กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ตราประจำทหารรักษาพระองค์กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ประเทศ ไทย
รูปแบบกรมทหารราบรักษาพระองค์
กองบัญชาการค่ายนวมินทราชินี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี 20000
สมญาทหารเสือนวมินทราชินี
สีหน่วยม่วง
เพลงหน่วยเรา-เหล่าราบ 21
อิสริยาภรณ์ เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร[1]
เหรียญกล้าหาญ (เฉพาะกองพันที่ 2)[2]
เพรสซิเดนเชิล ยูนิท ไซเทเชิน (เกาหลีใต้)[3]
เพรสซิเดนเชิล ยูนิท ไซเทเชิน (ทหารบก)(สหรัฐ)

กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มีชื่อเต็มว่า กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ร.21 รอ.) เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ เหล่าทหารราบ ขึ้นตรงต่อกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กองทัพภาคที่ 1 ได้รับพระราชทานสมญานามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า "ทหารเสือนวมินทราชินี" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ทหารเสือราชินี"[4]

ประวัติ[แก้]

กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2493 ตามคำขอขององค์การสหประชาชาติ ในการจัดตั้งกำลังเข้าช่วยเหลือรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อยับยั้งการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ โดยใช้นามหน่วยครั้งนั้นว่า “กรมผสมที่ 21” ต่อมาจึงแปรสภาพหน่วยมาเป็นชื่อในปัจจุบันเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ที่ตั้งหน่วยปัจจุบันอยู่ที่ค่ายนวมินทราชินี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่งองค์ผู้บังคับการพิเศษของกรมทหารนี้

วีรกรรมของหน่วย[แก้]

ธงประจำกรมทหารอาสาสมัคร"จงอางศึก"

การจัดกำลังหน่วย[แก้]

กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดแบ่งกำลังพลออกเป็น 3 กองพัน คือ

  • กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ร.21 พัน 1 รอ.)
  • กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ร.21 พัน 2 รอ.)
  • กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ร.21 พัน 3 รอ.)

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ประจำหน่วย[แก้]

  • หมวกยอดมีพู่สีดำ มีพระนามาภิไธยย่อ สก. ในพระมหาพิชัยมุงกุฎ รองรับด้วยแถบแพรสะบัด ๒ ชาย และบนแถบแพรสะบัด ๒ ชาย มีคำว่า "ทหารเสือนวมินทราชินี"
  • เสื้อสักหลาดสีม่วง แผงคอและข้อมือสักหลาดสีดำ มีลายกนกดิ้นทอง ที่ข้อมือปักพระนามาภิไธยย่อ สก. ดิ้นทอง
  • กางเกงสักหลาดสีดำ แถบสีม่วงข้างละ ๒ แถบ ขอบของแถบกำกับด้วยดิ้นสีทอง
  • เครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ สก. ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา[1] เก็บถาวร 2007-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • [2]

หลักสูตรทหารเสือ[แก้]

กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ได้รับอนุมัติจากกองทัพบกให้ดำเนินการฝึกหลักสูตรทหารเสือ เมื่อ พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ให้กำลังพลได้รับการฝึกพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจทุกรูปแบบ ทุกสภาพภูมิประเทศ

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึก[แก้]

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรทหารเสือ ต้องเป็นกำลังพลที่รับราชการอยู่ในหน่วยของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ หรือเป็นกำลังพลนอกหน่วยที่กองทัพบกอนุมัติให้เข้ารับการฝึก

ระยะเวลาการฝึก[แก้]

หลักสูตรทหารเสือจัดการฝึก 2 ปี ต่อ 1 รุ่น ใช้เวลาทั้งสิ้น 16 สัปดาห์ โดยแบ่งช่วงการฝึกไว้ดังนี้

  • การปรับสภาพร่างกายและจิตใจ เตรียมร่างกายให้พร้อมในการฝึกภาคต่อ ๆ ไป ระยะเวลา 4 สัปดาห์ (ผู้ที่ผ่านการฝึกในระยะนี้เท่านั้นที่จะสามารถรับการฝึกขั้นต่อไปได้)
  • การฝึกภาคป่า-ภูเขา ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในระยะนี้จะเน้นการฝึกการแทรกซึมทางอากาศด้วยอากาศยาน การฝึกการแทรกซึมทางพื้นดินเข้าปฏิบัติการต่อที่หมายในลักษณะหน่วยทหารขนาดเล็ก หรือชุดปฏิบัติการ การจัดตั้งและใช้กำลังกองโจร การพิสูจน์ทราบพื้นที่ป่า การฝึกขี่บังคับม้าและการบรรทุกต่าง ๆ ฝึกปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยองค์พระประมุข และการศึกษางานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ
  • การฝึกภาคทะเล ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เน้นการแทรกซึมทางน้ำ การดำน้ำทางยุทธวิธี การใช้เรือยาง การลาดตระเวนชายฝั่ง การยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การโดดร่มลงทะเล การดำรงชีพในทะเล และประเพณีชาวเรือ
  • การฝึกภาคปฏิบัติการในเมือง ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เน้นการปฏิบัติในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การชิงตัวประกัน การขับขี่จักรยานยนต์ทางยุทธวิธี
  • การฝึกภาคอากาศ ระยะเวลา 2 สัปดาห์ เป็นการฝึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในพื้นฐานของการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง การบังคับร่ม การพับร่ม และการแก้ไขเหตุติดขัด

เครื่องหมายเชิดชูเกียรติ[แก้]

เครื่องหมายเชิดชูเกียรติทหารเสือของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ผู้ที่สำเร็จการฝึกหลักสูตรทหารเสือทุกนาย จะได้รับพระราชทานเครื่องหมายแสดงขีดความสามารถทหารเสือ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเข็มดังกล่าวทำด้วยโลหะ เป็นรูปหัวใจสีม่วงประดับพระนามาภิไธยย่อ สก. เบื้องล่างมีแพรแถบสีฟ้าบรรจุข้อความว่า "ทหารเสือ" ด้านข้างมีรูปเสือทะยานอยู่เหนือภูเขา เกลียวคลื่น ก้อนเมฆ ขนาบข้างหัวใจสีม่วงทั้งสองด้าน

สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในเครื่องหมายเชิดชูเกียรติทหารเสือของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ มีความหมายดังนี้

  1. หัวใจสีม่วงประดับพระนามาภิไธยย่อ สก. หมายถึง ผู้บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต และจริงใจ ทั้งนี้เพราะผู้ที่ใกล้ตาย หัวใจจะกลายจากสีแดงเป็นสีม่วง ในห้วงเวลานั้น บุคคลผู้นั้นจะไม่พูดปดหรือปิดบังสิ่งใด ๆ
  2. เสือประคองหัวใจสีม่วง หมายถึง กำลังพลทหารเสือทุกนายเทิดทูนความซื่อสัตย์ สุจริต และจงรักภักดีแทบเบื้องพระยุคลบาท
  3. ภูเขา เกลียวคลื่น ก้อนเมฆ หมายถึง ทหารเสือทุกนายพร้อมจะดั้นด้นไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบนฟ้า พื้นดิน ภูเขา หรือในทะเล เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของชาติ และองค์พระมหากษัตริย์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-02-04.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-17. สืบค้นเมื่อ 2020-02-04.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-02-04.
  4. ""บิ๊กตู่"ร่วมงานวันสถาปนา"ทหารเสือราชินี"". โพสต์ทูเดย์. 21 August 2014. สืบค้นเมื่อ 21 August 2014.[ลิงก์เสีย]
  5. Ruth, Richard A (7 November 2017). "Why Thailand Takes Pride in the Vietnam War" (Editorial). New York Times. สืบค้นเมื่อ 15 August 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]