ผลต่างระหว่างรุ่นของ "จอห์น วิลเลียมส์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
บรรทัด 766: บรรทัด 766:
|}
|}


=อ้างอิง=
==อ้างอิง==
{{รายการอ้างอิง}}
{{รายการอ้างอิง}}



รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:20, 8 มิถุนายน 2563

จอห์น วิลเลี่ยมส์
ข้อมูลพื้นฐาน
แนวเพลงดนตรีประกอบภาพยนตร์, ดนตรีคลาสสิค, แจส
อาชีพนักแต่งเพลง ผู้อำนวยเพลง นักดนตรี นักเปียโน
เครื่องดนตรีวงออร์เคสตร้า เปียโน
คู่สมรสBarbara Ruick (1956-1974) Samantha Winslow (1980-ปัจจุบัน)

จอห์น วิลเลี่ยมส์ (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 - ) นักแต่งเพลง นักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ ผู้อำนวยเพลง และนักเปียโนชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงอยู่ในแวดวงดนตรีมามากกว่า 6 ทศวรรษ โดยเป็นผู้แต่งและอำนวยเพลงประกอบภาพยนตร์จำนวนมากที่เป็นที่จดจำ ทั้งภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส (Star Wars), ซูเปอร์แมน (Superman), แฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter), จูราสสิค พาร์ค (Jurassic Park), จอว์ส (Jaws, ), อี.ที. เพื่อนรัก (E.T. the Extra-Terrestrial), ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า (Raiders of the Lost Ark) รวมถึงภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)

วิลเลี่ยมส์กลายมาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องจอว์ส ในปี ค.ศ.1975 และโด่งดังเป็นพลุแตกกับผลงานดนตรีประกอบในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส ในปี ค.ศ.1977 และตามมาด้วยอีกหลากหลายผลงานที่เป็นที่น่าจดจำ

ผลงานของวิลเลี่ยมส์ โดยมากจะเป็นดนตรีสำหรับใช้ออร์เคสตร้าวงใหญ่บรรเลง เขามักจะประพันธ์เพลงธีมที่มีความโดดเด่น สอดคล้องและเหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ และด้วยความโดดเด่นของเพลงธีมในภาพยนตร์แต่ละเรื่องนี้เอง จึงเป็นที่จดจำต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก และทำให้วิลเลี่ยมส์เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงด้วยผลงานอันโดดเด่นของเขา

วิลเลี่ยมส์กลายมาเป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบต่อสาธารณชน ด้วยผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีคุณภาพโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ วิลเลี่ยมส์ยังเป็นวาทยกรที่เป็นที่ยกย่องคนหนึ่ง เขาเคยได้เป็นวาทยกรประจำวงบอสตัน ป็อปส์ ออร์เคสตร้า (Boston Pops O rchestra) อยู่ 14 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980-1994 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นวาทยกรกิตติมศักดิ์ของวง [1] และวิลเลี่ยมส์ก็มักจะได้รับเชิญให้เป็นวาทยกรเนื่องในโอกาสต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต และกิจกรรมสำคัญในอเมริกา

เมื่อมีการจัดอันดับดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตามสถาบันภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ ดนตรีที่วิลเลี่ยมส์ประพันธ์ขึ้นมักจะติดอันดับอยู่เสมอ โดยเฉพาะเพลงธีมสตาร์วอร์ส (Star Wars Theme)

ภาพยนตร์ที่วิลเลี่ยมส์ทำดนตรีประกอบนั้น มักจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอยู่เสมอ ถึงปัจจุบันนี้ เขามีชื่อเข้าชิงแล้วถึง 50 ครั้ง เคยชนะ 5 ครั้ง เขาเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุด เขายังเป็นผู้ที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากวอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) [2] และวิลเลี่ยมส์ยังได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆมากมาย ที่เป็นสิ่งยืนยันว่าเขานั้นเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักประพันธ์ดนตรี และมีคุณูปการต่อวงการดนตรีเป็นอย่างมาก

ชีวิตก่อนเข้าวงการ

จอห์น ทาวเนอร์ วิลเลี่ยมส์ (John Towner Williams) เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1932 ที่นิวยอร์ก(New York) เขาเป็นลูกชายของ เอสเธอร์ ทาวเนอร์ (Esther née Towner) และ จอห์นนี่ วิลเลี่ยมส์(Johnny Williams)[3]

บิดาของวิลเลี่ยมส์ จอห์นนี่ วิลเลี่ยมส์ เป็นมือกลองในวงดนตรีแจสของเรย์มอนด์ สก็อตต์ (Raymond Scott) [4]

ในปี ค.ศ.1948 ครอบครัววิลเลี่ยมส์ย้ายบ้านจากนิวยอร์กไปอยู่ที่ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) วิลเลี่ยมส์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยม North Hollywood High School จนจบการศึกษาใน ค.ศ.1950 จากนั้นวิลเลี่ยมส์ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ University of California, Los Angeles (UCLA) และได้เรียนด้านดนตรีเป็นส่วนตัวกับนักประพันธ์ดนตรีชาวอิตาลี่ มาริโอ คาสเทลนัวโว เทอเดสโก (Mario Castelnuovo Tedesco) [5] แต่เดิมนั้นวิลเลี่ยมส์เคยได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Los Angeles City College เนื่องจากที่นี่มีสตูดิโอสำหรับวงดนตรีแจส แต่วิลเลี่ยมส์ได้เรียนอยู่ที่นี่แค่เทอมเดียว [6]

ใน ค.ศ.1952 วิลเลี่ยมส์ได้ถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่ใน กองทหารอากาศแห่งสหรัฐ(U.S. Air Force) เขาได้รับหน้าที่ให้เป็นวาทยกรและดัดแปลงดนตรีสำหรับวงดนตรีของกองทหารอากาศสหรัฐ (The U.S. Air Force Band) [7]

วิลเลี่ยมส์ได้ถูกปลดประจำการในปี ค.ศ.1955 เขาได้ย้ายไปยังนิวยอร์กซิตี้ (New York City) และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนจูเลียร์ด (The Juilliard School) ที่ซึ่งเขาได้เรียนเปียโนกับครูสอนเปียโนชาวรัสเซีย รอซินา เลอวินนี่ (Rosina Lhévinne)[5] ในขณะที่อยู่นิวยอร์กนี้เอง วิลเลี่ยมส์ได้ทำงานเป็นนักเปียโนแจส ในคลับหลายแห่ง และแม้กับสตูดิโอ ซึ่งฝีมือของวิลเลี่ยมส์เป็นที่โดดเด่นเตะตานักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เฮนรี แมนซินี

ในช่วงก่อนยุค 1960 วิลเลี่ยมส์เป็นที่รู้จักกันในวงการด้วยชื่อ “จอห์นนี่” (Johnny) เขาได้เขียนดนตรีประกอบรายการโทรทัศน์มากมาย รวมถึงได้ออกอัลบั้มเพลงอีกด้วย [8][9]

วิลเลี่ยมส์มีพี่น้องสองคน คือ โดนัลด์ (Donald) กับเจอร์รี่ (Jerry) ทั้งสองคนทำงานเป็นนักดนตรีประเภทเครื่องตี เครื่องเคาะ (Percussionists) ในลอสแอนเจลิส (Los Angeles)[10]

ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์

หลังจากเรียนจบที่นิวยอร์กแล้ว วิลเลี่ยมส์ได้กลับไปที่ลอสแอนเจลิส เขาได้เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นนักประพันธ์ดนตรีให้กับสตูดิโอภาพยนตร์ ท่ามกลางนักประพันธ์มากมาย วิลเลี่ยมส์ได้ร่วมงานกับนักประพันธ์ที่โด่งดัง อาทิเช่น ฟรานซ์ แวกซ์แมน (Franz Waxman), เบอร์นาร์ด เฮอร์มานน์ (Bernard Herrmann) และอัลเฟรด นิวแมน (Alfred Newman)[11] วิลเลี่ยมส์ยังเป็นนักเปียโนประจำสตูดิโอ เขาได้เล่นเปียโนให้กับดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชื่อดังหลายคน อาทิเช่น เจอร์รี โกลด์สมิธ (Jerry Goldsmith), เอลเมอร์ เบอร์สตีน (Elmer Berstein) และ เฮนรี แมนซินี (Henry Mancini) วิลเลี่ยมส์ได้ร่วมเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ประพันธ์โดยเฮนรี แมนซินี เช่น Peter Gunn ในค.ศ.1959, Days of Wine and Roses ในค.ศ.1962 และ Charade ในค.ศ.1963 [12][13]

วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบละครโทรทัศน์อีกมากมาย ในยุค 1960 อาทิเช่น Gilliagan’s Island (1959-1960), Lost in Space (1965-1968), The Time Tunnel (1966-1967) เป็นต้น

ในช่วงแรกๆที่วิลเลี่ยมส์ได้เข้าวงการมา เขามักจะประพันธ์ดนตรีให้กับหนังดราม่า หนังรัก และหนังคอมเมดี้เสียส่วนใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้ คือเรื่อง Daddy-O เป็นหนังเกรดบีแนวคอมเมดี้ ที่ฉายในปี ค.ศ.1958 และตามมาด้วยผลงานอีกหลายเรื่อง

วิลเลี่ยมส์ได้กลายมาเป็นที่รู้จักในฮอลลีวู้ด ด้วยความสามารถดนตรีหลายด้าน ทั้งทางเปียโน, แจส และเพลงซิมโฟนิกที่ใช้ดนตรีวงใหญ่บรรเลง วิลเลี่ยมส์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังในยุคนั้นหลากหลายคน อาทิเช่น นักร้อง นักแสดง และผู้กำกับ แฟรงค์ ซินาตร้า (Frank Sinatra) ในภาพยนตร์เรื่อง None but the Brave ในปี ค.ศ.1965, ผู้กำกับหนังฟอร์มยักษ์แห่งยุคเบนเฮอร์ (Ben-Hur) วิลเลี่ยม ไวเลอร์(William Wyler)ในผลงานเรื่อง How to Steal a Million ในปี ค.ศ.1966,นักร้อง นักเต้น นักแสดง และผู้กำกับ จีน เคลลี(Gene Kelly) ในผลงานเรื่อง A Guide for the Married Man ในปี ค.ศ.1967 เป็นต้น

วิลเลี่ยมส์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Academy Award) ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 กับผลงานเรื่อง Valley of the Dolls ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกในปี ค.ศ.1969 กับผลงานเรื่อง Goodbye, Mr.Chips และ The Reivers วิลเลี่ยมส์ได้รับออสการ์ตัวแรกในการเข้าชิงครั้งที่สี่ ในปี ค.ศ.1971 กับผลงานเรื่อง Fiddler on the Roof ในสาขาดัดแปลงดนตรีประกอบยอดเยี่ยม[14]

ในช่วงยุค 1970 วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับหนังฟอร์มใหญ่หลากหลายเรื่อง เช่น ภาพยนตร์แนวภัยพิบัติ เอาชีวิตรอด The Poseidon Adventure (1972), The Towering Inferno (1974), Earthquake (1974) หนังสยองขวัญเรื่อง Images (1972) หนังคาวบอยที่นำแสดงโดยจอห์น เวย์น (John Wayne) เรื่อง The Cowboys (1972) หรือแม้กระทั่งหนังแอ็คชั่น เช่น The Eiger Sanction (1975) นำแสดงโดยคลินต์ อีสต์วุด (Clint Eastwood)

ในปี ค.ศ.1974 ผู้กำกับสตีเว่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ได้ทาบทามวิลเลี่ยมส์ให้มาทำดนตรีประกอบให้กับภาพยตร์ฉายโรงเรื่องแรกของเขา The Sugarland Express ซึ่งวิลเลี่ยมส์ตอบตกลง สปีลเบิร์กนั้นได้ชื่นชอบผลงานของวิลเลี่ยมส์มานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง The Reivers (1969) และ The Cowboy (1972) โดยครั้งแรกที่นัดพบกัน สปีลเบิร์กแปลกใจมาก ที่พบว่าวิลเลี่ยมส์ยังไม่แก่เท่าไรนัก เพราะเขาคาดว่าวิลเลี่ยมส์น่าจะดูแก่และมีอายุมากกว่านี้ (ในขณะนั้นวิลเลี่ยมส์อายุแค่ 42 ปี) หลังจากที่วิลเลี่ยมส์ตอบตกลงที่จะทำดนตรีประกอบให้ สปีลเบิร์กกับวิลเลี่ยมส์ก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนกัน และได้ทำดนตรีประกอบให้กับหนังของสปีลเบิร์กตลอดมา

ในปี ค.ศ.1975 วิลเลี่ยมส์ได้ทำดนตรีประกอบให้กับผลงานภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องที่สองของสปีลเบิร์ก จอว์ส (Jaws) ซึ่งเป็นผลงานฮิตระเบิด ถล่มรายได้ ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ที่ดี และเพลงธีมจอว์ส (Jaws theme) ที่วิลเลี่ยมส์ประพันธ์ก็กลายมาเป็นที่จดจำ ด้วยโน้ตเพียงแค่สองตัว แต่สื่อความหมายถึงอันตรายของฉลามขาวที่พร้อมจะจู่โจมทุกเมื่อ และด้วยผลงานเรื่องจอว์สนี้เอง ทำให้วิลเลี่ยมส์ได้รับออสการ์ตัวที่สอง แต่เป็นตัวแรกในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมที่เขาได้ประพันธ์ขึ้นด้วยตนเอง [14]พร้อมกับคว้ารางวัลลูกโลกทองคำตัวแรก

ในปี ค.ศ.1976 วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับผลงานเรื่องสุดท้ายของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) เรื่อง The Family Plot

ในปี ค.ศ. 1977 วิลเลี่ยมส์ได้ทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่องต่อมาของสตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่อง มนุษย์ต่างโลก (Close Encounters of the Third Kind) ซึ่งในเรื่องนี้ วิลเลี่ยมส์ได้แต่งเพลงธีมหลักที่มีโน้ต 5 ตัวอันเป็นที่จดจำ ซึ่งโน้ต 5 ตัวนี้ได้ใช้เป็นเสียงสัญญาณที่ใช้สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวในเรื่อง และผลงานเรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม[14] อัลเบิร์ต อาร์ บร็อคโคลี (Albert R. Broccoli) ผู้สร้างหนังเจมส์ บอนด์ ได้โทรหาสปีลเบิร์กเพื่อขออนุญาตนำโน้ต 5 ตัวนี้ไปใช้ในหนังเจมส์ บอนด์ ซึ่งสปีลเบิร์กก็อนุญาตด้วยความยินดี โน้ต 5 ตัวนี้ปรากฏอยู่ในเรื่อง Moonraker (1979) เป็นรหัสที่ใช้กับประตูผ่านทางเข้าไปในสถานที่วิจัยลับของตัวร้าย

ในปี ค.ศ.1977 เดียวกันนั้นเอง เพื่อนของสปีลเบิร์ก จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ที่กำลังทำสตาร์วอร์สอยู่นั้น กำลังต้องการนักประพันธ์ดนตรีสำหรับทำดนตรีประกอบหนังของเขา โดยลูคัสต้องการบุคคลที่มีความสามารถและความเข้าใจในดนตรีคลาสสิค ในรูปแบบของนักดนตรีคลาสสิค เช่น ริชาร์ด สเตร้าส์ (Richard Strauss) และแนวทางดนตรีในยุคทองของฮอลลีวู้ด โดยนักประพันธ์อย่าง แม็กซ์ สไตเนอร์ (Max Steiner) เออริช วูล์ฟกัง คอร์นโกล์ด (Erich Wolfgang Korngold) และก็เป็นสปีลเบิร์กนี่เอง ที่เป็นคนแนะนำวิลเลี่ยมส์แก่ลูคัส วิลเลี่ยมส์ได้บินไปที่ลอนดอนเพื่อทำดนตรีประกอบที่นั่น กับวงดนตรี ลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (London Symphony Orchestra) ซึ่งวงนี้ได้เป็นวงที่เล่นดนตรีประกอบให้กับสตาร์วอร์สไตรภาคดั้งเดิม (1977-1983) กับไตรภาคปฐมบท(1999-2005)

ดนตรีที่วิลเลี่ยมส์แต่งให้กับสตาร์วอร์ส กลายมาเป็นผลงานที่เป็นอมตะ คุ้นหู จดจำ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักประพันธ์ดนตรีรุ่นต่อๆมา ตัวหนังเองก็ฮิตถล่มทลายหลังจากการฉายในช่วงฤดูร้อน สตาร์วอร์สได้พลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ เป็นอิทธิพลที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วิลเลี่ยมส์ได้ออสการ์ตัวที่สามจากเรื่องสตาร์วอร์ส สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และได้รางวัลลูกโลกทองคำตัวที่สอง [15]

ในปี ค.ศ.1978 วิลเลี่ยมส์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับ ริชาร์ด ดอนเนอร์ (Richard Donner) ในภาพยนตร์เรื่องซูเปอร์แมน (Superman) โดยตัวเลือกแรกของดอนเนอร์ คือนักประพันธ์ดนตรีที่มีชื่อเสียงไม่แพ้วิลเลี่ยมส์ เจอร์รี โกลด์สมิธ (Jerry Goldsmith)(ภายหลัง สมิธได้ทำดนตรีประกอบให้กับเรื่อง Supergirl ในปี ค.ศ.1984 ผู้สร้างเดียวกันกับ Superman) ซึ่งวิลเลี่ยมส์ได้แต่งเพลงธีมซูเปอร์แมน (Superman Theme) ซึ่งกลายมาเป็นอีกหนึ่งผลงานของวิลเลี่ยมส์ที่เป็นที่จดจำในโลกภาพยนตร์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์[14] หนังซูเปอร์แมนได้มีภาคต่อตามมาอีก 4 ภาค ได้แก่ Superman II (1980), Superman III (1983), Superman IV: The Quest for Peace (1987) และ Superman Returns (2006) แม้ว่าวิลเลี่ยมส์จะรับหน้าที่ทำดนตรีประกอบให้แค่ภาคเดียว แต่เพลงธีมซูเปอร์แมนของวิลเลี่ยมส์ ก็ถูกนำมาใช้เป็นเพลงธีมหลักของทุกภาค

ในปี ค.ศ.1980 และ 1983 วิลเลี่ยมส์ได้กลับมาทำดนตรีภาคต่อของสตาร์วอร์สอีกสองภาค ได้แก่ จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (The Empire Strikes Back) และ การกลับมาของเจได(Return of the Jedi) ซึ่งก็ฮิตระเบิดไม่แพ้ภาคแรก เพลง Star Wars theme กับ Imperial March ก็กลายมาเป็นเพลงอมตะ เป็นที่รู้จักและคุ้นหูไปทั่ว ทั้งสองเรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม [14]

ในปี ค.ศ.1981 จอ์จ ลูคัส ได้จับมือกับสตีเว่น สปีลเบิร์ก สร้างภาพยนตร์เรื่อง ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า (Raiders of the Lost Ark) โดยวิลเลี่ยมส์ประพันธ์ดนตรีประกอบให้ ซึ่งกับเรื่องนี้ เป็นอีกครั้งที่วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์เพลงธีมอันเป็นที่จดจำ คือ Raiders March เพลงธีมฮีโร่อเมริกันของตัวเอกของเรื่องที่ชื่ออินเดียน่า โจนส์ (Indiana Jones) ที่นำแสดงโดยแฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) วิลเลี่ยมส์ได้ทำดนตรีประกอบให้กับอินเดียน่า โจนส์ทุกภาค ได้แก่ Indiana Jones and the Temple of Doom (1984), Indiana Jones and the Last Crusade (1989) และ Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008)

ในปี ค.ศ.1982 วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของสปีลเบิร์กที่ฮิตถล่มทลายอีกเรื่อง คือ อี.ที. เพื่อนรัก (E.T. the Extra-Terrestrial) ซึ่งทำให้วิลเลี่ยมส์คว้าออสการ์ตัวที่ 4 ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม[14] กับรางวัลลูกโลกทองคำตัวที่สาม วิลเลี่ยมส์เล่าว่า ในฉากที่เด็กๆหนีการตามล่าจากตำรวจตอนท้ายเรื่องนั้น ตนได้ประพันธ์ดนตรีขึ้นมา และพบว่าตัวดนตรีกับตัวภาพนั้นไม่เข้ากันเท่าไรนัก เนื่องจากดนตรีที่วิลเลี่ยมส์แต่งนั้นยาวเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะต้องตัดเพลงให้สั้นลง หรือแต่งให้เข้ากันให้ได้ แต่วิลเลี่ยมส์ไม่อาจทำได้ สปีลเบิร์กจึงบอกกับวิลเลี่ยมส์ว่า ให้วิลเลี่ยมส์บรรเลงไปตามที่ตนเองแต่งมาให้เต็มที่ จากนั้นสปีลเบิร์กจึงนำฉากนั้นไปตัดต่อใหม่ โดยตัดให้เข้ากับดนตรีที่วิลเลี่ยมส์แต่งแทน วิลเลี่ยมส์พูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างติดตลกว่า “มันเป็นความฝันของนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ทุกคนเลยล่ะ”

ในภาพยนตร์เรื่องต่อมาของสปีลเบิร์ก The Twilight Zone: The Movie ปี ค.ศ.1983 ในหนังเรื่องนี้ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่อง สปีลเบิร์กได้กำกับหนังสั้นเรื่องหนึ่ง หัวหน้าผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของเรื่อง จอห์น แลนดิส (John Landis) ต้องการให้เจอร์รี่ โกล์ดสมิธทำดนตรีประกอบให้ สปีลเบิร์กจึงไม่ได้ร่วมงานกับวิลเลี่ยมส์ ในเรื่องต่อมาที่สปีลเบิร์กกำกับ The Color Purple ปี ค.ศ.1985 โปรดิวเซอร์ควินซี่ โจนส์ (Quincy Jones) ต้องการที่จะทำดนตรีประกอบด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกครั้งที่สปีลเบิร์กไม่ได้ร่วมงานกับวิลเลี่ยมส์ ในปี ค.ศ.1987 วิลเลี่ยมส์กลับมาร่วมงานกับสปีลเบิร์กอีกครั้ง ในเรื่อง น้ำตาสีเลือด (Empire of the Sun) และก็ได้ร่วมงานกับสปีลเบิร์กเรื่อยมา และมักจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อยู่เสมอ

ในปี ค.ศ.1989 วิลเลี่ยมส์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับโอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) เป็นครั้งแรก ทั้งคู่มีผลงานด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ เกิดวันที่สี่กรกฎา (Born on the Fourth of July) หนังเล่าถึงชีวิตของทหารผ่านศึกผู้พิการ นำแสดงโดยทอม ครูซ(Tom Cruise) เรื่องต่อมาในปี ค.ศ.1991 รอยเลือดฝังปฐพี (J.F.K.) นำแสดงโดยเควิน คอสต์เนอร์ (Kevin Costner) ในบทจิม แกร์ริสัน (Jim Garrison) ผู้ที่ทำการสืบและตีแผ่เรื่องการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี และผลงานเรื่องสุดท้ายที่ทั้งคู่ร่วมงานกันในเรื่อง นิกสัน ประธานาธิบดีฉาวโลก (Nixon) ในปี ค.ศ.1995 นำแสดงโดยแอนโทนี ฮ็อปกินส์ (Anthony Hopkins) ในบทประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งทั้งสามเรื่องล้วนมีดนตรีประกอบที่เป็นที่น่าจดจำและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์

ในปี ค.ศ.1991 วิลเลี่ยมส์ได้ทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ที่กำกับโดยคริส โคลัมบัส (Chris Columbus) เรื่อง โดดเดี่ยวผู้น่ารัก (Home Alone) และภาคต่อในปี ค.ศ.1992 โดดเดี่ยวผู้น่ารัก 2 หลงในนิวยอร์ก (Home Alone 2 Lost in New York) ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์ที่ฮิตถล่มทลายมากเช่นกัน

ในปี ค.ศ.1994 วิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ดนตรีให้กับหนังของสปีลเบิร์กสองเรื่อง คือเรื่อง จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ (Jurassic Park) ซึ่งเป็นหนังฮิตถล่มรายได้ และเรื่อง ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (Schindler’s List) ที่ทำให้วิลเลี่ยมส์ได้ออสการ์ตัวที่ 5 วิลเลี่ยมส์พูดถึงการประพันธ์ดนตรีให้กับเรื่องนี้ว่า ครั้งแรกที่ได้ชมมัน วิลเลี่ยมส์บอกกับสปีลเบิร์กว่านี่เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ และมันยากเกินไปสำหรับเขาที่จะทำดนตรีให้ และแนะนำสปีลเบิร์กให้หาคนที่เก่งกว่ามาทำดนตรีแทน สปีลเบิร์กจึงบอกกับวิลเลี่ยมส์ว่า “ผมรู้ แต่พวกเขา(คนที่เก่งกว่า)ตายหมดแล้ว” สุดท้ายวิลเลี่ยมส์จึงตอบตกลง และทำให้วิลเลี่ยมส์ได้รับรางวัลออสการ์ตัวที่ 5 ไปครอบครอง

ในปี ค.ศ.1997 วิลเลี่ยมส์ได้กลับมาทำดนตรีให้กับหนังไดโนเสาร์ภาคต่อที่กำกับโดยสปีลเบิร์กใน The Lost World: Jurassic Park ใครว่ามันสูญพันธุ์ และยังมีภาคต่อตามมาอีกคือ Jurassic Park III ซึ่งสปีลเบิร์กไม่ได้กำกับ และวิลเลี่ยมส์ก็ไม่ได้ทำดนตรีประกอบให้ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้น วิลเลี่ยมส์ก็ได้แนะนำดอน เดวิส (Don Devis) แก่โปรดิวเซอร์ ว่าเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำดนตรีประกอบแทน

ในปี ค.ศ.1999 วิลเลี่ยมส์กลับมาสานต่อผลงานสร้างชื่อของเขากับสตาร์ วอร์ส ในไตรภาคปฐมบทได้แก่ ภัยซ่อนเร้น (Star Wars Episode I: The Phantom Menace), กองทัพโคลนส์จู่โจม(Star Wars Episode II: Attack of the Clones) ในปี ค.ศ.2002 และ ซิธชำระแค้น (Star Wars Episode III: Revenge of the Sith) ในปี ค.ศ.2005 ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบมากกว่าแง่ดี แต่ดนตรีของวิลเลี่ยมส์นั้นก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าไตรภาคดั้งเดิมเลย และยังมีเพลงที่น่าจดจำ เช่น Duel of Fates, Across the Star, Battle of Heroes และวิลเลี่ยมส์ยังได้นำเพลงธีมหลายๆเพลงที่ตนเองเคยแต่ง ในไตรภาคดั้งเดิม มาปรับใช้กับไตรภาคใหม่ได้อย่างเหมาะสม เช่น The Force theme, Imperial March, Emperor Throne Room, Princess Leia's theme เป็นต้น [16][17] [18]

วิลเลี่ยมส์ได้กลับมาร่วมงานกับโคลัมบัสอีกครั้ง ในปี ค.ศ.2001 ในผลงานภาพยนตร์ของ Warner Bros. เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Sorcerer's Stone) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายอังกฤษชื่อดังที่ประพันธ์โดย เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) วิลเลี่ยมส์ทำดนตรีในภาคต่ออีกสองภาค คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ (Harry Potter and the Chamber of Secrets) ใน ค.ศ.2002 กับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (Harry Potter and the Prisoner of Azkaban) ใน ค.ศ.2004 ในปี ค.ศ.2005 วิลเลี่ยมส์จำเป็นต้องปฏิเสธที่จะทำดนตรีประกอบให้กับภาคต่อของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เนื่องจากวิลเลี่ยมส์ กำลังทำดนตรีประกอบให้กับหนังเรื่องอื่นอยู่ ซึ่งในปีนั้นเอง วิลเลี่ยมส์มีงานทำดนตรีให้กับภาพยนตร์ถึง 4 เรื่อง (ขณะนั้นวิลเลี่ยมส์อายุ 73 ปี) ตั้งแต่ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคที่ 4 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี (Harry Potter and the Goblet of Fire) เป็นต้นมา จนถึงภาคสุดท้ายในปี ค.ศ.2011 วิลเลี่ยมส์ก็ไม่ได้กลับมาทำดนตรีประกอบให้อีกเลย แต่เพลง Hedwig's theme ที่วิลเลี่ยมส์ประพันธ์ขึ้น ก็ได้ถูกใช้เป็นเพลงธีมหลักในทุกภาคของแฮร์รี่ พอตเตอร์

ในปี ค.ศ.2005 เมื่อวิลเลี่ยมส์ทราบว่าจะมีการนำนิยายเรื่อง Memoirs of Geisha มาสร้างเป็นภาพยนตร์ วิลเลี่ยมส์ได้แสดงความประสงค์ที่จะทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ วิลเลี่ยมส์กล่าวว่า ในชีวิตการทำงานของเขานั้น ไม่เคยที่จะร้องของาน ยกเว้นเรื่องนี้ ที่วิลเลี่ยมส์อยากทำจริงๆ ซึ่งผู้กำกับของเรื่อง ร็อบ มาร์แชล (Rob Marshall) ก็ตอบตกลง เพราะวิลเลี่ยมส์มาทำดนตรีประกอบให้กับเรื่องนี้ จึงทำต้องสละโอกาสในการทำดนตรีให้กับภาคต่อของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเนื้อหานั้นเป็นเรื่องราวชีวิตของเกอิชาคนหนึ่ง วิลเลี่ยมส์ได้ใช้ดนตรีออร์เคสตร้า ผสมผสานกับดนตรีสไตล์ญี่ปุ่นในการทำดนตรีประกอบให้กับเรื่องนี้ และตัวดนตรีประกอบเองก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์ และลูกโลกทองคำ ซึ่งก็สามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาได้

ในปี ค.ศ.2008 วิลเลี่ยมส์กลับมาทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์อินเดียน่า โจนส์อีกครั้ง ใน ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 4: อาณาจักรกะโหลกแก้ว (Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull) ซึ่งภาคนี้เว้นห่างจากภาคก่อนหน้า นานถึง 19 ปี และเป็นภาพยนตร์อินเดียน่า โจนส์เรื่องเดียวในสี่เรื่องที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

ใน ค.ศ.2011 วิลเลี่ยมส์มีผลงานสองเรื่อง ซึ่งล้วนกำกับโดยสปีลเบิร์ก คือเรื่อง การผจญภัยของตินติน (The Adventures of Tintin) ที่ถือว่าเป็นการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของวิลเลี่ยมส์ และ ม้าศึกจารึกโลก (War Horse) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ วิลเลี่ยมส์ยังทำดนตรีได้ดีฝีมือไม่ตก เป็นที่ยอมรับต่อนักวิจารณ์[19][20][21][22][23][24] ทั้งสองเรื่องต่างเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม [25] เป็นครั้งที่ 46 และ 47 ของวิลเลี่ยมส์ ทำให้เขากลายเป็นนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบมากที่สุด นำหน้าอัลเฟรด นิวแมน (Alfred Newman) ที่เคยทำไว้ได้ 45 ครั้ง [26] และในปี ค.ศ.2012 ในหนังเรื่องต่อมาของสปีลเบิร์ก ลินคอล์น (Lincoln) หนังเกี่ยวกับประธานาธิบดีลินคอล์นที่เล่าถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตท่านในการผลักดันกฎหมายเลิกทาส ดนตรีประกอบอันนุ่มนวลและทรงพลังของวิลเลี่ยมส์ ส่งให้เขาเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกครั้ง [27] และอีกครั้ง ในปี ค.ศ.2013 กับภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายเยาวชนขายดีเรื่อง จอมโจรหนังสือ (The Book Thief) กำกับโดยไบรอัน เพอร์ซิวาล (Brian Percival) ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบ 8 ปีที่วิลเลี่ยมส์ทำดนตรีประกอบให้กับผู้กำกับคนอื่นที่ไม่ใช่สปีลเบิร์ก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 และเป็นผลงานที่ทำให้วิลเลี่ยมส์ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่ 49 [14] และได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งที่ 25

ในปี ค.ศ.2015 วิลเลี่ยมส์กลับมาประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับสตาร์ วอร์สอีกครั้ง กับภาคที่ 7 ใน สตาร์ วอร์ส: อุบัติการณ์แห่งพลัง (Star Wars The Force Awakens) กำกับภาพยนตร์โดย เจ. เจ. แอบรัมส์ (J.J. Abrams) ซึ่งตัวหนังเองก็กวาดรายได้ถล่มทลายไม่แพ้ภาคก่อนๆ และส่งให้วิลเลี่ยมส์ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 50[28][29] สำหรับภาคต่อสตาร์วอร์สเรื่องนี้ ได้บันทึกดนตรีประกอบกันที่ลอสแอนเจลิสกับนักดนตรีที่นั่น ซึ่งโดยปรกติแล้วหนังสตาร์วอร์สทุกภาค จะอัดเสียงดนตรีประกอบที่ลอนดอน กับวงลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (London Symphony Orchestra) วิลเลี่ยมส์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะกระบวนการทำงานของเจ.เจ. แอบรัมส์นั้น แตกต่างจากกระบวนการทำงานของจอร์จ ลูคัส จึงไม่ได้อัดดนตรีประกอบที่ลอนดอน อันเป็นสถานที่ถ่ายทำสตาร์วอร์สทุกๆภาคที่ผ่านมา และในปีนี้เองที่ วิลเลี่ยมส์ไม่ได้ทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของสปีลเบิร์กเป็นเรื่องที่ 3 ในเรื่อง Bridge of Spies หนังเหตุการณ์ยุคสงครามเย็น นำแสดงโดยทอม แฮงค์ส ซึ่งทางดรีมเวิร์คส (Dreamworks Pictures) ได้ประกาศออกมาว่าวิลเลี่ยมส์มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงไม่ได้มาทำดนตรีประกอบให้กับหนังของสปีลเบิร์กเรื่องนี้ ผู้ที่มารับหน้าที่แทนคือโธมัส นิวแมน (Thomas Newman) [30] จากผลงานนี้ ทำให้นิวแมนได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

วิลเลี่ยมส์กลับมาร่วมงานกับสปีลเบิร์กอีกครั้งในปี ค.ศ.2016 กับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) เรื่อง The BFG

ในปี ค.ศ.2016 หนังภาคแยกของจักรวาลสตาร์วอร์ส Rogue One: A Star Wars Story ได้ออกฉาย โดยนับเป็นหนังใหญ่สตาร์วอร์สเรื่องแรกที่วิลเลี่ยมส์ไม่ได้ทำดนตรีประกอบ ในตอนแรกผู้ที่ถูกวางตัวให้มารับหน้าที่ทำดนตรีแระกอบคือ Alexandre Desplat ผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับผู้กำกับ Gareth Edwards มาก่อน แต่ต่อมา Desplat ได้ถอนตัวออกไป เนื่องจากมีการถ่ายซ่อมทำให้การถ่ายทำล่าช้าไม่เสร็จตามกำหนด จึงทำให้ Desplat ไม่ว่าง ผู้ที่มารับหน้าที่แทนคือ Michael Giacchino โดยเขามีเวลาทำดนตรีประกอบให้เสร็จภายใน 1 เดือนเท่านั้น แต่เขาก็สามารถทำสำเร็จจนได้ วิลเลี่ยมส์จะประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับสตาร์วอร์สอีกสองภาคใน Star Wars: The Last Jedi และเอพพิโซด IX ที่จะมาในอนาคต

ในฐานะวาทยกร

บอสตัน ป็อปส์ ออร์เคสตร้า (Boston Pops Orchestra)

ในช่วงปี ค.ศ.1977-1978 อาร์เธอร์ ฟิดเลอร์ (Arthur Fiedler) ผู้อำนวยการและวาทยกรประจำวงบอสตัน ป็อปส์ ออร์เคสตร้า ได้ล้มป่วย ในบางคอนเสิร์ตไม่อาจสามารถไปเป็นวาทยกรเองได้ ในคอนเสิร์ตหนึ่งของฟิดเลอร์ที่จัดในทุกๆปี ณ ฮอลลีวูด โบว์ล (Hollywood Bowl) ในลอส แองเจอลิส (Los Angeles) กับวง Los Angeles Phiharmonic วิลเลี่ยมส์ได้รับสายจากผู้จัดการของวง ซึ่งโทรมาเพื่อร้องขอให้วิลเลี่ยมส์ ช่วยมาเป็นวาทยกรแทนฟิดเลอร์ที่กำลังล้มป่วยในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นข้อเสนอที่ทำให้วิลเลี่ยมส์วิตกไม่น้อย เนื่องด้วยไม่เคยเป็นวาทยกรทำการแสดงต่อสาธารณชนมาก่อน แต่วิลเลี่ยมส์ก็ตอบตกลง

ต่อมาในปี ค.ศ.1979 วิลเลี่ยมส์ได้ไปที่บอสตัน (Boston) เพื่อไปเป็นวาทยกรในคอสเสิร์ตให้กับวงบอสตันป็อปส์อยู่สอง-สามครั้ง แทนฟิดเลอร์ ที่กำลังล้มป่วยอยู่ และได้เสียชีวิตใน ค.ศ.1979 ส่วนตัววิลเลี่ยมส์กับฟิดเลอร์นั้นไม่เคยได้พบเจอกัน เพียงแต่เคยพูดคุยกันทางโทรศัพท์เท่านั้น

ในปี ค.ศ.1980 ขณะที่วิลเลี่ยมส์ทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์สตาร์วอร์สเรื่องที่สอง จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (The empire strikes back) อยู่ที่ลอนดอน (London) ทอม มอร์ริส (Tom Morris) ซึ่งเป็นผู้จัดการของวงบอสตัน ป็อปส์ ได้บินไปหาวิลเลี่ยมส์ที่ลอนดอน เพื่อเสนอให้วิลเลี่ยมส์มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของวง เป็นวาทยกรแทนฟิดเลอร์ วิลเลี่ยมส์ไม่กล้าปฏิเสธ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตอบตกลงในทันที วิลเลี่ยมส์กล่าวว่า "มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างหลงตัวเองมาก เมื่อได้คิดถึง กับการที่ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันทางดนตรีอเมริกันย่างบอสตัน ป็อปส์ ที่เป็นที่เคารพยกย่อง, มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จอย่างสูง" วิลเลี่ยมส์แสดงความไม่มั่นใจกับมอร์ริสว่าตนนั้นมีกระสบการณ์ การเป็นวาทยกรแสดงสาธารณะเพียงไม่กี่ครั้งเองเท่านั้น แต่มอร์ริสก็ให้ความเชื่อมั่นว่าวิลเลี่ยมส์สามารถทำได้แน่ วิลเลี่ยมส์คิดไตร่ตรองเรื่องนี้อย่างหนัก ถามความเห็นจากเพื่อนและครอบครัว จนในที่สุดวิลเลี่ยมส์จึงตอบตกลง และได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและวาทยกรประจำวงบอสตัน ป็อปส์ ตั้งแต่ ค.ศ.1980-1994 ซึ่งในช่วงเวลานี้นั้น วิลเลี่ยมส์ก็ยังคงประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ มีผลงานอยู่ไม่ขาดตลอด 14 ปีที่เขาเป็นผู้นำวงบอสตัน ป็อปส์

วงบอสตัน ป็อปส์ ภายใต้การนำของวิลเลี่ยมส์ วิลเลี่ยมส์ได้เปิดทำการแสดงในสาธาณะที่ต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต การถ่อยทอดทางโทรทัศน์ และวิลเลี่ยมส์ยังได้พาวงบอสตัน ป็อปส์ไปเปิดทำการแสดงที่ญี่ปุ่นอีกด้วย

กับวงบอสตัน ป็อปส์ วิลเลี่ยมส์ได้ทำการแสดงดนตรีประกอบภาพยนตร์มากขึ้น วิลเลี่ยมส์กล่าวว่าในช่วงแรกเริ่มที่ตนเองได้มาเป็นวาทยกร เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหา วิลเลี่ยมส์จึงไม่ใช้ดนตรีที่ตนเองประพันธ์ในการจัดแสดง แต่เมื่อไปจัดทำการแสดงที่ใดๆ ผู้ชมมักจะเรียกร้องเสมอ เพราะเมื่อพูดถึงชื่อจอห์น วิลเลี่ยมส์ พวกเขาจะนึกถึงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องดังที่วิลเลี่ยมส์ประพันธ์ แต่เมื่อมาชมวิลเลี่ยมส์ทำการแสดง กลับไม่มีดนตรีของวิลเลี่ยมส์เลย ดังนั้น วิลเลี่ยมส์จึงเริ่มแสดงดนตรีที่ตนเองประพันธ์ขึ้น รวมถึงดนตรีประกอบภาพยนตร์ของนักประพันธ์คนอื่นๆ ในภาพยนตร์ที่โด่งดังและเป็นที่คุ้นหู และยังสืบทอดดนตรีแบบเดิมที่วงบอสตัน ป็อปส์แสดง อาทิ แนวเพลงอเมริกันคลาสสิค รวมถึงดนตรีคลาสสิคที่เป็นอมตะ เป็นต้น

หลังจากปี ค.ศ.1994 วิลเลี่ยมส์กลายมาเป็นวาทยกรกิตติมศักดิ์ของวงบอสตัน ป็อปส์ ได้รับเชิญให้มาเป็นวาทยกรพิเศษในหลายๆคอนเสิร์ตที่วงบอสตัน ป็อปส์ได้จัดขึ้น รวมถึงวงดนตรีออร์เคสตร้าอื่นๆในอเมริกา ก็ได้เชิญให้วิลเลี่ยมส์มาเป็นวาทยกรในฐานะแขกพิเศษอีกด้วย

เกียรติยศและรางวัลที่ได้รับ

วิลเลี่ยมส์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Academy awards) ทั้งสิ้น 50 ครั้ง ชนะ 5 ครั้ง, รางวัลเอ็มมี่ (Emmy awards) ได้เข้าชิง 6 ครั้ง ชนะ 3 ครั้ง, รางวัลลูกโลกทองคำ (Golden globe awards) ได้เข้าชิง 25 ครั้ง ชนะ 4 ครั้ง, รางวัลแกรมมี (Grammy awards) ได้เข้าชิง 65 ครั้ง ชนะ 22 ครั้ง และ ได้รับรางวัลบาฟต้า (British academy film awards) 7 ครั้ง

วิลเลี่ยมส์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 50 ครั้ง ประกอบด้วย รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม 45 ครั้ง อาทิเช่น ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า(Raiders of the lost ark,1981), มนุษย์ต่างโลก (Close encounter of the third kind,1977), ซูเปอร์แมน (Superman, 1978) จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (The empire strikes back, 1980), การกลับมาของเจได (Return of the Jedi, 1983), โดดเดี่ยวผู้น่ารัก (Home Alone,1990), รอยเลือดฝังปฐพี (J.F.K. ,1991) เซฟวิ่ง ไพรเวท ไรอัน ฝ่าสมรภูมินรก (Saving private Ryan, 1998), แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the sorcerer's stone, 2001), จับให้ได้ถ้านายแน่จริง (Catch me if you can, 2002), ลินคอล์น (Lincoln, 2012) เป็นต้น และเข้าชิงรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม 5 ครั้ง วิลเลี่ยมส์ได้รับรางวัลออสการ์ 4 ครั้ง ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้แก่ จอว์ส (Jaws) ในปี 1975, สตาร์ วอร์ส (Star Wars) ในปี ค.ศ.1977, อี.ที. เพื่อนรัก (E.T. : The extra terrestrial ) ในปี ค.ศ. 1982 และ ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (Schindler's list) ในปี ค.ศ.1994 และสาขาดัดแปลงกับเพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยม 1 รางวัล จากเรื่อง Fiddler on the Roof ในปี ค.ศ.1971

วิลเลี่ยมส์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองวอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney)ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งสิ้น 59 ครั้ง และวิลเลี่ยมส์ยังถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุดที่ยังมีชิวิต [31][32]


ในปี ค.ศ.2005 AFI : สถาบันภาพยนตร์แห่งอเมริกา (American film institute) ได้เลือกเพลงธีมสตาร์วอร์ส (Star Wars theme) ของวิลเลี่ยมส์ ที่แต่งขึ้นในปี ค.ศ.1997 ให้เป็นอันดับที่ 1 ใน 25 อันดับดนตรีประกอบภาพยนตร์อเมริกัน และยังมีเพลงธีมจอว์ส (Jaws theme) อยู่ในอันดับที่ 6 และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง อี.ที. เพื่อนรัก (E.T. The extra terrestrial ) อยู่ในอันดับที่ 14 ซึ่งนับว่าวิลเลี่ยมส์เป็นบุคคลเดียวที่ดนตรีประกอบภาพยนตร์ของเขา ได้อยู่ใน 25 รายชื่อนี้ ถึง 3 รายชื่อ [33]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 วิลเลี่ยมส์ ได้รับรางวัลเกียรติยศความสำเร็จในชีวิต AFI ( AFI achievement award) ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบให้กับผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักแสดงอเมริกัน ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ผู้ที่เคยได้รางวัล อาทิเช่น สตีเว่น สปีลเบิร์ก, จอร์จ ลูคัส, มาร์ติน สกอร์เซซี่, อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก, อัล ปาชิโน, โรเบิร์ต เดอ นิโร, เมอรีล สตรีพ, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์, แจ็ค นิโคลสัน, มอร์แกน ฟรีแมน, ทอม แฮงค์ส ล้วนเคยได้รับรางวัลนี้ แต่วิลเลี่ยมส์ นับว่าเป็นนักประพันธ์ดนตรีคนแรก ที่ได้รับรางวัลนี้ [34]

นอกจากนี้ วิลเลี่ยมส์ยังได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆอีกมากมาย อาทิเช่น

-Honorary Doctor of Music degree จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ใน ค.ศ.1993 [35]

-ในปี 2003 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ลงมติให้วิลเลียมส์เป็นบุคคลผู้มีเกียรติอย่างสูงสุด เนื่องด้วยวิลเลี่ยมส์มีคุณูปการต่อวงการดนตรี และยังเคยเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีโอลิมปิกเกม ถึง 4 ครั้งด้วยกัน คือในปี ค.ศ.1984, 1988, 1996 และ 2002[36]

-Kennedy Center Honors ใน ค.ศ.2004

-Classic Brit Award ใน ค.ศ.2005

-National Medal of Arts จากทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใน ค.ศ.2009 [37]

ฯลฯ

ชีวิตส่วนตัว

ในปี ค.ศ. 1956 วิลเลี่ยมส์ได้แต่งงานกับบาร์บาร่า รูค (Barbara Ruick) นักแสดงและนักร้องชาวอเมริกัน ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสามคน ได้แก่ มาร์ค ทาวเนอร์ วิลเลี่ยมส์, เจนนิเฟอร์ วิลเลี่ยมส์ และโจเซฟ วิลเลียมส์

วิลเลี่ยมส์กับรูคใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน จนกระทั่งรูคเสียชีวิต ด้วยอาการเลือดออกในสมอง ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1974 อายุได้ 43 ปี เธอถูกพบว่าเสียชีวิตในห้องพักของเธอที่รัฐเนวาด้า ขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ที่นั่น

รูคใช้ชีวิตคู่กับวิลเลี่ยมส์ทั้งสิ้น 18 ปี

ในปี ค.ศ. 1980 วิลเลี่ยมส์แต่งงานใหม่กับซาแมนธาร์ วินสโลว์ (Samantha Winslow) ทำอาชีพช่างภาพ และได้ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันจวบจนปัจจุบัน [38]

โจเซฟ วิลเลี่ยมส์

โจเซฟ วิลเลี่ยมส์ ลูกชายของจอห์น วิลเลี่ยมส์ เป็นทั้งนักร้องและ นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ โดยเขาเป็นนักร้องนำประจำวงร็อค Toto และมีผลงานดนตรีประกอบละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เขาเป็นผู้เขียนเพลง Lapti Nek ที่ใช้ใน การกลับมาของเจได (Return of the Jedi, 1983) [39] ฉากนักดนตรีต่างดาวเล่นดนตรีรื่นเริงให้แก่แจ็บบ้า ในภาพยนตร์นั้น ตัวเพลงจะเป็นเนื้อร้องภาษาต่างดาว โจเซฟได้ทำเวอร์ชันเนื้อร้องภาษาอังกฤษขึ้นมาด้วย ชื่อ Work it out โดยเขาเป็นผู้ร้องเอง แต่เวอร์ชันนี้ไม่ได้ใช้ในภาพยนตร์และไม่ได้รับการออกจำหน่าย ภายหลัง ในสตาร์วอร์สฉบับพิเศษที่นำกลับมาฉายโรงอีกครั้งในปี ค.ศ.1997 ฉากนี้ถูกเปลี่ยนด้วยการถ่ายทำเสริมและใส่ซีจีเข้าไป เพลง Lapti Nek ที่โจเซฟ วิลเลี่ยมส์เขียนจึงถูกตัดออก และแทนที่ด้วยเพลง Jedi Rock ประพันธ์โดยเจอร์รี่ เฮย์ (Jerry Hey)[40]

ผลงานด้านอื่น

โอลิมปิก

วิลเลี่ยมส์ได้รับการทาบทามให้ประพันธ์เพลงธีมสำหรับใช้ในงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งวิลเลี่ยมส์ได้รับหน้าที่นี้ถึง 4 ครั้งด้วยกัน โดยวิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์เพลงดังต่อไปนี้

-Olympic fanfare and theme ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1984 จัดขึ้นที่ลอสแอนเจลิส (1984 The Summer Olympics, Los Angeles)

-The Olympic Spirit ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1988 จัดขึ้นที่กรุงโซล เกาหลีใต้ (1988 Summer Olympics, Seoul)

-Summon the Heroes ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปีก ปี 1996 จัดขึ้นที่แอตแลนต้า (1996 Summer Olympics, Atlanta)

-Call of the Champions ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2002 จัดขึ้นที่รัฐยูทาห์ (2002 Winter Olympics, Salt Lake City, Utah)

ข่าวโทรทัศน์ NBC

ในปี ค.ศ.1985 วิลเลี่ยมส์ได้รับการทาบทามให้ประพันธ์ดนตรีประกอบสำหรับใช้ในรายการข่าวโทรทัศน์ NBC ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิลเลี่ยมส์ได้ประพันธ์ NBC news: The Mission ขึ้น ประกอบด้วยเพลง NBC Nightly News, The Today Show, Meet the Press และยังมีดนตรีที่ใช้ในรายการแข่งขันฟุตบอลชื่อ NBC Sunday Night Football โดยเพลงเหล่านี้ บางเพลงก็ถูกยกเลิกใช้ บางเพลงก็ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

อื่นๆ

วิลเลี่ยมส์มีผลงานอีกมากมาย ทั้งงานประพันธ์ดนตรีที่ประพันธ์เพื่อการบรรเลงด้วยวงออร์เคสตร้าโดยเฉพาะ ทั้งงาน Concerto, Scherzo, Chamber และดนตรีที่ใช้ในงานเฉลิมฉลอง หรือ สดุดีต่างๆ เช่น Hymn to New England (1987), American Journey (1999) ดนตรีประกอบภาพยนตร์สั้นโดยสตีเว่น สปีลเบิร์ก ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.2000, Fanfare for The President's Own (2013) กับวง United States Marine Band ในโอกาศฉลองครบรอบ 215 ปีของวง เป็นต้น

รายชื่อผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์

ค.ศ.1950

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
1954 You Are Welcome[41][42] ? ภาพยนตร์โปรโมทแนะนำข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวของเมือง Newfoundland
1958 Daddy-O Lou Place ผลงานดนตรีประกอบสำหรับภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรกของวิลเลี่ยมส์

ค.ศ.1960

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
1960 I Passed for White Fred M. Wilcox
Because They're Young Paul Wendkos
1961 The Secret Ways Phil Karlson
Richard Widmark
1962 Bachelor Flat Frank Tashlin
Budd Grossman
1963 Diamond Head Guy Green
Gidget Goes to Rome Paul Wendkos
1964 The Killers Don Siegel
1965 None but the Brave Frank Sinatra
John Goldfarb, Please Come Home! J. Lee Thompson
1966 The Rare Breed Andrew V. McLaglen
How to Steal a Million William Wyler
The Plainsman David Lowell Rich
Not with My Wife, You Don't! Norman Panama
Penelope Arthur Hiller
1967 A Guide for the Married Man Gene Kelly
Valley of the Dolls Mark Robson เข้าชิงรางวัล Oscar (เพลงประกอบ (Song) เขียนโดย André และ Dory Previn)
Fitzwilly Delbert Mann
Heidi ภาพยนตร์ที่ฉายทาง TV
1968 Land of the Giants (ละคร TV) Harry Harris
1969 Daddy's Gone A-Hunting Mark Robson
Goodbye, Mr. Chips Herbert Ross เข้าชิงรางวัล Oscar
The Reivers Mark Rydell

ค.ศ.1970

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
1970 Storia di una donna Leonardo Bercovici ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องเดียวของวิลเลี่ยมส์ ที่ได้ทำดนตรีประกอบให้
Jane Eyre Delbert Mann ภาพยนตร์ที่ฉายทาง TV
1971 Fiddler on the Roof Norman Jewison ชนะรางวัล Oscar สาขาดัดแปลงดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (score adaptation)
1972 The Cowboys Mark Rydell
The Screaming Woman Jack Smight ภาพยนตร์ที่ฉายทาง TV
Images (film) Robert Altman เข้าชิงรางวัล Oscar
The Poseidon Adventure Ronald Neame เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar
Pete 'n' Tillie Martin Ritt
1973 The Long Goodbye Robert Altman
Tom Sawyer Don Taylor เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar กับRobert B. Sherman และ Richard M. Sherman
The Man Who Loved Cat Dancing Richard C. Sarafian
The Paper Chase James Bridges
Cinderella Liberty Mark Rydell เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar
1974 Conrack Martin Ritt
The Sugarland Express Steven Spielberg ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ร่วมงานกับ Steven Spielberg
Earthquake Mark Robson เข้าชิงรางวัล Golden Globe
The Towering Inferno John Guillerman เข้าชิงรางวัล Oscar
1975 The Eiger Sanction Clint Eastwood
จอว์ส Jaws Steven Spielberg ชนะรางวัล Grammy, Golden Globe, BAFTA และ Oscar
1976 Family Plot Alfred Hitchcock ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของฮิตช์ค็อก
The Missouri Breaks Arthur Penn
Midway Jack Smight
1977 Black Sunday John Frankenheimer
สตาร์วอร์ส Star Wars George Lucas ชนะรางวัล Oscar, Golden Globe และ BAFTA เข้าชิง 4 รางวัล Grammy ชนะ 3 รางวัล
มนุษย์ต่างโลก Close Encounters of the Third Kind Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar เข้าชิง 3 รางวัล Grammy ชนะ 2 รางวัล
1978 The Fury Brian De Palma
จอว์ส 2 Jaws 2 Jeannot Szwarc
ซูเปอร์แมน Superman Richard Donner เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar เข้าชิง 3 รางวัล Grammy ชนะ 2 รางวัล
1979 Dracula John Badham
ยุ่นแย็บแยงกี้ 1941 Steven Spielberg

ค.ศ. 1980

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
1980 จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ The Empire Strikes Back Irvin Kershner เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar ชนะรางวัล BAFTA เข้าชิง 5 รางวัล Grammy ชนะ 2 รางวัล
1981 ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า Raiders of the Lost Ark Steven Spielberg ชนะรางวัล Grammy เข้าชิงรางวัล Oscar
Heartbeeps Allan Arkush
1982 อี.ที. เพื่อนรัก E.T. the Extra-Terrestrial Steven Spielberg ชนะรางวัล Golden Globe, Oscar และ BAFTA เข้าชิง 5 รางวัล Grammy ชนะ 3 รางวัล
Yes, Giorgio Franklin J. Schaffner ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย Michael J. Lewis วิลเลี่ยมส์เป็นผู้แต่งเพลงประกอบ ชื่อเพลง "If We Were In Love" เข้าชิงรางวัล Oscar และ Golden Globe สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม
Monsignor Frank Perry
1983 การกลับมาของเจได Return of the Jedi Richard Marquand เข้าชิงรางวัล Grammy และ Oscar
1984 ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 2 ตอน ถล่มวิหารเจ้าแม่กาลี Indiana Jones and the Temple of Doom Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Oscar
The River Mark Rydell เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar
1986 SpaceCamp Harry Winer
1987 ซาตานรับรักเละ The Witches of Eastwick George Miller เข้าชิงรางวัล Grammy และ Oscar
น้ำตาสีเลือด Empire of the Sun Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy, Golden Globe และ Oscar ชนะรางวัล BAFTA
ซูเปอร์แมน 4 Superman IV: The Quest for Peace Sidney J. Furie ดัดแปลงและอำนวยเพลงโดย Alexander Courage เพลงธีมใหม่ 3 เพลง
1988 หยุดถามหัวใจ จะรักใครดี? [[The Accidental Tourist Lawrence Kasdan เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar
1989 ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 3 ตอน ศึกอภินิหารครูเสด Indiana Jones and the Last Crusade Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy และ Oscar
เกิดวันที่สี่กรกฎา Born on the Fourth of July Oliver Stone เข้าชิงรางวัล Grammy, Golden Globe และ Oscar
ไฟฝันควันรัก Always Steven Spielberg

ค.ศ.1990

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
1990 Stanley & Iris Martin Ritt
แหกกฎบริสุทธิ์ Presumed Innocent Alan J. Pakula
โดดเดี่ยวผู้น่ารัก Home Alone Chris Columbus เข้าชิงรางวัล Grammy และสองรางวัล Oscar
1991 อภินิหารนิรแดน Hook Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Oscar และสองรางวัล Grammy
รอยเลือดฝังปฐพี JFK Oliver Stone เข้าชิงรางวัล Oscar
1992 ไกลเพียงใดก็จะไปให้ถึงฝัน Far and Away Ron Howard
โดดเดี่ยวผู้น่ารัก 2 หลงในนิวยอร์ก Home Alone 2: Lost in New York Chris Columbus
1993 จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ Jurassic Park Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy
ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม Schindler's List ชนะรางวัล Golden Globe, Oscar, Grammy และ BAFTA
1995 หัวใจเธอเลือกเอง Sabrina Sydney Pollack เข้าชิงรางวัล Grammy, Golden Globe และสองรางวัล Oscar
นิกสัน ประธานาธิบดีฉาวโลก Nixon Oliver Stone เข้าชิงรางวัล Oscar
1996 คนระห่ำแตก Sleepers Barry Levinson
1997 สงครามล้างแผ่นดิน Rosewood John Singleton
ใครว่ามันสูญพันธุ์ The Lost World: Jurassic Park Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy
7 ปี โลกไม่มีวันลืม Seven Years in Tibet Jean-Jacques Annaud เข้าชิงรางวัล Grammy และ Golden Globe
อมิสตาท หัวใจทาสสะท้านโลก Amistad Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy และ Oscar
1998 เซฟวิ่ง ไพรเวท ไรอัน ฝ่าสมรภูมินรก Saving Private Ryan เข้าชิงรางวัล Golden Globe, Grammy และ Oscar
สองสายใยหนึ่งนิรันดร์ Stepmom Chris Columbus
1999 สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น Star Wars Episode I: The Phantom Menace George Lucas เข้าชิงรางวัล Grammy
แองเจล่า ผู้หญิงชีวิตเหล็ก Angela's Ashes Alan Parker ชนะรางวัล Grammy เข้าชิงรางวัล Golden Globe และ Oscar nominations

ค.ศ. 2000

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
2000 เดอะ แพทริออต ชาติบุรุษ ดับแค้นฝังแผ่นดิน The Patriot Roland Emmerich เข้าชิงรางวัลออสการ์/ทีแรก David Arnold เป็นผู้ทำดนตรีประกอบ เขาได้ลองทำตัวอย่างดนตรีขึ้นมา แต่ไม่เป็นที่ถูกใจของผู้สร้าง จึงได้ทาบทามวิลเลี่ยมส์ให้มารับหน้าที่แทน
2001 จักรกลอัจฉริยะ A.I. Artificial Intelligence Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Golden Globe, Grammy และ Oscar
แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ Harry Potter and the Sorcerer's Stone Chris Columbus เข้าชิงรางวัล Oscar และสองรางวัล Grammy
2002 สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 2: กองทัพโคลนส์จู่โจม Star Wars Episode II: Attack of the Clones George Lucas
หน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต Minority Report Steven Spielberg
แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ Harry Potter and the Chamber of Secrets Chris Columbus เข้าชิงรางวัล Grammy/ดัดแปลงและอำนวยเพลงโดย William Ross
จับให้ได้ถ้านายแน่จริง Catch Me If You Can Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy และ Oscar
2004 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน Harry Potter and the Prisoner of Azkaban Alfonso Cuarón
ด้วยรักและมิตรภาพ The Terminal Steven Spielberg
2005 สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 3: ซิธชำระแค้น Star Wars Episode III: Revenge of the Sith George Lucas เข้าชิงสองรางวัล Grammy
อภิมหาสงครามล้างโลก War of the Worlds Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Grammy
นางโลมโลกจารึก Memoirs of a Geisha Rob Marshall เข้าชิงรางวัล Oscar ชนะรางวัล Golden Globe และ BAFTA เข้าชิงสองรางวัล Grammy ชนะหนึ่งรางวัล
มิวนิก Munich Steven Spielberg เข้าชิงรางวัล Oscar, เข้าชิงสองรางวัล Grammy ชนะหนึ่งรางวัล
2008 ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 4: อาณาจักรกะโหลกแก้ว Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull เข้าชิงสองรางวัลแกรมมี่ ชนะหนึ่งรางวัล

ค.ศ. 2010

ปี ค.ศ. เรื่อง ผู้กำกับ หมายเหตุ
2011 การผจญภัยของตินติน The Adventures of Tintin Steven Spielberg เข้าชิงรางวัลแกรมมี่และออสการ์ ชนะรางวัล Annie Awards

นี่เป็นผลงานดนตรีประกอบแอนิเมชันเรื่องแรกของวิลเลี่ยมส์

ม้าศึกจารึกโลก War Horse เข้าชิงราวัล Oscar, Golden Globe และ BAFTA
2012 ลินคอล์น Lincoln เข้าชิงรางวัล Oscar, Golden Globe, BAFTA และ Grammy
2013 จอมโจรหนังสือ The Book Thief Brian Percival เข้าชิงรางวัล Oscar, Golden Globe และ BAFTA ชนะรางวัล Grammy สาขา Best Instrumental Composition.
2015 สตาร์ วอร์ส: อุบัติการณ์แห่งพลัง Star Wars: The Force Awakens J.J. Abrams เข้าชิงรางวัล Oscar และ BAFTA ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของแอบรัมส์ที่ไม่ได้ทำดนตรีประกอบโดย Michael Giacchino
2016 ยักษ์ใหญ่หัวใจหล่อ The BFG Steven Spielberg

อ้างอิง

  1. "Boston Pops - John Williams", bso.org; retrieved November 29, 2015.
  2. "Nominee Facts - Most Nominations and Awards", Academy of Motion Picture Arts and Sciences; retrieved November 29, 2015.
  3. "John Williams, el compositor de la aventura". Revista Esfinge. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  4. "John Williams, el compositor de la aventura". Revista Esfinge. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  5. 5.0 5.1 Sony Classical Williams Biography ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (archived ตุลาคม 12, 2007). at www.sonybmgmasterworks.com; retrieved September 29, 2007.
  6. Los Angeles City College website, lacitycollege.edu; accessed December 28, 2015.
  7. Barrett, Heather (2015-09-30). "Star Wars composer John Williams' first score a 1952 Newfoundland film". CBC News. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  8. Barton, Tom. A Musical Biography of John Williams. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  9. Casey, Dan (2015-11-01). 100 Things Star Wars Fans Should Know & Do Before They Die. Triumph Books. ISBN 1633193454. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  10. Don Williams profile, imdb.com; accessed October 9, 2015.
  11. Films & Filming, vol. 24, 1977, p. 32
  12. Tribute to John Williams, ca. 1991.
  13. John Williams Biography at FilmReference.com.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 "Academy Awards and Nominations". John Williams Web Pages. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  15. "'Star Wars Episode 7': John Williams Will Probably Score the Sequel, According to J. J. Abrams". Moviefone. 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  16. Richards, Mark (2015-11-30). "Celebrating Star Wars Themes Part 4". Film Music Notes. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  17. Richards, Mark (2015-11-30). "Celebrating Star Wars Themes Part 5". Film Music Notes. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  18. Richards, Mark (2015-11-30). "Celebrating Star Wars Themes Part 6". Film Music Notes. สืบค้นเมื่อ 2015-12-31.
  19. "The Adventures of Tintin: The Secret of the Unicorn (John Williams)". Filmtracks. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  20. "War Horse (John Williams)". Filmtracks. 2011-11-21. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  21. "The Adventures of Tintin: The Secret of the Unicorn (John Williams)". Moviecues.com. 2011-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  22. "War Horse (John Williams)". Moviecues.com. 2011-12-04. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  23. "The Adventures Of Tintin: The Secret Of The Unicorn – John Williams". Moviemusicuk.us. 2011-10-23. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  24. "The Adventures of Tintin: The Secret of the Unicorn soundtrack review". movie-wave.net. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  25. "Winners for the 84th Academy Awards". Oscars.org. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
  26. "Nominee Facts - Most nominations and Awards", Academy Awards Database, Retrieved November 30, 2015
  27. "2013 Academy Award Nominees Announced". mediaite.com. 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-01-10.
  28. "Williams confirms he will score Episode VII". jwfan.com. 2013-05-23. สืบค้นเมื่อ 2013-05-23.
  29. "Oscar Nominations 2016: Star Wars: The Force Awakens". oscars.go.com. 2016-01-14. สืบค้นเมื่อ 2015-01-14.
  30. "Thomas Newman Replaces Williams on "Bridge of Spies"". jwfan.com. March 18, 2015. สืบค้นเมื่อ March 18, 2015.
  31. "Williams, John biography". สืบค้นเมื่อ May 6, 2007.
  32. "John Williams Film Music Box Biography Discography News". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ May 6, 2006.
  33. "AFI 100 Years of Film Scores". Web.archive.org. 2007-10-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-22. สืบค้นเมื่อ 2011-09-05.
  34. "John Williams Tapped for 44th AFI Life Achievement Award". Variety. สืบค้นเมื่อ 2015-10-08.
  35. "Boston College Fact Book, 1998-1999" (PDF). สืบค้นเมื่อ August 28, 2015.
  36. "IOC awards the Olympic Order to John Williams". IOC. May 1, 2003. สืบค้นเมื่อ December 19, 2011.
  37. "Remarks by the President at Presentation of the National Humanities Medal and the National Medal of the Arts | The White House". February 25, 2010. สืบค้นเมื่อ July 4, 2011.
  38. "John Williams Net Worth". TheRichest.
  39. "Full cast and crew for Stars Wars Episode VI: Return of the Jedi". IMDb.com. สืบค้นเมื่อ 2013-08-10.
  40. {{cite web|url= http://www.filmtracks.com/titles/jedi.html
  41. http://www.jwfan.com/forums/index.php?showtopic=23977
  42. http://fpdownload.adobe.com/strobe/FlashMediaPlayback.swf?src=http://collections.mun.ca/videos/extension/image/2603.mp4

แหล่งข้อมูลอื่น