การออกอากาศคู่ขนาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การออกอากาศคู่ขนาน (อังกฤษ: Simulcast ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง Simultaneous และ Broadcast) คือการแพร่สัญญาณออกอากาศรายการหรือกิจกรรมผ่านสื่อมวลชนมากกว่า 1 สื่อ หรือมากกว่า 1 ช่องทางบนสื่อเดียวกันในเวลาเดียวกัน (นั่นคือการออกอากาศพร้อมกันมากกว่า 1 ช่องทาง) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชมได้รับชมเนื้อหาเดียวกันได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น การออกอากาศคู่ขนานระหว่างวิทยุด้วยกันในคนละระบบ, กระจายเสียงทางวิทยุพร้อมกับการแพร่ภาพทางโทรทัศน์, การแพร่ภาพระบบแอนะล็อกพร้อมกับระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน การแพร่ภาพทางโทรทัศน์พร้อมกับการออกอากาศสดในเนื้อหาดังกล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการดึงสัญญาณภาพจากช่องอื่นมาออกอากาศก็ได้

การออกอากาศแบบคู่ขนานเริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ. 1925[1] แต่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1948 โดยตัวแทนสื่อมวลชนที่ WCAU-TV จากเมืองฟิลาเดลเฟีย[2]

การออกอากาศคู่ขนานในประเทศไทย[แก้]

ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 6 ช่อง ที่ออกอากาศอยู่ในระบบแอนะล็อก ได้ทดสอบสัญญาณการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล เพื่อเตรียมสำหรับการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทย โดยการออกอากาศเนื้อหาในช่องทีวีแอนะล็อกของตนเองบนทีวีดิจิทัล คู่ขนานไปกับการออกอากาศทีวีแอนะล็อกตามเดิม จากนั้น ทุกช่องก็ได้ออกอากาศคู่ขนานเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะยุติออกอากาศระบบอนาล็อก ยกเว้นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและผู้รับสัมปทานทีวีแอนะล็อกเป็นคนละนิติบุคคลกัน จนกระทั่งช่อง 3 นำความขึ้นร้องต่อศาลปกครอง และผลคือศาลปกครองได้ทำข้อตกลงให้ช่อง 3 แอนะล็อก ออกอากาศคู่ขนานในภาพความละเอียดสูงทางช่อง 33 ในระบบดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 จนถึง 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาของพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีสำคัญของประเทศไทย ที่มีการถ่ายทอดสด โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่จัดการเป็นหลัก โดยมีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 1 ใน 6 ช่อง เป็นแม่ข่าย และให้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลทุกช่องดึงสัญญาณไปออกอากาศคู่ขนาน รวมถึงการออกอากาศข่าวในพระราชสำนัก ซึ่งมีเพียงสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 6 ช่องที่ทำข่าว ทำให้สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องอื่น ๆ ต้องดึงสัญญาณจาก 6 ช่องนี้มาออกอากาศคู่ขนานแทน รวมถึงปัจจุบัน รายการข่าวทุกรายการของทุกช่องได้มีการถ่ายทอดสดทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และยังมีสถานีโทรทัศน์ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นมาออกอากาศ เช่น ทรูโฟร์ยู ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากช่องทีเอ็นเอ็น 16 มาออกอากาศคู่ขนานไปพร้อมกัน หรือ จีเอ็มเอ็ม 25 ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากช่องวัน 31 มาออกอากาศคู่ขนานในระยะแรก และดึงสัญญาณในบางข่าวสำคัญมาออกอากาศร่วมในปัจจุบัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Establishing and Operating a Dry Cleaning Business. United States. Bureau of Foreign and Domestic Commerce. Office of Industry and Commerce. 1925. p. 5.
  2. John Crosby, "Television Headache in Etymology," Oakland (CA) Tribune, 15 มิถุนายน 1948.