ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Suwarode (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
Suwarode (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
บรรทัด 205: บรรทัด 205:
==== เครี่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ====
==== เครี่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ====
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้รับพระราชทาน[[เครื่องราชอิสริยาภรณ์]] ดังต่อไปนี้<ref name="หนังสือ1"/>
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้รับพระราชทาน[[เครื่องราชอิสริยาภรณ์]] ดังต่อไปนี้<ref name="หนังสือ1"/>
{{ม.จ.ก.ฝ่ายใน|2468}}<ref>ราชกิจจานุเบกษา,[http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/3670_1.PDF พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน] หน้า ๓๖๗๐ เล่ม ๔๒, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘</ref>
{{ม.จ.ก.ฝ่ายใน|}}
{{น.ร.ฝ่ายใน|}}
{{น.ร.ฝ่ายใน|}}
{{ป.จ.ฝ่ายใน|}}
{{ป.จ.ฝ่ายใน|}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:59, 11 กรกฎาคม 2563

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระอัครมเหสี
พระบรมราชินี
ดำรงพระยศ25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478
สถาปนา25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469
ก่อนหน้าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
ถัดไปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระวรราชชายา
ดำรงพระยศ26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469
ก่อนหน้าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระราชสมภพ20 ธันวาคม พ.ศ. 2447
กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม
สวรรคต22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (79 พรรษา)
วังศุโขทัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
พระราชมารดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

พันเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระนามเดิม หม่อมเจ้ารำไพพรรณี (20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 — 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) เป็นพระอัครมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2478 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

ในอดีตกล่าวกันว่าพระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉมสามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม[1] ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว[1]

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระบรมราชินีในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมือง รวมทั้งต่างประเทศเพื่อเป็นการเชื่อมพระราชไมตรีระหว่างประเทศ ภายหลังการนิวัติประเทศไทยหลังการสวรรคตของพระราชสวามีแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลายหลายครั้ง เมื่อเสด็จย้ายไปประทับ ณ จังหวัดจันทบุรี ทรงดำเนินกิจการในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และทรงพัฒนาการทอเสื่อ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีส่วนในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาของชาวจันทบุรี โดยรับเป็นพระราชภาระในการปรับปรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รวมทั้งทรงตั้งมูลนิธิพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนกิจการต่างๆ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน

พระราชประวัติ

ขณะยังทรงพระเยาว์

ขณะยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)[2] ส่วนพระมารดาคือหม่อมเจ้าอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์[2] (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ภายหลังหม่อมเจ้าอาภาพรรณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี[3]

พระองค์มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ บ้างสะกดว่า รำไภพรรณี[4] ชาววังเรียกขานพระนามพระองค์ว่า ท่านหญิงนา ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ ได้เล่าถึงที่มาของพระนามนี้ว่า[5]

...เพื่อนเล่นที่ข้าพเจ้ารักมากที่สุดเป็นหญิง และแก่กว่าข้าพเจ้าราวสามปี เป็นหม่อมเจ้าธิดาของเสด็จปู่สวัสดิ์ ทรงนามว่า รำไพพรรณี และเรียกกันในเวลานั้นว่า ท่านหญิงนา หม่อมเจ้าหญิงนั้นโดยมากจะเรียกกันว่า ท่านหญิงใหญ่ ท่านหญิงเล็ก ท่านหญิงน้อย ดังนี้เป็นต้น การถูกเรียกว่าท่านหญิงนานั้น ผู้อ่านบางคนอาจจะเห็นว่าแปลก เรื่องราวเป็นเช่นนี้ เมื่อเล็ก ๆ อยู่เป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จึงถูกล้อว่าเป็นเต่า สำหรับไทยเราการถูกเรียกว่าเต่าเมื่อเล็ก ๆ ไม่เป็นของเสียหาย แม้ทูลหม่อมลุงก็เคยถูกสมเด็จย่าเรียกว่าเต่า อย่างไรก็ดี เมื่อท่านหญิงนายังเล็ก ๆ อยู่ ได้ถูกถามว่า “อยากเป็นอะไร อยากเป็นเต่าทองหรือเต่านา” ท่านหญิงองค์เล็กได้ยิ้มและตอบว่า "อยากเป็นเต่านา" และก็เลยกลายเป็นท่านหญิงนาตั้งแต่นั่นมา...

เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ 2 ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามราชประเพณีของเจ้านายสมัยก่อนที่ถวายตัวเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่มีพระชันษายังน้อย ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต ในเวลานี้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีกำลังทรงศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นอยู่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีชันษาได้ 6 ปี ได้ทรงย้ายสถานที่พักจากพระราชวังดุสิต ไปพระบรมมหาราชวังตามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปด้วย และได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนราชินีพร้อมหม่อมเจ้าพระองค์อื่น ๆ หลังจากเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังพญาไท ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่และได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้เป็นการถาวรจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งหม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ตามเสด็จมาด้วยโดยประทับอยู่บนพระตำหนักฝ่ายในติดกับห้องเสวย

เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีมีชันษาได้ 8 ปีเศษ และได้ผ่านพระราชพิธีเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว ก็ได้ทรงรู้จักกับ ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษแล้ว สาเหตุก็อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระชนนีเป็นครั้งคราว และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจะเป็นผู้ที่สนิทกันมากที่สุดด้วย

อภิเษกสมรส

วันอภิเษกสมรส
พระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี

เมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน[6] การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์[7] รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย[8][9]

ส่วนวังศุโขทัยนั้น ได้สร้างขึ้นก่อนที่ทั้ง 2 พระองค์จะทรงเสกสมรสกัน โดยเป็นเรือนหอที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้างให้บริเวณคลองสามเสน และพระราชทานนาม "วังศุโขไทย"[10] ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ขึ้นเป็น หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ได้เลื่อนยศขึ้นเป็น "พระวรราชชายา" มีพระนามว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[11][12] ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[13]

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศทางทวีปยุโรป และได้ทรงรับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ

การสละพระราชบัลลังก์ของพระราชสวามี

พระองค์และพระราชสวามีในอิริยาบถสบาย

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับ ณ วังไกลกังวล เพื่อให้พ้นจากสองฝ่ายทั้งสองฝ่ายจึงเสด็จฯ โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายใช้เวลากว่าสองวัน จึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเล่าความในพระราชหฤทัยครั้งนั้นว่า[14]

ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน

ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (นับศักราชตามเดิม) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สู่ทวีปยุโรป[15] แต่ก็ยังมีการขัดแย้งเจรจาเกี่ยวกับการเมืองกับทางกรุงเทพมหานครสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด ก็มีการขัดแย้งกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล เช่นในเรื่องที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สองและรัฐบาลไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ตรงกับพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแสดงความไม่เห็นพ้องกับคณะผู้บริหารประเทศด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า[16]

เห็นพ้องต้องกันกับพระราชสวามีในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชย์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศที่จะทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท ทรงจัดสวน เลี้ยงนกเลี้ยงปลา เสด็จประพาสทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่าง ๆ เป็นต้น

ในช่วงที่ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการภายในเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งต้องทรงสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินียังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไปดังเดิม ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว เพราะการคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศยังไม่มีความปลอดภัยในช่วงสงคราม และเมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยอพยพกลับประเทศไทยหลังการประกาศสงคราม แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่พำนักอยู่ในต่างประเทศได้ประกาศตัวเป็นเสรีไทย ทำงานประสานกับเสรีไทยในกรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลอังกฤษยังคงให้เกียรติพระองค์มาตลอด แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษได้สั่งห้ามมิให้ชาติศัตรูใช้รถยนต์ ยกเว้นแต่กรณีพิเศษซึ่งพระองค์ก็ได้สิทธิพิเศษนั้น และคอยจัดน้ำมันเบนซินซึ่งหายากในช่วงนั้นมาให้พระองค์ใช้อยู่เป็นประจำ[17]

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แม้จะมิได้มีพระนามร่วมในคณะเสรีไทยอย่างเป็นทางราชการ แต่ก็ได้พระราชทานพระกรุณาอุดหนุนจุนเจือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษมาตลอด ซึ่งในขณะนั้นมีเสรีไทยทั้งหมดเพียง 36 คนในประเทศอังกฤษ

เสด็จกลับประเทศไทย

พระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทยพร้อมพระบรมอัฐิของพระสวามี

ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรแก่พระบรมราชอิสริยยศ ในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระราชฐานะของพระองค์เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยนั้น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการพระราชวัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช เทวกุล ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า[18]

...สมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ในงานพิธีราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ จริงอยู่ทุกประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทยด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลฐานะของพระราชินีย่อมเปลี่ยนไป เช่น พระราชินีแมรี่และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติแล้วและการแต่งตั้งพระราชินีรำไพพรรณีไม่มีการเพิกถอน ท่านก็น่าจะคงเป็นพระราชินีตามเดิม แต่ไม่ใช่พระราชินีซึ่งพระราชสวามีทรงราชย์ Queen Consort เปลี่ยนเป็นพระราชินีวิธวา Queen Dowager ฉะนั้น น่าจะขนานพระนามถวายโดยอนุโลมพระสวามีว่า สมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลที่ ๗...

แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังพระตำหนัก วังศุโขทัยซึ่งเคยเป็นที่ประทับ ได้กลับกลายเป็นของกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว พระองค์จึงทรงต้องเสด็จไปประทับในตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือวังสระปทุมแทน เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปอยู่ร่วมกับพระองค์ โดยทรงไปประทับอยู่ที่วังสระปทุมนานถึง 3 ปี จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัยอีกครั้ง

หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแบ่งเบาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยในขณะนั้นเหล่าพระโอรสและพระธิดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์[19]

สวรรคต

พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา[20] และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย[21] รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี โดยอัญเชิญพระบรมศพถวายพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป[22] นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานที่ราชการต่าง ๆ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันด้วย[23]

สำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพออกแบบโดยนายประเวศ ลิมปรังษี โดยใช้พระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมาเป็นแนวทางในการออกแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่งฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”[24]

พระเมรุมาศเป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ ตามคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ[25]

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หลังจากนั้น จึงมีการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์ซ้าย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[26]

พระจริยวัตร

พระองค์ขณะฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก

พระองค์ทรงเป็นสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงาม พระจริยวัตรอันนุ่มนวล มีพระพักตร์แจ่มใส และแย้มพระสรวลอยู่เสมอ แลดูเอิบอิ่มเต็มไปด้วยพระกรุณา[1] นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักจากการแต่งพระองค์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในเรื่องดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้นิพนธ์ลงในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ เล่ม 2 ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ยุโรป หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความว่า[1]

"สมเด็จ [สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี] นั้นดูจะงามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนอีก แต่งพระองค์อย่างสตรีชาวยุโรปโดยทรงเลือกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้หญิงไทยน้อยคนจะทำได้ดีเท่า "แน่ละท่านมีเงินมากจะซื้ออะไรก็ได้" แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย การแต่งตัวสวยนั้นไม่อยู่แต่ที่เงินถึงมีมากเท่าใด ถ้าไม่มีความสามารถในทางเลือกแล้ว ก็แต่งกายเคอะอยู่ดี ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นผู้หญิงไทยที่เมืองนอกที่งามเท่าหรือแต่งกายเก๋และสวยเท่าสมเด็จรำไพพรรณี"

เช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ซึ่งเคยพบกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาแล้ว แม้ว่าจะมีพระชนมายุสูง แต่ก็ยังคงสวยสดงดงาม มีพระพักตร์แจ่มใส พระฉวีขาวอมชมพู ความว่า[27]

"...สมเด็จฯ คงมีพระชันษาประมาณ 45 ปี แต่ยังคงทรงงดงาม แจ่มใส พระฉวีขาวผ่องอมชมพู และพระพักตร์อ่อนหวานยิ่ง"

แต่เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ต้องตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องที่สำคัญก็ทรงเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระภาติยะ กล่าวถึงเหตุการณ์ในการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตอนหนึ่งว่า[28]

...ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จ [สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี] และหญิงอาภา [พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี] ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูง ที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้นเพราะเราทุก ๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯ ต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้นฉันก็เห็นด้วยทันที...

พระราชกรณียกิจ

ขณะเสด็จเยือนจักรวรรดิญี่ปุ่น พ.ศ. 2474
ขณะตามเสด็จพระราชสวามีไปประกอบพระราชกรณียกิจในเยอรมนี ปี พ.ศ. 2477

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างกับพระราชสวามีเรื่อยมา ทั้งพระราชกิจภายในพระนคร การเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

หลังเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้เป็นอันมาก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในขณะนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก พระองค์ทรงเลือกที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่มีธรรมชาติงดงาม และมีความเงียบสงบต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ และระยะทางก็อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองจนเกินไปนัก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงกู้เงินจากธนาคารไปจัดซื้อที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองบ้านแก้วจากเจ้าของที่ดินเดิม รวมเนื้อที่ประมาณ 687 ไร่ พระราชทานนามว่า "สวนบ้านแก้ว" และยังโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารทำการปรับที่ดินพร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ต่อมาจึงมีการสร้างพระตำหนักหลังอื่น ๆ ต่อมา[19]

ด้านเกษตร

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีมีพระราชประสงค์ที่จะให้วังสวนบ้านแก้วนี้ดำเนินกิจการในด้านการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ผลนานาชนิด ทั้งที่เป็นพืชไม้ผลในท้องถิ่นและพืชและไม้ผลจากที่อื่น ตลอดจนมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อที่จะให้เป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่าหากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็จะทรงนำเอาความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน ทรงพัฒนาการทอเสื่อ[19] โดยมีนักวิชาการเกษตรจากสถานีทดลองเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่เป็นข้าราชบริพารเก่ามาช่วยเหลือแนะนำทางด้านวิชาการ และเมื่อโครงการนี้ประสบผลไปด้วยดี พระองค์จึงทรงนำโครงการนี้ไปเผยแพร่แก่ประชาชน ปรากฏว่าโครงการนี้เป็นไปได้ด้วยดีด้วย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเปิดโรงงานทอเสื่อ สิ่งของขึ้นชื่อของเมืองจันทบุรี

ด้านสาธารณสุข

เมื่อพระองค์เสด็จไปประทับยังจังหวัดจันทบุรี แล้วทรงตระหนักว่าการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนนั้นยังไม่เพียงพอ เป็นการสมควรที่จะจัดสร้างตึกและจัดหาเครื่องมือสำหรับการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น พระองค์มีพระราชดำริว่าควรสร้างตึกผ่าตัดพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นมาก่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องเดินทางไปรักษายังพระนครอันมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ พระองค์ทรงรับเป็นพระราชภาระในการจัดหาทุนเพื่อสร้างตึกผ่าตัด โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในเบื้องต้นและแจ้งพระราชประสงค์ไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนด้วย พระองค์พระราชทานนามตึกนี้ว่า "ตึกประชาธิปก" เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ทราบถึงพระราชประสงค์จึงมีมติเสนองบประมาณปรับปรุงโรงพยาบาลจันทบุรีให้ใหญ่และทันสมัยขึ้นพร้อมเปลี่ยนนามโรงพยาบาลใหม่ว่าโรงพยาบาลประชาธิปก[29]

ด้านการศึกษา

พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์สินและพระราชทรัพย์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,715,041.68 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้ง "มูลนิธิประชาธิปก" (ต่อมาคือ มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในการก่อสร้าง จัดซื้ออุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถาบันดังกล่าว และเพื่อให้เงินสมทบ "ทุนประชาธิปกบรมราชานุสรณ์" และช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นต้น[29][30]

ในปี พ.ศ. 2511 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงตัดสินพระราชหฤทัยขายวังสวนบ้านแก้วให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากทางกระทรวงต้องการที่ดินสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูจันทบุรี (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี) จึงทรงตัดสินพระทัยขายให้ในราคาถูก ดังนั้นพระองค์จึงต้องเสด็จกลับมาประทับอยู่ในวังศุโขทัยตามเดิม แม้กระนั้นก็มิได้ทรงละทิ้งกิจการทอเสื่อและผลิตสินค้าจากเสื่อ โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินกิจการเช่นเคยแต่ในปริมาณงานที่ลดลง และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักน้ำในวังศุโขทัยที่อยู่ติดริมคลองสามเสนเป็นสถานที่ทอเสื่อและผลิตสินค้าที่ทำจากเสื่อ ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของพระองค์เอง

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
สมเด็จพระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

พระอิสริยยศ

  • หม่อมเจ้ารำไพพรรณี (20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 – 16 เมษายน พ.ศ. 2458)
  • หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (16 เมษายน พ.ศ. 2458 – 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461)
  • หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
  • หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
  • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478)
    • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527)

เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2468 นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานให้แก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกอบด้วย[31]

  • พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา
  • กาน้ำทองคำลงยา
  • ขันน้ำพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำลงยา
  • หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก)ทองคำลงยา
  • ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมคลุมปัก
  • พระฉาย (กระจกส่องหน้า) ทองคำลงยา
  • พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือน พระสางเสนียด และพระกรัณฑ์ทองคำลงยา สำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
  • ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค พร้อมผ้าซับพระพักตร์จีบริ้วพาดที่ราว 2 ผืน

เครี่องราชอิสริยาภรณ์

เครี่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังต่อไปนี้[31]

เครี่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังทรงได้รับเครี่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

พระยศทางทหาร

  • พันเอกหญิง - ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 4[36] และผู้บังคับการพิเศษกองพันทหารราบที่1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[37]

การเทิดพระเกียรติ

พระราชินยานุสรณ์

พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีตั้งอยู่ที่พระตำหนักสวนบ้านแก้วอนุสรณ์สถาน ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มีขนาดครึ่งเท่าพระองค์จริง โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ตามหนังสือ ที่ นร.0207/17124 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โดยผู้ออกแบบคือนายสาโรจน์ จารักษ์และผู้หล่อคือ พท.นภดล สุวรรณสมบัติ[38]

ที่ระลึก

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 100 ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอบภาพด้านล่างมีคำว่า "๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ CENTENARY OF H.M. QUEEN RAMBHAI BARNI OF THE SEVENTHREIGN" ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547[39]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 8
  2. 2.0 2.1 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 1
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรม ตั้งพระองค์เจ้าและเจ้าพระยา, เล่ม ๔๖, ตอน ๐ ก, ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๑๗๔
  4. พฤทธิสาณ ชุมพล, รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ (กรกฎาคม 2559). รายงานการวิจัย การสังเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (PDF). พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า. p. 3.
  5. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จาก เว็บไซต์รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ
  6. พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา จาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  7. สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  8. สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  9. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 7-8
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๒๔๗
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘, เล่ม ๔๒, ตอนพิเศษ ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๐
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๓๕๕
  13. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 15
  14. พระองค์ฯ ทรงเล่า...เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติ
  15. รัชกาลที่ 7 เสด็จฯยุโรป พ.ศ. 2476 – 2477(5) : เพื่อตัดสินพระทัยว่าจะสละราชสมบัติหรือไม่
  16. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 93
  17. ฉัตรสุดา. "วันอันเดียวดายในต่างแดน". สกุลไทย. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 116
  19. 19.0 19.1 19.2 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 7
  20. ทรงพระประชวร จาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  21. สมภพ ภิรมย์, ศาสตราจารย์ น.อ.. พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์. 2528, หน้า 113
  22. วันแห่งความโศกสลดอันใหญ่หลวงจาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา เนื่องในการที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ สวรรคต, เล่ม ๑๐๑, ตอน ๖๗ ง ฉบับพิเศษ, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๓
  24. พระราชดำรัส เรื่อง พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน รัชกาลที่๗ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘, จาก KingSiam.com, วันที่ 8 มีนาคม 2556
  25. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, จาก อาร์ตบางกอก, วันที่ 8 มีนาคม 2556
  26. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๔/๒๕๒๘ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๔๓ ง ฉบับพิเศษ, ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
  27. หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี. เขียนถึงสมเด็จ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:เลมอนที. 2547, หน้า 75
  28. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 68
  29. 29.0 29.1 หนังสือ ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า. บริษัทจามจุรีโปรดักท์ 26. 2555. ISBN 978-616-11-1165-6. {{cite book}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |coauthors= (help)
  30. "มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี". วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528
  32. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน หน้า ๓๖๗๐ เล่ม ๔๒, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  34. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 69, ตอน 77 ง, 30 ธันวาคม พ.ศ. 2495, หน้า 4804
  35. รายพระนามและรายนามผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2514 จากเว็บไซต์ thaiscouts
  36. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 46: หน้า 237. 21 เมษายน 2472.
  37. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49: หน้า 2351. 2 ตุลาคม 2475.
  38. ข้อมูลอนุสาวรีย์
  39. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗, เล่ม ๑๒๒, ตอน ๑๒ ง, ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑๒

บรรณานุกรม

  • พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528

แหล่งข้อมูลอื่น


ก่อนหน้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถัดไป
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระวรราชชายา

พระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม
(26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2477)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง