เนื่องจากคุกที่ใช้จองจำอยู่เป็นคุกใต้ดิน และถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบสองปี แต่อย่างไรก็ตาม งานประกาศข่าวประเสริฐยังเมืองต่าง ๆ ตามที่ได้วางแผนไว้สำเร็จลงแล้ว[3] เปาโลทราบดีว่าวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้เข้ามาแล้ว[4] ดังนั้น จึงเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงทิโมธี เพื่อกำชับเรื่องต่าง ๆ เป็นครั้งสุดท้าย และก็น่าจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เปาโลเขียนก่อนจบชีวิตเช่นกัน

แม้ว่าจดหมายฉบับนี้จะถูกเขียนขึ้นจากผู้ที่รู้ดีว่า กำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เนื้อหาในจดหมายฉบับนี้ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเสียใจ ท้อแท้ หรือสิ้นหวัง แต่กลับเต็มไปด้วยความกล้าหาญและพลัง[5] เปาโลมีจุดประสงค์ 4 ประการในการเขียนจดหมายฉบับนี้

ประการแรกคือ ต้องการให้ทิโมธีมาพบก่อนที่เปาโลจะเสียชีวิต[6] น่าจะเป็นเพราะสาเหตุสองประการ หนึ่งคือ ต้องการกำชับเรื่องต่าง ๆ กับทิโมธีเป็นการส่วนตัว ซึ่งจะละเอียดและดีกว่าการเขียนในจดหมาย สองคือ ขณะนั้นไม่มีใครอยู่กับเปาโลเลย ยกเว้นลูกาคนเดียว[7] เปาโลจึงต้องการให้ทิโมธีมาเยี่ยม

ประการที่สองคือ ต้องการเตือนให้ทิโมธีใช้ของประทานที่มี เพื่อทำงานของพระเจ้า[8] ทิโมธีเกิดในตระกูลที่มีพื้นฐานความเชื่อคริสเตียนที่ดี คือ ตั้งแต่บรรรพบุรุษรุ่นยายชื่อ โลอิส ได้ถ่ายทอดความเชื่อมายังแม่ชื่อ ยูนีส และมาจนถึงตัวทิโมธี[9] เปาโลจึงขอให้ทิโมธีทำงานของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ[10]

ประการที่สามคือ ต้องการให้ทิโมธีเข้มแข็งในการทำงานของพระเจ้า เพราะจากประสบการณ์ของเปาโลในการรับใช้พระเจ้ามักพบความยากลำบากและอุปสรรคอยู่บ่อย ๆ จึงต้องการให้กำลังใจ โดยการเขียนตรง ๆ ว่า "แท้จริงบรรดาคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามทางของพระเจ้า ในพระเยซูคริสต์จะถูกกดขี่ข่มเหง"[11] และเปาโลยังได้เล่าเรื่องความลำบากต่าง ๆ ที่ประสบมาให้ฟังอีกด้วย

ประการสุดท้ายคือ ต้องการให้ทิโมธียืนหยัดต่อสู้ในยุคสุดท้ายนี้ได้เปาโลกล่าวถึงคนในยุคสุดท้ายว่า จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา ฯลฯ[12] และเน้นกับทิโมธีว่า "แต่ฝ่ายท่านจงดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านเรียนรู้แล้วและได้เชื่ออย่างมั่นคง ท่านก็รู้ว่าท่านได้เรียนมาจากผู้ใด"[13]

โครงร่าง[แก้]

  1. คำทักทาย 1:1 - 5
  2. กำชับให้ทำของประทานให้รุ่งเรืองขึ้น 1:6 - 18
  3. กำชับให้เข้มแข็งในการรับใช้พระเจ้า 2:1 - 19
  4. กำชับให้เฝ้าระวังอยู่ 2:20 - 3:17
  5. กำชับให้ประกาศพระวจนะ 4:1 - 8
  6. คำทักทายสรุป 4:9 - 22

อ้างอิง[แก้]

  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2 เก็บถาวร 2012-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์
  2. 2 ทิโมธี 2:9
  3. 2 ทิโมธี 4:7 - 8
  4. 2 ทิโมธี 4:6
  5. 2 ทิโมธี 4:17 - 18
  6. 2 ทิโมธี 4:9
  7. 2 ทิโมธี 4:10 - 12
  8. 2 ทิโมธี 1:6
  9. 2 ทิโมธี 1:5
  10. 2 ทิโมธี 1:7 - 8
  11. 2 ทิโมธี 3:12
  12. 2 ทิโมธี 3:1 - 5
  13. 2 ทิโมธี 3:14

ดูเพิ่ม[แก้]