การชำระให้บริสุทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตามความเชื่อในศาสนาคริสต์ การชำระให้บริสุทธิ์[1] (อังกฤษ: sanctification) เป็นกระบวนที่พระเป็นเจ้าทรงช่วยมนุษย์ให้ได้รับความรอดและความบริสุทธิ์ในฝ่ายจิตวิญญาณ ผู้ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เรียกว่า "ผู้บริสุทธิ์" หรือ "ผู้ศักดิ์สิทธิ์"

ในศาสนาพุทธเรียกการชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสว่าว่า "วิสุทธิ" หรือ "ไตรสิกขา" ซึ่งเป็นหลักธรรมเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

ศาสนาพุทธ[แก้]

ในรถวินีตสูตร พระปุณณมันตานีบุตรกล่าวกับพระสารีบุตรว่าการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อบรรลุนิพพานเปรียบเหมือนการนั่งรถ 7 ผลัด นักปฏิบัติต้องประกอบด้วย วิสุทธิ 7 ประการ[2] ได้แก่

  1. ศีลวิสุทธิ
  2. จิตตวิสุทธิ
  3. ทิฏฐิวิสุทธิ
  4. กังขาวิตรณวิสุทธิ
  5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
  6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
  7. ญาณทัสสนวิสุทธิ

วิสุทธิแต่ละข้อเป็นปัจจัยส่งเสริมวิสุทธิในข้อต่อไปเป็นลำดับ จนถึงอนุปาทาปรินิพพาน

เมื่อสรุปวิสุทธิ 7 ลงในไตรสิกขา ศีลวิสุทธิคือศีล จิตตวิสุทธิคือสมาธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และญาณทัสสนวิสุทธิ คือปัญญา

ศาสนาคริสต์[แก้]

ในศาสนาคริสต์ ความบริสุทธิ์ หมายถึง ความดีพร้อม ปราศจากบาป ทั้งทางจิตวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย[3] ด้วยการประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างครบถ้วน[4] การละเมิดพระบัญญัติแม้เพียงข้อเดียวถือว่าเป็นบาป

คริสต์ศาสนิกชนถือว่ามนุษย์ไม่สามารถชำระตนเองให้บริสุทธิ์ได้ แต่ต้องอาศัยค่าไถ่ของพระคริสต์ และมนุษย์ร่วมรับผิดชอบการชำระนี้โดยการดำเนินชีวิตของตนให้บริสุทธิ์[5] คือ

  1. เชื่อฟังพระเป็นเจ้า และทำสิ่งที่พระองค์พอพระทัย
  2. อ่านคัมภีร์ไบเบิล อธิษฐาน ร่วมการนมัสการพระเจ้ากับพี่น้องคริสตชนและคริสตจักร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1 คร. 6:11
  2. รถวินีตสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ 12 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
  3. 1 ธส. 5:23
  4. 1 ยน. 3:4
  5. ศิลป์ชัย เชาวน์เจริญรัตน์, หลักความเชื่อคริสเตียนและศาสนศาสตร์ระบบ, กรุงเทพฯ : สถาบันคริสเตียนศึกษาและพัฒนาคริสตจักร, หน้า 150