คำสาปฟาโรห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำสาปฟาโรห์ เป็นคำสาปที่กล่าวอ้างกันว่า ส่งผลต่อบุคคลใดก็ตามที่รบกวนมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณ โดยเฉพาะพระศพฟาโรห์ คำสาปนี้ไม่แยกแยะว่า ผู้รบกวนนั้นจะเป็นโจรหรือเป็นนักโบราณคดี เชื่อว่า จะนำมาซึ่งโชคร้าย โรคภัย หรือความตาย และนับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นักเขียนและนักสารคดีหลายคนแย้งว่า คำสาปมีผลจริงที่ใช้วิทยาศาสตร์อธิบายได้ เช่น อาศัยแบคทีเรียหรือการแผ่รังสี ถึงแม้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับคำสาปมัมมี่อียิปต์ แหล่งที่มาในสมัยปัจจุบัน พัฒนาการซึ่งหลัก ๆ แล้วอยู่ในวัฒนธรรมยุโรป การแปรจากเรื่องเวทมนตร์ไปยังวิทยาศาสตร์ รวมถึงวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไปในการใช้งานคำสาป เช่น จากการลงโทษผู้รบกวนไปเป็นการสร้างความบันเทิงในภาพยนตร์ เหล่านี้บ่งบอกว่า คำสาปเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม มากกว่าทางวิทยาศาสตร์โดยตรง[1]

ในทางโบราณคดี ไม่เคยมีการค้นพบคำสาปภายในตัวสุสานของฟาโรห์ดังที่เข้าใจกัน[2] แต่ตัวอย่างคำสาปจริง ๆ ก็มีอยู่ อย่างกรณีสุสานแมสตาบาของ Khentika Ikhekhi ในช่วงราชวงศ์ที่ 6 ซึ่งดูจะมีไว้เพื่อกำกับให้นักบวชทำหน้าที่ให้ดี มากกว่าจะเพื่อเตือนผู้คิดบุกรุก การแพร่สะพรัดเรื่องคำสาปย้อนหลังไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่มาทวีขึ้นอย่างยิ่งหลังจากเฮาเวิร์ด คาร์เทอร์ (Howard Carter) ค้นพบสุสานของทูเทินคามูนเมื่อ ค.ศ. 1922 [3]

คำสาปสุสาน[แก้]

คำสาปเกี่ยวกับสุสานนั้นมีไม่มากนัก อาจเป็นเพราะจะทำให้สุสานเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ หรือการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์ก็ดูจะสุ่มเสี่ยงเกินไป[2]

คำสาปที่พบนั้นมักมีในสุสานส่วนบุคคลมากกว่าสุสานหลวง โดยเฉพาะในยุคราชอาณาจักรเก่า[4] เช่น สุสานของขุนนางอังค์ทีฟี (Ankhtifi) จากช่วงราชวงศ์ที่ 9 ถึงราชวงศ์ที่ 10 มีคำเตือนว่า "เจ้านายผู้ใด...ละเมิดล่วงเกินโลงนี้... ขอให้เฮเมนอย่ารับเครื่องถวายของเขา และอย่าให้เขามีทายาทสืบสาย" (any ruler who... shall do evil or wickedness to this coffin... may Hemen not accept any goods he offers, and may his heir not inherit) และสุสานของ Khentika Ikhekhi จากช่วงเวลาเดียวกัน มีจารึกว่า "อันว่าคนทั้งปวงที่เข้ามาในสุสานเรานี้...โดยไม่บริสุทธิ์... จะต้องถูกพิพากษา... จะต้องพบจุดจบ... เราจะฉวยคอเขาดังนก... เราจะยังให้ความหวาดกลัวของเราตกลงสู่เขา" (As for all men who shall enter this my tomb... impure... there will be judgment... an end shall be made for him... I shall seize his neck like a bird... I shall cast the fear of myself into him)[2]

หลังยุคราชอาณาจักรเก่า คำสาปเขียนไว้รุนแรงมากขึ้น บางครั้งกล่าวอ้างถึงพระพิโรธของเทพท็อท (Thoth) หรือการทำลายล้างของเทพีเซ็กเม็ต (Sekhmet)[4] ตัวอย่างคำสาปในยุคนี้ เช่น "ใครรบกวนการพักผ่อนพระวรกายของฟาโรห์ จะต้องถูกสาป ใครทลายผนึกสุสานนี้จะต้องตายด้วยโรคภัยที่หาแพทย์วินิจฉัยมิได้" (Cursed be those who disturb the rest of a Pharaoh. They that shall break the seal of this tomb shall meet death by a disease that no doctor can diagnose)[5]

เรื่องเล่าสมัยใหม่[แก้]

อักษรไฮเออโรกลีฟอียิปต์มาถอดรหัสได้เอาเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฉะนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับคำสาปแต่ก่อนจึงเกี่ยวข้องกับการมีไว้ซึ่งมัมมี่หรือวัตถุจากสุสาน เช่น ใน ค.ศ. 1699 หลุยส์ เพนิชเชอร์ (Louis Penicher) บันทึกว่า นักเดินทางชาวโปแลนด์นำมัมมี่สองร่างออกจากอะเล็กซานเดรีย แล้วพาเดินทางไปด้วยเรือสินค้า แต่เห็นภาพหลอนเป็นวิญญาณสองตน ทั้งทะเลก็ปั่นป่วนหนัก จึงโยนมัมมี่ทั้งสองลงน้ำไป พลันพายุก็สงบ[2]

ส่วน ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) กล่าวว่า ตนจำได้ว่า ตอนเป็นนักโบราณคดีใหม่ ๆ ไปขุดสุสานที่ Kom Abu-Bellou แล้วขนย้ายโบราณวัตถุบางส่วนออกจากพื้นที่กรีกโรมัน วันนั้น ลูกพี่ลูกน้องเขาเสียชีวิต วันเดียวกันในอีกหนึ่งปีให้หลัง ลุงเขาเสียชีวิต ครั้นครบรอบวันนั้นสามปี ป้าของเขาเสียชีวิต หลายปีต่อมา เขาไปขุดสุสานของผู้ก่อสร้างพิรามิดกีซา เขาจึงพบเจอกับจารึกคำสาปว่า "คนทั้งปวงที่เข้ามาในสุสานนี้ ซึ่งจะประทุษร้ายสุสานนี้และทำลายสุสาน ขอให้ถูกจระเข้รังควานในน้ำ และถูกงูรังควานบนบก ขอให้ถูกช้างน้ำรังควานในน้ำ และถูกแมงป่องรังควานบนบก" (All people who enter this tomb who will make evil against this tomb and destroy it may the crocodile be against them in water, and snakes against them on land. May the hippopotamus be against them in water, the scorpion against them on land.)[5] ฮาวาสส์จึงตัดสินใจไม่รบกวนสุสาน แม้ไม่ได้เชื่อผีสางนางไม้ก็ตาม แต่ภายหลังเขาต้องข้องเกี่ยวกับการขนย้ายมัมมี่เด็กสองร่างออกจากโอเอซิสบาฮาริยา (Bahariya Oasis) และมีรายงานว่า เขาถูกผีเด็กสองตนตามหลอกหลอนในฝัน เขาฝันร้ายเช่นนี้ตลอดมาจนกระทั่งมีการนำร่างบิดามาไว้กับร่างเด็กทั้งสองนั้นในพิพิธภัณฑ์[5] ฮาวาสส์ยังบันทึกว่า เขาพบกับเด็กชายคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบอียิปต์โบราณ แต่เจ็บป่วย วันหนึ่ง เด็กคนนั้นไปพบพระศพของฟาโรห์อาโมสที่ 1 (Ahmose I) แล้วจ้องเข้าไปในดวงพระเนตร ปรากฏว่า หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง[6]

แนวคิดเรื่องมัมมี่คืนชีพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในตำนานคำสาปหลายแขนงนั้น พัฒนาขึ้นเพราะหนังสือเรื่อง เดอะมัมมี!: ออร์อะเทลออฟเดอะทเวนตีเซกันด์เซนจูรี (The Mummy!: Or a Tale of the Twenty-Second Century) ของ เจน ซี. เลาดอน (Jane C. Loudon) เมื่อ ค.ศ. 1827 ซึ่งผสมผสานบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์เข้ากับนิยายสยองขวัญ นอกจากนี้ ถือกันว่า หลุยซา เมย์ แอลคอตต์ (Louisa May Alcott) เป็นคนแรกที่เขียนเรื่องคำสาปมัมมีเต็มรูปแบบ ดังที่ปรากฏในนิยายของเธอเรื่อง ลอสต์อินอะพิรามิด ออร์เดอะมัมมีส์เคิร์ส (Lost in a Pyramid, or The Mummy's Curse) เมื่อ ค.ศ. 1869[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Mummy's Curse: Mummymania in the English-speaking World, Jasmine Day, Routledge, 2006
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 J. Paterson-Andrews, C. Andrews, p. 190.
  3. The Boy Behind the Mask, Charlotte Booth (quoting Donald B. Redford), p. xvi, Oneword, 2007, ISBN 978-1-85168-544-8
  4. 4.0 4.1 Ancient Egypt, David P. Silverman, p. 146, Oxford University Press US, 2003, ISBN 0-19-521952-X
  5. 5.0 5.1 5.2 Valley of the Golden Mummies, Zahi A. Hawass, p. 94–97, American University Press in Cairo Press, 2000, ISBN 977-424-585-7
  6. "A born archeologist", Zahi Hawass, Al-Ahram Weekly, February 2004. Retrieved 15 July 2009. Archived.
  7. Consuming Ancient Egypt, Sally MacDonald, Michael Rice, p. 26, University College, London. Institute of Archaeology, Routledge Cavendish, 2003, ISBN 1-84472-003-9

บรรณานุกรม[แก้]