ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วัดคุ้งตะเภา"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Thyj (คุย | ส่วนร่วม)
Tmd (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 2: บรรทัด 2:
| full_name = วัดคุ้งตะเภา
| full_name = วัดคุ้งตะเภา
| common_name = วัดคุ้งตะเภา
| common_name = วัดคุ้งตะเภา
| image_temple = Wat Khung Taphao ๐๐๑.jpg
| image_temple = Wat Khung Taphao Montage.jpg
| short_describtion = ภาพจากบนลงล่าง, ซ้ายไปขวา: ''[[พระยาพิชัยดาบหัก|อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักหน้าวัดคุ้งตะเภา]], ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์, อุโบสถและศาลาการเปรียญ, [[พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี|พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ อายุ 800 ปี]], ซากอิฐโบราณบริเวณค่ายพระตำหนักหาดสูง[[สมัยธนบุรี]], สมุดข่อย[[กฎหมาย]]พระอัยการ[[เมืองสวางคบุรี|ประจำเมืองสวางคบุรีโบราณ]]สมัยอยุธยาตอนปลายใน[[พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา]]''
| short_describtion = ภาพซุ้มประตูทางเข้าวัดคุ้งตะเภา<br> (ริม[[ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11]])
| type_of_place = วัดราษฎร์
| type_of_place = วัดราษฎร์
| branch = [[มหานิกาย]] ([[เถรวาท]])
| branch = [[มหานิกาย]] ([[เถรวาท]])

รุ่นแก้ไขเมื่อ 02:03, 23 ตุลาคม 2561

วัดคุ้งตะเภา
ภาพจากบนลงล่าง, ซ้ายไปขวา: อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักหน้าวัดคุ้งตะเภา, ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์, อุโบสถและศาลาการเปรียญ, พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ อายุ 800 ปี, ซากอิฐโบราณบริเวณค่ายพระตำหนักหาดสูงสมัยธนบุรี, สมุดข่อยกฎหมายพระอัยการประจำเมืองสวางคบุรีโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคุ้งตะเภา
ที่ตั้ง285 หมู่ที่ 4 บ้านคุ้งตะเภา
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ถนนสายเอเชีย) ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย (เถรวาท)
พระประธานพระพุทธสุวรรณเภตรา
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์) [2]
เจ้าอาวาสพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ[3]
พระจำพรรษาจำนวน 15 รูป (พรรษาปี 2554)[4]
ความพิเศษวัดประจำตำบลคุ้งตะเภา[1]
เวลาทำการ06.30 น. - 18.30 น.
(วิหารพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
และอุโบสถเปิดเวลา 07.30-17.30 น.)
จุดสนใจสองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์, พระบรมสารีริกธาตุจากพระสังฆราช ๒ ประเทศ, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา
กิจกรรม"เทศกาลไหว้พระปิดทองสองมหาพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์วัดคุ้งตะเภา" (ในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
หมายเหตุเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา www.watkungtapao.thmy.com
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย และเป็น 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์[5] ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย)

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้รับสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์ จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[6][7][8] ซึ่งวัดคุ้งตะเภา เป็นเพียงวัดแห่งเดียวในปริมณฑลเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดในปีนั้น[9] ตำนานวัดเล่าสืบกันมานับร้อยปีว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนย้ายกลับมาตั้งครัวเรือน สร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภา พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[10][11] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา เคยเป็นวัดที่สถิตย์ของพระครูสวางคมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองฝางมาตั้งแต่โบราณ[12] โดยเป็นวัดที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และสองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธายิ่งของชาวตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นจัดได้ว่าเป็น 2 ใน 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ คือ พระพุทธสุวรรณเภตรา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง[13][14] เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม)[15][16][17] และเป็นวัดประจำตำบลที่มีสถิติพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากที่สุดในตำบลคุ้งตะเภา[4] เป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนศึกษาของคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาโดยพฤตินัย โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา[18] ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สำนักเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์ สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) ซึ่งเป็นหน่วยอบรมฯ ที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัดอุตรดิตถ์[19][20][21] โดยมี พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา (จร.) [3]

ประวัติ

วัดคุ้งตะเภา สถาปนาขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางประทับจัดการคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ ในปี พ.ศ. 2313 หลังเสียกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 3 ปี

ดูเพิ่มได้ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา

การตั้งวัด

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อตำบลคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณวัด เช่น เศษกระเบื้องหลังคาตะขอดินเผาแกร่งแบบไม่เคลือบ เศษภาชนะกระเบื้องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง และเศษอิฐโบราณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาน่าจะเริ่มมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในชั้นเอกสารมีเพียงหลักฐานสืบค้นชั้นเก่าสุดจากหลักฐานประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313 อันเป็นปีที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี พร้อมกับมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่จัดการคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ ณ เมืองสวางคบุรี ตลอดฤดูน้ำหลาก ซึ่งวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในแถบย่านเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดขึ้น เมื่อคราวที่พระองค์ทรงชำระคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ในปีศักราชนั้น ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[22][23] ทำให้วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานการตั้งวัดในเอกสารของทางการมาตั้งแต่นั้น หลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่าอย่างน้อยวัดแห่งนี้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษารักษาสืบเนื่องมาไม่ขาดสาย เป็นเวลามากกว่าสองร้อยห้าสิบปีเศษ

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานตำนานของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา ทำให้ทราบว่าวัดคุ้งตะเภามีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงไป หากแต่เป็นวัดที่พักสงฆ์ในชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีศาสนสถานปลูกสร้างใหญ่โตก่ออิฐถือปูนเช่นวัดสำคัญในชุมชนใหญ่ จึงอาจทำให้ตกสำรวจการขึ้นทะเบียนของกรมการเมืองในสมัยอยุธยา หรืออาจเป็นไปได้ว่าหลักฐานในครั้งนั้นได้สูญหายไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว ทำให้นามวัดพึ่งมาปรากฏขึ้นในทะเบียนหลักฐานในปี พ.ศ. 2313[24] อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี พร้อมกับมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เกลี่ยกล่อมรวบรวมราษฎรที่หลบหนีภัยสงครามตามป่าเขา และจัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ พร้อมทั้งสถาปนาวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันนั้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี เนื่องจากความสำคัญยิ่งที่วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดในชุมชนคนไทยดั้งเดิม ที่มีที่ตั้งอยู่เหนือสุด ท้ายพระราชอาณาเขตกรุงธนบุรีในสมัยนั้น ตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มาแต่โบราณ[25]

บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบันเคยเป็นพื้นที่หลังวัด เนื่องจากวัดคุ้งตะเภาในอดีต สร้างหันหน้าเข้าหาแม่น้ำน่านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

สภาพวัดในอดีต

ตัววัดคุ้งตะเภาในสมัยก่อนสร้างติดอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เดิมชื่อ “วัดคุ้งสำเภา” (หรือโค้งสำเภา) จากตำนานที่เชื่อกันมาว่าในสมัยก่อนได้เคยมีเรือสำเภาแล่นขึ้นและล่องทำการค้าขายเป็นประจำ มีอยู่ปีหนึ่งน้ำขึ้นมากและมีเรือสำเภาลำหนึ่งได้แล่นมาถึงหน้าวัดและได้เกิดอัปปางลง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดคุ้งสำเภา อยู่ในเขตตำบลท่าเสา ขึ้นกับเมืองพิไชย ต่อเมื่อผ่านเวลานานมาในสมัยธนบุรี จากตำนานหมู่บ้านกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากนามหมู่บ้าน คุ้งสำเภา เป็น คุ้งตะเภา[26] และผู้คนก็ใช้คำเรียกใหม่กันเช่นนี้ตลอดมาจนปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานว่าคนทั่วไปเรียกหมู่บ้านซึ่งเป็นนามวัดนี้ว่า "คุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดังปรากฏในเสภาตอนหนึ่งใน ขุนช้าง–ขุนแผน ตอนสมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง (ชาว) คุ้งตะเภา" ปรากฏตัวในรายชื่อ 35 นักโทษด้วย (ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา) [27]

จารึกปีที่สร้างอ่างน้ำข้างบันไดหน้าศาลาการเปรียญ ระบุปีที่สร้างบันได พ.ศ. 2476

สำหรับสภาพของวัดในสมัยก่อนนั้น ปรากฏหลักฐานตามประวัติกรมการศาสนาว่า ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญอยู่ริมแม่น้ำหลังหนึ่ง ใช้สำหรับบำเพ็ญกุศลสำหรับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ไล่ไปตามริมแม่น้ำน่านในย่านนี้ ต่อมาภายหลังแม่น้ำน่านเปลี่ยนทิศทางเดินออกไปไกลจากวัดมากกว่า 1 เส้น จึงเกิดแผ่นดินงอกขึ้นมาหน้าวัดซึ่งเป็นท้องน้ำเดิม ขณะเดียวกันก็มีเกาะเกิดขึ้นหน้าวัดด้วยตรงบริเวณหน้าค่ายพระยาพิชัยดาบหักปัจจุบัน มีเกร็ดในประวัติพระยาพิชัยดาบหักว่า เมื่อคราวท่านมาฝึกมวยที่บ้านท่าเสาฝั่งตรงข้ามบ้านคุ้งตะเภา ท่านก็ได้อาศัยหาดทรายเกาะกว้างที่เป็นแผ่นดินงอกใหม่บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภานั่นเองเป็นที่ฝึกมวย

ชาวบ้านย่านตำบลนี้ได้อาศัยศาลาวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ทำการศึกษาเล่าเรียนมาโดยตลอด โดยมีพระสงฆ์เป็นอาจารย์บอกหนังสือมูลทั้งจินดามณีและมูลบทบรรพกิจรวมไปถึงเลขคณิตต่าง ๆ วัดแห่งนี้มีความเจริญมาโดยลำดับในสมัยรัตนโกสินทร์ จนในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดคุ้งตะเภาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปกครองของคณะสงฆ์ในบริเวณแถบนี้ โดยปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ. 2431 เจ้าอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อเข้ารับพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด ตั้งสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระครูสวางคมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมได้รับพระราชทานพัดรองโหมด ย่ามสักลาด บาตรถุงสักลาด กาน้ำถ้วยกระโถนถ้วยร่มรองเท้า เป็นเครื่องยศประกอบตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางอีกด้วย[28]

ในปี พ.ศ. 2442 ปรากฏรายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก ได้ระบุว่า วัดคุ้งตะเภา มีพระ 8 รูป ศิษย์วัด 6 คน มีเจ้าอธิการรอดเป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่ชื่น เป็นมรรคนายก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี[29]

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2465 มีการจัดการศึกษาใหม่ วัดคุ้งตะเภาจึงได้มีครูเป็นฆราวาสทำการสอนแทน โดยเรียกว่าโรงเรียนวัดคุ้งตะเภา มีที่ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาเหมือนเดิม โดยแบ่งเป็น 4 ชั้น ตั้งแต่ประถม 1 ถึง 4 ซึ่งโรงเรียนวัดคุ้งตะเภานี้นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภาและแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตรงข้ามย่านตำบลท่าเสาและท่าอิฐ

ในช่วงหลังมา แม่น้ำน่านในฤดูน้ำหลากได้ขึ้นกัดเซาะตลิ่งวัดพังจนเกือบถึงตัวศาลาการเปรียญ ชาวบ้านเกรงศาลาจะได้รับความเสียหาย จึงได้ปรึกษากันทำการย้ายศาลาการเปรียญหลังเก่ามาสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2472 แต่อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตัวแม่น้ำน่านก็ได้เปลี่ยนทิศทางจากวัดไปมากแล้ว จากความผันผวนของแม่น้ำน่าน ทำให้ตัววัดในช่วงหลังตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำมาก ลำบากแก่การอุปโภคบริโภคของพระสงฆ์และชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตลิ่งแม่น้ำน่านเก่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

จากความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ. 2444 ทำให้ทราบว่าในสมัยนั้นหาดหน้าวัดได้งอกจากตลิ่งแม่น้ำเดิมไปมากแล้ว และคงมีสะพานไม้ทอดยาวลงไปหาแม่น้ำน่านมาก่อนหน้านั้น (คนคุ้งตะเภาเล่ากันมาว่าวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดแห่งเดียวในแถบนี้ที่มีสะพานไม้ยาวดังกล่าว) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งสมจิตรหวังผ่านหน้าวัดคุ้งตะเภาทางแม่น้ำน่าน ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ซึ่งพระองค์ทรงสังเกตว่าวัดคุ้งตะเภาแปลกกว่าวัดอื่นตรงที่มีสะพานไม้ทอดยาวมาหาแม่น้ำน่าน โดยพระองค์ได้มีพระบรมราชาธิบายถึงสภาพวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้นที่มีที่ตั้งอยู่บนตลิ่งน้ำไกลจากแม่น้ำน่านมากไว้ว่า[30]

"...แลเห็นพุ่มไม้วัดแลบ้านลิบ ๆ แต่ในการที่จะมาต้อนรับนั้น ต้องมาตกแต่งซุ้มแลปรำบนหาดซึ่งไม่มีต้นไม้แต่สักต้นเดียว แดดกำลังร้อนต้องมาจากบ้านไกลเปนหนักเปนหนา วัด (คุ้งตะเภา) ที่ตั้งอยู่บนตลิ่งหลังหาดต้องทำตพานยาวนับด้วยเส้น ลงมาจนถึงหาดที่ริมน้ำ แต่ถ้าน่าแล้งเช่นนี้ ตพานนั้นก็อยู่บนที่แห้ง แลยังซ้ำห่างน้ำประมาณเส้น ๑ หรือ ๑๕ วา ถ้าจะลงเรือยังต้องลุยน้ำลงมาอีก ๑๐ วา ๑๕ วา..."

— พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔

และด้วยเหตุที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศไปไกลจากวัดในภายหลัง ทำให้แม่น้ำน่านหน้าวัดกลายเป็นที่งอก แต่ก็ยังคงสภาพเป็นตลิ่งเก่าที่กลายเป็นตลิ่งลำมาบของแม่น้ำน่านในฤดูฝน มีบุ่งน้ำขังในช่วงหน้าแล้งบ้าง พระสงฆ์และชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นจึงจำต้องทำสะพานไม้ยาวต่อจากวัดลงข้ามมาลงบุ่งคุ้งตะเภาและลงไปแม่น้ำน่านเพื่อการสัญจรและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งดังกล่าว


สภาพวัดในปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 หมู่บ้านคุ้งตะเภาได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านคุ้งตะเภาที่ตั้งอยู่เลียบริมแม่น้ำน่านในพื้นที่ตะกอนแม่น้ำพัดโบราณถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมโดยแม่น้ำน่านได้ถูกลดความสำคัญในฐานะเส้นทางคมนาคมค้าขายสำคัญของภูมิภาคลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว จาการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ใน พ.ศ. 2459 ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาตัดสินใจทำการย้ายที่ตั้งกลุ่มหมู่บ้านเดิมที่อยู่ในที่ลุ่มเลียบริมแม่น้ำน่านขึ้นมาตั้งในพื้นที่ดอนที่สูงกว่าจนถึงปัจจุบัน

และหลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ที่ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐหมดความสำคัญลงดังกล่าว ได้มาประกอบกับการที่ทางราชการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำของชาวบ้านคุ้งตะเภายุติลงสิ้นเชิง ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลัก โดยใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำน่านที่ตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญหลังเก่า (หลังที่ย้ายจากริมน้ำขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2472) เป็นเส้นทางสัญจร ปัจจุบันหลังจากมีการตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ผ่านหลังวัดคุ้งตะเภาในประมาณปี พ.ศ. 2522[31] ทำให้บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาที่ใช้เส้นทางสัญจรมาตั้งแต่สมัยอยุธยาต้องเปลี่ยนมาเป็นหลังวัด และพื้นที่ด้านหลังวัดในสมัยก่อนกลายมาเป็นหน้าวัดดังในปัจจุบัน

ภาพพาโนรามาวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552)

ปูชนียวัตถุสำคัญ

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระประธานในอุโบสถ หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว

"พระพุทธสุวรรณเภตรา มหาบรมไตรโลกเชษฐ์ วรเสฏฐมุนี โอฆวิมุตตินฤบดี ศรีบรมไตรโลกนารถ โลกธาตุดิลก ฯ"

"หลวงพ่อสุวรรณเภตรา" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ใจกลางอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล (หลวงพ่อกลม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาอยู่ในขณะนั้น (ท่านเป็นคนคุ้งตะเภาโดยกำเนิด) ได้ปรารภให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภาที่ได้สร้างขึ้นใหม่ จึงได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น ณ วัดดอยท่าเสา โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่นับถือเลื่อมใสในขณะนั้นนั่งปรกอธิษฐาน ในการหล่อครั้งนั้นมีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธานำโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่นทองคำ เงิน ฯลฯ มาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก และเมื่อหล่อเสร็จ ก็ปรากฏว่าทองคำได้แล่นลงที่เศียรพระมากอย่างน่าอัศจรรย์ จึงปรากฏองค์พระพุทธรูปซึ่งกรอปไปด้วยพุทธสิริศุภลักษณะมีพระพักตร์อิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ (ซึ่งเมื่อผู้ใดมองไปที่พระพักตร์ขององค์ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ยิ้มได้" อย่างน่าอัศจรรย์) มีเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันสืบมาด้วยความศรัทธาว่า ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อมาทางน้ำเพื่อมาประดิษฐานที่อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ปรากฏว่าวันนั้นมีพายุฝนรุนแรงมาก แต่เมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นฝั่งก็ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกกลับพลันหยุดตกทันที และเมฆฝนที่ปกคลุมอาณาบริเวณมณฑลพิธีกลับพลันสลาย และแดดกลับออกจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ร่วมพิธีในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ประดิษฐานภายในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หรือที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง เป็นพระนามที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ขนานถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานับถือมาช้านาน ประวัติความเป็นมาอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์ท่าน เป็นที่นับถือเลื่องลือมาช้านาน เห็นได้จากการกล่าวขานเลื่องลือถึงฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แคล้วคลาดด้วยบารมีแห่งผู้ที่เคารพบูชาวัตถุมงคล เนื่องด้วยองค์ท่านอยู่เนือง ๆ และการที่มีผู้มาบนบานและแก้บนองค์หลวงพ่ออยู่เป็นประจำมิว่างเว้น

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ (หน้าตักกว้าง 2 ศอก 13 นิ้ว สูง 3 ศอก 7 นิ้ว) พุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด[32] มีอายุประมาณ 800 ปี มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา เดิมทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐานและไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปโบราณสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์[2]

ดูเพิ่มได้ที่ ประวัติพระพุทธสุโขทัยสัมฤทธิ์ ฯ

พระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงมอบประทานให้แก่วัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดหนึ่งในไม่กี่วัดของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานไว้ภายนอกพระมหาเจดีย์ปิด (พระเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นบนสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์อย่างถาวรตามคติโบราณที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายพระบรมสารีริกธาตุได้)

โดยพระบรมสารีริกธาตุของวัดคุ้งตะเภามีความพิเศษคือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระสังฆนายกจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ คือพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่า พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก แห่งราชอาณาจักรไทย และพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย โดยพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมีความเป็นมา มีเอกสารและหนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุแสดงว่าเป็นของพระบรมสารีริกธาตุส่วนดั้งเดิมแท้ที่รักษาสืบทอดมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยพุทธกาล[33]

ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศพม่า ผู้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุโบราณในเจดีย์เมืองพุกาม ซึ่งต่อมาพระบรมธาตุส่วนหนึ่งได้รับอัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งสหภาพพม่า

โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่านั้น วัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายต่อมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, เจ้าคณะภาค 11 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์) ซึ่งมีจำนวน 3 พระองค์[34] (ปัจจุบันเสด็จเพิ่มมาอีก 1 พระองค์ รวมเป็น 4 พระองค์) เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุ ซึ่งเป็นของเดิมที่รัฐบาลพม่าโดยการนำของฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศพม่า ค้นพบในพระมหาธาตุเจดีย์เมืองพุกามเมื่อปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นของเดิมที่ได้มาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระอรหันต์สมณทูตมาเจริญพระศาสนายังเมืองสุธรรมวดี เมื่อกว่า 2,300 ปี ก่อน และถูกได้อัญเชิญมายังเมืองพุกามในปี พ.ศ. 1600[35][36][37]

พระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรไทย

บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสามประเทศ ณ วัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมอบประทานมาจากพระสังฆราชไทย มีจำนวน 9 พระองค์ โดยเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก[38] ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์[39]

พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย

และพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ชมพูทวีป เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช โดยวัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายจาก พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ Phrakru Paladsuvatanaputthikun (Dr.Visine Vajiravungso) ประธานสงฆ์วัดไทยสิริราชคฤห์ อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย (Watthaisirirajgir Rajkir Nalanda Dist. Bihar India) [40] ซึ่งเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่โทณพราหมณ์เป็นผู้จัดสรรให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐโบราณสมัยพุทธกาล 8 พระนครทั่วชมพูทวีป ตามคำบัญชาของมัลลกษัตริย์ ซึ่งได้พระราชทานไปประดิษฐานยังพระนครทั้ง 8 คือ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปะ เมืองปาวา เมืองกุสินารา และเมืองราชคฤห์

ผอบหินสบู่และองค์พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย ที่ประดิษฐานในวัดคุ้งตะเภา

ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภาซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระสังฆนายก 2 ประเทศ รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดียดังกล่าว สถิตย์ภายในผอบแก้วพร้อมด้วยอัญมณีและทองคำ รองรับด้วยรัตนปทุมดลภายในพระรัตนเจดีย์แก้วเหนือเบญจปฎลสุวรรณฉัตรปิดทองคำแท้ประดิษฐานบนพระแท่นบุษบกบรมคันธกุฎีภายในรัตนกุฎีพุทธวิหาร กลางอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา เปิดให้ประชาชนสักการบูชาได้ทุกวัน ตั้งแต่วิสาขบูชา พ.ศ. 2555

สถาปัตยกรรมสำคัญภายในวัด

วัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่บ้านคุ้งตะเภา มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี และด้วยการที่วัดตั้งอยู่บนทางผ่านสำคัญของชุมนุมค้าขายไทยสยาม-ไทยล้านนา ที่มีความสำคัญตั้งแต่โบราณ ทำให้มีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมมาแต่อดีต เห็นได้จากการแต่งงานและการที่มีกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลายในบริบทสังคมคนคุ้งตะเภา

อย่างไรก็ดี วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานโบราณสถานภายในวัดเพียงสถาปัตยกรรมแบบไทยกลาง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันสมมุติฐานและตำนานเก่าแก่ของคนคุ้งตะเภาที่แสดงให้เห็นว่าคนคุ้งตะเภาที่แรกตั้งรกรากนั้นเป็นคนไทยสยามดั้งเดิม และพึ่งจะได้มีการปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมอื่นในยุคหลัง

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาก่อนการบูรณะ ในปี พ.ศ. 2549

ในปัจจุบัน การก่อสร้างอาคารศาสนสถานหลายอย่างภายในวัด มีความพยายามที่จะผสานประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมของทั้งไทยกลางและล้านนาเข้าไว้ด้วยกันในหลายจุด เพื่อเป็นเครื่องแสดงออกถึงซึ่งสภาพบริบทชาติพันธ์ของคนคุ้งตะเภาและชาวอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยชนหลากหลายชาติพันธ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

ด้วยเหตุนี้ สถาปัตยกรรมในวัดคุ้งตะเภาที่สรางใหม่ในยุคหลัง นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่ตอบโจทย์เพื่อพระพุทธศาสนาและท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นวัดแห่งเดียวที่สร้างศาสนสถานโดยคำนึงถึงการขับเน้นเครื่องหมาย ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ผสมผสานของจังหวัดอุตรดิตถ์ในด้านกลุ่มชาติพันธ์ ที่มีลักษณะพิเศษกว่าจังหวัดอื่นในประเทศไทย

สถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง

ศาลาการเปรียญไม้เครื่องสับโบราณ

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2555

ศาลาประธานวัดคุ้งตะเภาหลังนี้เป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ มีอายุมากกว่าสองร้อยปี จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา กล่าวว่าในสมัยธนบุรี จุลศักราช 1132 ปีขาล โทศก วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2472 โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย

จากรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของอาคารหลังนี้ เป็นรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ[41] โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

มอมคาบนาคปูนปั้นศิลปะล้านนาแท้ หัวบันไดอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

จากที่ตั้งของตัวศาลานั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ทำให้ทราบลักษณะการอยู่อาศัยและสัญจรของคนโบราณในแถบนี้ได้ เพราะที่ตั้งของตัวศาลาวัดในสมัยก่อนนั้นมักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ปัจจุบันแม่น้ำน่านได้ตื้นเขินห่างจากตลิ่งศาลาวัดไปมากกว่า 1 กิโลเมตร) เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นวัดและหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อัน ยาวนานกว่าวัดและหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ เดิมนั้น ก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตัวศาลาเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน อันเป็นทางสัญจรคมนาคมในสมัยก่อน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาลาในที่ตั้งเดิมนั้นสร้างในสมัยใด (คาดว่าอาจจะสร้างมาแต่ครั้งแรกตั้งวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย)

จากหลักฐานบ่อน้ำข้างบันไดศาลาทำให้ทราบว่าศาลาหลัง นี้ย้ายที่ตั้งขึ้นมาจากริม แนวแม่น้ำน่านเดิมบริเวณต้นโพธิ์หลังวัดมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2472 โดยตัวโครงศาลาประธานในปัจจุบันที่ย้ายมานี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว

ศาลาการเปรียญหลังนี้ก่อนบูรณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาทุกต้นเป็นเสาสี่เหลี่ยม เป็นอาคารทรงโรงขนาดกลาง หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันเป็นพื้นไม้เรียบ เดิมเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน มีชายยื่นออกมารับทางขึ้นศาลาทางทิศเหนือ อักษรข้างบันไดศาลาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2483

ศาลาหลังนี้ใช้เป็นอาคารสำหรับบำเพ็ญกุศลหลักของวัด มีการบูรณะและต่อเติมจากตัวโครงศาลาเดิมมาเป็นระยะ ต่อมาได้มีการต่อเติมปิดทึบเฉพาะด้านหอพระ ห้องเก็บของของโรงครัวด้านทิศตะวันออกและตะวันตกบางส่วน และมีการสร้างบันไดใหม่ทางด้านทิศตะวันตกหลังจากมีการสร้างถนนสายเอเชีย ในยุคหลัง พ.ศ. 2500

ในปลายปี พ.ศ. 2549 ทางวัดคุ้งตะเภาได้ทำการบูรณะและต่อเติมศาลาการเปรียญครั้งใหญ่ (ปัจจุบันยังคงทำการบูรณะต่อเติมอยู่) มีการรื้ออาคารประกอบทั้งหมดออก โดยยังคงรักษาโครงไม้ตัวศาลาประธานเดิมไว้อยู่ ซึ่งหลังบูรณะเสร็จ หากมองจากภายนอกศาลาจะไม่สามารถเห็นตัวหลังคาศาลาเดิมได้อีกต่อไป เพราะการบูรณะนั้นมีการเสริมมุขและสร้างอาคารประกอบปิดรอบตัวศาลาประธานทั้งสี่ด้าน

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ซุ้มประตูสถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์

สถาปัตยกรรมล้านนา

ซุ้มประตูโขงวัดคุ้งตะเภา

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ล้านนาผสมรูปแบบซุ้มประตูโขงแบบล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 3 องค์บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง 4 ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถาศิลปะล้าน นาสวยงาม โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก 5 เมตร ขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 19 เมตร ซุ้มประตูนี้สร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2545

พระธรรมเจดีย์

บุษบกปราสาทเฟื้องศิลปะล้านนาภายในวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภามีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่อยู่องค์หนึ่ง มีสัณฐานแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประยุกต์ องค์เจดีย์มีซุ้มจรนัมทั้ง 4 ทิศ ยอดปล้องไฉนนพศูรย์ ล้วนทำด้วยปูนปั้นทั้งสิ้น สัณฐานสูง 3 เมตรโดยประมาณ ซุ้มจรนัมเจาะช่องเล็ก ๆ สำหรับไว้ช้างไม้และเครื่องบูชาปิดหน้าซุ้มด้วยแผ่นกระจก ปัจจุบันคงเหลือสมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ บริเวณคอองค์เจดีย์มีกรอบอักษรทำด้วยปูนมีอักษรจารึกว่า "เดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ นายบุตร นางไฝ ก่อพระธรรมเจดีย์อุทิศให้เจ้าอธิการกอง"

เจดีย์นี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาคนรุ่นก่อนเรียกว่าพระธรรมเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์ ไว้สำหรับบรรจุใบลานธรรมสำหรับบูชา ผู้ที่ยังทันมาเห็นขณะสร้างเจดีย์กล่าวว่าผู้สร้างเจาะช่องบริเวณองค์เจดีย์ สำหรับไว้บรรจุพระธรรมใบลาน ปัจจุบันคาดว่าใบลานคงเปื่อยยุ่ยหมดแล้ว เนื่องจากความชำรุดและความชื้นขององค์เจดีย์

พระธรรมเจดีย์โบราณวัดคุ้งตะเภา

นอกจากนี้บริเวณทิศตะวันออกของพระธรรมเจดีย์ยังมีผู้มาสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษด้วยโดยลอกแบบพระธรรมเจดีย์ไปสร้าง โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ ท่านเล่าว่าเจดีย์องค์แรกเป็นเจดีย์รวมสำหรับบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภา โดยเคยมีซุ้มไม้กระดานเล็ก ๆ เขียนไล่สายบรรพบุรุษบ้านคุ้งตะเภาอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว[42]

สถาปัตยกรรมแบบผสม

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2492 และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2498 อาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา สถาปัตยกรรมเดิมเป็นรูปแบบอุโบสถทรงไทยประยุกต์ช่างฝีมือพื้นบ้าน ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา

อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2537 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน) โดยทำการบูรณะเสร็จในปี พ.ศ. 2539 มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมไปจากเดิมมาก โดยการบูรณะครั้งหลังสุด ได้มีการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมทั้งไทยกลางและล้านนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงบริบทวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธ์ไทที่หลากหลาย ทั้งไทยและล้านนาที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังใหม่

"อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล" เป็นโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ล้อมรอบศาลาการเปรียญทรงโรงไม้เครื่องสับโบราณของวัด บนพื้นที่ตั้งรอบศาลาการเปรียญหลังเก่า โดยอาคารใหม่ได้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสมัยโบราณและใหม่ มีซุ้มหน้าบันปูนปั้น พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งอาคาร นับเป็นอาคารศาลาการเปรียญปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบันโครงการในส่วนอาคารคืบหน้าไปได้ร้อยละ 90 (พ.ศ. 2553) เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น จะสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 1,500 คน และพื้นที่ในอาคารจะถูกใช้เป็นสำนักงานวัดคุ้งตะเภา, ศูนย์สารสนเทศ, สำนักงานสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา, หอสุวรรณเภตรามหาสังฆสมาคม (ห้องประชุมสงฆ์ปรับอากาศ), หอสังฆกิตติคุณาณุสรณ์, หอสมุดวัดคุ้งตะเภา และห้องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา

กุฎิปั้นหยา (กุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา)

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา

หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา สร้างขึ้นในที่ตั้งปัจจุบันในช่วง พ.ศ. 2500 โดยย้ายมาจากที่ตั้งเดิมบริเวณหลังวัดริมแม่น้ำน่านเก่า เพื่อปรับทิศทางให้ต้องตามหลักทักษาวัดโบราณ หลังการสร้างอุโบสถของวัดในปี พ.ศ. 2498 เป็นอาคารกลุ่มกุฎิสงฆ์หลังคาทรงปั้นหยาไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้น ที่ได้รับอิทธิพลต่อเนื่องมาจากยุคเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างสถาปัตยกรรมบ้านในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีการสร้างชานนั่งลดระดับแบบอาคารบ้านทรงไทยโบราณ ซึ่งเคยเป็นรูปแบบหมู่กุฎิสงฆ์ฝาไม้ประกนแบบภาคกลางโบราณอายุนับร้อยปีของวัดที่ถูกรื้อทิ้งเพราะความทรุดโทรม

หมู่กุฎิสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเก่า มีการต่อเติมและสร้างมาโดยตลอด โดยอาคารหลังแรกคือกุฎิเก่าที่สร้างโดยกำนันหลง ฟักสด และมีการก่อสร้างหอสวดมนต์ และกุฎิเจ้าอาวาส มาตามลำดับ ทุกอาคารมีทางเดิมเชื่อมถึงกันหมด ทุกอาคารยังคงอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ปัจจุบันกุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภายังได้เป็นที่ตั้งของตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาอีกด้วย

อาณาเขตที่ตั้งวัด

วัดคุ้งตะเภาได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313[43] ไม่มีหลักฐานระบุว่ามีพื้นที่วัดเท่าใด สันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งวัดเก่าอยู่ติดริมแม่น้ำน่าเก่า ปัจจุบันตัววัดที่จำพรรษาของพระสงฆ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน ห่างจากริมแม่น้ำน่านเก่าประมาณ 20 เมตร

เขตติจีวราวิปวาส

ภาพถ่ายดาวเทียมวัดคุ้งตะเภา แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ตั้งของวัดคุ้งตะเภาดังนี้
เขตวิสุงคามสีมา: แสดงในกรอบสี่เหลี่ยมระบายสีเทา (กลางเขตติจีวราวิปวาส)
เขตติจีวราวิปวาส: แสดงในกรอบเส้นสีเหลือง
เขตที่ตั้งวัดนอกเขตติจีวราวิปวาส: แสดงในกรอบสีขาว
เขตฌาปนสถาน: แสดงในกรอบเส้นสีน้ำเงิน
เขตที่ธรณีสงฆ์: แสดงในกรอบเส้นสีแดง
เขตที่ดินที่ได้รับถวายที่ไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์: แสดงในกรอบภายในเส้นสีแดงนอกเขตกรอบเส้นสีน้ำเงิน

ปัจจุบันตัววัดตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน ห่างจากริมแม่น้ำน่านเก่าประมาณ 20 เมตร มีอาณาเขตสมมุติติจีวราวิปวาส หรือเขตที่ตั้งภายในกำแพงวัด เนื้อที่ 10 ไร่เศษ เมื่อรวมกับพื้นที่อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ตั้งวัดด้านศาลาหลังเก่านอกกำแพงทางทิศเหนือลงไปพื้นที่ท้องแม่น้ำน่านโบราณ จะมีพื้นที่กรรมสิทธิ์รวม 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา เป็นพื้นที่หลักของวัด สำหรับพระสงฆ์สามเณรจำพรรษาและเป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมและกิจกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และชาวบ้าน

เขตติจีวราวิปวาสวัดคุ้งตะเภา มีอุโบสถเป็นจุดศูนย์กลาง มีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินข้างเคียง ดังต่อไปนี้

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน (เดิมติดแม่น้ำน่านเก่า) มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับทางสาธารณประโยชน์ มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับทางสาธารณประโยชน์ มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต

เขตวิสุงคามสีมา

วัดคุ้งตะเภาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือพื้นที่ตั้งสำหรับทำอุโบสถสังฆกรรม เมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2490[44] เนื้อที่กว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร มีเนื้อที่กว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร ตั้งอยู่ภายในเขตติจีวราวิปวาสของวัด

อาคารส่วนฌาปนสถานบนพื้นที่ตั้งธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภา

ตัวอาคารที่ตั้งบนวิสุงคามสีมาหรืออุโบสถนั้น เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2492 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2498 โดยอาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น

อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2537 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน) โดยทำการบูรณะเสร็จในปี 2539 ใช้เงินบูรณะจำนวน 1.6 ล้านบาท

ที่ธรณีสงฆ์

วัดคุ้งตะเภามีที่ธรณีสงฆ์เป็นกรรมสิทธิ์จำนวน 2 แปลง ธรณีสงฆ์แปลงที่หนึ่ง มีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา (โฉนดที่ดิน เลขที่ 5014 เล่ม 51 หน้า 14) และที่ธรณีสงฆ์แปลงที่สอง มีเนื้อที่ - ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา (โฉนดที่ดิน เลขที่ 76233 เล่ม 763 หน้า 33) ที่ธรณีสงฆ์ทั้งสองแปลง ตั้งอยู่ห่างจากตัววัดคุ้งตะเภาประมาณ 100 เมตรไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ธรณีสงฆ์นี้ เดิมเป็นพื้นที่สุสานของหมู่คุ้งตะเภาที่มีการกันเขตแน่นอน ต่อมาในประมาณปี พ.ศ. 2510 ชาวบ้านจึงได้ยกที่ธรณีสงฆ์นี้เป็นพื้นที่ฌาปนสถานวัดคุ้งตะเภา สำหรับใช้ประโยชน์หลักในการตั้งเมรุและศาลาธรรมสังเวช ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2539 มีการแบ่งพื้นที่ด้านติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สำหรับตั้งร้านค้าชุมชน ธนาคารหมู่บ้าน ที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภา ปัจจุบันตั้งอยู่ติด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ขาขึ้น มีซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาเป็นจุดสังเกต

พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสังกัด

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีจำนวนพระภิกษุสามเณรจำพรรษาในพรรษากาลพ.ศ. 2553 ตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนา รวมทั้งสิ้น 68 รูป

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีจำนวนพระภิกษุสามเณรจำพรรษาในพรรษากาลพ.ศ. 2553 ตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนา รวมทั้งสิ้น 68 รูป แบ่งเป็นพระสังฆาธิการ 2 รูป และพระลูกวัดในสังกัดวัดคุ้งตะเภาตามพฤตินัยและตามทะเบียนสุทธิสงฆ์อีก 15 รูป โดยเป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตร 1 รูป, พระฐานานุกรม 1 รูป, พระเปรียญ 1 รูป, สามเณรเปรียญ 1 รูป, พระวิปัสสนาจารย์ 3 รูป ในจำนวนนี้เป็นพระกรรมวาจาจารย์จำนวน 5 รูป, ครูสอนพระปริยัติธรรม 8 รูป, ครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 3 รูป และครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจำนวน 7 รูป จบนักธรรมชั้นเอกจำนวน 9 รูป, นักธรรมชั้นโท 2 รูป และนักธรรมชั้นตรี 2 รูป มีพระนักศึกษาในระดับนักธรรมชั้นตรีจำนวน 5 รูป สามเณรนักเรียนที่เข้าสอบนักธรรมชั้นตรีในสังกัดวัดคุ้งตะเภา 52 รูป นักธรรมชั้นโท จำนวน 2 รูป และนักธรรมชั้นเอกจำนวน 2 รูป มีพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญารวมทั้งที่กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) และปริญญามหาบัณฑิต (ปริญญาโท) ทั้งสิ้น 7 รูป

ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

แม้วัดคุ้งตะเภาจะมีอายุมากกว่าสองร้อยปี แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกหลักฐานลำดับเจ้าอาวาสไว้ ทำให้ไม่สามารถพบรายชื่อลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาตั้งแต่แรกสร้างวัด อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2535 มีการจัดทำบัญชีลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา โดยอาศัยคำบอกเล่าจากคนรุ่นเก่าในหมู่บ้านที่ยังจำได้ สามารถสืบได้ 11 ลำดับด้วยกัน โดยไม่สามารถสันนิษฐานช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเจ้าอาวาสแต่ละรูปได้ชัดเจน

ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเท่าที่สามารถสืบค้นได้มีดังต่อไปนี้ (ประมาณ พ.ศ. 2450 ถึง ปัจจุบัน)

ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เท่าที่มีหลักฐานสืบค้นได้*
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
-พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พ.ศ. 2313 - (ไม่ทราบปี) [45][46]
-พระครูสวางคมุนี (เจ้าอธิการจัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[47] ก่อน พ.ศ. 2431 - ก่อน พ.ศ. 2442 [48]
-พระอธิการรอด (สมัยรัชกาลที่ 5) ร.ศ.118 -(ไม่ทราบปี) [49]
-พระอธิการโต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ ไม่ปรากฏหลักฐาน [50]
-พระอธิการตี๋ ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการเจิม ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการเพิ่ม ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการกลอง ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระสมุห์ปลาย ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระปลัดป่วน ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการสังวาล พ.ศ. 2500 - ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการท้วน โฆสโก ก่อน พ.ศ. 2509 - ไม่ทราบ [42]
-พระอธิการเมี้ยน ขนฺติพโล (สิทธิชัย) ไม่ปรากฏหลักฐาน [42]
-พระอธิการผลิศร์ ญาณธมฺโม ไม่ปรากฏหลักฐาน - พ.ศ. 2530 [42]
รักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
รายนามผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
พระครูไพโรจน์ธรรมสาร (อ็อด สคารโว) พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531 [42]
พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532 [42]
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช (ธง ฐิตธมฺโม) (อิ่มชม) 25 ธันวาคม พ.ศ. 2533 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554[51] [42]
พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554- ปัจจุบัน [52][3]
*หมายเหตุ: พระที่รักษาวัดก่อนหน้านั้นไม่อาจทราบชื่อได้

ลำดับพระอุปัชฌาย์วัดคุ้งตะเภา

นับแต่องค์ปฐมเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือ พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) ที่ได้รับอาราธนาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยทางราชการ ให้ขึ้นมาอยู่ประจำสั่งสอนพระธรรมวินัยในเมืองสวางคบุรี ในปี พ.ศ. 2313 พร้อมกับการสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้นในปีนั้น ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนับตั้งแต่นั้น ก่อนที่จะมีกฎหมายระบุการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยอนุมัติจากทางราชการไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 วัดคุ้งตะเภาคงมีพระอุปัชฌาย์ไปตามพระธรรมวินัย อย่างไรก็ดีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์โดยฝ่ายบ้านเมืองพึ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีประกาศเรื่องผู้จะบวชเป็นพระภิกษุให้มีประกันและการตั้งอุปัชฌาย์ จุลศักราช 1237 (พ.ศ. 2419) และพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) ประกอบกับประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. 2456 ในสมัยรัชกาลที่ 6 วัดคุ้งตะเภาก็ไม่เคยมีพระภิกษุรูปใดได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์โดยถูกต้องจากทางราชการอีกเลย ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นการแสดงลำดับพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตามความในข้อ 9 แห่ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ( พ.ศ. 2536 ) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ซึ่งมีเพียงจำนวน 3 รูป ดังต่อไปนี้

ลำดับพระอุปัชฌาย์วัดคุ้งตะเภา เท่าที่สามารถสืบค้นได้มีดังต่อไปนี้ (พ.ศ. 2313 ถึง ปัจจุบัน)

ลำดับพระอุปัชฌาย์แห่งวัดคุ้งตะเภา ที่ได้รับการแต่งตั้ง*
รายนามพระอุปัชฌาย์แห่งวัดคุ้งตะเภา ได้รับแต่งตั้งเมื่อ อ้างอิง
-พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) พ.ศ. 2313 [53][54]
-พระครูสวางคมุนี (เจ้าอธิการจัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[55] พ.ศ. 2431 [56]
-พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ 28 มกราคม พ.ศ. 2561 [57]

การปกครองวัด

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำพรรษามากที่สุดกว่าวัดอื่นในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาตามสถิตินับย้อนหลังกว่า 10 ปี[58]

คณะ (กลุ่มกุฎิ)

เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระสงฆ์จำพรรษามาก ประกอบกับพื้นที่วัดมีขนาดใหญ่ มีกลุ่มกุฎิหลายหลังตั้งอยู่ในทิศต่าง ๆ กระจายทั่วบริเวณวัด ลำบากแก่การปกครองดูแล เพื่อให้สะดวกแก่การปกครอง เพื่อแบ่งพื้นที่ในการดูแลรักษาวัด เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาจึงได้ออกคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เรื่อง ตั้งคณะในวัดคุ้งตะเภา พ.ศ. 2553 [59] โดยมีการกำหนดเจ้าคณะ อำนาจหน้าที่ และพื้นที่ปกครองดูแล โดยมีการแบ่งคณะออกเป็น 7 คณะ เรียงตามทิศวนเข็มนาฬิกา โดยเริ่มจากกุฎิอธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) เป็นต้นไป มีนามคณะคล้องจองสัมผัสกัน ดังนี้ คณะ 1 นามว่า คณะสถิตย์อธิบดี, คณะ 2 นามว่า คณะวสีพุทธมนต์, คณะ 3 นามว่า คณะอนันตเภสัช, คณะ 4 นามว่า คณะวิเวกวาสี, คณะ 5 นามว่า คณะมหาศาลาวิหาร, คณะ 6 นามว่า คณะอัษฏางคกุฎิ และ คณะ 7 นามว่า คณะสันติสถาน

และหากนำศัพท์แรกของนามคณะทั้ง 7 มาเข้าสนธิศัพท์ในภาษาบาลีแล้ว จะได้เป็นคำสมาสบาลีดังนี้ "ฐิตวสิยานนฺตวิเวกมหนฺตฏฺฐมสนฺติ" (อ่านว่า: ฐิ-ตะ-วะ-สิ-ยา-นัน-ตะ-วิ-เว-กะ-มะ-หัน-ตัฏ-ฐ-มะ-สัน-ติ) แปลความว่า ความสงบอันยิ่งใหญ่ทั้ง 8 (อริยมรรคมีองค์แปด) อันเกิดจากสภาวะสงัด (สงัดจากกิเลสคือนิพพาน) อันไม่มีที่สิ้นสุดอันตั้งอยู่แล้ว

โดยทั้ง 7 คณะ มีพื้นที่และสภาพด้านกายภาพภายในคณะต่าง ๆ ดังนี้

คณะ 1 (คณะสถิตย์อธิบดี)

ถาวรวัตถุภายในเขตอุปจารของคณะ 2 วัดคุ้งตะเภา

คณะ 1 มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมกุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาทั้งสองชั้น อาคารห้องน้ำสงฆ์ 2 ชั้น หอระฆัง 2 ชั้นแรก บริเวณพื้นที่ใต้ทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 1 และคณะ 2 ซุ้มป้ายประชาสัมพันธ์ มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่กุฎิทิศเหนือนับจากชายคา 2 เมตร บริเวณพื้นที่หน้ากุฎิทิศตะวันออกนับจากชายคา 6 เมตร จรดขอบถนนหลักของวัด บริเวณพื้นที่กุฎิทิศใต้นับจากชายคาห้องน้ำสงฆ์ 2 เมตร และบริเวณป้ายประชาสัมพันธ์โดยรอบนับจากชายคา 2 เมตร

คณะ 2 (คณะวสีพุทธมนต์)

คณะ 2 คณะวสีพุทธมนต์ มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารหอสวดมนต์วัดคุ้งตะเภาทั้งสองชั้น ห้องน้ำห้องสมุด 1 ห้อง หอระฆังชั้นที่ 3 บริเวณบนทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 1 และ 2 แทงค์น้ำ ถนนลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารหอสวดมนต์วัดคุ้งตะเภาทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ 5 เมตร เว้นทิศตะวันออก ให้มีพื้นที่นับจากชายคาออกไปอีก 12 เมตร จนสุดขอบถนนหลักของวัด

ถาวรวัตถุภายในเขตอุปจารของคณะ 6 วัดคุ้งตะเภา

คณะ 3 (คณะอนันตเภสัช)

คณะ 3 คณะอนันตเภสัช ประกอบด้วย ห้องกุฎิสงฆ์ 7 ห้อง ห้องน้ำประจำคณะ 3 ห้อง มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารกุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาทั้งสองชั้น บริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 ทั้งสองชั้น ทางเดินลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น ถนนลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารกุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาทิศใต้ 8 เมตร ทิศตะวันตกนับจากชายคาทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 จนจรดสุดกำแพงวัดทิศตะวันตก ทิศเหนือ 3 เมตร สุดที่ต้นมะขามป้อมใหญ่ ทิศตะวันออก มีพื้นที่นับจากชายคากุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาออกไปอีก 7 เมตร ครอบคลุมป่าสมุนไพร จนสุดทางเดินเท้าเข้าคณะ 4 และนับจากทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 ไปอีก 23 เมตร จนสุดขอบถนนหลักของวัด

ถาวรวัตถุภายในเขตอุปจารของคณะ 3 วัดคุ้งตะเภา (กุฎิเก่ากำนันหลง) เป็นไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง

คณะ 4 (คณะวิเวกวาสี)

คณะ 4 คณะวิเวกวาสี มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารกุฎิกรรมฐานกลางป่าสมุนไพรทั้งสองชั้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารกุฎิกรรมฐานทิศใต้ 5 เมตร ทิศตะวันตก จรดสุดกำแพงวัดทิศตะวันตก และทิศเหนือ 42 เมตร จรดสุดกำแพงวัดทิศเหนือ ครอบคลุมป่าสมุนไพรทั้งหมด ทิศตะวันออก มีพื้นที่นับจากอาคารกุฎิกรรมฐาน 15 เมตร สุดที่แทงค์เครื่องกรองน้ำประจำวัด และมีอุปจารครอบคลุมพื้นที่ลานดินหน้าอาคาร และทางเดินเท้าเข้าคณะจากถนนหลักและจากถนนลาดปูนเข้าคณะ 3 ยาว 30 เมตร

เขตอุปจารของคณะ 4 เป็นภูมิทัศน์แบบวัดป่ากลางป่าสมุนไพรของวัด ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่
ถาวรวัตถุในเขตอุปจารคณะ 7 วัดคุ้งตะเภา
ป่าสมุนไพรธรรมชาติในบริเวณอุปจารคณะ 4 วัดคุ้งตะเภา

คณะ 5 (คณะมหาศาลาวิหาร)

คณะ 5 คณะมหาศาลาวิหาร มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารมหาศาลาการเปรียญของวัดคุ้งตะเภาทั้งอาคาร รวมถึงอาคารหอฉัน ห้องน้ำประจำคณะ 20 ห้อง มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ ทิศใต้นับจากชายคาอาคาร 11 เมตร จรดถนนรอบอุโบสถ ทิศตะวันตกนับจากชายคาอาคารหอฉัน 8 เมตร ทิศเหนือนับจากชายคาจนสุดเขตกำแพงวัด และพื้นที่นอกกำแพง 1 เมตร ทิศตะวันออก นับจากชายคาอาคาร 30 เมตรจนสุดกำแพงวัดทิศตะวันออก

คณะ 6 (คณะอัษฏางคกุฎิ)

คณะ 6 คณะอัษฏางคกุฎิ มีเขตอุปจารคณะประกอบด้วย พระธรรมเจดีย์ กลุ่มกุฎิเดี่ยว 8 หลัง ห้องน้ำ 8 ห้อง ถนนลาดปูนภายในคณะ 55 เมตร ป่าสมุนไพร และป้ายประชาสัมพันธ์ ที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัด ทิศตะวันตกนับจากถนนหลักของวัดเข้ามา ทิศตะวันออกนับจากกำแพงวัดเข้ามา ทิศใต้นับจากกำแพงวัดเข้ามา ทิศเหนือนับจากถนนจุฑามาศวิถีเข้ามา รวมถึงบริเวณพื้นที่นับจากชายคาหน้าอุโบสถจนสุดกำแพงวัด ถนนหลักของวัดเส้นเหนือโบสถ์เข้ามาจนสุดกำแพงทิศใต้ และพื้นที่รอบต้นไทรใหญ่หลังอุโบสถ

คณะ 7 (คณะสันติสถาน)

คณะ 7 คณะสันติสถาน ประกอบด้วย กุฎิสงฆ์ 1 หลัง ห้องรับรองพระมหาเถระปรับอากาศ 1 หลัง ห้องน้ำประจำคณะ 2 ห้อง มีเขตอุปจารคณะดังนี้ ทิศตะวันออก จากกำแพงวัดทิศตะวันตกจรดถนนหลักของวัด ทิศเหนือจากกำแพงวัดทิศใต้จรดชายคาคณะ 1 และ 2

การบริหารวัด

เนื่องด้วยวัดคุ้งตะเภา จัดตั้งขึ้นโดยเป็นวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาท ฝ่ายมหานิกาย จึงอยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรปกครองหลักของคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย วัดคุ้งตะเภาในปัจจุบันจึงดำเนินการศาสนกิจอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย[60] แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535[61] โดยปัจจุบันมีบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการภายในวัดที่ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของมหาเถรสมาคมจำนวน 4 คน แบ่งเป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เจ้าอาวาสถือเป็นผู้ปกครองวัดตามมาตรา 36 เป็นผู้แทนของวัดตามมาตรา 31 วรรค 3 เป็นเจ้าพนักงานวัดตามมาตรา 45) จำนวน 1 รูป และคฤหัสถ์ผู้ทำหน้าที่ไวยาวัจกรจำนวน 3 คน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 รูป แบ่งเป็นพระฐานานุกรมจำนวน 1 รูป และพระเปรียญจำนวน 2 รูป ตำแหน่งสมณศักดิ์ดังกล่าวเป็นเพียงการยกย่องเชิดชูเช่นเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารจัดการวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แต่อย่างใด

พระสังฆาธิการวัดคุ้งตะเภา

รายนามพระสังฆาธิการวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน
รูป ชื่อ ตำแหน่ง
พระสังฆาธิการ
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ปีดำรงตำแหน่ง
พระสังฆาธิการ
1. พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน)
น.ธ.เอก, ป.บส., พธ.บ. (การจัดการเชิงพุทธ)
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (จร.)
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.ดีเด่น)
  • เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3
  • พระธรรมทูต
  • พระวิทยากร
    ประจำศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์
  • อดีตเลขานุการเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 1 และ 4
  • อดีตรองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา รูปที่ 1
    (พ.ศ. 2536 -พ.ศ. 2553)
  • อดีตเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
    (19 พ.ย. พ.ศ. 2552 - 1 ม.ค. 2554)
พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน (ตำแหน่ง จร.วัดคุ้งตะเภา)
พ.ศ. 2536 -พ.ศ. 2553 - (ตำแหน่ง รจร.วัดคุ้งตะเภา)
1. ดร.พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย)
น.ธ.เอก, ป.ธ.๔, น.บ. (นิติศาสตรบัณฑิต), รป.ม. (รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต), Ph.D (Public Administration)
รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (รจร.) [62]
  • พระปริยัตินิเทศก์จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม, ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน, พระกรรมวาจาจารย์
  • พระธรรมทูตสายสหราชอาณาจักร, พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 24
  • พระวิปัสสนาจารย์
  • พระธรรมวิทยากร
พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน (ตำแหน่ง รจร.วัดคุ้งตะเภา)

ไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภา

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีไวยาวัจกร ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งในเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน ตามความในข้อ 10 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 วรรคแรก แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505[63] แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535[64] จำนวน 6 ตำแหน่ง แบ่งเป็นไวยาวัจกรคนที่ 1 รับผิดชอบงานฝ่ายบัญชี (บัญชีและการบริหารงบดุลภายในวัด) ไวยาวัจกรคนที่ 2 รับผิดชอบงานฝ่ายศาสนพิธี ไวยาวัจกรคนที่ 3 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธสาธารณสถาน ไวยาวัจกรคนที่ 4 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธศาสนศึกษา ไวยาวัจกรคนที่ 5 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธศาสนสงเคราะห์ และไวยาวัจกรคนที่ 6 รับผิดชอบงานส่งเสริมการปฏิบัติธรรม รวมเป็น 6 คน

รายนามไวยาวัจกรในตำแหน่งของวัดคุ้งตะเภาคนปัจจุบัน
ในพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ
รูป ชื่อ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ตำแหน่ง หน้าที่ วันที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก
1. พ.อ.สิงหนาท โพธิ์กล่ำ[65][66] - ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)

- ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)

- ไฟล์:Victory Medal - Vietnam with flames (Thailand).png เหรียญกล้าหาญชัยสมรภูมิ

- เหรียญพิทักษ์เสรีชน

- เหรียญราชการชายแดน

ไวยาวัจกร คนที่ 1 ไวยาวัจกรฝ่ายบัญชี 12 สิงหาคม พ.ศ. 2542
2. จ.ส.อ.บุญเลี่ยม แสงวิจิตร[67] - เหรียญกล้าหาญชัยสมรภูมิ

- เหรียญพิทักษ์เสรีชน

- เหรียญราชการชายแดน

ไวยาวัจกร คนที่ 2 ไวยาวัจกรฝ่ายศาสนพิธี 2 สิงหาคม พ.ศ. 2549[68]
3. ร.ต.ต.ณรงค์ ถิ่นประชา - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) ไวยาวัจกร คนที่ 3 ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธสาธารณสถาน 1 มกราคม พ.ศ. 2553
4. นายศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ไวยาวัจกร คนที่ 4 ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธศาสนศึกษา 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[69]
5. นายสมชาย สำเภาทอง - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นเหรียญเงินมงกุฎไทย (ร.ง.ม.) ไวยาวัจกร คนที่ 5 ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธศาสนสงเคราะห์ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[69]
6. นายทรงชัย มาสูตร - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.) ไวยาวัจกร คนที่ 6 ไวยาวัจกรฝ่ายส่งเสริมการปฏิบัติธรรม 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[69]

กิจกรรมหลักของวัด

ภาพคณะสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภาทัศนศึกษาพุทธมณฑล พ.ศ. 2549

ปัจุจบันวัดคุ้งตะเภา เป็นที่ตั้งของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศพัดและประกาศเกียรติคุณหน่วย อปต.ดีเด่น ระดับประเทศ[70] ดังนั้นวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่เยาวชน (กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน) เป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาสำหรับคฤหัสถ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา (สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล) มีห้องสมุดทางพระพุทธศาสนาที่มีหนังสือเอกสารและตำราทางพระพุทธศาสนา กว่า 5000 เล่ม (สุวรรณเภตราบรรณาคาร) เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของฝ่ายปกครองและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั่วไปของชุมชนคุ้งตะเภา รวมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (ตามโครงการของทางคณะสงฆ์) ซึ่งมีสมุนไพรหายากหลากชนิดกว่า 500 ชนิด

ขบวนแห่เนื่องในงานบุญประเพณีภายในวัดคุ้งตะเภา

งานบุญประเพณี

เนื่องด้วยวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ในชุมชนโบราณอายุกว่าสามร้อยปี ที่มีความสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมอยุธยา ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน เพราะโดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา คือเป็นคนไทยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานแถบเมืองพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย,เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากชาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่การจัดประเพณีหรือกิจกรรมของหมู่บ้านมักจะจัดที่วัดประจำหมู่บ้าน

วัดคุ้งตะเภาเป็นศูนย์กลางจัดงานบุญประเพณี ๙ เดือน ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภามานับสามร้อยปี

ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านคุ้งตะเภา ในการจัดงานกิจกรรมประเพณีตลอดทั้งปี เรียกว่า ประเพณี 9 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน 2 ไปจนสิ้นสุดเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย คือในเดือน 2 มีประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เดือน 3 ประเพณีวันมาฆบูชา เดือน 4 ประเพณีวันตรุษไทย เดือน 5 ประเพณีวันสงกรานต์ เดือน 6 ประเพณีวันวิสาขบูชา เดือน 7 ประเพณีสลากภัต เดือน 8 ประเพณีวันวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เดือน 10 งานบุญมหาชาติ และประเพณีวันสารทไทย เดือน 11 ประเพณีวันออกพรรษาตักบาตรเทโว และประเพณีกฐินสามัคคี

ดูเพิ่มได้ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา#วัฒนธรรมประเพณี

คณะศรัทธาวัดคุ้งตะเภาทำวัตรสวดมนต์ในงานบุญวันธรรมสวนะ

การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชน

วัดคุ้งตะเภา เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม)[16][17] มีพระภิกษุผู้ได้รับการฝึกอบรมและผ่านหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ (หลักสูตรของมหาเถรสมาคม) จำนวน 3 รูป[71] คือ พระทองเพียร อุปสนฺโต (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ รุ่น 1) และพระเที่ยง นิติสาโร (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ ปี 2553) พระนพรัตน์ สุธีโร (สำเร็จหลักสูตรกัมมัฏฐานสายภัตทันตะธรรมาจาริยะ) นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน คือหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย ท่านเป็นศิษย์สายธุดงค์พระกัมมัฏฐาน ที่เคยออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกับองค์พ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น และเคยเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพุทธทาส หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) วัดคุ้งตะเภาจึงมีศักยภาพสูงในการจัดการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในท้องถิ่น ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีการจัดกิจกรรมสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภา

ภาพหมู่สามเณรบรรพชาภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภาได้จัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนติดต่อกันมาทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งนับเป็นวัดแรก ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 15 (พ.ศ. 2555) ซึ่งทางวัดจะมีการจัดการอบรมศาสนศึกษาระยะสั้นให้แก่กุลบุตร กุลธิดา ตลอดระยะเวลาการบรรพชา 30 วันรวมทั้งมีการจัดให้มีการนำคณะสามเณรศีลจาริณีไปทัศนศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการยังมีการจัดธุดงค์วัตร นำคณะสามเณรผู้สนใจไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ฝึกความอดทนและความมีน้ำใจให้แก่เยาวชนอีกด้วย

ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทุนปัจจัยทั้งหมดอาศัยแรงศรัทธาความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงที่เล็งเห็นถึงผลของการพัฒนาลูกหลานเยาวชนให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป[71]

สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

คณะนักเรียนสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

การจัดให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์ (ผู้ไม่ใช่นักบวช) ของวัดคุ้งตะเภา หรือ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภานั้น เริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา ขึ้นที่วัดคุ้งตะเภาเป็นต้นมา และยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน จนในปี พ.ศ. 2554 นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 1/2554 จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภาจึงมีภารกิจด้านการจัดแหล่งการเรียนรู้ในวัดเพิ่มเติมจากการทำการเรียนการสอนตามปกติในสถานศึกษาระดับพื้นฐาน โดยในส่วนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภานั้นอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม[72][71]

ห้องสมุดพระพุทธศาสนาสุวรรณเภตราบรรณาคาร

ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา บนอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ มุขทิศตะวันออก

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีห้องสมุดจำนวน 2 ห้อง[71] โดยไม่มีอาคารแยกจำเพาะเป็นเอกเทศ หนังสือส่วนใหญ่ได้มาจากการรวบรวมของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน และจากการได้รับบริจาค โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้แนวคิดการปรับปรุงอาคารศาสนสถานที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่วัดอื่น ๆ โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้พื้นที่อาคารหอสวดมนต์ จัดเป็นมุมหนังสือเก่า มีตู้หนังสือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ หนังสือเรียนนักธรรม-บาลี เทปคาสเซตธรรมะ และเอกสารอื่น ๆ และได้จัดพื้นที่ด้านทิศเหนือของอาคารศาลาการเปรียญเป็นห้องสมุดของวัด เรียกว่า “สุวรรณเภตราบรรณาคาร” ประกอบไปด้วยหนังสือทั้งหนังสือธรรมะทั่วไป พระไตรปิฎก อรรถกถา ธรรมะประยุกต์ หนังสือเรียนธรรม หนังสือเชิงวิชาการ ทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยานิพนธ์พระพุทธศาสนา รวมไปถึงหนังสือเชิงปกิณกะอื่น ๆ กว่า 5,000 เล่ม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ทางธรรมะของสาธุชนผู้เข้ามาใช้สถานที่ในวัดคุ้งตะเภาในโอกาสต่าง ๆ [42]

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา หรือ พิพิธภัณฑ์สุวรรณเภตราภัณฑาคาร (อังกฤษ: Wat Kungtapao Local Museum ) เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นขนาดเล็กของวัด จัดแสดงเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพระอาจารย์อู๋ วชิรญาโณ (แสงสิน) และพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและที่ทางวัดได้รับบริจาคจากชาวบ้าน เช่น พระพุทธรูปโบราณ สมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน นำมาจัดแสดงให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมา ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[71]

ศูนย์กลางในการจัดและเผยแพร่กิจกรรมสำคัญของชุมชน

วัดคุ้งตะเภา ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนคุ้งตะเภา ได้มีการจัดกิจกรรมแก่ประชาชนในวัดในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นสถานที่ประชาชนผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเพื่อเพิ่มพูนพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การพัฒนาทักษะด้านสมุนไพรไทย รวมถึงเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งตะเภาอีกด้วย ผลของการมีบทบาทดังกล่าวทำให้วัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหกรณ์สมาพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนา ภาคเหนือตอนล่าง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) รวมทั้งอาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา ซึ่งมีที่ตั้งอาคารทำการอยู่ที่บริเวณวัดคุ้งตะเภา[42]

การจัดกิจกรรมแสดงทางประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนในวัดคุ้งตะเภา

นอกจากนี้วัดคุ้งตะเภายังมีหอติดตั้งเครื่องกระจายเสียงจำนวน 1 เสา มีรัศมีการกระจายเสียงประมาณ 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมู่บ้าน และบางส่วนของหมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่าขนุน รวมทั้งบางส่วนของตำบลท่าเสา โดยใช้เป็นเครื่องประกาศกิจกรรมและการเผยแพร่ธรรมของวัด และใช้เป็นเครื่องประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของหมู่บ้าน โดยวัดคุ้งตะเภามีกองทุนเครื่องกระจายเสียงเพื่อนำเงินบูรณะซ่อมแซมให้หอกระจายข่าวใช้งานได้ตลอดเวลา[71]

ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

ระหว่างเส้นทางศึกษาสวนป่าสมุนไพรภายในวัดคุ้งตะเภา

สวนป่ารุกขชาติวัดคุ้งตะะเภา

วัดคุ้งตะเภาได้จัดพื้นที่ตั้งวัดด้านทิศเหนือ และบางส่วนของพื้นที่ตั้งวัด สำหรับเป็นพื้นที่สวนรุกขชาติ สระน้ำ แปลงสวนป่าปลูกพรรณไม้เนื้อแข็ง อาคารเพาะชำ บรรยากาศโดยทั่วไปมีพื้นที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางวัดใช้พื้นที่ส่วนนี้ยางส่วนสำหรับปลูกพรรณไม้ชนิดล้มลุก หรือพืชลงหัว ซึ่งจะแตกใบสวยงามในช่วงฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะเป็นพื้นที่ลานโล่งใต้ต้นไม้ สลับกับพื้นที่เนินดินไหล่เขาขนาดเล็กสวยงามเหมาะกับการปฏิบัติธรรมและหย่อนใจ บริเวณติดกันนั้นเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน[71]

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา หรือ สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ได้รับการจัดตั้งให้เป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2547 เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายากจากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า 500 ชนิด) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร[42]

นักเรียนศึกษาสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ทางวัดได้แบ่งเขตสังฆาวาสส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ ทั้งชนิดต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มการปลูกอนุรักษ์สมุนไพรในวัดคุ้งตะเภาก็คือ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พระอู๋ ปญฺญาวชิโร และพระธง ฐิติธมฺโม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการจำแนกพืชสมุนไพรไทย ปัจจุบันสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย โดยมีร่วมมือกับบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข[73] โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[74] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางพฤษศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อยอดทางวิชาการพืชสมุนไพรในระดับประเทศ[71]

อาคารศาสนสถานบริเวณส่วนพุทธาวาสภายในวัดคุ้งตะเภา

ในปัจจุบัน สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ยังคงปล่อยให้เป็นบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสมุนไพร ซ่อนเร้นสมุนไพรไทยหายากอันมีคุณประโยชน์ยิ่งในบริเวณป่า เป็นพื้นที่ป่าปลูกที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญจิตตภาวนาห่างไกลจากสิ่งรบกวน สมกับคำว่า "สวนป่า" โดยแท้จริง[75]

ไฟล์:Sema p.s.somchai.jpg
เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งสำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในความดูแลของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน รับผิดชอบงานทะเบียนครูสอนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และงานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมของพระสงฆ์และธรรมศึกษาของทุกโรงเรียนและสำนักเรียนในสังกัดอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ทั้งอำเภออีกด้วย[42]

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

วัดคุ้งตะเภา โดยพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน มีผลงานการพัฒนาจนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับ ทำให้วัดคุ้งตะเภา ได้รับพระราชทานรางวัลและถวายรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นวัดพัฒนาที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมในด้านต่าง ๆ จากพระบรมวงศานุวงศ์ และจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในวาระโอกาสต่าง ๆ หลายครั้งด้วยกัน ตามลำดับดังนี้

นามรางวัลที่วัดคุ้งตะเภาได้รับ องค์กรที่ถวายรางวัล ผู้มอบรางวัล/องค์พระราชทานรางวัล ปีที่ได้รับ อ้างอิง
ไฟล์:ตรา ออป.svg - รางวัลประกาศเกียรติคุณ "วัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๕๙" (อันดับที่ ๑ ระดับประเทศ) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2559 [76][77]
- โล่รางวัลโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ชนะเลิศอันดับ ๑ ระดับจังหวัด กองบัญชาการทหารสูงสุด พลโท สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 พ.ศ. 2558 [78]
ไฟล์:U262 normal.png - รางวัล วัฒนคุณาธร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านองค์กรเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ๑ ใน ๒ แห่ง ระดับประเทศ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2558 [79][80][81][82]
ไฟล์:กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม.gif - โล่รางวัล "การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดระดับดีเยี่ยม" สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2558 [83]
- โล่ "รางวัลเสาอโศก" โล่รางวัลประทานแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พ.ศ. 2558 [84]
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ "วัดต้นแบบด้านควบคุมปัจจัยเสี่ยง ๑ ใน ๓๐ วัด ระดับประเทศ" สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ.ศ. 2558 [85][86]
- รางวัลประกาศเกียรติคุณวัดพัฒนา "อุทยานการศึกษาในวัด" สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2557 [87][88]
ไฟล์:MOPH logo.jpg - โล่รางวัลเกียรติยศ "วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ชนะเลิศอันดับ ๑ ระดับเขต" ศูนย์อนามัยที่ ๙ พิษณุโลก กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วีรชัย สิทธิปิยะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ ๙ พิษณุโลก พ.ศ. 2557 [89][90]
- รางวัลเกียรติยศพัดและประกาศเกียรติคุณ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2555 [91][92]
- รางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ดีเด่นอันดับหนึ่ง ระดับจังหวัด (อปต.) สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) เจ้าคณะภาค ๕ (พิษณุโลก,อุตรดิตถ์, ตาก, สุโขทัย) พ.ศ. 2555 [93]
- รางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (อปต.) สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พระเทพปริยัติวิธาน (อำนวย จันฺทสโร) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2555 [94]
- รางวัลเสาเสมาธรรมจักรพระราชทาน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2554 [95]
ไฟล์:Seal of the National Assembly of Thailand.png - รางวัลพุทธคุณูปการรัชตเกียรติคุณ สภาผู้แทนราษฎร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2553 [96][97]
- รางวัลประกาศเกียรติคุณวัดปลอดเหล้า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายโยธินศร์ สมุทร์คีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2552 [98]
- รางวัลเกียรติยศศูนย์พัฒนาคุณธรรมตัวอย่าง ดีเด่นระดับประเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2546 [99]
ไฟล์:NDMI-logo1.gif - รางวัลเกียรติยศ "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" ประเภทวัดและชุมชน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ดร.ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พ.ศ. 2557 [100]

อื่น ๆ

พระเครื่องที่จัดสร้างโดยวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภาจัดสร้างพระเครื่องนับแต่ พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 3 รุ่น ดังนี้[42]

  1. พระเครื่องรุ่นบูรณะอุโบสถ (รุ่น 1) แบ่งเป็นเหรียญโลหะรมดำรูปอาร์ม และรูปไข่ และล็อกเก็ต รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2538 ปลุกเสกโดย พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา[42]
  2. พระเครื่องรุ่นสร้างซุ้มประตู (รุ่น 2) แบ่งเป็นเหรียญโลหะรมดำรูปอาร์ม (บรรจุกล่อง) รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2546 ปลุกเสกโดย พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนก่อสร้างซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา[42]
  3. พระเครื่องรุ่นบูรณะศาลาการเปรียญ (รุ่น 3) แบ่งเป็นเหรียญโลหะสุวรรณชาด (เหรียญทองแดง) และเหรียญทองเหลือง รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2549 เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนบูรณะศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา[42]

อ้างอิง

  1. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
  2. 2.0 2.1 ประวัติพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ฯ (หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี) จากเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา
  3. 3.0 3.1 3.2 เจ้าอาวาส (จร.) : พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554, 29 ธันวาคม). คำสั่งที่ 10/2554 เรื่อง ตราตั้งเจ้าอาวาส [พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ].
  4. 4.0 4.1 พระครูสุจิตพัฒนพิธาน. (2554). เอกสารรายงานคณะสงฆ์-บัญชีสำรวจพระภิกษุตำบลคุ้งตะเภา ปี 2554. อุตรดิตถ์ : สำนักงานเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. ถ่ายเอกสาร.
  5. วรนุชนันท์ พงศ์สุรางค์. (2555). พาเที่ยววัดในอุตรดิตถ์ : ชมความงาม 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ อุตรดิตถ์. วารสารเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์. 3 (12), 39.
  6. _____. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 - 66) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
  7. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  8. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
  9. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
  10. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1]. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  11. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2]. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  13. หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ ๐๐๐๓/๐๒๖๗๗ เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
  14. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2560). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่างและอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2559. ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560
  15. กลุ่มงานมหาเถรสมาคม (2559). สรุปการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ วันจันทร์ ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [3]. เข้าถึงเมื่อ 19-8-59
  16. 16.0 16.1 หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ ๐๐๐๙/๐๕๓๖๕ เรื่อง แจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓ วัดคุ้งตะเภา ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
  17. 17.0 17.1 มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ ๓๓๘/๒๕๕๙ เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
  19. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (2556). พิธีมอบเกียรติบัตรและพัด หน่วย อปต.ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕ . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [4]. เข้าถึงเมื่อ 28-1-56
  20. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2556). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556
  21. กองพุทธศาสนศึกษา. (2556). หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. หน้า 154-155
  22. _____. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 - 66) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
  23. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
  24. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
  25. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [5]. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  26. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [6]. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  27. ประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
  28. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  29. จดหมายเหตุ ร.๕ ศ. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก (๒๒ ธันวาคม - ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘)
  30. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๖๕). พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕ นับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆเปนภาคที่ ๕. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทย.
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายอินทร์บุรี-บ้านหมี่-ตากฟ้า-ท่าตะโก-บ้านเขาทราย-วังทอง-อุตรดิตถ์-แพร่-ลำปาง-เชียงใหม่ ตอนพิษณุโลก-เด่นชัย พ.ศ. ๒๕๒๑, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๓๐, ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑, ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔
  32. ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร. (2553). พระพุทธรูปคู่บ่อน้ำมันฝาง. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.npdc.mi.th/Npdc/buddha.htm
  33. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat
  34. สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๑. (๒๕๕๕). หนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุ จากพระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร. ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
  35. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุจากพระสังฆราชพม่า. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat/from_pagan_kingdom
  36. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). วัดคุ้งตะเภาจัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://pr.prd.go.th/uttaradit/ewt_news.php?nid=1075&filename=index
  37. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4. (2555). วัดคุ้งตะเภาจัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=18988
  38. หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานพระบรมสารีริกธาตุ
  39. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุหลวงส่วนพระองค์ รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat/from_somdet_phra_nyanasamvara
  40. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu/boromsaririkkathat/from_india
  41. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (วัดเมืองปอน (ร้าง) และวัดต่อแพ จังหวัดแม่ฮ่องสอนวัดธาตุโขง (ร้าง) วัดธาตุเขียว (ร้าง) วัดร้อยข้อ (ร้าง) จังหวัดเชียงรายวัดเชียงแสน วัดหมื่นพริก (ร้าง) จังหวัดเชียงใหม่ วัดหนองห้า จังหวัดพะเยา วัดใหญ่ชัยมงคล วัดยมราช จังหวัดพิษณุโลก วัดคุ วัดดงดีปลี วัดโบสถ์ จังหวัดสุโขทัย วัดพระเจดีย์ทอง จังหวัดกำแพงเพชร เจดีย์ยุทธหัตถี วัดพระบรมธาตุ จังตาก วัดห้วยเขน จังหวัดพิจิตร วัดใหญ่ท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์), เล่ม 114, พิเศษ 87 ง, 29 กันยายน พ.ศ. 2540, หน้า 2
  42. 42.00 42.01 42.02 42.03 42.04 42.05 42.06 42.07 42.08 42.09 42.10 42.11 42.12 42.13 42.14 42.15 42.16 42.17 42.18 42.19 42.20 42.21 เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
  43. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
  44. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๑, ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๕๔๘
  45. "พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)," (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 339.
  46. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
  47. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  48. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  49. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ศ. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก (๒๒ ธันวาคม - ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘) ในปี ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) หรือเมื่อกว่า ๑๑๖ ปี ที่ผ่านมา วัดคุ้งตะเภา มีพระ ๘ รูป ศิษย์วัด ๖ คน มีเจ้าอธิการรอดเป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่ชื่น เป็นมรรคนายก
  50. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53
  51. สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554). คำสั่งคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 02/2554 เรื่อง ให้พระสังฆาธิการออกจากตำแหน่ง. ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  52. สำนักงานเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. (2554). คำสั่งเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา ที่ 1/2554 เรื่อง แต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา. ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  53. "พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)," (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 339.
  54. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
  55. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  56. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  57. เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ. (2561, 28 มกราคม). ตราตั้งพระอุปัชฌาย์ ที่ 20/2561 [พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ].
  58. เทวประภาส มากคล้าย. (2552). แผนงานการปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา ประจำปี พ.ศ. 2552. (เอกสารประกอบการประชุม). อุตรดิตถ์ : สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. ถ่ายเอกสาร.
  59. คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เรื่อง ตั้งคณะในวัดคุ้งตะเภา พ.ศ. ๒๕๕๓. วัดคุ้งตะเภา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[7]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 26-8-53
  60. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕. เล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕ ก ฉบับพิเศษ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๒๙
  61. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕. เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๖ ก วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หน้า ๕
  62. คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ ๑๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง ตราตั้งรองเจ้าอาวาส (พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา)
  63. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕. เล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕ ก ฉบับพิเศษ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๒๙
  64. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕. เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๖ ก วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หน้า ๕
  65. ประวัติไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภา-พันเอกสิงหนาท โพธิ์กล่ำ. เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา. เรียกข้อมูลเมื่อ 17-7-52
  66. ประวัติพันเอกสิงหนาท โพธิ์กล่ำ. ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Base). เรียกข้อมูลเมื่อ 17-7-52
  67. ประวัติไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภา-จ่าสิบเอกบุญเลี่ยม แสงวิจิตร. เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา. เรียกข้อมูลเมื่อ 17-7-52
  68. คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาที่ ๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภาเพิ่มเติม
  69. 69.0 69.1 69.2 ไวยาวัจกร : ________ คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา. (2555, 29 สิงหาคม). คำสั่งที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๕๕๓๒.๑ เรื่อง ตราตั้งไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภา [_______].
  70. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๕๖). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 71.5 71.6 71.7 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). แบบรายงานอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2555 : วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (อัดสำเนา). หน้า 1-233
  72. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554, 19 มกราคม). ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประจำปี 2554.
  73. หนังสือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ สธ ๐๕๑๔.๐๒/๘๖๒ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕
  74. หนังสือวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ ศธ ๐๕๑๒.๗๘/๕๓๗๙๓๑๐๓๕๓ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
  75. ข้อมูลและภาพสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา (ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์) จากเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา
  76. หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ ๐๐๐๓/๐๒๖๗๗ เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
  77. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2560). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่างและอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2559. ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560
  78. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ส.ปชส.อุตรดิตถ์. (2558). ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ มอบรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองจังหวัดอุตรดิตถ์ . [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://pr.prd.go.th/uttaradit/ewt_news.php?nid=2676&filename=index
  79. สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/evaluate/files/716/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B52558/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99/__.pdf
  80. สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวง ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (ระดับประเทศ). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/surveillance/index.php/2013-06-07-06-47-37/2013-06-19-04-16-42/item/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87
  81. เดลินิวส์. (2558). วธ.ดึงเยาวชนร่วมบริหารงานวัฒนธรรม. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th/education/351637
  82. เว็บไซต์โลกวันนี้. (2558). รวธ.มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=179247
  83. หนังสือสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ ทส ๐๘๐๕/ว.๖๖๔ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
  84. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ . (2558). รางวัล “เสาอโศกผู้นำศีลธรรม”. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=10290:2015-05-20-12-49-34&catid=170:2014-11-20-15-55-13&Itemid=422
  85. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2558). ยก 32 วัดต้นแบบ แก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/28527-%E0%B8%A2%E0%B8%81%2032%20%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%20%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%20.html
  86. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2558). ประกาศเกียรติคุณวัดต้นแบบรูปธรรมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ในโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง. ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
  87. ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี ๒๕๕๖ ประกาศ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗
  88. กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2557). ปประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี ๒๕๕๖. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [8]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11-10-57
  89. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๗). ประกาศเกียรติคุณวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ชนะเลิศระดับจังหวัด ในงานมหกรรมผู้สูงอายุสุขภาพดี ๘๐ ปี ยังแจ๋ว วัดส่งเสริมสุขภาพ และชมรมเข้มแข็ง ระดับจังหวัด ปี ๒๕๕๗. ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
  90. วัดคุ้งตะเภา. (2557). วัดคุ้งตะเภา รับโล่รางวัลวัดส่งเสริมสุขภาพ ชนะเลิศระดับเขต ประจำปี ๒๕๕๗ . [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [9]
  91. หนังสือศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ อต ๐๐๓๔/๓๕๕ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง แจ้งผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕
  92. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๕๖). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖
  93. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๕). ประกาศเกียรติคุณหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นอันดับหนึ่ง ระดับจังหวัด ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
  94. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๕). ประกาศเกียรติคุณหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นในระดับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
  95. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). ประกาศคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2554 เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [10][11] . เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11-10-53
  96. คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร. (2553). สรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 37 วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 1 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 1. คณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ใน คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [12]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 27-8-53
  97. คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร. (2553). ประกาศ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ 5 / 2553 เรื่อง รายนามผู้ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [13]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11-10-53
  98. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๒). ประกาศเกียรติคุณวัดปลอดเหล้าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี ๒๕๕๒. ลงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
  99. กองบัญชาการทหารสูงสุด. (๒๕๔๖). รางวัลเกียรติยศดีเด่น ศูนย์พัฒนาคุณธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะศูนย์พัฒนาคุณธรรมตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพ ตามโครงการ กองทัพธรรม กองทัพไทย ต้านภัยยาเสพติด ประจำปี ๒๕๔๖. ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
  100. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (๒๕๕๗). ประกาศเกียรติคุณพิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้ ประเภทวัดและชุมชน ๒๕๕๗. ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 17°39′12″N 100°08′24″E / 17.653441°N 100.140122°E / 17.653441; 100.140122