ผลต่างระหว่างรุ่นของ "รัฐประหารวังหลวงพม่า พ.ศ. 2421–2422"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 1: บรรทัด 1:
{{เพิ่มอ้างอิง}}
{{เพิ่มอ้างอิง}}
{{ไม่เป็นกลาง}}
{{กล่องข้อมูล เหตุการณ์ประวัติศาสตร์
{{กล่องข้อมูล เหตุการณ์ประวัติศาสตร์
|Event_Name = รัฐประหารวังหลวงพม่า</br>พ.ศ. 2421–2422
|Event_Name = รัฐประหารวังหลวงพม่า</br>พ.ศ. 2421–2422

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:43, 21 เมษายน 2561

รัฐประหารวังหลวงพม่า
พ.ศ. 2421–2422
ภาพประกอบเหตุการณ์ปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์พม่า
วันที่กันยายน พ.ศ. 242118 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2422
ที่ตั้งมัณฑะเลย์, พม่า
ชื่ออื่นการสำเร็จโทษเชื้อพระวงศ์พม่า
ผู้เข้าร่วมกลุ่มการเมืองที่นำโดยพระนางซีนบยูมะชีน, กี้นวูนมี่นจี้ และไต้ง์ดามี่นจี้ เสนาบดีแห่งสภาลุตอ
ผลพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชบัลลังก์สืบต่อจากพระเจ้ามินดงโดยสมบูรณ์

รัฐประหารวังหลวงพม่า พ.ศ. 2421–2422 เป็นเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเสด็จสวรรคตของพระเจ้ามินดงและในช่วงต้นรัชกาลของพระเจ้าธีบอ นับตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 จนถึงวันที่ 13–18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2422[1] เหตุการณ์นี้มักถูกเรียกว่า เหตุการณ์ ปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์พม่า ซึ่งดำเนินการโดยพระนางซีนบยูมะชีนหรือพระนางอเลนันดอ พระมเหสีตำหนักกลางในพระเจ้ามินดง ร่วมกับเสนาบดีในสภาลุตอที่เป็นพันธมิตรของพระนาง ได้แก่ กี้นวูนมี่นจี้และไต้ง์ดามี่นจี้ เหตุการณ์นี้ทำให้เชื้อพระวงศ์พม่าทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระเจ้ามินดงหลายพระองค์ถูกปลงพระชนม์ และราชบัลลังก์ได้ส่งผ่านต่อไปยังพระเจ้าธีบอ ซึ่งเป็นผู้ที่พระนางซีนบยูมะชีนและสภาลุตอต้องการให้สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่ถึงกระนั้นเหตุการณ์นี้ได้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์พม่าล่มสลายต่อภัยจักรวรรดินิยม

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

พระเจ้ามินดง พระมหากษัตริย์แห่งพม่า (พ.ศ. 2396-2421)

การปฏิรูปของพระเจ้ามินดง

พระเจ้ามินดงครองราชสมบัติพม่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2396 จนถึง พ.ศ. 2421 รัชสมัยของพระองค์อยู๋ในช่วงการเผชิญภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ พม่าพ่ายแพ้ในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2395 ส่งผลให้ต้องสูญเสียดินแดนพม่าตอนล่างแก่อังกฤษ ดังนั้นพระเจ้ามินดงจึงครองราชสมบัติในส่วนของพม่าตอนบนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถด้วยพระองค์ได้ปกป้องดินแดนส่วนบนของพม่าจากการรุกรานของอังกฤษและดำเนินการปฏิรูปราชอาณาจักรให้ทันสมัย

พระเจ้ามินดงดำเนินการปฏิรูปแผ่นดินโดยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่ราชสำนักกรุงมัณฑะเลย์ ปฏิรูประบบราชการภายใน ริเริ่มใช้ระบบค่าจ้างเงินเดือนในระบบราชการเพื่อลดอำนาจและฐานรายได้ของเหล่าข้าราชการ ปรับโครงสร้างระบบการเงินในท้องพระคลังใหม่ ปฏิรูปกองทัพพม่าให้เป็นสมัยใหม่ และริเริ่มนำระบบตำรวจหรือกองโปลิศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักร[2]

ความสำเร็จของพระเจ้ามินดงล้วนมาจากพระปรีชาสามารถในการคัดสรรเหล่าเสนาบดีที่มีความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่[3] ซึ่งได้แก่ เจ้าชายกะนอง พระอนุชา เจ้าชายกะนองเป็นนักบริหารที่มีความสามารถและมีแนวคิดสมัยใหม่ เป็นพระอนุชาที่พระเจ้ามินดงโปรดปรานและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาทตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2396[4] เจ้าชายกะนองเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเป็นผู้นำการปฏิรูปร่วมกับพระเชษฐาโดยการส่งราชบัณฑิตในราชสำนักไปศึกษายังประเทศตะวันตกและริเริ่มก่อตั้งอุตสาหกรรมสรรพาวุธในพม่า เจ้าชายกะนองเข้าพระทัยดีว่า การที่พม่ารบแพ้อังกฤษ ก็เพราะความทันสมัยของยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษ[5] ดังนั้นการปฏิรูปกองทัพและสรรพาวุธให้เป็นสมัยใหม่จึงเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าชายกะนอง

เสนาบดีที่สำคัญของพระเจ้ามินดงอีกสองคนที่มีอิทธิพลได้แก่ กี้นวูนมี่นจี้และไต้ง์ดามี่นจี้ กี้นวูนมี่นจี้เป็นบุคคลที่มีความฉลาดหลักแหลมและมีแนวคิดในการปฏิรูปแบบอย่างตะวันตก ในปี พ.ศ. 2414 เขาเป็นบุคคลที่นำคณะราชทูตของพม่าเดินทางไปยังยุโรปและได้รับการรับรองอธิปไตยของอาณาจักร ถึงกระนั้นเขาไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชนมากนัก เพราะเขามีท่าทีเอาใจชาวต่างชาติมากเกินไปและมักหาโอกาสจากสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ต่างจากไต้ง์ดามี่นจี้ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชน ไต้ง์ดามี่นจี้เป็นเสนาบดีกลุ่มหัวโบราณ เป็นกลุ่มที่เกลียดชังชาวต่างชาติ เขามีทัศนคติเชื่อในความยิ่งใหญ่ของชนชาติพม่า และไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระเจ้ามินดง เจ้าชายกะนอง และกี้นวูนมี่นจี้ ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้ต่อต้านอย่างจริงจัง ไต้ง์ดามี่นจี้มีสติปัญญาและไหวพริบน้อยกว่ากี้นวูนมี่นจี้ แต่มีอำนาจและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินอย่างยิ่ง[6] บุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้สนับสนุนการปฏิรูปของพระเจ้ามินดงให้ดำเนินไปได้

การปฏิรูปของพระเจ้ามินดงและเจ้าชายกะนองกลับสร้างความไม่พอใจแก่อังกฤษ ที่ต้องการผนวกพม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคม ในรัชกาลพระเจ้ามินดง รัฐบาลอังกฤษและพม่าไม่ได้มีปัญหากันอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลอังกฤษหวั่นเกรงและระแวงต่อการปฏิรูปกองทัพ เนื่องจากเจ้าชายกะนองได้ส่งนักเรียนจำนวน 90 คน ไปเรียนวิชาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการทหาร จากประเทศอิตาลี ฝรั่งเศสและเยอรมนี นอกจากนี้โปรดให้สร้างโรงงานผลิตอาวุธขึ้นในพม่าถึง 3 แห่ง[7] ทำให้รัฐบาลอังกฤษเกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องยากในการยึดครองอาณานิคม

ความพยายามก่อรัฐประหารวังหลวง พ.ศ. 2409

เจ้าชายกะนอง องค์รัชทายาทแห่งพม่า

เจ้าชายมยีนกู้นและเจ้าชายมยี่นโกนไดง์ พระโอรสของพระเจ้ามินดงที่ประสูติแต่พระสนมเอกประภาเทวี พระสนมเอกฝ่ายใต้ที่ 1 ได้ก่อการกบฏ พยายามก่อรัฐประหารในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2409[8] การก่อกบฏของเจ้าชายทั้งสองพระองค์เกิดจากความไม่พอพระทัยที่พระเจ้ามินดง ผู้เป็นพระราชบิดา ทรงแต่งตั้งเจ้าชายกะนอง พระอนุชาซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาของเจ้าชายทั้งสองขึ้นเป็นรัชทายาท เจ้าชายมยีนกู้นทรงคาดหวังที่จะได้รับตำแหน่งนี้ เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษซึ่งไม่พอใจแนวทางการปฏิรูปราชอาณาจักรและกองทัพให้ทันสมัยของเจ้าชายกะนอง เพราะทำให้อังกฤษสูญเสียผลประโยชน์ที่จะครอบครองดินแดนพม่า เจ้าชายกะนองถูกปลงพระชนม์ขณะประชุมในสภาลุตอ จากนั้นกองกำลังของเจ้าชายทั้งสองได้บุกพระราชวังหลวงเพื่อปลงพระชนม์พระเจ้ามินดง แต่ทรงหลบหนีออกไปได้ กองทัพกบฏได้สังหารบรรดาราชนิกุลที่ต่อต้าน มีเจ้าชายหลายพระองค์ที่ทรงเป็นเสนาบดีของอาณาจักรถูกปลงพระชนม์ในเหตุการณ์ครั้งนี้

ความพยายามก่อการรัฐประหารล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถปลงพระชนม์พระเจ้ามินดงได้ ว่ากันว่ามือสังหารที่ถูกส่งมาปล่อยให้พระเจ้ามินดงทรงมีเวลาพอที่จะเสด็จหนีไปได้[9] ความล้มเหลวทำให้เจ้าชายทั้งสองทรงถูกต่อต้าน จึงหลบหนีไปยังดินแดนพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรและทรงได้รับสถานะลี้ภัยจากอังกฤษ พระเจ้ามินดงเสด็จกลับมายังพระราชวังหลวงโดยได้รับชัยชนะ แต่ต้องสูญเสียเจ้าชายกะนองและเสนาบดีที่เป็นกำลังในการปฏิรูปหลายคน ส่งผลให้การปฏิรูปให้ทันสมัยของพม่าเป็นไปอย่างมีอุปสรรค

เหตุการณ์ที่พระโอรสของพระเจ้ามินดงก่อกบฎครั้งนี้ มิคกี้ ฮาร์ท นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าให้ความเห็นว่า มีสาเหตุมาจากแรงยุยงภายนอก แต่ไม่มีการทราบอย่างเป็นทางการว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือการเกิดข่าวลือแพร่สะพัดภายนอกที่ว่า เจ้าชายกะนองอาจจะทรงได้รับตำแหน่งรัชทายาท ทำให้พระโอรสทั้งหลายของพระเจ้ามินดงทรงเกิดความหวั่นไหวตามข่าวลือและเกรงว่าราชบัลลังก์จะไปได้แก่พระปิตุลาแทน มิคกี้ ฮาร์ทให้ความเห็นว่าข่าวลือมาจากนอกวัง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์กบฎขึ้นมาจริง ทั้งที่จริงแล้วเจ้าชายมยีนกู้นทรงเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) ของเจ้าชายกะนองก็ตาม การที่เจ้าชายทั้งสองหลบหนีไปยังเขตอังกฤษ และไม่ยอมส่งตัวเจ้าชายทั้งสองให้พม่าทำการไต่สวน ทำให้อังกฤษถูกมองว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการปลงพระชนม์เจ้าชายกะนอง เพื่อหยุดยั้งแผนการปฏิรูป แต่ถึงกระนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังเจ้าชายทั้งสองในการก่อกบฎ[10]

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายกะนองผู้ทรงเป็นรัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้การสืบราชสันตติวงศ์กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา เพราะพระเจ้ามินดงไม่ทรงเลือกพระราชโอรสองค์หนึ่งองค์ใดเป็นองค์รัชทายาทอย่างเป็นทางการ จึงทำให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งในราชสำนักในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาล

ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์

พระเจ้ามินดงทรงพระประชวรในปี พ.ศ. 2421 ในปลายรัชกาล พระเจ้ามินดงทรงมีพระราชโอรสทั้งหมด 53 พระองค์[11] พระราชธิดา 80 พระองค์[12] แต่บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าทรงมีพระโอรสธิดารวม 70 พระองค์[13] (อาจจะไม่นับพระบุตรที่สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์) บางพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ ทั้งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์และถูกปลงพระชนม์ในคราวกบฏเจ้าชายมยีนกู้นและเจ้าชายมยี่นโกนไดง์ในปี พ.ศ. 2409 พระราชโอรสทั้งหมดล้วนมีสิทธิในราชบัลลังก์ แต่ผู้ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูงจะมีโอกาสที่มากกว่าในการขึ้นสืบราชบัลลังก์ ซึ่งได้แก่

  • เจ้าชายโต้นแซ (Prince of Thonze; ประสูติ พ.ศ. 2386 – สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2422) เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 6 ในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาคุนิยวา เป็นพระราชโอรสที่มีพระชันษาสูงสุดในขณะนั้น[14] เนื่องจากพระเชษฐาได้ถูกปลงพระชนม์ในคราวกบฏเจ้าชายมยีนกู้นและเจ้าชายมยี่นโกนไดง์แล้ว เจ้าชายโต้นแซทรงมีบทบาทสำคัญในการเมืองของราชอาณาจักร โดยดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งชเวโบและพะโม ทำให้มีกำลังทหารสนับสนุนอยู่กลุ่มหนึ่ง อีกทั้งในราชสำนักเจ้าจอมมารดาคุนิยวา พระราชมารดาของพระองค์ทรงมีอิทธิพลสูงในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีพระราชบุตรจำนวนมาก
  • เจ้าชายเมะคะยา (Prince of Mekkhara; ประสูติ พ.ศ. 2390 – สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2421) เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 ในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่พระนางนันทาเทวี มเหสีเหนือที่ 1 (เทียบเท่าสมเด็จพระอัครชายา) เจ้าชายดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งเจาะแซและตองอู ทรงเป็นนักการทหาร มีบทบาทในกองทัพ และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ ชำนาญศึก[15] ทรงมีกำลังทหารสนับสนุนจำนวนหนึ่ง
  • เจ้าชายญองย่าน (Prince of Nyaungyan; ประสูติ พ.ศ. 2388 – สิ้นพระชนม์ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2428) เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 11 ในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่พระสนมเอกปัทมเทวี พระสนมเอกฝ่ายเหนือ เจ้าชายทรงมีบทบาทเป็นอุปราชแห่งมเยแด้ เจ้าชายทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาและเป็นพระราชโอรสองค์โปรดของพระเจ้ามินดง[16] เจ้าชายญองย่านเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายมากที่สุด
  • เจ้าชายธีบอ (Prince of Thibaw; ประสูติ 1 มกราคม พ.ศ. 2402 – สิ้นพระชนม์ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2459) เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 31 ในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่พระนางล่องแช ทรงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสที่พระเจ้ามินดงโปรดปราน แต่แทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองใด ๆ พระราชมารดาของเจ้าชายธีบอทรงเป็นเจ้าหญิงจากชาน[17] ทำให้ทรงมีศักดิ์สูงกว่าเจ้าชายหลายพระองค์ที่พระราชมารดาเป็นเพียงบุตรสาวของขุนนาง และทำให้ทรงเป็นหนึ่งในผู้สิทธิในราชบัลลังก์ตามยศศักดิ์ แต่พระราชมารดาของพระองค์ทรงถูกเนรเทศออกจากราชสำนักตามพระราชโองการของพระเจ้ามินดง พระนางทรงดำรงพระชนม์ชีพในช่วงบั้นปลายด้วยการเป็นตีละชีน ([thilashin] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ)) หรือแม่ชีในภาษาพม่า พระนางทรงใช้ชีวิตและสิ้นพระชนม์อย่างไร้เกียรติ[18] เจ้าชายธีบอจึงทรงขาดการสนับสนุน

ผู้ก่อการ

พระมเหสีซีนบยูมะชีน

พระนางซีนบยูมะชีนหรือ อะแลน่านดอมิบะย่า พระมเหสีตำหนักกลางในพระเจ้ามินดง

ประมุขของฝ่ายในของพม่าในขณะนั้นคือ พระนางชเวพะยาจี มีตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีหรือ น่านมะดอมิบะย่าคองจี้[19] พระนางชเวพะยาจีเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าแสรกแมง (รัชกาลที่ 8) มีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาต่างมารดาในพระเจ้ามินดง แต่พระนางไม่ได้ให้กำเนิดพระโอรสหรือธิดา และไม่ทรงสร้างอิทธิพลใด ๆ ทำให้อำนาจและอิทธิพลของราชสำนักฝ่ายในที่แท้จริงตกไปอยู่กับ พระนางซีนบยูมะชีน หรือที่เป็นที่รู้จักในพระนามว่า พระนางอเลนันดอ (ประสูติ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2364 – สิ้นพระชนม์ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443) เดิมมีพระนามว่า เจ้าหญิงศุภยากะเล พระราชธิดาในพระเจ้าจักกายแมง (รัชกาลที่ 7) ที่ประสูติแต่พระนางน่านมะดอ แมนุ พระมเหสีเอก พระนางแมนุ พระราชมารดาของพระนางทรงเคยสร้างอิทธิพลในการเมืองเหนือพระเจ้าจักกายแมง จนกระทั่งถูกโค่นล้มอำนาจโดยพระเจ้าแสรกแมงหรือพระเจ้าตายาวะดี พระอนุชาในพระเจ้าจักกายแมง ซึ่งไม่พอใจการขึ้นสู่อำนาจของพระนางแมนุ พระอัครมเหสีน่านมะดอ แมนุถูกประหารชีวิต[20] เจ้าหญิงศุภยากะเลหรือพระนางซีนบยูมะชีนได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ามินดง ในปี พ.ศ. 2396 และมีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีตำหนักกลางหรือพระมเหสีรองในพระเจ้ามินดง แต่ในช่วงต้นรัชกาลทรงมีอิทธิพลน้อยเนื่องจากมีพระประสูติกาลแต่เพียงพระราชธิดา 3 พระองค์ที่ดำรงพระชนม์ชีพจนเจริญพระชันษา ได้แก่ พระนางศุภยาคยี, พระนางศุภยาลัต และพระนางศุภยากะเล

อิทธิพลทางการเมืองของพระนางซีนบยูมะชีนเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2419 ซึ่งเป็นปีที่พระนางชเวพะยาจี พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ และในช่วงปี พ.ศ. 2421 ขณะที่พระเจ้ามินดงทรงพระประชวร หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายกะนอง องค์รัชทายาท ทำให้ปัญหาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในปลายรัชกาลของพระเจ้ามินดง พระนางซีนบยูมะชีนได้รับการบรรยายว่าเป็น "สตรีที่มีไหวพริบเป็นเยี่ยม มีความกล้ายิ่ง แน่วแน่ในสิ่งที่นางปรารถนาโดยไม่แยแสต่อสิ่งอื่นใดภายนอกเหนือไปจากนั้น เฉกเช่นวิถีของสตรีโดยทั่วไป"[21] ทรงเป็นสตรีที่มีความทะเยอทะยาน บางหลักฐานกล่าวหาว่าทรงเป็น "ราชินีเลือดเย็น"[22] พระนางซีนบยูมะชีนทรงใช้โอกาสในช่วงพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรในการสั่งสมอำนาจและสร้างพันธมิตรกับเหล่าเสนาบดีในสภาลุตอ จึงทำให้พระนางทรงอิทธิพลใหญ่หลวงในปลายรัชกาล พระนางซีนบยูมะชีนทรงต้องการครองอำนาจหลังบัลลงก์ยิ่งกว่าตัวผู้ครองบัลลังก์เอง[23] ดังนั้นทรงต้องการกำหนดผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้ามินดง และยกพระราชธิดาของพระนางขึ้นเป็นพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

พระนางซีนบยูมะชีนทรงเลือกเจ้าชายธีบอในฐานะตัวเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากพระอุปนิสัยของเจ้าชายเป็นคนที่ไม่ทะเยอทะยาน เชื่อฟัง ซึ่งพระนางมองว่าน่าจะถูกชักจูงได้ง่าย และเจ้าชายเป็นผู้คงแก่เรียน โดยเป็นเจ้าชายเพียงพระองค์เดียวที่ผ่านการสอบธรรมวินัยขั้นสูงสุด ทรงมองว่าการเลือกเจ้าชายธีบอขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะช่วยให้เกิดความสมัครสมานระหว่างผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาด้วยกันได้เป็นอย่างดี[24] และจะทำให้พระนางทรงได้รับการสนับสนุนด้วยเช่นกัน อีกทั้งเจ้าชายยังทรงมีเลือดขัตติยะทางฝ่ายพระราชมารดาที่เป็นเจ้าหญิงชาน จึงมีความเหมาะสมกว่าเจ้าชายองค์อื่นที่มีมารดาเป็นสามัญชน และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทรงเลือกเจ้าชายธีบอ คือ เจ้าชายไม่ทรงมีผู้สนับสนุนจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย แม้กระทั่งญาติทางฝ่ายมารดาก็ไม่มีอิทธิพลใด ๆ จึงทำให้พระนางเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนแต่เพียงกลุ่มเดียว กล่าวกันว่าเคยมีการกราบทูลพระเจ้ามินดงให้ทรงแต่งตั้งเจ้าชายธีบอเป็นองค์รัชทายาท ซึ่งอาจจะเป็นการกราบทูลของพระนางซีนบยูมะชีนหรือเสนาบดีในสภาลุตอ แต่พระองค์ไม่ทรงดำเนินการใด ๆ ทรงเกรงว่าถ้าพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์อาจจะไม่สามารถรักษาอิสรภาพของราชอาณาจักรไว้ได้[25] ถึงกระนั้นพระนางซีนบยูมะชีนก็ไม่ทรงละความพยายาม ทรงหันเข้าหาเหล่าเสนาบดีเพื่อการสนับสนุนในความประสงค์ของพระนางทั้งด้านอิทธิพลและด้านกองกำลังทหาร จึงกลายเป็นการสร้างกลุ่มการเมืองขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มของเจ้าชายเมะคะยาที่ทรงอิทธิพลและมีพระญาติมาก และกลุ่มเจ้าชายญองย่านที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย

ลุตอ

กี้นวูนมี่นจี้

สภาลุตอมีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนการรัฐประหาร ซึ่งในขณะนั้นเสนาบดีในสภาลุต่อที่มีความสามารถล้วนถูกสังหารในคราวกบฎเจ้าชายมยีนกู้นและเจ้าชายมยี่นโกนไดง์ ดังนั้นเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลในสภาลุต่อในช่วงนี้จึงมีแต่เพียง กี้นวูนมี่นจี้และไต้ง์ดามี่นจี้ ทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารวังหลวงในปี พ.ศ. 2421 - 2422 ไต้ง์ดามี่นจี้แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระเจ้ามินดง แต่ก็คงสนับสนุนพระองค์ แต่เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวร ไต้ง์ดามี่นจี้จึงพยายามแสวงหาอำนาจและอิทธิพล ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม คลั่งชาติ เกลียดชังชาวอังกฤษ เขาเป็นผู้นำของพวกหัวเก่าที่ยังคงเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพม่า ดังนั้น การเลือกองค์รัชทายาทที่จะมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปย่อมสำคัญสำหรับเขา

ไต้ง์ดามี่นจี้

ส่วนกี้นวูนมี่นจี้ เป็นเสนาบดีที่ทรงปัญญา สนับสนุนการปฏิรูปของพระเจ้ามินดงอย่างยิ่ง และหวาดหวั่นอย่างยิ่งเมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวร เดิมทีกี้นวูนมี่นจี้โอนอ่อนตามเสนาบดีคนอื่นที่จะสนับสนุน เจ้าชายพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดง ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท เจ้าชายญองย่าน เป็นตัวเลือกสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย

แต่เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรด้วยโรคบิดและใกล้สวรรคต พระมเหสีซีนบยูมะชีนได้ทรงเริ่มดำเนินแผนการเกลี้ยกล่อมเสนาบดีในสภาลุต่อ ทั้งกี้นวูนมี่นจี้และไต้ง์ดามี่นจี้ต่างเห็นพ้องอย่างยิ่งกับข้อดีที่จะให้เจ้าชายธีบอขึ้นสืบราชบัลลังก์ตามที่พระมเหสีซีนบยูมะชีนทรงเสนอ มีรายงานว่า ทรงประทานทองคำหนัก 50 จั๊ด เป็นตัวช่วยสำหรับเสนาบดีคนอื่นๆ[26] เหล่าเสนาบดีจึงต่างพากันสนับสนุนเพราะเห็นเช่นเดียวกับพระมเหสีซีนบยูมะชีน ว่า เจ้าชายธีบอนั้นง่ายต่อการชักจูง พระมเหสีซีนบยูมะชีนทรงชี้ให้ไต้ง์ดามี่นจี้เห็นถึงประโยชน์ เมื่อเจ้าชายธีบอขึ้นสู่ราชบัลลังก์ และขับไล่พวกอังกฤษ ส่วนกี้นวูนมี่นจี้ก็เห็นประโยชน์ที่ว่า การให้เจ้าชายธีบอครองบัลลงก์จะทำให้ความปรารถนาที่จะสร้างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของพม่าเป็นจริง และเป็นอย่างอังกฤษ หรือประเทศในยุโรป ซึ่งกี้นวูนมี่นจี้ได้เคยพบเห็นมาในฐานะคณะทูตของพระเจ้ามินดงในพ.ศ. 2414

อ้างอิง

  1. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  2. Candier, Aurore (December 2011). "Conjuncture and Reform in the Late Konbaung Period". Journal of Burma Studies. 15 (2).
  3. H. Fielding (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล). "ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน". กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 41; ISBN 978-974-02-1439-7
  4. Dr Yi Yi (1982). "Life at the Burmese Court under the Konbaung Kings" (PDF). Historical Research Department, Rangoon.
  5. Myint Hsan Heart (มิคกี้ ฮาร์ท). "โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้". กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2559, หน้า 190; ISBN 978-974-13-3129-1
  6. H. Fielding, pp. 42.
  7. Myint Hsan Heart, pp.190.
  8. Htin Aung, "The Stricken Peacock: Anglo-Burmese Relations 1752–1948", Martinus Nijhoff, The Hague; published 1965; ISBN 978-940-15-1045-5
  9. Shway Yoe (Sir James George Scott) 1882. The Burman – His Life and Notions. New York: The Norton Library 1963. p. 456.
  10. Myint Hsan Heart, pp.190-191.
  11. http://www.royalark.net/Burma/konbau17.htm
  12. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  13. Scott, J. George (1900). Gazetteer of Upper Burma and the Shan States. 1 (ภาษาBurmese). Vol. 2. Burma: Superintendent, Government Printing. pp. 90–91.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  14. Sudha Shah (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล). "ราชันผู้ผลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง". กรุงเทพฯ : มติชน, 2557, หน้า 45; ISBN 978-974-02-1329-1
  15. Sudha Shah, pp. 45.
  16. Sudha Shah, pp. 45.
  17. Sudha Shah, pp. 30.
  18. H. Fielding, pp. 48.
  19. http://www.royalark.net/Burma/konbau16.htm
  20. http://www.royalark.net/Burma/konbau11.htm
  21. H. Fielding, pp. 49.
  22. Ma Thanegi, "Defiled on the Ayeyarwaddy : one woman's mid-life travel adventures on Myanmar's great river", San Francisco, CA : Thingsasian Press pp. 43; published 2010; ISBN 978-193-41-5924-8
  23. H. Fielding, pp. 52.
  24. H. Fielding, pp. 53.
  25. Sudha Shah, pp. 46.
  26. Sudha Shah, pp. 46.