กอริลลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กอริลลา[1]
กอริลลาตะวันตก
(Gorilla gorilla) และ กอริลลาตะวันออก
(Gorilla beringei)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Hominidae
วงศ์ย่อย: Homininae
เผ่า: Gorillini
สกุล: Gorilla
I. Geoffroy, 1852
ชนิดต้นแบบ
Troglodytes gorilla
Savage, 1847
ชนิด
ถิ่นกระจายพันธุ์ของกอริลลา (แบ่งตามชนิดย่อย)
ชื่อพ้อง
  • Pseudogorilla Elliot, 1913
บัวน้อย กอริลลาเพศเมียที่มีชื่อเสียงแห่งสวนสัตว์พาต้า

กอริลลา (อังกฤษ: Gorilla) เป็นเอปที่อยู่ในเผ่า Gorillini และสกุล Gorilla ในวงศ์ Hominidae นับเป็นไพรเมตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

กอริลลา จัดเป็นเอปจำพวกหนึ่งในบรรดาเอปทั้งหมดที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นเอปและไพรเมตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนกลางของทวีปแอฟริกา ทั้งที่เป็นที่ราบต่ำ และเป็นภูเขาสูงแถบเทือกเขาวีรูงกาที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง 2,200–4,300 เมตร (7,200–14,100 ฟุต) ในคองโก และรวันดา[2]

กอริลลา นับได้ว่าเป็นเอปที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดรองจากชิมแปนซีและโบโนโบ โดยมีดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ถึงร้อยละ 95–99

ประวัติการค้นพบ[แก้]

ก่อนปี ค.ศ. 1847 ชาวตะวันตกไม่รู้จักกอริลลาเลย เพราะคิดว่าเป็นเพียงสัตว์ในนิทานที่นักเดินเรือแห่งคาร์เทจ ชื่อ ฮานโน เคยบันทึกไว้เมื่อ 2,500 ปีก่อนว่า ได้พบเกาะที่มีคนป่าซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง แต่มีขนเต็มตามตัว และล่ามที่เดินทางไปด้วยเรียก "กอริลเล" (Gorillaé; กรีก: Γόριλλαι[3]) จึงได้จับมา 3 ตัว[4][5]

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1625 นักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อ แอนดริว บาเทลล์ ที่ไปสำรวจป่าในแองโกลา ได้รายงานการเห็นอสูรกายขนาดใหญ่ที่มีขนเต็มทั่วตัว ยกเว้นที่ใบหน้า กับมือ และสัตว์เหล่านี้ชอบนอนบนต้นไม้ โดยกินผลไม้เป็นอาหารหลัก

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1847 สาธุคุณ โทมัส ซาเวจ ซึ่งเป็นมิชชันนารีประจำที่ไลบีเรีย ในแอฟริกาตะวันตก ขณะเดินทางถึงกาบอง ได้ล้มป่วย จึงต้องเข้าพักที่บ้านสาธุคุณ เจ.ดับเบิลยู. วิลสัน เพื่อรักษาตัว และได้ส่งรายงานไปลงในนิตยสาร Boston Journal of Natural History ว่า เพื่อนคนหนึ่งได้นำกะโหลกของสัตว์คล้ายลิงมาให้ดู และบอกว่ามันเป็นสัตว์ดุร้าย แต่เมื่อซาเวจเพ่งดูกะโหลกอย่างพินิจพิเคราะห์ เขาลงความเห็นว่ามันมิใช่เอป แต่เป็นไพรเมตขนาดใหญ่ และแข็งแรงยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป

เนื่องด้วยสาธุคุณซาเวจเคยเรียนแพทย์ที่โรงเรียนทางการแพทย์เยล เมื่อสำเร็จเป็นแพทย์ในปี ค.ศ. 1833 ได้ตั้งใจจะอุทิศตัวเป็นมิชชันนารีในแอฟริกาตะวันตก เพราะผู้คนที่นั่นมีความต้องการแพทย์มาก ซาเวจเองเป็นนักสะสมกระดูกของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ครั้นเมื่อได้เห็นกะโหลกที่วิลสันนำมาให้ จึงส่งรายงานการพบสัตว์ชนิดใหม่ไปให้เพื่อนชื่อ เจฟฟรีย์ ไวแมน ที่สหรัฐอเมริกา กับริชาร์ด โอเวน แห่งราชบัณฑิตศัลยแพทย์ ที่ลอนดอนรู้ว่า ชาวพื้นเมืองได้พบสัตว์ชนิดใหม่ที่ชอบอาศัยอยู่ตามภูเขา นอนบนคบไม้ และไม่ชอบปรากฏตัวให้เห็นบ่อย อีกทั้งมีนิสัยดุร้าย กะโหลกที่ได้มานี้ เป็นฝีมือของนายพรานที่ฆ่ามัน

แต่การจะบอกชนิดของสัตว์ ซาเวจต้องดูกะโหลกของสัตว์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เพื่อความสมบูรณ์ในการจะเขียนรายงานวิจัยที่จะส่งไปลงตีพิมพ์ในวารสาร จึงติดต่อกับหัวหน้าชาวพื้นเมืองให้จัดหาสิ่งที่ต้องการมาให้ ในที่สุดก็ได้กะโหลกตัวผู้ 2 กะโหลก และกะโหลกตัวเมีย 2 กะโหลก รวมถึงกระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง และกระดูกแขน

แตกต่างระหว่างเพศของกะโหลกศีรษะ (ตัวผู้-ซ้าย, ตัวเมีย-ขวา)

การศึกษาเปรียบเทียบกระดูกอย่างละเอียดทำให้ไวแมน และซาเวจซึ่งมีประสบการณ์วิจัยชิมแปนซีมาก่อนรู้ว่า สัตว์ชนิดใหม่ชื่อ กอริลลา นี้มิใช่ชิมแปนซีขนาดใหญ่ รายงานการพบกอริลลาได้ปรากฏในวารสาร Boston Journal of Natural History ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 โดย ไวแมนได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gorilla troglodytes ในรายงานฉบับนั้น ซาเวจได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัย และที่อยู่อาศัยของกอริลลาด้วย ส่วนไวแมนได้วิเคราะห์ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกอริลลากับเอปชนิดอื่น ๆ

ในเบื้องต้น การค้นพบกอริลลาของไวแมนและซาเวจเป็นเรื่องน่าสนใจเฉพาะในวงการชีววิทยาเท่านั้น แต่อีก 10 ปีต่อมา ซากศพแห้งของตัวกอริลลาเริ่มปรากฏในยุโรป และสังคมเริ่มต้องการจะรู้เกี่ยวกับชีวิตของกอริลลานี้มากขึ้น ยิ่งเมื่อชาร์ลส์ ดาร์วิน ตีพิมพ์หนังสือชื่อ On the Origin of Species ในปี ค.ศ. 1859 คนทั่วไปก็เริ่มกระหายจะเห็นกอริลลาตัวเป็น ๆ มากขึ้น

แต่ก็ประสบปัญหาอีก เพราะกอริลลาไม่สามารถดำรงชีพในสวนสัตว์ได้ และมักล้มตายด้วยโรคหัวใจ สวนสัตว์แห่งลอนดอนจึงออกประกาศไม่ซื้อกอริลลาเป็น ๆ อีกเลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1932[6]

การจำแนก[แก้]

แผนภูมิแสดงการอนุกรมวิธานกอริลลากับเอปจำพวกอื่น

กอริลลา แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด 4 ชนิดย่อย ได้แก่

หมายเหตุ: เดิมกอริลลาเคยถูกให้มีเพียงชนิดเดียว คือ Gorilla gorilla และถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Pongidae อันเป็นวงศ์เดียวกับลิงอุรังอุตัง[8] โดยในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้นิยามว่า

กอริลลา น. ชื่อลิงไม่มีหางชนิด Gorilla gorilla ในวงศ์ Hominidae เป็นลิง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวสูงขนาดคนแต่ล่าสันและแข็งแรงกว่ามาก มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

[9]

ลักษณะและพฤติกรรม[แก้]

ลักษณะของตัวผู้ที่โตเต็มวัย ที่เป็นหลังเงิน

กอริลลา เป็นเอปที่อยู่เป็นสังคม คือ เป็นฝูง แต่ทั้งฝูงจะมีจ่าฝูงเป็นตัวผู้ที่โตเต็มที่เพียงตัวเดียว กอริลลาตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจมีความสูงกว่า 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) เมื่อยืนตรงด้วยสองขาหลัง ร่างกายเต็มเปี่ยมด้วยกล้ามเนื้อที่มีความบึกบึนแข็งแรงมากกว่ามนุษย์ถึง 6 เท่า กอริลลาเมื่อตกใจหรือต้องการขู่ผู้รุกรานจะลุกขึ้นด้วยสองขาหลัง และทุบหน้าอกรัว ๆ ด้วยสองแขน พร้อมกับคำรามก้อง จึงทำให้ดูเหมือนสัตว์ที่มีความดุร้ายยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว กอริลลาเป็นสัตว์ที่รักสงบ และขี้อาย ไม่เคยใช้พละกำลังหากไม่ถูกรบกวนก่อน

ฝูงกอริลลาจะประกอบด้วยตัวผู้จ่าฝูงเพียงตัวเดียว นอกนั้นเป็นตัวเมียและลูกเล็ก ๆ จำนวนหนึ่ง ลูกเล็กจะเกาะอยู่กับแม่เหมือนลิงหรือเอปทั่วไป กอริลลาเมื่อเดินจะใช้ทั้งแขนหน้าและขาหลัง นานครั้งจึงจะเดินด้วยสองขาหลัง เพราะแขนหรือขาหน้าทั้งสองข้างยาวและแข็งแรงกว่ามาก

สายตาของกอริลลานั้นจัดว่าดีมาก สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในระยะไกลได้ เมื่อมีอันตราย ทั้งฝูงจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าหาที่กำบังซึ่งเป็นหญ้ารกสูง หากไม่มีที่กำบัง ตัวผู้จ่าฝูงจะลุกขึ้นยืนทุบอกและคำรามเพื่อข่มขู่ศัตรู กอริลลามีทรงรูปหัวที่เหมือนกรวยสูงแหลม มีโหนกคิ้วที่หนาสูง รวมถึงมีเขี้ยวหน้าที่แหลมยาวแลดูน่ากลัว ทั้งที่เป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหารหลัก มีใบหน้าสีดำ มีขนสีดำหนา ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่หรือเข้าวัยแก่สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้มหรือสีเงิน จนได้ชื่อว่า "หลังเงิน" (Silverback) กอริลลาเป็นเอปที่หากินในเวลากลางวัน โดยจะไม่ขึ้นต้นไม้มากนัก เมื่อตกกลางคืน ตัวผู้จ่าฝูงจะนอนบนพื้นที่บริเวณโคนต้นไม้ ในขณะที่สมาชิกฝูงตัวอื่น ๆ จะนอนบนคบไม้ หรือโน้มกิ่งไม้มาขัดทำเป็นที่หลับนอน [10] และกอริลลาจะมีพฤติกรรมย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ เมื่อที่อยู่เดิมสกปรกไปด้วยมูลหรือเศษอาหารต่าง ๆ ที่กินเหลือ[11]

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการค้นพบว่ากอริลลาเองก็มีพฤติกรรมรักร่วมเพศด้วยเหมือนกับมนุษย์ โดยเป็นกอริลลาภูเขาตัวเมียในรวันดา จากการศึกษากอริลลาตัวเมีย 22 ตัว พบว่ามี 12 ตัวที่แสดงออกพฤติกรรมของความเป็นรักร่วมเพศ โดยเฉพาะการถูอวัยวะเพศ และการเกี้ยวพาราสีกัน อีกทั้งยังสังเกตได้จากกอริลลาตัวเมียจะไม่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว หรือแสดงอาการหวงอาหารกับกอริลลาตัวเมียตัวอื่น มีแต่การแสดงออกถึงอารมณ์ดึงดูดทางเพศที่ส่งถึงกันเท่านั้น โดยสามารถอธิบายได้ว่า กอริลลาตัวเมียจะเปลี่ยนความชอบทางเพศได้ดีกว่า และมีความยืดหยุ่นกับการแสดงออกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความชอบได้[12]

กอริลลาในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ด้วยลักษณะเด่นและอุปนิสัยที่ดุร้ายของกอริลลา ทำให้กอริลลาได้เป็นต้นแบบของคิงคอง

อ้างอิง[แก้]

  1. Groves, C. (2005-11-16). Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 181–182. ISBN 0-801-88221-4.
  2. Prince-Hughes, Dawn (1987). Songs of the Gorilla Nation. Harmony. p. 66. ISBN 1-4000-5058-8.
  3. Γόριλλαι, Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, on Perseus Digital Library
  4. Müller, C. (1855–61). Geographici Graeci Minores. pp. 1.1–14: text and trans. Ed, J. Blomqvist (1979).
  5. Periplus of Hanno, final paragraph เก็บถาวร 2017-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Shsu.edu. Retrieved on 2011-09-27.
  6. "Dian Fossey ความรักเธอเปลี่ยนโลกให้กอริลลาภูเขา". ผู้จัดการออนไลน์. 13 September 2013. สืบค้นเมื่อ 16 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  7. Groves, C. P. (2005). Wilson, D. E.; Reeder, D. M, eds. Mammal Species of the World (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press. pp. 181–182. OCLC 62265494. ISBN 0-801-88221-4.
  8. Haaramo, Mikko (2004-02-04). "Pongidae". Mikko's Phylogeny Archive.
  9. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์ อจท., 2539. 972 หน้า. หน้า 69. ISBN 974-8122-79-4
  10. หน้า 175-176, ลิงใหญ่. สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล (พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2518)
  11. "ข่าวฟ้ายามเย็น 07 10 57 เบรก 3". ฟ้าวันใหม่. 7 October 2014. สืบค้นเมื่อ 8 October 2014.
  12. "นักวิทย์ค้นพบ กอริลลาเลสเบี้ยนแห่งแรกของโลก อยู่ในรวันดา". topicza. 17 May 2016. สืบค้นเมื่อ 7 July 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Gorilla ที่วิกิสปีชีส์