ผลต่างระหว่างรุ่นของ "แอนดี วอร์ฮอล"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
2ndoct (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: เครื่องมือแก้ไขต้นฉบับปี 2560
2ndoct (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 299: บรรทัด 299:
* สุนพงษ์ศรี, กำจร. “ศิลปะสมัยใหม่”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. หน้า 506-509. ISBN 978-974-03-2765-3
* สุนพงษ์ศรี, กำจร. “ศิลปะสมัยใหม่”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. หน้า 506-509. ISBN 978-974-03-2765-3
* พิตรปรีชา, จิระพัฒน์. “โลกศิลปะศตวรรษที่ 20”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. เมืองโบราณ, 2552. หน้า 272-274 ISBN 978-974-73-8539-7
* พิตรปรีชา, จิระพัฒน์. “โลกศิลปะศตวรรษที่ 20”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. เมืองโบราณ, 2552. หน้า 272-274 ISBN 978-974-73-8539-7
{{รายการอ้างอิง}}


{{เรียงลำดับ|วอร์ฮอล}}
{{เรียงลำดับ|วอร์ฮอล}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:34, 10 มีนาคม 2562

แอนดี วอร์ฮอล
แอนดี วอร์ฮอลและอาร์ชี่ โดย เจค มิทเชล ปี 1973
เกิดแอนดรูว์ วาร์โฮลา จูเนียร์
6 สิงหาคม ค.ศ. 1928(1928-08-06).
พิตส์เบิร์ก, เพนซิลเวเนีย, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิตกุมภาพันธ์ 22, 1987(1987-02-22) (58 ปี)
เมืองนิวยอร์ก, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน.
การศึกษาสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี (มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน)
มีชื่อเสียงจากภาพพิมพ์, จิตรกรรม, ภาพยนตร์, ภาพถ่าย
ขบวนการป็อปอาร์ต.

แอนดี วอร์ฮอล (อังกฤษ: Andy Warhol) เป็นศิลปินชาวอเมริกัน เขาเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มศิลปะแนวป็อปอาร์ต (pop art) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของงานแนวนี้ งานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในเรื่อง คนดัง วงการบันเทิง และการโฆษณาซึ่งกำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาในช่วงยุค 60 หลังจากการประสบความสำเร็จในงานวาดภาพประกอบ แอนดีก็กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงตามที่เขาหวังเอาไว้ งานของแอนดีมีหลายประเภทตั้งแต่งานมีเดียไปจนถึง ภาพเขียน ภาพจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพพิมพ์สกรีน ประติมากรรม ภาพยนตร์ และดนตรี นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปินรุ่นแรกๆที่นำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานศิลปะด้วย

นอกจากงานเหล่านี้แล้วแอนดียังเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารและเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม อาทิ เช่น The Philosophy of Andy Warhol และ Popism: The Warhol Sixties แม้ในช่วงระยะหลังของชีวิตแอนดีจะไม่ค่อยทำงานศิลปะออกมามากเท่าไหร่ แต่เขาก็ยังคงมีงานในด้านอื่นๆ ออกมาให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น งานโฆษณา หรือ งานแสดงที่เขาได้รับเชิญจากภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง เรือรักเรือสำราญ (Love Boat) และนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จของเขา หลังจากการแสดงงานครั้งสุดท้ายในยุโรป เมื่อกลับมานิวยอร์กได้ระยะหนึ่ง แอนดีก็เสียชีวิตลงในปี 1987

ชีวิตในพิตส์เบิร์ก (1928-1949)

“บ้านของครอบครัววาร์โฮลาในพิตส์เบิร์ก”

แอนดี วอร์ฮอล หรือ แอนดรูว์ วาร์โฮลา จูเนียร์ (Andrew Varchola, Jr.) เกิดในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1928 ในเมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา[1] เขามีเชื้อสายชาวสโลวัก หรือ สโวเกีย มีบิดาคือ นายอันเดรจ์ วาร์โฮลา (Ondrej Varchola) เป็นชาวสโลวักที่เกิดในรูธเนีย (Ruthenia) เมืองเล็กๆตรงแถบเชิงเขาคาร์ปาเธียน (Carpathian) ตรงชายแดนรอยต่อระหว่างสโลวักและยูเครน พ่อของแอนดีอพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1912 เนื่องจากความขัดสน เขามีความฝันเช่นเดียวกับชาวยุโรปคนอื่นๆที่ต้องการอพยพเข้าสู่แผ่นดินแดนแห่งโลกใหม่ (New World) หรือ สหรัฐอเมริกา ก็เพื่อแสวงหาโชคลาภและโอกาส ส่วนมารดาคือ จูเลีย (Júlia) เธออพยพติดตามเข้ามาหลังจากที่อันเดรจ์เดินทางมาแล้วจากนั้นอีก 9 ปี ทั้งสองแต่งงานกันก่อนที่จะเดินทางอพยพกันมาที่สหรัฐอเมริกา พวกเขามีลูกชายด้วยกัน 3 คน แอนดีเป็นลูกคนกลาง เขามีพี่ชายคนหนึ่งชื่อว่า พอล (Paul) และน้องชายอีกคนคือ จอห์น (John) พ่อของแอนดีทำงานหลายอย่างตั้งแต่ช่างก่อสร้าง คนงานเหมืองถ่านหิน คนงานโรงงานผลิตรถยนต์ แม้กระทั่งเป็นคนงานในโรงถลุงเหล็ก เขาตระเวนย้ายงานไปหลายเมืองตามแต่ที่จะหางานได้ เพื่อให้ได้รายได้เพิ่มพูนมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากนัก ส่วนแม่ของเขานั้นมีฝีมือทางด้านประดิษฐ์งานหัตถศิลป์ เป็นช่างประดิษฐ์งานฝีมือทำของชนพื้นเมืองท้องถิ่นทางสโลวักขายเป็นรายได้เสริมอีกทาง แม่ของเขาจึงรับหน้าที่ดูแลลูกอยู่เพียงลำพังเสมอๆ จนดูคล้ายกับว่าครอบครัววาร์โฮลานั้นมีกันเพียง 4 คนแม่ลูกเท่านั้น

เมื่อแอนดีอายุได้ 6 ขวบ ในปี 1936 นั้น แอนดี ก็ป่วยด้วยโรคติดเชื้อที่ไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการทางระบบประสาทที่คนไทยเรียกว่า "สันนิบาตลูกนก" ซึ่งมีอาการทำให้ร่างกายบิดเบี้ยวผิดรูปร่างและผิวหนังซีดเผือดเนื่องจากความผิดปรกติของการผลิตเลือด ทำให้แอนดีต้องนอนพักรักษาตัวอยู่แต่บนเตียงนอนเป็นเวลากว่า 10 สัปดาห์และทานอะไรไม่ได้เลยนอกจากข้าวเหลวๆและช็อกโกแลตทำให้ร่างกายของเขาผ่ายผอมมาตั้งแต่เด็ก ตลอดช่วงเวลาที่นอนป่วยอยู่แต่บนเตียงนี้ แอนดีต้องฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือ ในช่วงนี้เองที่แอนดีเริ่มอ่านการ์ตูนซึ่งมากขึ้นๆเรื่อยๆจนกลายเป็นการสะสมซึ่งเขาก็เริ่มชอบมาตั้งแต่นั้น ภายหลังจากหายป่วย เมื่อกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนในปี 1937 ครูของแอนดีก็ได้แนะนำให้เขาบำบัดสุขภาพด้วยการทำงานศิลปะ ต่อมาครูของแอนดีก็ได้แนะนำให้เขาสมัครเข้าเรียนพิเศษในวิชาศิลปะที่คาร์เนกีมิวเซียม (Carnegie Museum) ในวันหยุดสุดสัปดาห์ แอนดีเรียนในระดับไฮสคูลที่เชนลี ไฮ (Schenley High) ในพิตส์เบิร์ก และเมื่ออายุได้ 14 ปี พ่อของเขาก็เสียชีวิตลงในปี 1942 พ่อของแอนดีป่วยด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบเนื่องจากการดื่มเหล้าจัดซึ่งป่วยติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ก่อนที่จะเสียชีวิตพ่อของแอนดีทำงานหนักและสุขภาพไม่ค่อยดี อันเป็นผลสืบเนื่องมาถึงลูกๆเป็นกรรมพันธุ์ด้วย โดยเฉพาะกับแอนดีที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก

ในช่วงที่แอนดีศึกษาอยู่ไฮสคูลนั้น เขาก็คอยช่วยครอบครัวด้วยการทำงานพิเศษ แอนดีเคยรับจ้างทำงานให้กับร้านขายของและยังช่วยจัดตกแต่งการวางสินค้าและหน้าร้านซึ่งบางทีเขาก็ช่วยแม่นำงานประดิษฐ์ออกไปขายที่ร้านด้วยเช่นกัน และในปี 1945 นั้น แอนดีก็จบการศึกษาในระดับไฮสคูล แอนดีเข้าเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี (Carnegie Institute of Technology) ในพิตส์เบิร์กซึ่งในปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ไปแล้ว แอนดีเลือกเรียนสาขาวิชาจิตรกรรมและการออกแบบที่สถาบันแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับศิลปินที่มีชื่อของสหรัฐอเมริกาอีกหลายคน เช่น บัลคอมบ์ กรีน (Balcomb Greene), โรเบิร์ต เลปเปอร์ (Rorbert Lepper), ซามูเอล โรเซนเบิร์ก(Samule Rosenberg) และโฮเวิร์ด วอร์เนอร์ (Howard Worner)

ในช่วงระหว่างการศึกษานี้อีกเช่นกันที่แอนดีก็ยังคงช่วยหารายได้เข้าครอบครัว ด้วยการออกไปทำงานที่ร้านขายสินค้าชำของ โจเซฟ ฮอร์น(Joseph Horne) ในเมืองและช่วงนี้เองที่แอนดีเริ่มมีฝีมือในการวาดภาพบ้างแล้ว เขาได้ลองออกแบบการ์ดอวยพรออกวางขายที่ร้านและยังได้วาดภาพแบบพอร์เทรต (Portrait) หรือภาพเหมือนบุคคลต่างๆ โดยเริ่มต้นจากบุคคลใกล้ตัวก่อนโดยเฉพาะเพื่อนสนิทของเขา โดยเขามักจะวาดภาพของเพื่อนมอบให้ไปติดที่บ้านเสมอๆ และในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นบรรณาธิการฝ่ายภาพของนิตยสารประจำมหาวิทยาลัยชื่อ “คาโร (Caro)” ซึ่งนับเป็นการทำงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกของเขานั้นเอง

มุ่งสู่มหานครนิวยอร์ก

1949-1957

ในปี 1949 หลังจบการศึกษาที่คาร์เนกีเทคโนโลยี แอนดีและฟิลลิป เพิร์ลสไตน์ (Phillip Pearlstein) เพื่อนสนิทของเขาก็ชักชวนกันออกไปหาประสบการณ์ในนิวยอร์ก ทั้งสองเช่าอพาร์ตเมนต์เล็กตั้งอยู่ที่เซนต์ มาร์ค (Saint Mark) ในเขตแมนฮัตตัน (Manhattan) โดยแอนดีได้เริ่มต้นหางานในนิวยอร์กด้วยการวาดภาพประกอบ (Illustration) ส่งให้กับนิตยสารต่างๆในนิวยอร์ก เขาต้องเทียวเข้าเทียวออกไปทั่วเมืองกับปึกตัวอย่างผลงานปึกใหญ่ของเขา ซึ่งสุดท้ายก็มักจะพบคำตอบว่าให้รอติดต่อกลับเสมอๆ งานชิ้นแรกของแอนดีเป็นงานวาดภาพประกอบให้กับนิตยสารแกลเมอร์ (Glamour) และหลังจากนั้นเขาก็เป็นนักวาดภาพประจำให้กับนิตยสารตั้งแต่นั้น และในภายหลังแอนดีก็ยังมีโอกาสได้งานวาดภาพให้กับนิตยสารเล่มอื่นๆอีกด้วย เช่น โว็ก (Vogue), เซเวนทีน (Seventeen) และ ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ (Harper’s Bazaar) และในระหว่างนี้เองที่แอนดีก็ได้เริ่มเปลี่ยนจากชื่อเต็มของเขามาเป็น “แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol)” ลงเป็นลายเซ็นในภาพเขียนต่างๆของเขาแทนชื่อเดิมของเขา

เมื่อผลงานของแอนดีเป็นที่รู้จักกันในวงการนักวาดภาพประกอบอย่างแพร่หลายแล้ว ในที่สุดเขาก็ได้รับรางวัลเหรียญตราจากชมรมผู้กำกับศิลป์อเมริกัน (American Art Directors Club) และการประกาศเกียรติคุณจากสถาบันกราฟิก อาร์ต อเมริกัน (American Institute of Graphic Arts) ในช่วงระหว่างปี 1956 – 57 นอกจากงานวาดภาพประกอบแล้ว แอนดีก็ทำงานในด้านพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) แทบทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ทั้ง งานออกแบบการ์ดอวยพร ออกแบบปกหนังสือและปกแผ่นเสียง ออกแบบโฆษณาสินค้าไปจนถึงตกแต่งวินโดว์ (Window) หน้าร้านขายสินค้าให้กับห้าง บอนวิต เทลเลอร์ (Bonwit Teller) งานที่ทำรายได้เป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกของเขาก็คืองานออกแบบทำโฆษณารองเท้าให้กับบริษัท ไอ มิลเลอร์ (I” Miller) ที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดให้กับเขา เมื่อรายได้เริ่มดีขึ้นจนแอนดีสามารถหารายได้กว่าปีละ 1 หมื่นดอลลาร์ แอนดี และฟิลลิป เพิร์ลสไตน์ ก็ย้ายไปอยู่ที่ห้องเช่าแห่งใหม่บนถนน เวสต์ 23 (West 23 Street) ในแมนฮัตตัน

“ที่พักและสตูดิโอของแอนดีที่ถนนเลกซิงตัน”

และในปี 1952 นั้นเอง แอนดีก็ได้จัดงานแสดงภาพเขียนของเขาขึ้นเป็นครั้งแรกที่ ฮิวโก้ แกลลอรี่ (Hugo Gallery) บนถนน 55 (Fifty-fifth Street) ในนิวยอร์ก การแสดงภาพครั้งนี้ แอนดีใช้ชื่อว่า “ภาพวาด 15 ภาพจากงานเขียนของทรูแมน คาโปต (Fifteen Drawings Based on the Writings of Truman Capote)” เป็นงานภาพประกอบเรื่องจากหนังสือของทรูแมน คาโปต (Truman Capote) นักเขียนนิยายมีชื่อชาวอเมริกัน การจัดแสดงภาพเขียนเดี่ยวของแอนดีครั้งนี้เป็นเหมือนกับเครื่องหมายยืนยันถึงความเป็นศิลปินมืออาชีพที่สามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างสมบูรณ์เต็มตัวแล้วนั่นเอง

ในปี 1956 แอนดีได้เข้าร่วมกับศิลปินในกลุ่มพาณิชย์ศิลป์ซึ่งร่วมจัดแสดงภาพที่ ลอฟต์ แกลลอรี่ (Loft Gallery) และยังได้รับงานเป็นผู้จัดการที่ห้องภาพแห่งนี้ อีกด้วย ในช่วงระหว่างนั้นแอนดีก็กลายเป็นศิลปินพาณิชย์ศิลป์ที่ประสบความสำเร็จอย่างที่สุดและมีงานชุกมากคนหนึ่งในนิวยอร์กขณะนั้น นอกจากงานทั่วไปแล้ว แอนดีก็ยังรับงานออกแบบฉากให้กับละครเวทีในกลุ่มบรอดเวย์ (Broadway) อีกหลายแห่ง และในช่วงนั้นเขาก็ได้ย้ายจากที่พักเดิมอีกไปอยู่ที่พักและสตูดิโอแห่งใหม่ของเขาที่ถนนเลกซิงตัน (Lexington Avenue) ซึ่งเป็นย่านที่โออ่ากว่าที่เดิม และที่นี้แอนดีได้ก่อตั้งบริษัทที่ประกอบการทางด้านศิลปะขึ้น ในชื่อ “แอนดี วอร์ฮอล เอนเตอร์ไพรส์ อิงค์ (Andy Warhol Enterprises Inc.)” ซึ่งต่อมาเขาก็ได้ย้ายไปที่สถานีดับเพลิงเก่า ถนนอีสต์ 87 (East 87 Street) ก่อนจะย้ายไปที่เลขที่ 231 ถนนอีสต์ 47 (231 East 47 Street) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “เดอะ แฟคตอรี่ (The Factory)” อันเป็นบริษัทส่วนตัวอันโด่งดังของเขาสำหรับดำเนินการค้าขายทางด้านงานศิลปกรรมต่างๆและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งงานทางด้านการแสดง คารา และภาพยนตร์ ภายใต้การควบคุมของแอนดีที่เติบโตมาจนกระทั่งเขาเสียชีวิต โดยมีพนักงานในบริษัททั้งสิ้นเกือบ 20 คน นอกจากนี้แอนดียังได้พาแม่ของเขาย้ายเข้ามาอยู่กับเขาในนิวยอร์กด้วย


1960-1965

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 แอนดีก็ได้รู้จักกับศิลปินในกลุ่มป็อปอาร์ต เช่น จัสเปอร์ จอห์นส์ (Jasper Johns) และ รอย ลิคเตนสไตน์ (Roy Richtenstein) หลังจากนั้นแอนดีเริ่มได้แนวคิดที่จะทำงานศิลปะของเขาออกมาในแนวป็อปอาร์ตบ้าง และในปี 1960 งานชิ้นแรกของแอนดีในแบบป็อปอาร์ตก็ออกมาเป็นงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนยอดนิยมในสมัยนั้น อย่าง “ป็อปอาย (Popeye), ซูเปอร์แมน (Superman) และ ดิค เทรซี่ (Dick Tracy)” เมื่อแอนดีเริ่มงานแบบป็อปอาร์ตแล้วนั้น เขาก็เริ้มเข้าสังคมกับกลุ่มศิลปินป็อปอาร์ตที่มาร่วมประชุมจัดวางแนวทางๆศิลปะของกลุ่มกันอยู่หลายครั้งในนิวยอร์ก นอกจากนี้แอนดีก็ได้เริ่มถูกเชิญให้ไปเป็นอาจารย์ในสอนวิชาเลกเชอร์ตามมหาวิทยาลัยและสถาบันศิลปะต่างๆอยู่เรื่อยๆ

หลังจากที่แอนดีเปิดตัวในฐานะศิลปินป็อปอาร์ตอย่างเต็มตัวแล้ว ชื่อเสียงของเขาก็เริ่มโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมากในฐานะศิลปินป็อปอาร์ตที่มีเอกลักษณ์งานเป็นของตัวเอง และเมื่อเขาได้เริ่มทำงานในแบบซีรีส์ (Series) คือภาพชุดจำนวนมากเรียงต่อๆกันนั้น ความเป็นคนทำงานหัวสมัยใหม่ของเขาก็ยิ่งชัดเจนขึ้นจนโดดเด่นกว่าศิลปินคนอื่นในกลุ่ม ภาพชุดที่สร้างชุดเสียงให้กับแอนดีเป็นอย่างมากชุดแรกคือภาพกระป๋องซุปยี่ห้อ “แคมป์เบลส์ (Campbell’s)” จำนวน 32 ภาพ และตั้งแต่นั้นแอนดีก็ตัดสินใจที่จะทำงานในแนวป็อปอาร์ตและเลิกทำงานแบบพาณิชย์ศิลป์

แอนดีนั้นมักจะเลือกเนื้อหาในการทำงานจากสิ่งที่เป็นที่นิยมและเห็นกันดาษดื่น ซึ่งนั้นก็เป็นทางลัดทางหนึ่งที่ทำให้งานศิลปะของเขาเป็นที่ติดตาต้องใจผู้คนได้อย่างรวดเร็ว งานจัดแสดงภาพเขียนแบบป็อปอาร์ตครั้งแรกของเขา จัดที่ร้านแกลลอรี่ของ เออร์วิง บลัม (Irving Blum) ที่เวสต์ ฮอลลีวูด (West Hollywood) ในแอลเอ หลังจากภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลส์แล้ว แอนดีก็เริ่มต้นงานชุด ป็อป สตาร์ (Pop Star) ของเขา ซึ่งใช้เทคนิคใหม่ที่เขาได้มาจากงานกราฟิกของเขาคือการใช้ “ซิลค์ สกรีน (Silck Screen)” เทคนิคนี้ในช่วงแรกๆแอนดีใช้วิธีแบบเก่าๆก่อนที่เขาจะพัฒนาเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพิมพ์ซิลค์ สกรีนที่มีความละเอียดมากขึ้นในช่วงหลังที่เหมือนกับเทคนิคการล้างอัดภาพในปัจจุบัน ภาพแบบซิลค์ สกรีนนี้แอนดีนิยมเอามาใช้กับงานในยุคหลังๆของเขาเป็นอย่างมาก เรียกว่าแทบจะทุกชิ้น อาทิ เช่น เอลวิส เพรสลี (Elvis Presley) และโดยเฉพาะภาพชุด มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) เป็นชุดภาพที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้กับเขาอีกชุดหนึ่ง

ในปี 1963 แอนดีก็เริ่มงานสายใหม่ โดยมุ่งความสนใจไปสู่ธุรกิจภาพยนตร์ และเมื่อเขาได้ เจอราร์ด มาลังกา (Gerard Malanga) ซึ่งอยู่ในสายงานภาพยนตร์เข้ามาร่วมทีมในแฟคตอรี่ แอนดีก็ได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นในปีเดียวกันนั้นเป็นซีรีส์ 3 เรื่อง คือ “ดื่ม (Drink), กิน (Eat) และนอน (Sleep)” รูปแบบการทำภาพยนตร์ของแอนดีออกไปในแนวศิลปะที่ให้ความรู้สึกมากกว่าเรื่องราว นับเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างภาพยนตร์แนวศิลป์ของเขาอีกหลายเรื่อง และแนวการสร้างภาพยนตร์ของแอนดีก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับนักสร้างหนังอิสระรุ่นหลังๆมากมายในการผลิตภาพยนตร์แนวศิลป์และแนวอันเดอร์กราวนด์ (Underground) ในภายหลังผลงานของแอนดียังได้รับการชมเชยจากนิตยสารแนวบันเทิงภาพยนตร์ “ฟิล์ม คัลเจอร์ (Film Culture)” และได้รับรางวัลภาพยนตร์อิสระหรือ “อินดี้ (Indies)” ยอดเยี่ยมจากเรื่อง “อาณาจักร (Empire)” ในปี 1964 ภาพยนตร์ที่แอนดีสร้างนั้นยังมีต่อเนื่องออกมากอีกมากมาย แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และทำให้แอนดีขึ้นทำเนียบคนทำหนังระดับสูงได้คือเรื่อง “เชลซี เกิร์ล (Chelsea Girls)”

ในปี 1964 ชื่อเสียงของแอนดีก็โด่งดังไปถึงยุโรป เมื่อเขาส่งงานส่วนหนึ่งของเขาไปจัดแสดงที่แกลลอรี อีเลียนา ซันนาเบนด์ (Ileana Sonnabend) สาขาที่ตั้งในปารีส ภาพของเขาเป็นที่ตื่นตาต่อชาวปารีสและชาวยุโรปที่ได้เข้าชมเป็นอย่างมาก หลังจากโชว์ที่ปารีสแล้ว แอนดีก็ยังนำผลงานไปจัดแสดงอีกในหลายประเทศ อาทิ เช่น มิลาน (Milan), ตูริน (Turin), สต็อกโฮล์ม (Stockholm), บัวโนส ไอเรส (Buenos Aires), โตรอนโต (Toronto) และเอสเซน (Essen)

1966-1969

ความสนใจในด้านศิลปะของแอนดีนั้นมีอย่างหลากหลาย เขาให้ความสนใจในศิลปะแทบจะทุกแขนง นอกจากงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์และพาณิชย์ศิลป์ กับงานด้านภาพยนตร์แล้ว แอนดียังให้ความสนใจต่อศิลปะทางด้านดนตรีอีกด้วย แอนดีเข้ามามีบทบาทในวงการดนตรีอย่างแท้จริงในราวปี 1965 หลังจากที่แอนดีเปิดแฟคตอรี่ที่แห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่ที่คนดังแวะเวียนไปเยี่ยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ทั้งดาราและนักร้องยอมนิยมตลอดจนนักการเมืองและบุคคลชั้นสูงในสังคมต่างแวะเวียนไปซื้อข้าวของที่ออกแบบโดยแอนดีและทีมงานของเขาที่แฟคตอรี่ ด้วยเหตุนี้เองที่ให้แอนดีเริ่มความคิดที่จัดงานปาร์ตี้ขึ้นที่แฟคตอรี่บ้าง เขาเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งในวงการบันเทิง และในวงสังคมนิวยอร์กมาร่วมงานอยู่เสมอ ทำให้คอลัมน์ซุบซิบของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างจดจ้องว่าจะมีคนดังคนไหนบ้างที่จะไปปาร์ตี้ และเพราะเหตุนี้เอง แฟคตอรี่จึงกลายเป็นศูนย์รวมของแมวมองต่างๆ รวมทั้งหนุ่มสาวที่อยากเป็นดารา

ป้ายโฆษณางานแสดงสื่อผสมร่วมกันของแอนดี, เดอะเวลเว็ตอันเดอร์กราวนด์และนิโค

และจากงานปาร์ตี้นี้เองที่ทำให้แอนดีได้รู้จักกับ ไบรอัน โจนส์ (Brian Jones) สมาชิกวง เดอะ โรลลิ่ง สโตนส์ (The Rolling Stone) และไบรอัน โจนส์ นั้นเองที่เป็นคนแนะนำแอนดีให้รู้จักกับดาราและนางแบบสาวเชื้อสายเยอรมัน “นิโค (Nico)” ต่อมาแอนดีก็มีความคิดที่จะปั้นนิโคให้โด่งดังทางด้านวงการเพลงในนิวยอร์ก ในระหว่างนั้นเขาก็มีโอกาสได้ชมการแสดงของวง เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ (The Velvet Underground) ที่คาเฟ่ บิซารร์ (Bizarre Café) ในกรีนิช วิลเลจ (Greenwich Village) ย่านคนดนตรีในนิวยอร์ก แล้วประทับใจพวกเขาอย่างมากจึงได้เข้าไปพูดคุยและแนะนำเรื่องโทนดนตรี สุดท้ายแอนดีก็เสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนวง ในขณะนั้น เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ ยังคงเล่นดนตรีในแนว “บีท (Beat)” อยู่ แต่ดนตรีกลับแปลกแตกต่างไปจากบีทในแบบเดิมๆจึงมักทำให้มีปัญหากับคาเฟ่อยู่เสมอ จนถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมา แอนดีก็ยื่นมือเข้ามาช่วยพวกเขาให้ได้เล่นในคลับที่แอนดีมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย ในเวลาต่อจากนั้นพวกเขาก็มีโอกาสได้เล่นดนตรีประกอบและร่วมแสดงในภาพยนตร์ของแอนดีอีกหลายเรื่อง ต่อมาแอนดีก็ได้แนะนำนิโคให้รู้จักกับ ลู รีด (Lou Reed) หนึ่งในนักดนตรีของวง เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ และฝากฝังให้ร่วมวงด้วย หลังจากนั้นเองที่วง เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ จะมีชื่อต่อท้ายชื่อวงว่า “และ นิโค” เพิ่มเข้ามา

เมื่อแอนดีได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการแสดงและดนตรีแล้ว เขาก็เริ่มไม่มีเวลาให้กับการวาดภาพของเขา ในที่สุดเขาก็ออกมาประกาศเลิกวาดภาพในปี 1965 ที่ทำเอาเซอร์ไพรส์กันไปทั้งวงการศิลปะ แต่เหตุการณ์ชี้เป็นการเลิกวาดชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาวง เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ และ นิโค ก็ได้ออกทัวร์ร่วมกับแอนดีเมื่อเขาเปิดรายการโชว์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “มัลติมีเดีย (Multimedia)” ขึ้นจากความคิดของเขาที่ต้องการทำงานศิลปะรูปแบบ 3 มิติขึ้นโดยอาศัยสื่อผสมที่มีทั้งดนตรีและการแสดงประกอบฉากภาพศิลป์ของเขา ต่อมาวงการดนตรีในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ก็ได้เปลี่ยนไปเช่นเดียวกับศิลปะ ภาพยนตร์ และดนตรี ในช่วงนั้นกระแสดนตรีที่เรียกว่า “ไซเคดีลิก (Schychederic)” ของวง เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) เริ่มเป็นที่นิยม วง เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ ก็ตอบสนองต่อกระแสนี้เช่นกัน การตื่นตัวต่อกระแสนี้ทำให้แนวเพลงของพวกเขาเปลี่ยนไป ประกอบกับการนำเทคนิคทางศิลปะมาใช้กับส่วนประกอบบนเวทีการแสดงดนตรี ทำให้พวกเขาโด่งดังขึ้นอย่างมาก ชื่อของแอนดี วอร์ฮอล จึงยิ่งถูกกล่าวถึงจากคนในวงการดนตรีกันอย่างแพร่หลาย และตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 60 แอนดีก็กลายเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการศิลปะยุคใหม่ของวงการดนตรีไปในที่สุด แม้แต่ เดอะ บีทเทิลส์ทั้ง 4 ก็ยังยอมรับในอัจฉริยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ของเขา

แอนดีกลับมาทำงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ของเขาอีกในช่วงปี 1966 – 67 งานศิลปะของแอนดีในช่วงหลังนี้ค่อนข้างออกไปในแนวรุนแรงและแสดงออกถึงสันดานดิบของมนุษย์ ตั้งแต่โลกได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่นั้น แนวความคิดเรื่อง ความรุนแรง ความวิบัติ และมุมมืดของเซ็กซ์ (Sex) ก็ถูกตีแผ่ออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ไม่สนต่อจารีตและจริยธรรมอีกต่อไป ในช่วงนี้แอนดีทำภาพ “รถชน (Car Cash)” และ “เกาอี้ไฟฟ้า (Electric Chair)” นอกจากนี้เขายังนำเสนอภาพของ “เซ็กซ์” ซึ่งเป็นภาพร่วมเพศระหว่างชายและหญิงหรือชายและชายด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้นี้เองที่ทำให้เขาเริ่มถูกต่อต้านจากบุคคลในหลานวงการทั้งจากบาทหลวง กลุ่มผู้เคร่งครัดศาสนา และกลุ่มสตรีแม่บ้าน ทำให้มีบ่อยครั้งที่งานของเขาถูกแอบทำลายหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากงานศิลปะของแอนดีที่ถูกต่อต้านแล้ว พฤติกรรมของเขาเองนั้นก็ถูกต่อต้านอีกด้วย แอนดีนั้นไม่ได้ออกมาปฏิเสธเมื่อมีคนออกมาตั้งประเด็นว่าเขาเป็นพวกรักร่วมเพศ หรือ “โฮโมเซ๊กชวล (Homosexual)” หรือเป็นแม้กระทั่ง “ไบเซ๊กชวล (Bisexual)” และเขาก็มักจะมีข่าวคาวเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์กับดาราในสังกัดของเขาเองหลายคนทั้งหนุ่มและสาวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อภาพที่แอนดีแต่งตัวในชุดผู้หญิงและใส่วิกผมทอง พร้อมทั้งแต่งหน้าซะหยดย้อยอย่างกับ มาลิลีน มอนโร นั้น ยิ่งทำให้คนมากมายไร้ข้อกังขาในความเป็นชายหนุ่มของเขาอีกเลย

กระทั่งในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1968 แอนดีก็ถกยิงเข้าจนได้ โดยหนึ่งในดาราสาวในสังกัดของเขา “วาเลอรี โซลานาส (Valerie Solanas)” เธอเป็นดารานำในเรื่อง “ไอ, อะ แมน (I, a man)” ภายหลังจากฟื้นตัวแอนดีก็ได้ให้การว่า วาเลอรีเข้ามาทวงเงินค่าแสดงภาพยนตร์ แต่แอนดีบอกให้เธอถ่ายฉากอื่นๆให้เสร็จก่อนจึงจะให้ ทำให้เกิดปากเสียงกันและนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงที่วาเลอรียิงแอนดี แต่ก็มีผู้ออกมาพูดถึงเหตุการณ์นี้ในหลายทฤษฎี แม้กระทั่งนำไปผูกโยงเกี่ยวกับคดีก่อการร้าย การเมือง และการลอบสังหาร แต่ถึงอย่างไรก็ตามทฤษฎีเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน ทำให้เหตุการณ์นี้ยังคงเป็นความลับต่อไป ส่วนทางวาเลอรีนั้นติดคุกอยู่ 3 เธอก็พ้นข้อหาออกมาเนื่องจากแอนดีไม่เอาความต่อเพราะเขาก็ไม่ตาย ในที่สุดเรื่องราวก็เงียบหายเอง แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้มีกระสุนนัดหนึ่งยังฝังอยู่ในสีข้างของแอนดีอยู่ไปตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตนั่นเอง

1970-1979

ในช่วงก่อนปี 1970 นั้นแอนดีก็ได้ออกมาเปิดตัวนิตยสารบันเทิงของเขาขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ “อินเทอร์วิว (Interview)” เป็นนิตยสารเกี่ยวกับวงการบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการภาพยนตร์ ซึ่งต่อมานิตยสารฉบับนี้ได้กลายเป็นนิตยสารที่เป็นที่นิยมและทรงอิทธิพลอย่างมากฉบับหนึ่งในอเมริกา เนื่องจากมีเนื้อหาสาระที่ไม่เหมือนใคร มีเรื่องราวและทรรศนะในวงการบันเทิงอย่างแตกต่างจากนิตยสารเล่มอื่นๆ อีกทั้งการจัดทำรูปเล่มที่ไม่เหมือนใคร ทำให้มีเอกลักษณ์และโดดแด่นมากในยุคนั้น

ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาแอนดีมุ่งทำภาพยนตร์ออกมาอย่างมากมายซึ่งนั้นรวมไปถึงภาพยนตร์ออกอากาศทางทีวีด้วย ผู้ที่มีบทบาทในภาพยนตร์ของแอนดีอย่างมากก็คือ เจอราร์ด มาลังกา ผู้ช่วยในการกำกับภาพยนตร์ของเขา และตากล้องคู่ใจอย่าง บิลลี่ เนม (Billy Name) แต่ในปี 1970 นั้นเขาก็ขอถอนตัวออกจากกลุ่มไปอีกคนเนื่องจากไม่พอใจการทำงานกับทีมงานบางคน ต่อจากนั้นมา เจอราร์ด มาลังกา ก็เดินหลีกหนีจากแอนดีไปอีกคน ด้วยความที่แอนดีมีเพื่อนและลูกน้องมากมายรายล้อมอยู่เสมอ ซึ่งในบางครั้งก็สับสนว่าใครเป็นใคร การคอยเอาใจทุกคนรอบข้างให้พอใจได้ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ซึ่งบางคนเมื่อถอนตัวก็มักจะไปให้สัมภาษณ์ถึงความกระอักกระอ่วนใจในการทำงานกับเขา ทำให้แอนดีลำบากใจและเคยคิดที่จะเลิกทำ เดอะ แฟคตอรี่ ไปเลยด้วยซ้ำ แต่ความเป็นแอนดีมีคนรู้จักอย่างกว้างขวางทำให้เขาทำเช่นนั้นไม่ได้ และคนส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะมาขอความช่วยเหลือจากเขาอยู่บ่อยๆจนบางครั้งทำให้เขาแทบจะหัวเสียกับการคอยตามรังควานของบรรดาวงวารของเขา

ในปี 1979 แอนดีก็ได้เปิดงานแสดงภาพเขียนของเขาขึ้นที่เทต แกลลอรี่ (Tate Gallery) ในลอนดอน ภาพชุดกระป๋องซุปแคมป์เบลส์ของเขาที่ทำขึ้นใหม่ในปี 1968 ในรูปแบบซิลค์ สกรีนก็ถูกประมูลไปได้ถึง 60,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่ของเขาในการเป็นศิลปินในยุคนั้นที่สามารถขายภาพได้ในราคาสูงที่สุดในโลกในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และในช่วงที่แอนดีดำเนินชีวิตไปแบบอิสรเสรีชนก็มีคนมากมายวิพากษ์ วิจารณ์กันตามสื่อต่างๆ มีทั้งเสียงดูหมิ่นเหยียดหยามต่อพฤติกรรมของกลุ่มของเขาว่าเป็นพวกไร้ศีลธรรมจรรยานั้นก็มีมากพอๆกับคำยกย่องชื่นชมในตัวเขาว่าเป็นฮีโร่ที่กล้าปลดปล่อยความเป็นปัจเจกชนออกมาทวนกระแสของสังคมที่หน้าไหว้หลังหลอก และในปี 1971 แม่ของเขาก็ขอย้ายกลับไปอยู่ที่พิตส์เบิร์ก ก่อนจะเสียชีวิตลงในปี 1972

และในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลของประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน (Richard M. Nixon) ก็ได้มีนโยบายในการเปิดสัมพันธภาพกับรัฐบาลของเหมา เจ๋อ ตง (Moa Tse Tung) แหงสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้กลายเป็นข่าวใหญ่โตของรอบทศวรรษ แอนดีเองก็ร่วมเฉลิมฉลองข่าวใหญ่ครั้งนี้ด้วยการทำงานภาพพิมพ์ชุดใหญ่อีกชุดเป็นรูปของเหมา เจ๋อ ตง เป็นภาพอีกชุดหนึ่งของเขาที่โด่งดังเป็นอย่างมาก นอกจากภาพเหมา เจ๋อ ตงแล้ว เขายังทำภาพขนาดใหญ่ของวลาดิเมีย เลนิน (Valademir Lenin) ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีภาพ “ค้อนกับเคียว (Hammer and Sickle)” สัญลักษณ์ของโลกคอมมิวนิสต์อีกด้วยเช่นกัน

ในช่วงทศวรรษที่ 70 มีเหตุการณ์ทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและโลก ในการเลือกตั้งประนาธาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาในปี 1972 นั้น แอนดีก็ย้ายมาอยู่ฝ่ายเดโมแครตเนื่องจากไม่พอใจต่อนโยบายการเข้าคุกคามต่ออธิปไตยของเวียดนาม ซึ่งต่อมานำไปสู่การต่อต้านและประท้วงโดยคนรุ่นใหม่มากมาย แอนดีและพวกพ้องนั้นก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แอนดี เลือกสนับสนุนข้างเดโมแครต โดยให้การสนับสนุนฝ่ายของวุฒิสมาชิกจอร์จ สแตนลี แมคโกเวิร์น (George Stanley McGovern) ซึ่งเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน ของฝ่ายรีพับบลิกัน โดยแอนดีลงทุนทำงานศิลปะเพื่อช่วยในการรณรงค์หาเสียงให้กับแมคโกเวิร์น โดยทำภาพของนิกสันในเชิงล้อเลียน ซึ่งเขียนข้อความใต้ภาพไว้ว่า “เลือกแมคโกเวิร์น (Vote McGovern)” เพื่อเป็นการประชดประชันนิกสันกับนโยบานการนำประเทศสู่สงคราม และต่อมาภาพนี้ก็ได้ถูกนำมาล้อเลียนต่อโดยคนอื่นๆจนออกมาดูคล้ายกับภาพของซาตาน (Satan) แต่ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นก็ลงเอยด้วยการที่ ริชาร์ด นิกสัน ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดี แต่ชัยชนะครั้งนี้กลับไม่ถาวร มีข่าวคาวมากมายเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของผลการเลือกตั้งจนภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้ง กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทำให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาหน้าของตัวเอง ในขณะที่เรื่องนี้ทำให้แอนดีถึงกับปลาบปลื้มยินดีถึงกับจัดงานไล่นิกสันขึ้นที่แฟคตอรี่

ในปี 1974 นั้น แอนดีก็ได้ออกมาสั่งทำ “ไทม์ แคปซูล (Time Capsule)” ถึง 610 ใบ เพื่อเก็บรักษาของใช้ส่วนตัวที่มีค่าสำหรับเขาเอาไว้ ความจริงแล้ว ไทม์ แคปซูล ที่แอนดีสั่งทำนี้เป็นแค่กล่องทำจากการ์ดบอร์ดธรรมดานั่นเอง ใส่สัมภาระตั้งแต่ของใช้ส่วนตัวเรื่อยไปจนถึงเอกสารและจดหมายต่างๆ ภายหลังแอนดีเสียชีวิต ไทม์ แคปซูลก็ถูกนำไปไว้ที่ห้องๆหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วอร์ฮอล และนำสิ่งของต่างๆเหล่านั้นออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ มันเต็มไปด้วยข้าวของกระจุกกระจิกต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดาจดหมายจากหนุ่มๆทั่วโลกที่แนบติดมากับภาพเปลือยทั้งด้านหน้าด้านหลังในอิริยาบถต่างๆเพื่อเสนอตัวขอเป็นดาราให้กับหนังของเขา

การวางตัวของแอนดีให้อยู่ในสังคมของคนระดับสูงทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในประเทศต่างๆ เช่น พระราชวงศ์ของกษัตริย์เรเนีย (Rainier) แห่งโมนาโค โอยเฉพาะกับราชินีแห่งโมนาโค ซึ่งก็คืออดีตดาราดังของฮอลลีวูด “เกรซ เคลลี่ (Grace Kelly)” นอกจากนี้เขายังสนิทสนมกับราชวงศ์ของพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน “ชาห์ เรซา ปาห์ลาวี (Shah Reza Pahlavi)” และด้วยความสัมพันธ์นี้ ในปี 1975 แอนดีก็ได้ติดต่อให้พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านพาเขาเข้าไปเป็นแขกของประนาธาธิบดีฟอร์ดที่ทำเนียบขาว (White House) ได้สำเร็จ ซึ่งนั้นถือเป็นความสำเร็จจุดสูงสุดทางสังคมของเขา ความยิ่งใหญ่ของแอนดีนั้นถึงขนาดที่คนในโลกดนตรีร็อค แอนด์ โรล (Rock ‘n’ Roll) ต่างก็ให้การยอมรับ เขารู้จักกับศิลปินอีกมากมาย เช่น จอห์น เลนนอน (John Lennon) และ พอล แมคคาร์ตนี (Paul McCartney) เป็นต้น และการที่เขาเปลี่ยนรถใหม่จากเบนซ์ (Benz) มาเป็นโรลส์ – รอยซ์ (Rolls – Royce) ก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมชั้นสูงของเขาที่ผู้มีอาชีพศิลปินน้อยคนนักจะก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้

ในปี 1977 เมื่อกระแสดนตรีปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของดนตรีในแบบดิสโก (Disco) มีคลับดิสโกเกิดขึ้นมากมายและหนึ่งในนั้นคือ สตูดิโอ 54 (Studio 54) ของ สตีฟ รูเบลล์ (Steve Rubell) แอนดีได้เข้ามาช่วยเหลือคลับแห่งนี้ในเรื่องแนวคิดและการตกแต่งจนกลายเป็นดิสโกคลับที่ทันสมัยและนิยมมากที่สุดในนิวยอร์ก กลุ่มของแอนดีมักเป็นแขกประจำของที่นี้อยู่เสมอ แม้แต่ ซาวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ก็ยังเป็นแขกวีไอพีของคลับแห่งนี้ด้วยเช่นกัน และในปีเดียวกันแอนดีและเพื่อนๆก็ได้รับเชิญเป็นแขกวีไอพีของงานเลี้ยงที่สถานทูตอิหร่านในนิวยอร์กซึ่งมีกษัตริย์ชาห์และครอบครัวอยู่ด้วย


1980-1987

ในทศวรรษที่ 80 ศิลปะแนวป็อปอาร์ตไม่ใช่ศิลปกรรมใหม่ของวงการศิลปะอีกแล้ว โลกในทศวรรษใหม่กำลังตื่นตัวให้กับงานศิลปะนามธรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า “คอนเซปชวล อาร์ต (Conceptual Art)” แต่ผลงานป็อปอาร์ตในแบบแอนดีนั้นกลับไม่มีทีท่าว่าจะสูญสลายลงความเป็น “ป็อป” ในงานของแอนดีนั้นกำลังกลายเป็น “คลาสสิก ป็อป (Classic Pop)” หรือศิลปะอมตะไปแล้ว ถึงแม้ศิลปินป็อปอาร์ตหลายคนจะทิ้งแนวทางกลับไปงานพาณิชย์ศิลป์บ้างแล้วก็ตาม แต่สำหรับแอนดี เขากลับพัฒนาเทคนิคแบบใหม่ขึ้นเพื่อใช้กับการทำงานศิลปะของเขาเสมอ แอนดีนั้นแทบจะไม่ได้ใช้พู่กันมากนักในการทำงานศิลปะของเขา แต่เขาเลือกที่จะใช้เทคนิคจากภาพถ่ายเข้ามาตกแต่งและใช้เทคนิคการทำภาพพิมพ์ด้วยวิธีซิลค์ สกรีน แม้อาจจะดูง่ายและฉายฉวยและดูห่างจากคำว่าวิจิตรศิลป์ แต่การเลือกที่จะใช้โอกาสจากเทคโนโลยีพี่พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อสร้างสรรค์งานให้ได้ตามอย่างจินตนาการก็สะดวกมากขึ้น ทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาในการสร้างสรรค์งานให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

ในทศวรรษที่ 80 นี้ แอนดีก็ยังทำงานศิลปะออกมาตามแบบอย่างของเขาโดยนำเอาศิลปะยุคเก่า อย่างยุคคลาสสิกและในยุคเรอเนสซองส์เข้ามาใช้เพื่อยกระดับงานศิลปะของเขาไม่หยุดอยู่เพียงเหตุการณ์ หรือสิ่งร่วมสมัยอย่างเดิม ในการทำงานครั้งนี้ แอนดีได้เลือกภาพที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง เดวิด (David) และ มาดอนนา (Madonna) ของไมเคิลแอนเจโล, ภาพวีนัส (Venus) ของบอตติเชลลี (Bottichelli) และภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของดา วินชี (Da Vinci) มาทำใหม่ในแนวศิลปะของเขาเอง ซึ่งภาพเหล่านี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่อาจนำไปเทียบเคียงกับงานมาสเตอร์พีซชิ้นเดิม มันเป็นผลงานศิลปะคลาสสิกในรูปแบบของศิลปะยุคใหม่ที่ใหม่ มีรสชาติและอารมณ์ที่แตกต่าง เรียกการทำงานแนวนี้ว่าเป็นการ “รีโปรดัคชัน (Reproduction)”

ในปี1980 การตายของจอห์น เลนนอน ที่ถูกลอบสังหารโดยมือปืนโรคจิต มาร์ก เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman) สร้างความหวาดผวาให้กับแอนดีอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้เขาระแวดระวังตัวมากขึ้น และไม่ยอมไปไหนอยู่ช่วงระยะหนึ่ง แอนดีวาดภาพ “ปืน (The Gun)” ขึ้นในปี 1981 เพื่อเป็นการต่อต้านและเตือนใจสังคมให้ระแวดระวังถึงอันตรายของมัน ในช่วงหลังๆมานี้ แอนดีก็ไม่ค่อยตัวเด่นดังอย่างเช่นช่วงชีวิตในทศวรรษที่ 60 และ 70 ของเขาอีกแล้ว อาจด้วยวัยที่ล่วงเลยเข้ามาไกลเกินเลข 5 ของเขาพลังหนุ่มที่อัดแน่นจึงค่อยๆอ่อนแรงลง

ในปี1984 เดอะ แฟคตอรี่ ก็ย้ายที่ทำการไปอาคารแห่งใหม่คือ ตึกเอดิสัน (Edison Building) ถนนอีสต์ 33 (East 33 Street) ในนิวยอร์กซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่กว่าที่เคยใช้มากมาย ทำให้แอนดีสามารถเอาธุรกิจของเขาทั้งหมดมารวมกันไว้ในอาคารนี้ด้วยกันได้ ในขณะนั้นนอกจากแอนดีจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว ยังเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีอนาคตมากมาย ทั้งนิตยสาร “อินเทอร์วิว” ของเขาที่สร้างยอดขายได้อย่างสวยงามในระดับต้นๆของวงการนิตยสารบันเทิง และในปี 1986 แอนดีก็ประกาศเปิดโปรเจกใหม่ในการทำรายการให้กับเคเบิลทีวีอย่างรายการ “แอนดี วอร์ฮอล 15 นาที (Andy Warhol’s Fifteen Minutes)” ซึ่งมีชื่อมาจากคำพูดของเขาในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง และในปี 1986 อีกเช่นกันที่แอนดีได้รับเชิญไปเป็นดารารับเชิญในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง “เรือรักเรือสำราญ (Love Boat)”

ในช่วงชีวิตหลังๆของแอนดี เนื่องจากวัยที่ร่วงโรยลงทำให้เขาไม่ค่อยปรากฏตัวบ่อยนัก ต่อมาได้มีข่าวลือว่าเขาลงทุนเมคอัพใบหน้าของเขาใหม่ ซึ่งใครๆที่ได้เห็นใบหน้าของแอนดี ในยุคหลังๆตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมาต่างก็เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากใบหน้าที่เต่งตึงอย่างผิดปกติของเขานั้นเอง


บั้นปลายชีวิต

“หลุมศพของแอนดี วอร์ฮอล ที่สุสานไบแซนไทน์ เซนต์ จอห์น เดอะ แบ็บติสในพิตส์เบิร์ก”

หลังจากงานแสดงภาพชุดสุดท้ายในชีวิตของเขา “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper)” ที่ไปเปิดแสดงในงานแสดงภาพของเขาที่มิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อกลับมาที่นิวยอร์กเขาก็ล้มป่วยลงและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในนิวยอร์กนั่นเอง แอนดีป่วยด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับพ่อของเขา แต่นั่นเป็นการเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา เมื่อเกิดอาการช็อกระหว่างการผ่าตัดทำให้แอนดีถูกประกาศว่าเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 ในเวลา 6.30 น. นั่นเอง

ในภายหลังนั้นญาติของแอนดีได้พยายามที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเนื่องจากความบกพร่องของคณะแพทย์ทำให้คนไข้เสียชีวิต เนื่องจากแอนดีไม่มีทายาทใดๆ พี่ชายและน้องชายของเขาจึงเป็นผู้รับมรดกซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยทรัพย์สินที่แอนดีทิ้งไว้นั้นมีเงินจำนวนมากว่า 500 ล้านดอลลาร์ในธนาคาร ที่ดินอีกมากมาย อาคาร และอพาร์ตเมนต์ต่างๆอีกหลายแห่งในที่ต่างๆรวมทั้งงานศิลปะอีกมากมายที่เขาเก็บสะสมเอาไว้กับผลงานของเขา ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งพี่ชายและน้องชายของเขาก็ร่วมกันในชื่อของครอบครัวช่วยกันกับเพื่อนๆของแอนดี ก่อตั้งมูลนิธิแอนดี วอร์ฮอ ล ขึ้น และเปิดพิพิธภัณฑ์ แอนดี วอร์ฮอล ที่ในบ้านเกิดของเขาในพิตส์เบิร์ก ส่วนร่างของเขานั้นได้ถูกนำไปฝังที่สุสานไบแซนไทน์ เซนต์ จอห์น เดอะ แบ็บติส (St. John the Baptist Byzentine Cemetery) ในพิตส์เบิร์ก ร่วมกับพ่อและแม่ของเขา


ตัวอย่างผลงาน

งานศิลปะ

  • Campbell's Soup Cans (1962)
  • Marilyn Diptych (1962)
  • Green Coca-Cola Bottles (1962)
  • Eight Elvises (1963)
  • Thirteen Most Wanted Men (1964)
  • Shot Marilyns (1964)
  • Exploding Plastic Inevitable (1966)
  • Big Electric Chair (1967)
  • Campbell's Soup Cans II (1969)
  • Portrait of Seymour H. Knox (1985)
  • Camouflage Self-Portrait (1986)
  • Cars (1986)

ภาพยนตร์

  • Sleep (1963)
  • Andy Warhol Films Jack Smith Filming Normal Love (1963)
  • Sarah-Soap (1963)
  • Denis Deegan (1963)
  • Kiss (1963)
  • Naomi and Rufus Kiss (1964)
  • Rollerskate/Dance Movie (1963)
  • Jill and Freddy Dancing (1963)
  • Elvis at Ferus (1963)
  • Taylor and Me (1963)
  • Tarzan and Jane Regained... Sort of (1963)
  • Duchamp Opening (1963)
  • Salome and Delilah (1963)
  • Haircut No. 1 (1963)
  • Haircut No. 2 (1963)
  • Haircut No. 3 (1963)
  • Henry in Bathroom (1963)
  • Taylor and John (1963)
  • Bob Indiana, Etc. (1963)
  • Billy Klüver (1963)
  • John Washing (1963)
  • Naomi and John, F U to steele (1963)
  • Screen Test (1964-66)
  • Jill Johnston Dancing (1964)
  • Shoulder (1964)
  • Eat (1964)
  • Dinner At Daley's (1964)
  • Soap Opera aka The Lester Persky Story (1964)
  • Batman Dracula (1964)
  • Three (1964)
  • Jane and Darius (1964)
  • Couch (1964)
  • Empire (1964)
  • Henry Geldzahler (1964)
  • Taylor Mead's Ass (1964)
  • Six Months (1964)
  • Mario Banana (1964)
  • Harlot (1964)
  • Mario Montez Dances (1964)
  • Isabel Wrist (1964)
  • Imu and Son (1964)
  • Allen (1964)
  • Philip and Gerard (1964)
  • 13 Most Beautiful Women (1964)
  • 13 Most Beautiful Boys (1964)
  • 50 Fantastics and 50 Personalities (1964-66)
  • Pause (1964)
  • Messy Lives (1964)
  • Lips (1964)
  • Apple (1964)
  • The End of Dawn (1964)
  • John and Ivy (1965)
  • Screen Test #1 (1965)
  • Screen Test #2 (1965)
  • The Life of Juanita Castro (1965)
  • Drink aka Drunk (1965)
  • Suicide aka Screen Test #3 (1965)
  • Horse (1965)
  • Vinyl (1965)
  • Bitch (1965)
  • Poor Little Rich Girl (1965)
  • Face (1965)
  • Restaurant (1965)
  • Kitchen (1965)
  • Afternoon (1965)
  • Beauty No. 1 (1965)
  • Beauty No. 2 (1965)
  • Space (1965)
  • Factory Diaries (1965)
  • Outer and Inner Space (1965)
  • Prison (1965)
  • The Fugs and The Holy Modal Rounders (1965)
  • Paul Swan (1965)
  • My Hustler (1965)
  • My Hustler II (1965)
  • Camp (1965)
  • More Milk, Yvette, ook bekend as Lana Turner (1965)
  • Lupe (1965)
  • The Closet (1965)
  • Ari and Mario (1966)
  • 3 Min. Mary Might (1966)
  • Eating Too Fast, ook bekend as Blow Job #2 (1966)
  • The Velvet Underground and Nico: A Symphony of Sound (1966)
  • Hedy (1966)
  • Rick (1966, nie uitgereik nie)
  • Withering Heights (1966, nie uitgereik nie)
  • Paraphernalia (1966)
  • Whips (1966)
  • Salvador Dalí (1966)
  • The Beard (1966)
  • Superboy (1966)
  • Patrick (1966, nie uitgereik nie)
  • Chelsea Girls (1966)
  • Bufferin ook bekend as Gerard Malanga Reads Poetry (1966)
  • Bufferin Commercial (1966)
  • Susan-Space (1966)
  • The Velvet Underground Tarot Cards (1966)
  • Nico/Antoine (1966)
  • Marcel Duchamp (1966)
  • Dentist: Nico (1966)
  • Ivy (1966)
  • Denis (1966)
  • Ivy and Denis I (1966)
  • Ivy and Denis II (1966)
  • Tiger Hop (1966)
  • The Andy Warhol Story (1966)
  • Since, ook bekend as The Kennedy Assassination (1966)
  • The Bob Dylan Story (1966)
  • Mrs. Warhol, ook bekend as The George Hamilton Story (1966)
  • Kiss the Boot (1966)
  • Nancy Fish and Rodney (1966)
  • Courtroom (1966)
  • Jail (1966)
  • Alien in Jail (1966)
  • A Christmas Carol (1966)
  • ****, ook bekend as Four Stars of The 25 Hour Movie of The 24 Hour Movie (1966)
  • Imitation of Christ (1967)
  • Ed Hood (1967)
  • Donyale Luna (1967)
  • I, a Man (1967)
  • The Loves of Ondine (1967)
  • Bike Boy (1967)
  • Tub Girls (1967)
  • The Nude Restaurant (1967)
  • Construction-Destruction-Construction (1967)
  • Sunset (1967)
  • Withering Sighs (1967)
  • Vibrations (1967)
  • Lonesome Cowboys (1968)
  • San Diego Surf (1968)
  • Flesh (1968)
  • Blue Movie (1969)
  • Trash (1969)
  • Women in Revolt, ook bekend as P.I.G.S (1970-71)
  • L'Amour, ook bekend as Beauties (1970)
  • Heat (1972)
  • Factory Diaries (1971-78)
  • Water (1971)
  • Flesh for Frankenstein, ook bekend as Andy Warhol's Frankenstein (1973)
  • Blood for Dracula, ook bekend as Andy Warhol's Dracula (1974)
  • Vivian's Girls (1973)
  • Phoney, ook bekend as Phonies (geen datum)
  • Nothing Special footage (1975)
  • Fight (1975)
  • Andy Warhol's Bad (1976)


หนังสือ

  • 25 Cats Name Sam and One Blue Pussy (1954)
  • a, A Novel (1968)
  • The Philosophy of Andy Warhol (1975)
  • Popism: The Warhol Sixties (1980)
  • The Andy Warhol Diaries (1989)

อ้างอิง

  • หนึ่งธิดา [นามแฝง]. “แอนดี วาร์ฮอล (Andy Warhol)”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. สำนักพิมพ์พิราบ, 2547. ISBN 974-7430-45-2
  • ฮอนเนฟ, เคลาส์. “Pop Art ป็อปอาร์ต”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. ไฟน์อาร์ต, 2552. ISBN 978-974-16-0551-4
  • สุนพงษ์ศรี, กำจร. “ศิลปะสมัยใหม่”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. หน้า 506-509. ISBN 978-974-03-2765-3
  • พิตรปรีชา, จิระพัฒน์. “โลกศิลปะศตวรรษที่ 20”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. เมืองโบราณ, 2552. หน้า 272-274 ISBN 978-974-73-8539-7
  1. "Andy Warhol: Biography". Andy Warhol Foundation for the Visual Arts. 2002.