ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Looknarm (คุย | ส่วนร่วม)
Jadenarong (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 250: บรรทัด 250:
* [http://www.thaihoo.com/Olympiad/APhO/APhO4/thai/profile_thai.htm thaihoo.com ชีวประวัติ]
* [http://www.thaihoo.com/Olympiad/APhO/APhO4/thai/profile_thai.htm thaihoo.com ชีวประวัติ]
* [http://www.hrh84yrs.org สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์]
* [http://www.hrh84yrs.org สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์]
* [http://www1.matichonmultimedia.com/~matichon/news_detail.php?id=15408 พระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ]
* [http://www1.matichonmultimedia.com/~matichon/news_detail.php?id=15402 ประมวลพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ]


{{รางวัลนราธิป}}
{{รางวัลนราธิป}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 19:19, 3 มกราคม 2551


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระนามเต็ม ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลเรือเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ประสูติ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
สิ้นพระชนม์ 2 มกราคม พ.ศ. 2551
พระบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระมารดา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลเรือเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ประสูติ: 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466กรุงลอนดอน [1] สิ้นพระชนม์: 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 02.54 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร สิริพระชนมายุ 84 พรรษา) ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา และด้านการถ่ายภาพ

พระประวัติ

พระประสูติกาล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ[2] เป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวาย คือ May ซึ่งเป็นเดือนที่พระองค์ประสูติ ต่อมา เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา[3]

การศึกษา

ในปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมด้วยครอบครัวมหิดลไปยัง บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ณ ที่นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School) หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว ทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทย และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี

จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) จนจบระดับประถมศึกษา หลังจากนั้น สมเด็จพระราชชนีได้ย้ายมาพักที่เมืองปุยยี โดยพระองค์ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ณ ที่นั้น พระองค์ได้เรียนภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย ต่อมา ทรงย้ายมาเรียนที่ International School of Geneva ณ กรุงเจนีวา ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplime de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา ด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ยังคงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย[4]

ไฟล์:กัลยาณิวัฒนา.jpg
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงฉายพร้อมท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา
ไฟล์:Princess06.jpg
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงฉายพร้อมท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา และร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดา
ตราสัญลักษณ์ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชโสธรเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงประกาศเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478[5] [6]

ทรงเสกสมรส

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์[7] เพื่อสมรสกับ พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2487[6] พระองค์มีพระธิดา คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม มีบุตรชาย คือ คุณจิทัศ ศรสงคราม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระพี่นางกัลยาณิวัฒนาทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทและทรงมีอุปการคุณแด่พระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าพี่นางกัลยาณิวัฒนากลับทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ[8]

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเสกสมรสอีกครั้งกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมระวี ไกยานนท์)

ทรงกรม

ในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้ง ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไป[9] จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[10] ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกในรัชกาล โดยมีการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง

ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกุรณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษา 84 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้จัดทำนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า แสงหนึ่งคือรุ้งงาม[11]

สิ้นพระชนม์

ในวันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 02.54 น. สิ้นพระชนม์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช หลังจากเข้ารับการรักษาพระองค์จากโรคมะเร็งและอาการพระสมองตายนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สิริพระชันษา 84 ปี [12][13][14][15]

พระกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปีพุทธศักราช 2520 ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นเอนกประการทั้งในด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์และสาธารณสุขจนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 10 กว่าแห่งและองค์การระหว่างประเทศ จึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ รัฐบาลฝรั่งเศส และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) [16]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[17] โดยเฉพาะที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ประจำนานถึง 8 ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศเอง และทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม[18]

ทั้งยังทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปัจจุบัน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุกๆ ครั้ง[16]

ไฟล์:Royal sister at CU-Art.jpg
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อครั้งทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2501

ด้านการสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการพัฒนาท้องถิ่นชนบท และการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[19] ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัด จึงทรงเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่ง ในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช และชุมชนเพชรเกษม 104 เป็นต้น ทรงห่วงใยเด็กและครอบครัวในชุมชนแออัด ทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมให้อยู่ในพระอุปถัมภ์[20] มีผลให้เกิดโครงการพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเด็กในชุมชนและโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก กองทุนนมและอาหารเสริม และ กองทุนงบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนั้นยังช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี[21]

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

พระองค์ยังทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ชื่อย่อ พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว รวมทั้งมูลนิธิโรคไต และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูประถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[22]

นอกจากนี้ยังได้ทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงานอาทิเช่น สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเด็กโรคหัวใจแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน กองทุนหมอเจ้าฟ้า มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา ฯลฯ

ด้านการต่างประเทศ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเสด็จเยือนต่างประเทศ ๆ ตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการ และเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย โดยทรงศึกษาข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม ของประเทศที่จะทรงเสด็จเยือน รวมถึงเรื่องข่าวสารเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงให้ข้อมูลด้านต่างๆ เกี่ยวกับประเทศนั้นกับผู้จัดทำ อีกทั้งตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง[23]

ด้านการศาสนา

พระกรณียกิจสำคัญด้านพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งและองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เพื่อพระราชทานแด่นานาประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548[24]

นอกจากนี้ยังทรงเจริญพระศรัทธาปสาทะ ในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จไปในการพระราชกุศลตามคำกราบทูลเชิญอยู่มิเคยขาด โดยมิได้ทรงเลือกว่าเป็นวัดที่ใหญ่โตหรือวัดเล็ก ไม่มีชื่อเสียงแต่ประการใด หรือแม้แต่วัดที่อยู่ในถิ่นธุรกันดารก็ตาม ดังที่ปรากฏเมื่อครั้งที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะเยาวชนกลุ่มเยาวชนร่มฉัตรน้อมเกล้าฯ อัญเชิญเครื่องพระกฐินส่วนพระองค์ พร้อมตาลปัตรจารึกอักษรพระนามย่อไปทอดถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ อาวาสวิหารวัดเขาแก้ววิเชียร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้น[25]


ด้านศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระพี่นางฯพระราชทานวโรกาสฉายพระรูปกับนักดนตรีทุน 19 คน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาศราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมงานแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรีคลาสสิค ละครอุปรากร ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงประจำปี และวงดนตรี เช่น วงดุริยางค์เยาวชนไทย และเมื่อครั้งวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา แม้ว่าจะทรงมีอาการประชวรได้ทรงเสด็จชมการแสดง "คอนเสิร์ตพระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" โดย 19 นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 โดยมี คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ เป็นประธานในการจัดงาน และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม โดย คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรวมตัวครั้งแรกของนักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อแสดงความกตัญูกตเวทิตาที่ได้รับพระราชทานความเมตตาสนับสนุนทุนในการศึกษาดนตรี โดยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ ที่ทรงช่วยเหลือส่งเสริมนักดนตรีคลาสสิกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา [26] ด้านดนตรีทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของ วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเสด็จทอดพระเนตรการแสดงในหลายโอกาส [27]

ทั้งทรงพระราชทานชื่อโรงละครโจหลุยส์ว่า “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” และได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงละครและศิลปินแห่งชาติครูสาคร ยังเขียวสด ซึ่งคณะละครโจหลุยส์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดโรงละครที่สวนลุมไนท์บาซาร์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 [28]

พระอัจฉริยภาพ

พระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ได้ทรงริเริ่มออกวารสาร "รื่นรมย์" โดยได้ชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่อง ตั้งแต่พระชนมายุประมาณ 9 ชันษา ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการและทรงเขียนบทความลงวารสารด้วย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษ และเรียบเรียงเรื่อง "นิทานสำหรับเด็ก" ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2475[29]

พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่เสด็จประพาส ได้แก่ ยูนนาน ที่ไซบีเรียหนาวไหม จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ เป็นต้น

พระนิพนธ์

ไฟล์:Galyani Vadhana colored emblem.jpg
ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์
  • จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500) [30]
  • แม่เล่าให้ฟัง (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2523, 204 หน้า)
  • พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524)
  • เวลาเป็นของมีค่า (Busy Fingers) (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527, 150 หน้า)
  • เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2530, 290 หน้า)
  • ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า (Postcard Games) (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2538, 270 หน้า)
  • เจ้าฟ้าทหารเรือ พ.ศ. 2454 ถึง พ.ศ. 2458 (1933-1936) (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535, 215 หน้า)
  • ตราแผ่นดิน ตราราชสกุลและสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535, 62 หน้า)
  • สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และงานศิลปะ (Prince Mahidol and Art) (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2538, 59 หน้า)
  • จดหมายเหตุชาวบ้าน : ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์ (Popular chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother) (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2539, 600 หน้า)
  • ส่งเสด็จสมเด็จย่า ประมวลเรื่องจากหนังสือพิมพ์ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2539, 464 หน้า)

พระนิพนธ์แปล

พระนิพนธ์ท่องเที่ยว

  • ยูนาน : Yunnan
  • 1 โหลในเมืองจีน (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2528, 203 หน้า)
  • สายธารอารยธรรมจีน : 7 ธานีแห่งอาณาจักรกลาง (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2531, 377 หน้า)
  • จากโคริโอสู่โคเรีย 8 วันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2531, 168 หน้า)
  • ภูฐานเกาะเขียวบนแผ่นดิน : Bhutan : green island on land (2532, 203 หน้า)
  • ที่ไซบีเรียหนาวไหม : Is It Cold in Siberia (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2533, 297 หน้า)
  • ซินเจียง และกานซู ภาพจากดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียว : Xinjiang and Gansu Pictures from far away places (2533, 270 หน้า)
  • ตุรกี ดินแดนจักรพรรดิโรมันและล่าสุลต่านออตโตมัน : Turkey land of the Roman emperors and Ottoman sultans (ปีที่พิมพ์ 2533, 438 หน้า)
  • จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด (2537, 290หน้า)
  • จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2540, 312 หน้า)
ไฟล์:King sister03 181.jpg
ทรงฉายต่อหน้าเครื่องบินปีก 2 ชั้น ที่ทรงขับ

พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงสนพระทัยและทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ เล่นสกี ,กรรเชียงเรือ ,ตกปลา ,ขี่จักรยาน ,เดินภูเขา และทรงม้าผาดโผน เป็นต้น ส่วนแบดมินตันนั้น ได้ทรงเล่นตามอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากทรงร่วมเล่นแล้ว ยังทรงสนับสนุนนักแบดมินตันหลายคนให้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งยังทรงสนพระทัยเรื่องการขับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไก และรถสามล้อ[16]

ทรงมีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย โดยทรงเรียนการบินเป็นนักบินหญิงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้การใช้กล้องบันทึกภาพ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่ทรงบันทึกภาพโดยมีจุดประสงค์ทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ ไม่ว่าจะทรงเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทรงบันทึกภาพที่สนพระทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์ เมื่อทรงจัดทำพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้แต่การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆ ก็จะพระราชคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย[32]

พระเกียรติคุณ

พระอิสริยยศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดังต่อไปนี้[33]

พระยศทางทหาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระยศทหารและแต่งตั้งนายทหารชั้นพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ แก่พระองค์ เป็นลำดับมาดังนี้[34]

ปูพระพี่นาง

ปูพระพี่นาง เป็นปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงาม มี 3 สี คือ สีแดงเลือดนก แดงส้ม และสีขาว โดยกระดองมีสีแดงเลือดนก ขอบของกระดอง ขอบเบ้าตา และริมฝีปากเป็นสีแดงส้ม ขาเดินทั้ง 4 คู่ เป็นสีแดงเลือดนก ยกเว้นตรงปลายประมาณ 1 ใน 3 ของก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กระดองขนาดกว้างประมาณ 4.6 ซม. ค้นพบเป็นปูชนิดใหม่ของโลก ที่บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยนายมงคล วงศ์กาฬสินธุ์ นักวาดรูปนก เป็นผู้พบและเก็บตัวอย่างปูชนิดใหม่นี้ได้ ที่บริเวณฝั่งลำห้วย ต.ท่าแฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ เมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดย ศ.ไพบูลย์ นัยเนตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ที่ทรงมีที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอเนกอนันต์ พระองค์เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบกับทรงเป็นองค์ประธานสนับสนุน การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกของประเทศไทย[35]

หลังจากนั้นทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นชื่อไทยของปูชนิดใหม่นี้ว่า “ปูพระพี่นาง” [36] มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ของปูว่า Potamon galyaniae มีชื่อสามัญว่า Crimson Crab และได้รับพระราชานุญาต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยจะทำการพิมพ์เผยแพร่ปูที่พบใหม่นี้ในวารสารต่างประเทศชื่อ Crustaceana , International Journal of Crustacean Research[35]

สถานที่ตั้งในพระนาม

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและตราไปรษณียกร

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก

เหรียญที่ระลึก 6 รอบ
เหรียญที่ระลึก 80 พรรษา
เหรียญที่ระลึก 84 พรรษา

กรมธนารักษ์ ออกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในวโรกาสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชนมายุ 6 รอบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ตราไปรษณียกร

การสื่อสารแห่งประเทศไทย ออกตราไปรษณียากร ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในวโรกาสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[37]

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 80 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา - เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ ทรงประทับยืน ฉลองพระองค์เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์
  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา - เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์

อ้างอิง

  1. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับกาญจนาภิเษก, พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  2. ศาสตรจารย์ ดร.สิทธา พินิจภูวดล, พระอัจฉริยภาพด้านการนิพนธ์ นิตยสารสกุลไทยฉบับที่ 2691 ปีที่ 52 ประจำวัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2549
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า, เล่ม ๔๔, ตอน ๐ก, ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า๒๕๓
  4. การศึกษา จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระเกียรติยศ พระราชปิตุจฉา พระเชษฐภคินีและพระอนุชา, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ง, ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘, หน้า ๑๑๗๘
  6. 6.0 6.1 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2548. 136 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-746-7
  7. ราชกิจจานุเบกษา, กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑, หน้า ๑๔๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, เล่ม ๖๗, ตอน ๑๘ก, ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓, หน้า ๓๙๖
  9. การทรงกรม จาก เวปไซต์ โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เล่ม ๑๑๒, ตอน พิเศษ ๑๔ ง, วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑
  11. แสงหนึ่งคือรุ้งงาม
  12. กรุงเทพธุรกิจ, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯสิ้นพระชนม์ เมื่อ 02.54น.วันที่ 2ม.ค., 2 มกราคม พ.ศ. 2550
  13. ไทยรัฐ, พระเจ้าพี่นางเธอฯสิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา02.54น.วันที่2ม.ค., 2 มกราคม พ.ศ. 2550
  14. CNN News, Sister of Thai king dies at 84 after long illness
  15. BCC News,Thais mourn revered king's sister
  16. 16.0 16.1 16.2 84 พระชันษาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  17. รายงานพิเศษ : พระประวัติ-พระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2551 13:14 น.
  18. พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ nationchannel.com
  19. สื่อต่างชาติเสนอข่าว "พระพี่นางเธอฯ" สิ้นพระชนม์ ยกย่องพระกรณียกิจ โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2551 09:04 น.
  20. "พระพี่นางฯ"มีพระอาการไข้ แพทย์ถวายการรักษาใกล้ชิด matichon.co.th
  21. การสังคมสงเคราะห์ จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  22. พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
  23. การสัมพันธไมตรีต่างประเทศ จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  24. พระราชกรณียกิจเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลสู่โลก โดย คม ชัด ลึก วัน พุธ ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 00:00 น.
  25. พระกฐินส่วนพระองค์
  26. หนังสือพิมพ์แนวหน้า 25 กรกฏาคม 2550คอนเสิร์ตพระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม
  27. จดหมายข่าว จุฬาสัมพันธ์ 24 ตุลาคม 2548 หน้า 12[1]
  28. เว็บไซต์ท่องเที่ยว Thailanddives เสมือนจริง เหนือจินตนาการกับหุ่นละครเล็กโจหลุยส์
  29. นิทานสำหรับเด็ก school.net.th
  30. "พระนิพนธ์" ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
  31. มธ.จัดเทิดพระเกียรติพระพี่นางฯ84พรรษา เตรียมเผยแพร่สุดยอดผลงานแปล "ราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน"
  32. รายงานพิเศษ : “สมเด็จพระพี่นางฯ”...ของปวงชนชาวไทย โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤษภาคม 2548 14:33 น.
  33. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  34. พระยศทางทหาร จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  35. 35.0 35.1 ปูพระพี่นาง จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  36. มหัศจรรย์...ปูกางร่ม สัตว์ฉลาด..ใช้ใบไม้ปกป้อง กันภัย 26 มิ.ย. 50 - 00:24
  37. ตราไปรษณียากร จาก เว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น