กบฏไอโอเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏไอโอเนีย
ส่วนหนึ่งของ สงครามกรีก-เปอร์เซีย

ตำแหน่งของไอโอเนียในเอเชียน้อย
วันที่499–493 ปีก่อนคริสตกาล
สถานที่
ผล จักรวรรดิอะคีเมนิดชนะอย่างเด็ดขาด
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
เปอร์เซียครอบครองไอโอเนียและไซปรัสอีกครั้ง
คู่สงคราม
ไอโอเนีย, อีโอลิส, ดอริส,
แคเรีย, เอเธนส์, อีรีเทรีย, ไซปรัส
จักรวรรดิอะคีเมนิด
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
อริสตาโกรัส
แคโรพินอส
เฮอร์โมแฟนทัส
ยูอัลซิดีส 
มีแลนทีอุส
ไดโอนีซีอุสแห่งโฟเคีย
ฮิสเทียส
เฮคาเทียสแห่งไมลีตัส
เมกาเบตีส
อาร์ตาเฟอร์เนส
ดอริเซส 
ไฮยามีส
โอตานีส
ดาติส

กบฏไอโอเนีย (อังกฤษ: Ionian Revolt) เกิดขึ้นระหว่างปีที่ 499–493 ก่อนคริสตกาล เป็นการกบฏในภูมิภาคไอโอเนียของเอเชียน้อยต่อการปกครองของจักรวรรดิอะคีเมนิด (เปอร์เซีย) จุดเริ่มต้นมาจากการแต่งตั้งทรราชขึ้นปกครองชาวกรีกของชาวเปอร์เซียและการปลุกปั่นจากอริสตาโกรัส ผู้ปกครองไมลีตัส หลังอริสตาโกรัสนำทัพร่วมกับเปอร์เซียบุกเกาะนักซอสแต่ล้มเหลว อริสตาโกรัสซึ่งกลัวว่าตนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ปกครองจึงปลุกปั่นให้ชาวกรีกในไอโอเนียก่อกบฏต่อจักรพรรดิดาไรอัสมหาราชแห่งเปอร์เซีย

ในปีที่ 498 ก่อนคริสตกาล กองทัพกบฏที่ได้กำลังสนับสนุนจากเอเธนส์และอีรีเทรียยึดและเผาเมืองซาร์ดิส ระหว่างยกทัพกลับ ฝ่ายกบฏได้ปะทะกับทัพเปอร์เซียที่ตามมาที่เอฟิซัส โดยฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ปีต่อมา ฝ่ายเปอร์เซียทำสงครามเพื่อยึดดินแดนคืน แต่การกบฏแผ่ไปในแคเรีย ดอริเซส แม่ทัพชาวเปอร์เซียจึงยกทัพไปที่นั่น ถึงแม้ปฏิบัติการช่วงแรกจะประสบความสำเร็จ แต่ความพ่ายแพ้ในยุทธการที่เพดาซัสและการสูญเสียแม่ทัพดอริเซสของฝ่ายเปอร์เซีย ทำให้สถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง

ในปีที่ 494 ก่อนคริสตกาล ทัพบกและทัพเรือเปอร์เซียตัดสินใจบุกไมลีตัส เมืองใจกลางของกลุ่มกบฏและได้รับชัยชนะในยุทธการที่ลาเด การแปรพักตร์ของซามอสทำให้ไมลีตัสถูกยึด ชัยชนะทั้งสองครั้งของเปอร์เซียทำให้การกบฏสิ้นสุดลง เมืองแคเรียยอมแพ้ต่อฝ่ายเปอร์เซีย ปีต่อมา ฝ่ายเปอร์เซียยกทัพไปจัดการเมืองต่าง ๆ ที่ยังแข็งข้อและทำสนธิสัญญาสันติภาพกับไอโอเนีย

การกบฏไอโอเนียถือเป็นความขัดแย้งครั้งแรกระหว่างกรีซและเปอร์เซียและเป็นช่วงแรกของสงครามกรีก-เปอร์เซีย ถึงแม้จะได้เอเชียน้อยกลับมาอยู่ใต้อำนาจ แต่จักรพรรดิดาไรอัสต้องการลงโทษเอเธนส์และอีรีเทรียที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ นอกจากนี้พระองค์ยังมองว่านครรัฐกรีกต่าง ๆ ยังคงเป็นภัยต่อจักรวรรดิ ดังนั้นในปีที่ 492 ก่อนคริสตกาล จักรพรรดิดาไรอัสจึงสั่งบุกกรีซอีกครั้งเพื่อหวังจะยึดนครรัฐกรีกทั้งหมด[1][2]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]