ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (อังกฤษ: learned helplessness) เป็นศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยา เป็นภาวะของมนุษย์หรือสัตว์ที่เรียนรู้ที่จะประพฤติตนอย่างสิ้นหวัง แม้จะมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอันตรายได้ ทฤษฎีความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้มีมุมมองว่าโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตประสาทที่เกี่ยวข้องเป็นผลมาจากการไม่มีความสามารถควบคุมผลลัพธ์ของสถานการณ์[1] ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่แยแสและไม่อาจกำหนดผลแห่งพฤติกรรมของตนให้เป็นไปอย่างที่ควรเป็นได้ [2]

คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะเห็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ว่าเป็นสิ่งถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องส่วนตน เป็นความผิดของตนเอง และไม่มีทางเยียวยาแก้ไข คนเหล่านี้ย่อมตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้และภาวะซึมเศร้าได้ง่าย[3]

การทดลอง[แก้]

ในการทดลองเกี่ยวกับความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ สัตว์จะถูกทำร้ายด้วยสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งสัตว์ไม่อาจหลบหลีกได้ ในที่สุดสัตว์จะหยุดการดิ้นรนที่จะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดและสิ้นหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ในขั้นต่อมาแม้จะมีโอกาสที่จะหลบหลีกได้ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ทำให้สัตว์นั้นมิได้พยายามที่จะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นและยอมฝืนทนรับต่อสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์

Martin Seligman และ Steve Maier เป็นผู้บุกเบิกทฤษฎีและทำการทดลองเกี่ยวกับความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ในสุนัข อย่างไรก็ดีจากการทดลองกับสุนัขราว 150 ตัวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 พบว่ามีสุนัขราวหนึ่งในสามที่ไม่สิ้นหวัง ซึ่งอาจเทียบได้กับพฤติกรรมมองโลกในแง่ดีของมนุษย์

อย่างไรก็ดีความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ในมนุษย์และสัตว์มีข้อแตกต่างกันหลายประการ หนึ่งในข้อแตกต่างที่โดดเด่นมากคือมนุษย์สามารถเรียนรู้ความสิ้นหวังได้จากการรับรู้ว่าผู้อื่นเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Seligman, M. E. P. (1975). Helplessness: On Depression, Development, and Death. San Francisco: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-2328-X.
  2. Carlson, Neil R. (2010). Psychology the science of behaviour. Pearson Canada. p. 409. ISBN 9780205699186.
  3. Peterson, C.; Maier, S. F.; Seligman, M. E. P. (1995). Learned Helplessness: A Theory for the Age of Personal Control. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-504467-3.
  4. Bandura A. (1986). Social foundations of thought and action: A social cognitive theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall. ISBN 013815614X