ข้อมูล (คอมพิวเตอร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อมูล คือลำดับของสัญลักษณ์ใด ๆ ที่มีความหมายโดยการปฏิบัติการเฉพาะเพื่อตีความ ข้อมูลดิจิทัลคือปริมาณ อักขระ หรือสัญลักษณ์ในการดำเนินการอันกระทำโดยคอมพิวเตอร์ เก็บและบันทึกลงในสื่อแม่เหล็ก เชิงแสง หรือเชิงกลเป็นต้น และส่งผ่านในรูปแบบสัญญาณไฟฟ้า[1] โปรแกรมคือกลุ่มข้อมูลที่ประกอบด้วยอนุกรมของชุดคำสั่งซอฟต์แวร์ที่ลงรหัสไว้ สำหรับควบคุมการดำเนินการของคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรอื่น [2] องค์ประกอบของหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ทางกายภาพ ประกอบด้วยเลขที่อยู่และหน่วยเก็บข้อมูลไบต์หรือเวิร์ด ข้อมูลดิจิทัลมักจะถูกเก็บในฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ เช่นตารางหรือฐานข้อมูลเอสคิวแอล และโดยทั่วไปสามารถแทนด้วยข้อมูลคู่กุญแจ-ค่าแบบนามธรรม ข้อมูลสามารถถูกจัดการให้เป็นโครงสร้างข้อมูลได้หลายชนิด อาทิ แถวลำดับ กราฟ วัตถุ ฯลฯ และโครงสร้างข้อมูลสามารถเก็บข้อมูลได้หลายประเภท เช่น จำนวนตัวเลข สายอักขระ หรือแม้แต่โครงสร้างข้อมูลอื่น ข้อมูลถูกส่งผ่านเข้าและออกคอมพิวเตอร์ผ่านทางอุปกรณ์รอบข้าง

ในการใช้คำอีกทางหนึ่ง ไฟล์ฐานสอง (ซึ่งมนุษย์อ่านไม่ได้) บางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ข้อมูล" เพื่อให้แตกต่างจาก "ข้อความ" ที่มนุษย์อ่านได้ [3] มีการประมาณการไว้ว่า ปริมาณของข้อมูลดิจิทัลใน พ.ศ. 2550 มีทั้งหมด 281 เอกซะไบต์ (2.81 แสนล้านจิกะไบต์)

ลักษณะเฉพาะ[แก้]

สิ่งสำคัญของข้อมูลคือ ข้อมูลอันหนึ่งคือค่าที่เก็บอยู่ที่ตำแหน่งเฉพาะแห่งหนึ่ง

โดยพื้นฐานแล้ว คอมพิวเตอร์จะปฏิบัติการตามลำดับของชุดคำสั่งที่กำหนดไว้ในรูปแบบของข้อมูล กลุ่มของชุดคำสั่งที่ทำงานตามที่กำหนดเรียกว่า "โปรแกรม" หากพิจารณาตามที่เรียก โปรแกรมที่ถูกเรียกใช้โดยคอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยรหัสเครื่องฐานสอง องค์ประกอบของหน่วยเก็บที่จัดดำเนินการโดยโปรแกรมก็เป็นข้อมูลเช่นกัน (ไม่คำนึงถึงส่วนที่ดำเนินการจริงโดยซีพียู) บทสรุปที่น่าพิศวงก็คือ ทั้งชุดคำสั่งของโปรแกรมและข้อมูลที่โปรแกรมจัดการ ต่างก็ถูกเก็บบันทึกด้วยวิธีเดียวกัน ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็อาจทำงานบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่นได้ โดยจัดดำเนินการบนข้อมูลเชิงโปรแกรมของมัน

เส้นแบ่งระหว่างโปรแกรมกับข้อมูลนั้นก็อาจคลุมเครือ ยกตัวอย่างอินเทอร์พรีเตอร์เป็นโปรแกรมหนึ่ง ข้อมูลที่ป้อนเข้าอินเทอร์พรีเตอร์ก็เป็นโปรแกรมโดยตัวมันเอง เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาเครื่องเพื่อให้เครื่องทำงานได้ ในหลาย ๆ กรณี โปรแกรมที่ป้อนเข้าอินเทอร์พรีเตอร์นั้นจะเป็นไฟล์ข้อความที่มนุษย์สามารถอ่านได้ ซึ่งจัดดำเนินการโดยโปรแกรมแก้ไขข้อความ (อันเกี่ยวข้องกับข้อมูลข้อความล้วนมากกว่า) เมทาโปรแกรมมิงก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับโปรแกรมที่จัดดำเนินการโปรแกรมอื่นเป็นข้อมูล โปรแกรมอย่างเช่นคอมไพเลอร์ ลิงเกอร์ ดีบักเกอร์ ตัวอัปเดตโปรแกรม โปรแกรมสแกนไวรัส ฯลฯ ก็ใช้โปรแกรมอื่นเป็นข้อมูลเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "data". Oxford Dictionaries. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ 2012-10-11.
  2. "computer program". The Oxford Pocket Dictionary of Current English. สืบค้นเมื่อ 2012-10-11.
  3. "file(1)". OpenBSD Manual Pages. 2004-12-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-19.