ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Mr.BuriramCN (คุย | ส่วนร่วม)
Potapt (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 115: บรรทัด 115:
[[หมวดหมู่:พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร]]
[[หมวดหมู่:พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร]]
[[หมวดหมู่:วัดในเขตบางกอกใหญ่]]
[[หมวดหมู่:วัดในเขตบางกอกใหญ่]]
[[หมวดหมู่:โบราณสถานในกรุงเทพมหานคร]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 20:07, 26 สิงหาคม 2563

วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร
พระอุโบสถของวัดราชสิทธาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพลับ
ที่ตั้งซอยอิสรภาพ 23 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธจุฬารักษ์
เจ้าอาวาสพระราชวิสุทธิโสภณ (ไชยวัฒน์ ชยวฑฺโฒ)
เว็บไซต์http://www.somdechsuk.org/
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดราชสิทธาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร[1] เดิมเรียกว่า วัดพลับ ตั้งอยู่ริมคลองวัดราชสิทธารามและคลองวัดสังข์กระจาย ซอยอิสรภาพ 23 (วัดราชสิทธาราม) ถนนอิสรภาพ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600[2]

พื้นที่

วัดราชสิทธารามมีเนื้อที่ 75 ไร่ ด้านตะวันออกยาว 7 เส้น ติดกับคลองวัด ด้านตะวันตกยาว 6 เส้นเศษ ด้านเหนือยาว 7 เส้น ด้านใต้ยาว 7 เส้น[2]

ประวัติ

วัดพลับ เป็นวัดอรัญญวาสี (วัดป่า) เก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ติดกับวัดพลับ แล้วโปรดให้รวมเป็นวัดเดียวกัน[3] เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระญาณสังวรเถร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ทรงเคารพเลื่อมใส[4] และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์มาศึกษากรรมฐานกับพระญาณสังวรเถร ทำให้วัดราชสิทธารามเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาแต่ครั้งนั้น[5] แม้ต่อมาพระญาณสังวรเถรจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช ย้ายไปประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ศิษย์ของพระองค์ยังคงสืบทอดกรรมฐานต่อมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้บูรณะและสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม เช่น พระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และตำหนักเก๋งจีน เนื่องจากเคยมาประทับจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เมื่อทรงผนวช เป็นเวลา ๑ พรรษา และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชสิทธารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2374 โดยเฉพาะพระเจดีย์นั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณะและพระราชทานนามว่า พระสิริจุมภฏะเจดีย์[6]

ลำดับเจ้าอาวาส

ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดราชสิทธารามมีเจ้าอาวาสตามลำดับ ดังนี้[7]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พ.ศ. 2365
2 พระพรหมมุนี (ชิต) พ.ศ. 2365 พ.ศ. 2368
3 พระเทพโมลี (กลิ่น) พ.ศ. 2368 พ.ศ. 2369
4 พระปิฎกโกศลเถร (แก้ว) พ.ศ. 2370 พ.ศ. 237?
5 พระญาณสังวร (ด้วง) พ.ศ. 2368 พ.ศ. 2379
6 พระญาณโกศลเถร (รุ่ง) พ.ศ. 2386 พ.ศ. 2395
7 พระญาณสังวร (บุญ) พ.ศ. 2395 พ.ศ. 2397
8 พระโยคาภิรัตเถร (มี) พ.ศ. 2397 พ.ศ. 2402
9 พระอมรเมธาจารย์ (ทัด) พ.ศ. 2402 พ.ศ. 2403
10 พระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ) พ.ศ. 2403 พ.ศ. 2429
11 พระสุธรรมธีรคุณ (เกิด) พ.ศ. 2429 พ.ศ. 2429
12 พระอมรเมธาจารย์ (เกษ) พ.ศ. 2429 พ.ศ. 2429
13 พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2470
14 พระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) พ.ศ. 2430 พ.ศ. 2456
15 พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) พ.ศ. 2457 พ.ศ. 2466
16 พระสังวรานุวงศ์เถร (สอน) พ.ศ. 2475 พ.ศ. 2500
17 พระราชวิสุทธิญาณ (อยู่) พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2512
18 พระราชสังวรวิสุทธิ์ (บุญเลิศ โฆสโก) พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2525
19 พระธรรมรัตนวิสุทธิ์ (พลายงาม จนฺทสุวณฺโณ) พ.ศ. 2525 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
20 พระราชวิสุทธิโสภณ (ไชยวัฒน์ ชยวฑฺโฒ) พ.ศ. 2561
20 มกราคม พ.ศ. 2561
ปัจจุบัน

ศิลปะและสถาปัตยกรรม

  1. พระอุโบสถ มีกุฏิวิปัสสนาขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 24 หลัง ( ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป และแท่นนั่งวิปัสสนาสำหรับพระภิกษุ กุฏิหน้าด้านซ้ายของพระอุโบสถ ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)) พื้นที่รอบๆ ปูด้วยหินอ่อนสีเทาขาวขัดเงา มีตุ๊กตาพระจีน ทหารม้าจีนโบราณ กิเลน ตั้งเรียงรายรอบ ลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงโรง มีเสาพาไลล้อมรอบ หลังคาลดสองชั้น หน้าบันแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถมีภาพเขียน กระบวนพยุหยาตราสถลมารค มีรถม้าแบบตะวันตก พระพุทธจุฬารักษ์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย มีเรื่องเล่าขานว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงปั้นพระเศียรพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัสรัชกาลที่ ๓ ทรงปั้นองค์พระ หน้าองค์พระประธานประดิษฐานรูปหล่อพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระอานนท์ ผนังในพระอุโบสถด้านซ้ายของพระประธานมีภาพเขียนสีพุทธประวัติ (มี 6 ช่อง จากด้านในได้แก่ 1. ทูลเชิญพระโพธิสัตว์ 2. สี่เทวทูต การสละอันยิ่งใหญ่และออกมหาภิเนษกรมณ์ 3. ตัดเมาลีและพระอินทร์ทรงพิณทิพย์สามสาย 4. ตรัสรู้ 5. พระบิดาส่งทูตมาทูลเชิญและแสดงปาฏิหารย์ทรมานพระประยูรญาติ 6. โปรดพระพุทธมารดา ปรินิพพานและถวายพระเพลิง) ด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ เทวดาอาราธนาแสดงธรรมและถวายพระเพลิงพระพุทธบิดา ด้านหน้าเหนือภาพพุทธประวัติคั่นด้วยตัวมกรคายนาค (ตัวสำรอก) เป็นภาพเขียนเรื่องมารผจญ พระแม่ธรณีบีบมวยผม หากสังเกตใต้ตัวมกร[8] (ยักษ์คายนาค) จะเห็นร่องรอยของประตูบานกลางที่ถูกอุดไป เพื่อวาดภาพจิตรกรรมเพิ่ม เป็นเรื่องราวพระอุปคุตปราบมาร ซึ่งของเดิมได้ลบเลือนไปเกือบหมด เหลือเพียงภาพพญามารเหาะไปยังวิมานเทวดาเท่านั้น ด้านขวาเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก (มี 6 ช่อง จากด้านในได้แก่ 1. กัณฑ์ทศพรและทานกัณฑ์ 2. กัณฑ์วนปเวสน์ 3. กัณฑ์มหาพน 4. กัณฑ์มัทรีและกัณฑ์สักกบรรพ 5. กัณฑ์มหาราช 6. กัณฑ์ฉกษัตริย์) ส่วนผนังด้านหลังเป็นไตรภูมิโลกสัณฐาน (สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก) มีภาพลงทัณฑ์ต่างๆ ในนรกภูมิ เหนือหน้าต่างทั้งสองข้างเขียนเทพชุมนุม บานหน้าต่างบานประตูด้านใน เขียนทวารบาล เพดาน วาดดาวเพดานขนาดเล็ก คล้ายตาข่าย จิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธาราม กำลังประสบปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงต่อภาพ คือ ปัญหาความชื้นในดิน ที่ค่อยๆ ไล่ขึ้นมาตามผนัง เมื่อไปถึงจุดไหน ภาพก็จะเปื่อยยุ่ย พอง และหลุดลอกออกมา ทำให้จิตรกรรมฝาผนังระหว่างหน้าต่าง ที่วาดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เหลือเพียงหนึ่งในสาม หรือ ครึ่งหนึ่ง ของผนังเท่านั้น ต่อมา ได้มีการบูรณะภาพจิตรกรรมใหม่ ด้วยการ เขียนเติมในส่วนที่หายไป ภาพจิตรกรรมวัดนี้จึงมี ๒ สมัย แต่ก็สามารถแยกภาพจิตรกรรมเก่า และใหม่ได้ โดยจิตรกรรมเก่าจะอยู่ในส่วนบนเหนือครึ่งผนังระหว่างหน้าต่างขึ้นไป และสังเกตได้จากความสว่างของสี
  2. พระศิราสนเจดีย์ และพระศิรจุมภฏเจดีย์ เป็นเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถ ทรงลังกา ลักษณะพิเศษคือ มีสร้อย สังวาลย์ ประดับอยู่บนเจดีย์ เรียกเจดีย์ลักษณะนี้ว่า เจดีย์ทรงเครื่อง
  3. ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ หน้าบันตกแต่งด้วยลายดอกไม้อย่างเทศ
  4. พระวิหาร มี ๒ หลัง หลังแรก เดิมสร้างพร้อมกับพระอุโบสถ ที่ผนังทาสีแดงทาสีแดง จึงเรียก พระวิหารแดง ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่แล้ว ส่วนพระวิหารอีกหลังหนึ่ง เป็นพระวิหารพระพุทธเมตตาจำลอง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
  5. พระตำหนักจันทร์และพระตำหนักเก๋ง[9] เคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ รัชกาลที่ 4 ครั้งสมัยเสด็จมาประทับเจริญวิปัสสนา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างพระตำหนักจันทร์ พระราชทานให้รัชกาลที่ ๓ ประทับเมื่อทรงผนวช เป็นพระตำหนักเล็กขนาด ๒ ห้อง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้จันทร์ทั้งหมด ติดช่อฟ้า ใบระกา ประดับกระจกสวยงาม ต่อมารัชกาลที่ ๓ ทรงย้ายไปปลูกเคียงพระตำหนักเก๋งจีนและเปลี่ยนเครื่องไม้ที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เช่น ไม้เต็งรัง ไม้สัก ทำให้เหลือส่วนที่เป็นไม้จันทร์อยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น
  6. พิพิธภัณฑ์กรรมฐาน คณะ ๕ มีพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) และวิธีนั่งกรรมฐานตามแบบฉบับวัดราชสิทธาราม

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม 2458, หน้า 290
  2. 2.0 2.1 ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร, หน้า 1
  3. "ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร". วัดราชสิทธาราม. 30 มกราคม 2554. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร, หน้า 2
  5. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร, หน้า 3
  6. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร, หน้า 6
  7. "ทำเนียบอดีตเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม". วัดราชสิทธาราม. 30 มกราคม 2554. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. วัดราชสิทธาราม...จิตรกรรมงามย่านฝั่งธนฯ.Bright - J   .https://pantip.com/topic/35794083
  9. วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร, ธรรมะไทย. http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchasittharam.php
บรรณานุกรม
  • พระมหาสมคิด สุรเตโช. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ : ธรรมเมธี-สหายพัฒนาการพิมพ์, 2548.