ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วังสระปทุม"

พิกัด: 13°44′53″N 100°31′56″E / 13.748191°N 100.532230°E / 13.748191; 100.532230
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Thyj (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 41: บรรทัด 41:


== ที่ตั้งและอาคาร ==
== ที่ตั้งและอาคาร ==
วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณ[[เขตปทุมวัน]] [[กรุงเทพมหานคร]] โดยอาณาเขตทางด้าน[[ทิศเหนือ]]ติด[[คลองแสนแสบ]] [[ทิศตะวันออก]]ติดคลองอรชรริม[[วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร]] ทิศใต้ติด[[ถนนพระรามที่ 1]] และทิศตะวันตกติด[[ถนนพญาไท]] ปัจจุบัน พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของ[[สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี]] ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าสร้างศูนย์การค้าและ[[ห้างสรรพสินค้า]]กลุ่มวันสยาม ได้แก่ [[สยามดิสคัฟเวอรี]] [[สยามเซ็นเตอร์]] และ[[สยามพารากอน]] ซึ่งทั้งสามห้างนี้ดำเนินงานโดย [[สยามพิวรรธน์|บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด]] และอยู่ด้านหน้าวังสระปทุม ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับ[[สยามสแควร์]]
วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณ[[ย่านสยาม]] [[เขตปทุมวัน]] [[กรุงเทพมหานคร]] โดยอาณาเขตทางด้าน[[ทิศเหนือ]]ติด[[คลองแสนแสบ]] [[ทิศตะวันออก]]ติดคลองอรชรริม[[วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร]] ทิศใต้ติด[[ถนนพระรามที่ 1]] และทิศตะวันตกติด[[ถนนพญาไท]] ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ของวังออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนแรก เป็นพื้นที่ประทับของ[[สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี]] ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าสร้างศูนย์การค้าและ[[ห้างสรรพสินค้า]]กลุ่ม[[วันสยาม]] ได้แก่ [[สยามดิสคัฟเวอรี]] [[สยามเซ็นเตอร์]] และ[[สยามพารากอน]] ซึ่งทั้งสามห้างนี้ดำเนินงานโดย [[สยามพิวรรธน์|บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด]] ตั้งอยู่ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับ[[สยามสแควร์]]


สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของ[[สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี]]นั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ดังนี้
สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของ[[สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี]]นั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ดังนี้

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:03, 28 กุมภาพันธ์ 2564

วังสระปทุม
ไฟล์:พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม.jpg
พระตำหนักใหญ่ ภายในวังสระปทุม
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวัง
เมืองแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน, กรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2459
ผู้สร้างสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

วังสระปทุม ตั้งอยู่บริเวณถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในพระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้มีการสร้างวังขึ้น ณ ขณะนั้น เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มสร้างพระตำหนักขึ้น ณ วังสระปทุม และเสด็จประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และครอบครัว ปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน

นอกจากนี้ วังสระปทุมยังใช้เป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้ง ยังเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอีกด้วย

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวังพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา[1]

หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นบริเวณปทุมวันถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนักเพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี[2] ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังสระปทุมเป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2498

บริเวณโดยรอบวังในสมัยนั้นเดิมเป็นที่สวน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน เป็นต้น โดยทรงนำผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้นั้นสำหรับตั้งโต๊ะเสวย รวมทั้งพระราชทานผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้นไปยังวังเจ้านายต่าง ๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ได้นำออกจำหน่ายได้รายได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินหลายร้อยบาท โดยส่วนหนึ่งพระองค์ทรงใช้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพารและทะนุบำรุงวังสระปทุม

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน[3]

ที่ตั้งและอาคาร

วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ของวังออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนแรก เป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ากลุ่มวันสยาม ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ซึ่งทั้งสามห้างนี้ดำเนินงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ตั้งอยู่ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับสยามสแควร์

สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ดังนี้

พระตำหนักใหญ่

พระตำหนักใหญ่เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก โดยมีลักษณะเด่นอยู่ที่ฝาผนังใกล้เพดานชั้นบนซึ่งเป็นปูนปั้นรูปดอกไม้[4] พระตำหนักใหญ่ตั้งอยู่เกือบกลางของวังสระปทุม สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักองค์นี้ทั้งเรื่องทิศทางการวางตำแหน่งของอาคาร และห้องต่าง ๆ โดยพระองค์เอง ทรงใช้ก้านไม้ขีด หางพลูเรียงเป็นรูปร่างห้อง และให้หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล เขียนร่างเอาไว้ และส่งให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์[2] พระตำหนักใหญ่นี้จึงได้รับแสงแดดและมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ห้องทุกห้องได้รับลมเสมอกัน หลังจากสร้างพระตำหนักเสร็จแล้วสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ตลอดพระชนมายุ

พระตำหนักเขียว

พระตำหนักเขียวเป็นพระตำหนักแรกที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459[4] พระองค์จึงได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ พระตำหนักเขียวตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นพระตำหนักก่ออิฐถือปูน ทาสีเขียว เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระมเหสีและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์

พระตำหนักใหม่ หรือ พระตำหนักสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระตำหนักใหม่

หลังจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร ดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย ชาววังเรียกพระตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักใหม่"[5][4] ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472 และใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตราบจนพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2538

เรือนข้าราชบริพาร

การก่อสร้างเรือนสำหรับเป็นที่พักของข้าราชบริพารนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกสร้างขึ้นพร้อมกับพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ทาสีเขียว บริเวณขอบเชิงชายและช่องลมเป็นไม้ฉลุลาย เรือนที่สร้างในสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณท้ายวัง และริมสระด้านทิศะวันออกของพระตำหนักใหญ่ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นเรือนก่ออิฐ 2 ชั้น สร้างขึ้นพร้อมการสร้างพระตำหนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์[4]

สถาปัตยกรรม

ด้านสถาปัตยกรรม มีการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดย เปาโล ปิอาชินี สถาปนิกชาวอิตาเลียน ที่เน้นโครงสร้างหลักของอาคารให้เป็นรูปทรงแบบยุโรป ตกแต่งอาคารด้วยการทาสีสว่างซึ่งจะไม่ทำให้ตัวอาคารอมความร้อนเอาไว้[6] ภายในวังสระปทุมประกอบด้วยพระตำหนักทั้งหมด 3 แห่ง และเรือนข้าราชบริพารอีก 1 แห่ง

พระตำหนักใหญ่

ด้านรูปลักษณ์การตกแต่งทางสถาปัตยกรรมของพระตำหนักองค์นี้ถูกออกแบบให้เน้นประโยชน์ใช้สอยตามการใช้งานถึงแม้รูปแบบบ้านจะเป็นสไตล์ฝรั่ง แต่การใช้งานทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การรับลม การป้องกันแดดนั้นได้รับการคิดและออกแบบมาให้เข้ากับประเทศไทยได้อย่างลงตัว ภายในห้องเทาหรือห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชชนก ถูกนำมาจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ของเดิม โดยได้มีการทาสีใหม่ นอกจากนี้ยังมีเครื่องพระสำอางเป็นเครื่องแก้วเจียระไน อีกทั้งยังมีห้องสรง ที่ใช้กระเบื้องจากยุโรป เป็นสีขาว สีแดง และสีเขียว พระตำหนักใหญ่ถูกออกแบบและวางแผนการตกแต่งโดยโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยทรงใช้หางพลูและก้านไม้ขีดไฟจัดวางตามพระราชประสงค์ในการใช้สอย และเพื่อให้ถูกต้องตามทิศทางลมพัดผ่าน

พระตำหนักเขียว

ลักษณะอาคารเป็นบ้านชั้นเดียวหรือบ้านชั้นครึ่งโดยออกแบบให้พื้นที่ว่างใต้โครงหลังคาเป็นห้อง ซึ่งเข้าใจว่าทำไว้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ใช้สำหรับประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ ทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์บ้านชนบทยุโรป ลักษณะสำคัญของพระตำหนักเขียวนั้นคือ มีชานพระตำหนักยื่นลงไปริมน้ำด้านคลองแสนแสบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่วังสระปทุม

พระตำหนักใหม่

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย

การรักษาความปลอดภัย

วังสระปทุมเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการถวายอารักขาโดยอยู่ในความดูแลของ กรมวังประจำที่ประทับ วังสระปทุม ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สำนักพระราชวัง และกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมถวายอารักขาตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การบัญชาจากผู้ดูแลวังสระปทุม (คุณชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์)

เหตุการณ์สำคัญ

พิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์

พิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) และคุณสังวาลย์ ตะละภัฏ (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้น ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานและพระราชทานน้ำสังข์[7] นอกจากนี้ ยังมีการจดทะเบียนเป็นหลักฐานตามแบบแผนของทางการราชสำนักด้วย

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในรัชกาลที่ 9

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศขณะนั้น) กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรลงนามในทะเบียนนั้น พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินี"[8]

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

หลังจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จประทับ ณ วังสระปทุมแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชดำริว่าวังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และชาติ สมควรที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[9] สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ขึ้นภายในวังสระปทุมเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างถูกต้องและครบถ้วน[3] โดยทรงใช้พระตำหนักใหญ่ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์[10] การเข้าชมต้องโทรมาจองล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

  1. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 67
  2. 2.0 2.1 สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 94
  3. 3.0 3.1 ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 166
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525), หน้า 434
  5. เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์, หน้า 79
  6. "เปิดตำนาน วังสระปทุม พระตำหนักแห่งรักของพ่อหลวงและแม่แห่งแผ่นดิน". kapook. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, หน้า 12
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช ๒๔๙๓, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๓ง, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑๖๙๐
  9. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 165
  10. สิริธร, Diary 2549/2006 สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม, พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, พ.ศ. 2548

หนังสือ

  • แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
  • สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, พ.ศ 2528
  • มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5, ISBN 974-94727-9-9
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์. กรุงเทพ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549. 450 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7047-55-1

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′53″N 100°31′56″E / 13.748191°N 100.532230°E / 13.748191; 100.532230