การเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเมือง (จาก กรีกโบราณ πολιτικά (politiká)หมายถึง "งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน") คือชุดของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินตกลงใจในกลุ่มสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจในหมู่กลุ่มปัจเจก เช่น การจัดสรรทรัพยากรหรือสถานะ แขนงวิชาในสังคมศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองและรัฐบาลจะหมายถึงวิชารัฐศาสตร์

การเมืองอาจถูกใช้ในทางบวกในบริบทของ "ทางออกทางการเมือง" ซึ่งหมายถึงการประนีประนอมและโดยสันติวิธี[1] หรือในฐานะ "ศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ของการปกครอง" แต่บางครั้งมักมีความหมายเชิงลบแฝงอยู่ด้วย[2] มีการจำกัดความมโนทัศน์อยู่หลากหลายแบบ และแนวทางการศึกษาที่ไม่เหมือนกันทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันบนพื้นฐานว่าการเมืองควรที่จะนำมาใช้อย่างกว้างขวางหรือถูกจำกัดไว้ ควรจะเป็นการศึกษารัฐศาสตร์เชิงประจักษ์หรือเชิงปทัสถาน และในการศึกษารัฐศาสตร์อะไรมีความสำคัญมากกว่ากันระหว่างความขัดแย้งหรือความร่วมมือ

มีกระบวนวิธีหลากหลายที่ใช้ในการเมือง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมมุมมองทางการเมืองของตนในหมู่ผู้คน, การเจรจากับตัวแสดงทางการเมืองอื่น, การออกกฎหมาย และการใช้กำลังทั้งภายนอกและภายนอก รวมถึงการสงครามกับคู่ปรปักษ์[3][4][5][6][7] การเมืองถูกนำมาใช้ในระดับทางสังคมที่กว้าง ตั้งแต่กลุ่มเครือญาติ (clan) และเผ่าชน (tribe) ในสังคมแบบดั้งเดิม รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น บรรษัท และสถาบันสมัยใหม่ ไปจนถึงรัฐเอกราชและในระดับระหว่างประเทศ

ในรัฐชาติสมัยใหม่ ผู้คนมักก่อร่างพรรคการเมืองเพื่อแสดงอุดมการณ์ของตน สมาชิกพรรคมักเห็นพ้องให้มีจุดยืนเดียวกันในประเด็นปัญหาต่าง ๆ และยินยอมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและผู้นำในทิศทางเดียวกัน การเลือกตั้งมักเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง

ระบบการเมืองเป็นกรอบซึ่งจำกัดวิธีทางการเมือง (political method) ที่ยอมรับได้ในสังคม ประวัติศาสตร์ปรัชญาทางการเมืองสามารถย้อนรอยได้จนถึงสมัยโบราณช่วงแรกเริ่ม ด้วยผลงานอันเป็นต้นแบบในการศึกษารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน เช่นอุตมรัฐ ของเพลโต, โพลิติกส์ ของอาริสโตเติล, งานต้นฉบับตัวเขียนทางรัฐศาสตร์ของขงจื๊อและอรรถศาสตร์ ของจาณักยะ[8]

ที่มาของคำ[แก้]

คำว่าการเมืองในภาษาอังกฤษ politics มีรากศัพท์มาจากผลงานคลาสสิกของอาริสโตเติล "โพลิติกส์" ซึ่งเกิดเป็นศัพท์ใหม่ในภาษากรีก "politiká" (Πολιτικά, 'งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน') ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 งานเขียนของอาริสโตเติลที่นำมาตีพิมพ์ใหม่จะใช้ภาษาอังกฤษสมัยใหม่ตอนต้นว่า "Polettiques"[9] ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า Politics ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่

นิยาม[แก้]

แนวคิด[แก้]

มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกัน หากมิได้กำหนดกติกาอะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์แล้วนั้น มนุษย์ด้วยกันเองยังเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ป่าเถื่อน ขลาดกลัวและไม่เป็นระเบียบดังที่ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1588-1679 ได้เคยกล่าวไว้ในผลงานปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อเรื่อง “Leviathan” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1651 ว่า เมื่อมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กติกาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องกำหนดตัวผู้นำมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้สังคมหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เช่นที่กล่าวมาเราคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าเหตุใดจึงเกิดมีระบบการปกครองขึ้น และโดยนัยที่มนุษย์จำต้องปกครองกันนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือการจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป หลีกเลี่ยงมิได้เสียที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมือง อันมีความหมายและบริบทที่สะท้อนออกมาในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน การเมืองการปกครองซึ่งเป็นสภาพการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์[16] จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองการปกครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (Developmental Program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นเรื่องภาคราชการทั้งหลายต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคมไทย และหากได้มองย้อนไปถึงแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น อริสโตเติล (Aristotle) ปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์” ผู้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมืองต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน อันแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก หากแต่มนุษย์ นอกจากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังมีเป้าหมายอยู่ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมิใช่มีชีวิตอยู่ไปเพียงวันๆหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อจะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย เราก็จะมองเห็นภาพของการเมืองในแง่หนึ่งว่าการเมืองนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในชุมชนหรือสังคมเพื่อให้มีความสงบสุข

อ้างอิง[แก้]

  1. Leftwich 2015, p. 68.
  2. Hague & Harrop 2013, p. 1.
  3. Hammarlund 1985, p. 8.
  4. Brady 2017, p. 47.
  5. Hawkesworth & Kogan 2013, p. 299.
  6. Taylor 2012, p. 130.
  7. Blanton & Kegley 2016, p. 199.
  8. Kabashima & White III 1986
  9. Buhler, C. F., ed. 1961 [1941]. The Dictes and Sayings of the Philosophers. London: Early English Text Society, Original Series No. 211 เก็บถาวร 5 กันยายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  10. Lasswell 1963.
  11. Easton 1981.
  12. Lenin 1965.
  13. Reichstag speech by Bismarck, January 29, 1886, in: Bismarck, The Collected Works. Friedrichsruher edition, vol. 13: Speeches. Edited by Wilhelm Schüßler, Berlin 1930, p. 177.
  14. Crick 1972.
  15. Leftwich 2004.
  16. Eulau 1963, p. 3.

รายการอ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]