คำอนุภาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในทางภาษาศาสตร์ คำอนุภาค หมายถึงคำที่มีความหมาย มีการใช้งาน แต่ไม่ถูกจัดเป็นชนิดของคำที่ผันรูปได้ในภาษาหนึ่ง ๆ (เช่นไม่ได้เป็นทั้งคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา ฯลฯ) คำอนุภาคใช้อธิบายอย่างกว้าง ๆ ถึงกลุ่มของคำหรือศัพท์ที่แตกต่างกัน ซึ่งขาดการนิยามความหมายอย่างถูกต้องแม่นยำ ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อเป็นตัวช่วยแสดงประเภทไวยากรณ์ (เช่นการปฏิเสธ มาลา การก ฯลฯ) หรือใช้เป็นคำเสริม มักใช้ในภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน นอกจากนี้ คำอนุภาคไม่มีการผันรูป [1]

ภาษาไทย[แก้]

ภาษาไทยมีคำอนุภาคจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลักภาษาดั้งเดิมถูกกำหนดให้เป็นคำวิเศษณ์ [2] เช่น นะ จ๊ะ เถอะ เถิด หรอก ซิ สิ น่ะ แน่ะ หนอ ละ ล่ะ กระมัง ครับ ค่ะ คะ ไหม หรือ เหรอ ฯลฯ เพื่อเน้นเจตนาของผู้พูดว่าต้องการเนื้อความบอกเล่า สั่ง ถาม ขู่ อ้อนวอน ขอร้อง แนะนำ เชิญชวน บังคับ เป็นต้น สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มได้แก่ คำอนุภาคที่เติมท้ายประโยค เพื่อแสดงเจตนาของผู้พูด และคำอนุภาคที่ไม่เติมท้ายประโยค คืออาจอยู่ต้นประโยคหรือระหว่างประโยคก็ได้ เพื่อเน้นความให้เด่นชัด

ภาษาอังกฤษ[แก้]

ภาษาอังกฤษมีคำอนุภาคจำนวนหนึ่ง บางคำถูกจัดแบ่งชนิดของคำและมีความหมายในตัวเอง แต่เมื่ออยู่ในวลีหรือประโยคก็ไม่มีความหมาย อาทิ

  • คำว่า the (สำหรับ a และ an ไม่จัดว่าเป็นคำอนุภาคเพราะมีความหมายว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และถูกจำกัดให้ใช้กับคำนามเอกพจน์เท่านั้น)
  • คำว่า to ที่กำกับคำกริยา เช่นในวลี to walk
  • คำบุพบท เช่นคำว่า over ในประโยค I went over the hill.
  • คำกริยาวิเศษณ์และส่วนหนึ่งของกริยาวลี เช่นคำว่า off ในประโยค We put it off too long.

ภาษาจีน[แก้]

ภาษาจีนมีคำอนุภาคจำนวนหนึ่ง[3] แบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ คำอนุภาคแบบดั้งเดิม เป็นคำอนุภาคที่ปรากฏในงานเขียนหรือบทกวีสมัยเก่า ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว เช่น 其, 之, 與, 也, 而, 乎 ฯลฯ และคำอนุภาคในชีวิตประจำวัน ใช้เป็นคำเสริมแสดงเจตนา เช่น 吧, 的, 等, 个, 还, 可, 了, 吗, 是, 也, 着, 只 ฯลฯ

ภาษาญี่ปุ่น[แก้]

ภาษาญี่ปุ่นใช้งานคำอนุภาคเป็นไวยากรณ์หลัก โดยนำไปต่อท้ายคำชนิดอื่นทีละชุด แล้วจึงนำมารวมกันเป็นประโยค คำอนุภาคในภาษาญี่ปุ่นยาวตั้งแต่ 1 ถึง 4 คะนะ และมีจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น か、が、や、は、の、を、に、へ、と、て、で、でも、から、より、やら、なり、だの、ばかり、かしら、ところが、けれども ฯลฯ บางคำใช้ได้ในกรณีเฉพาะเท่านั้น และบางคำก็มีรูปคันจิด้วย

は、へ、を โดยปกติอ่านว่า ฮะ, เฮะ, โวะ ตามลำดับ แต่เมื่อทำหน้าที่เป็นคำอนุภาคจะเปลี่ยนไปอ่านเป็น วะ, เอะ, โอะ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการสืบทอดอักขรวิธีคะนะโบราณ

ภาษาเกาหลี[แก้]

ภาษาเกาหลีใช้งานคำอนุภาคในลักษณะเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น 은, 는, 이, 가, 도, 을, 를, 에게, 한테, 께, 으로, 로, 에, 에서, 만, 의, 과, 와 ฯลฯ

อ้างอิง[แก้]

  1. McArthur, Tom: “The Oxford Companion to the English Language”, pp72-76, Oxford University Press, 1992. ISBN 0-19-214183-X For various keywords
  2. [1][ลิงก์เสีย]
  3. Dobson, W. A. C. H. (1974). A Dictionary of the Chinese Particles. Toronto: University of Toronto Press.