ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การแต่งงานแบบไทย"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ย้อนการแก้ไขที่ 7539988 สร้างโดย 171.6.117.9 (พูดคุย)
ป้ายระบุ: ทำกลับ
บรรทัด 134: บรรทัด 134:
การตักบาตรร่วมกันของคู่บ่าวสาว อาจกระทำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น หลังจากวันแต่งงาน โดยคู่บ่าวสาวต้องตื่นนอนแต่เช้า นำอาหารคาวหวานไปดักรอพระที่ออกบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน หรือจะไปตักบาตรที่วัดเลยก็ได้ ต้องทำติดต่อกัน 3 วัน, 7 วัน หรือ 9 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคล
การตักบาตรร่วมกันของคู่บ่าวสาว อาจกระทำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น หลังจากวันแต่งงาน โดยคู่บ่าวสาวต้องตื่นนอนแต่เช้า นำอาหารคาวหวานไปดักรอพระที่ออกบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน หรือจะไปตักบาตรที่วัดเลยก็ได้ ต้องทำติดต่อกัน 3 วัน, 7 วัน หรือ 9 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคล


== พิธีหลั่งน้ำสังข์ ==
== พิธีรดน้ำสังข์ ==


หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ พระผู้เป็นประธาน จะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน
หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ พระผู้เป็นประธาน จะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:23, 3 เมษายน 2561

การแต่งงานแบบไทย

การแต่งงานแบบไทย พิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทย การแต่งงานเกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายชายและหญิงเกิดความรักใคร่ชอบพอกันในเวลาอันสมควร เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฝ่ายชายจะบอกกับพ่อแม่ ให้ทราบเพื่อให้จัดการผู้ใหญ่มาทาบทามสู่ขอฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง

ในสมัยนี้พิธีการแต่งงาน ได้ถูกตัดทอนย่นย่อลงมาก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สิ่งที่สิ้นเปลืองก็ตัดออกไป แต่ยังคงรักษาพิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยสืบต่อกันมา

การสู่ขอ

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาสู่ขอตามธรรมเนียมประเพณีไทยเรียกว่า "เฒ่าแก่" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะดี มีผู้ให้การเคารพนับถือ และที่รู้จักพ่อแม่หรือผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี รวมทั้งรู้จักอุปนิสัยใจคอของฝ่ายชายเป็นอย่างดี เพราะตัวเฒ่าแก่จะเป็นผู้รับรองในตัวฝ่ายชาย

พิธีการสู่ขอ

เถ้าแก่จะไปพบพ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อทำการเจรจาสู่ขอ สมัยโบราณต้องมีการเลียบเคียงด้วยวาจาอันไพเราะ ดังนี้

"ได้ยินมาว่า บ้านนี้มีฟักแฟงแตงเต้าดกงาม ก็ใคร่จะมาขอพันธุ์ไปเพาะปลูกบ้าง" หากทางฝ่ายหญิงทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว ในวันที่เถ้าแก่ฝ่ายชายจะมาเจรจาสู่ขอ จะมีการจัดบ้านและแต่งตัวให้สวยงามเป็นพิเศษ หรืออาจมีการจัดเตรียมอาหารไว้เลี้ยงฉลองกันตามธรรมเนียม

หลังจากการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดี โดยตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น และการหาฤกษ์ยามสำหรับจัดพิธี สมัยก่อน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่ยกลูกสาวให้โดยง่ายในการเจรจาสู่ขอครั้งแรก อาจผัดผ่อน เพื่อจะสืบประวัติฝ่ายชาย และถามความสมัครใจจากฝ่ายหญิงก่อน หรือขอวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชายไว้เพื่อผูกดวงตรวจดูเสียก่อน แต่ถ้าฝ่ายหญิงปฏิเสธการสู่ขอ สามารถยกเหตุเรื่องดวงชะตาของทั้งสองฝ่ายไม่สมพงศ์กันมาเป็นข้ออ้างได้ เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจซึ่งกัน หากเป็นในปัจจุบัน การเจราจาสู่อาจตกลงกันได้เลยในครั้งแรก เพราะพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้รู้จักฝ่ายชายมาบ้างแล้ว

การแจ้งผลการสู่ขอ

หากการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น มีการตกลงกันเรื่องสินสอดทองหมั้นและการหาฤกษ์ยามสำหรับจัดพิธี เฒ่าแก่จะเป็นผู้แจ้งข่าวดีแก่ทางฝ่ายชาย และดำเนินการพูดคุยเพื่อเตรียมการ เช่นการจัดขบวนขันหมากซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารของกำนัลขอบคุณผู้ถือขันหมากทั้งหมด ต้องถามจำนวนแขกของฝ่ายชาย เพื่อให้ไม่เกิดความบกพร่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องการเลี้ยงดูปูเสื่อของธรรมเนียมไทย

การปลูกเรือนหอ

หลังจากเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ในสมัยโบราณฝ่ายชายต้องทำการปลูกเรือนหอ ซึ่งควรปลูกให้เสร็จก่อนถึงวันแต่งงาน อาจเป็นเพราะการเว้นระยะจากการหมั้นค่อนข้างนานจึงจะทำการแต่ง จึงมีเวลาปลูกเรือนหอได้ทัน ในปัจจุบัน หากมีทรัพย์น้อยอาจจะต้องทำการกู้เงินเพื่อมาปลูกเรือนหอหรือซื้อบ้านแบบวิธีซื้อผ่อนสักระยะหนึ่งก็ได้เป็นกรรมสิทธิ์ หากว่ายังไม่พร้อม อาจขออาศัยอยู่บ้านของพ่อแม่ของฝ่ายชาย ซึ่งเรียกว่า อาวาหมงคล แต่หากฝ่ายชายมาอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง เราเรียกว่า วิวาหมงคล

การหมั้น

หลังจากได้มีเจรจาสู่ขอเป็นที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว บางครั้งทางผู้ใหญ่ต้องการให้มีการหมั้นกันสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยจัดงานแต่งภายหลัง เพื่อให้โอกาสทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ศึกษาอุปนิสัยกันมากขึ้น ต้องมีการกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น รวมทั้งกำหนดสินสอดทองหมั้น หรือที่เรียกว่า " ขันหมากหมั้น " ตามธรรมเนียมการหมั้นนั้น เท่ากับเป็นการจอง หรือวางมัดจำไว้นั่นเอง หญิงที่ถูกหมั้นถือว่าได้ถูกจองไว้แล้ว จะไปรับจากชายอื่น หรือผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะยกให้ใครอื่นอีกไม่ได้จะลองมองกันให้ดีแล้ว

สินสอดทองหมั้น หรือของหมั้น

โดยปกติการแต่งงานลูกสาว มักถือเป็นงานออกหน้าออกตาใหญ่โต ทางฝ่ายหญิงจึงพยายามเรียกร้องกันมากๆ คือเรียกของหมั้นที่มีราคาแพง เดิมทีการหมั้นมักจะเรียกเป็นทองคำ และการเรียกเป็นน้ำหนัก จนเป็นศัพท์ติดปากมาจนกระทั่งบัดนี้ว่า "ทองหมั้น" ซึ่งประเพณีโบราณถือเป็นของเจ้าสาว ที่จะนำไปเป็นเครื่องแต่งตัว เพื่อเป็นทรัพย์สมบัติติดตัวในเวลาแต่งงาน

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงินสินสอดและผ้าไหว้อีกด้วย เรียกว่า "สินสอด" ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ ถือกันว่า เป็นค่าเลี้ยงดูหรือค่าน้ำนม

การกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น

การกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น โดยมากนิยมกำหนดตอนเช้า ก่อนเที่ยง หรือไม่ก็ควรเป็นตอนบ่าย นอกจากนั้นต้องมีการหาฤกษ์อีก 3 ฤกษ์ คือ ฤกษ์ขันหมากนิยม ฤกษ์รดน้ำและทิศทางที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่ง และฤกษ์ปูที่นอนและส่งตัว ซึ่งประเพณีโบราณถือว่าสำคัญมาก มักจะให้พระผู้ใหญ่หรือพราหมณ์เป็นผู้หาฤกษ์ โดยถือเกณฑ์ดวงชะตาของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นหลักในการคำนวณ หรือในสมัยนี้อาจปรึกษาโหราจารย์ที่น่าเชื่อถือได้

ขันหมากหมั้น

เมื่อถึงกำหนดฤกษ์ตามที่ได้กำหนดไว้ ฝ่ายชายจะเตรียมขันหมากหมั้นเพื่อยกไปทำการหมั้นฝ่ายหญิงโดยเฒ่าแก่ ฝ่ายชายจะเป็นผู้นำไปมอบให้ฝ่ายหญิง เฒ่าแก่ฝ่ายชายซึ่งอาจเป็นคนเดียวกับที่ไปเจรจาสู่ขอ หรือจะให้ผู้อื่นทำแทนก็ได้ เพราะไม่ค่อยถือเหมือนเฒ่าแก่ขันหมาก ตอนแต่งควรเป็นเฒ่าแก่คนเดียวกับที่ไปทำการเจรจาสู่ขอ

การจัดขั้นหมากหมั้น

  • เฒ่าแก่ขันหมากหมั้น นิยมใช้คู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันมาอย่างมีความสุข เป็นการถือเคล็ดชีวิตคู่ บางแห่งอาจให้ฝ่ายหญิง หรือฝ่ายชายเป็นผู้ทำหน้าที่เฒ่าแก่ ขั้นหมากหมั้นเพียงคนเดียวก็ได้
  • ขันหมาก โดยมากใช้ขันทอง ขันถม หรือขันเงินแล้วแต่ฐานะ

สิ่งที่ต้องจัดเตรียมในขั้นหมากหมั้น

ในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไป ใช้หมากดิบ ทั้งลูก 4 ผล หรือ 8 ผล แต่ต้องเป็นระแง้หรือตะแง้ ( กิ่งที่แยกออก จากทะลายหมาก) เดียวกัน หรือถ้าต่างระแง้ก็ต้องมีระแง้ละ 2 ผล หรือ 4 ผล คือต้องเป็นคู่ เพราะถือเคล็ดการนับเป็นคู่ และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วใช้ปูนแดงป้ายที่เปลือกหมากเล็กน้อยทุกลูก มีพลูใบ 4 เรียง หรือ 8 เรียงก็ได้ เรียงละ 5 ใบ หรือ 10 ใบ ตัดก้านเสียแล้วใช้ปูนแดงแต้มที่โคนของของใบพลูทุกใบแล้วให้วางเรียงเข้ารอบๆ ภายใน ของขัน ดูให้เสมอกัน และก็เพราะเหตุที่ขันนี้ใส่หมากนั่นเอง จึงเรียกว่า "ขันหมาก" ซึ่งขันมีขนาดเล็กกว่าขั้นสินสอด

ขันสินสอด หรือขันหมั้น

ใช้ขันขนาดและชนิดเดียวกับขันหมาก ภายในบรรจุเงินทองหรือของหมั้นค่าสินสอดตามที่ตกลงกับทางฝ่ายหญิงไว้แล้ว เช่น สร้อย แหวน กำไล ฯลฯ อาจมีการใส่เศษเงินเพิ่มเข้าไปเป็นการถือเคล็ดว่า เงินสินสอดนี้จะได้งอกเงยได้ดอกออกผล และใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาถ ใบแก้ว ใบรัก และเย็บถุงแพรเล็กๆ ใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา แล้วใช้ผ้าแพรคลุมไว้ บางทีแยกขั้นหมากเป็น 2 คู่ คือใส่หมากพลู 1 คู่ และขั้นสินสอด 1 คู่ บางทีไม่แยก แต่เพิ่มขันใส่ใบเงินใบทอง ถุงข้าวเปลือก ถั่วงาอีกขั้นหนึ่ง ไม่จัดปนอยู่ในขันหมากพลูและขันสินสอด

ดอกไม้ธูปเทียน
ธูปเทียนที่ใช้ในพิธีนี้จะใช้ธูปแพ เทียนแพ ส่วนดอกไม้นั้นจะเป็นดอกอะไรก็ได้ จะใส่ในกระทงมีกรวยปิดตั้งไว้บนธูปแพเทียนแพอีกที
ผ้าไหว้
มี 2 อย่าง คือผ้าไหว้พ่อแม่และผู้ที่มีพระคุณที่ได้อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายหญิง อาจเรียกเป็นสำรับๆ ถ้าผู้ที่ไปไหว้เป็นผู้หญิงให้ใช้ผ้าลาย กับผ้าแพรห่ม หรือว่าจะเป็นผ้าไหมก็ได้ ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นผ้าม่วงนุ่ง กับผ้าขาวม้า หากมีการเรียกผ้าไหว้แล้วต้องเรียกทั้งสองอย่างเสมอ ผ้าไหว้ผีจะต้องเป็นผ้าขาวเพื่อนำไปเย็บเป็นสบง หรือจีวรสำหรับถวายพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ผ้าไหว้ทั้งสองอย่างจะจัดใส่พานแยกกัน
เครื่องขันหมาก
ประกอบไปด้วย ขนมและผลไม้ มากน้อยแล้วแต่ตกลงกันไว้ บางทีอาจเพิ่มสุราหรือเครื่องยาเซ่นสำหรับไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนทำพิธีหมั้นด้วย

การจัดขบวนขันหมากหมั้น

เมื่อได้ฤกษ์ขั้นหมาก (โดยมากมักเป็นตอนเช้าเช่นเดียวกับฤกษ์หมั้น) การจัดขบวนขั้นหมากตามที่ได้ตกลงไว้กับฝ่ายหญิง โดยเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะต้องจัดหาหญิงสาว หรือเด็กที่หน้าตาหมดจด (โดยมากมักใช้ลูกหลาน) เป็นผู้เชิญขั้นหมากไปยังบ้านเจ้าสาว เพราะการเชิญขั้นหมาก สินสอด หรือผ้าไหว้นี้ ถือว่าเป็นเกียรติยศ เมื่อมอบหมายหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ก็จัดเข้าขบวนออกจากบ้านฝ่ายชายไปบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งต้องตรงกับฤกษ์พอดี

เมื่อมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้ว เฒ่าแก่ฝ่ายชายก็จะจัดขบวนอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่นิยมจัดให้คนเชิญดอกไม้ธูปเทียนเป็นผู้นำขบวนแสดงถึงการคารวะ ถัดมาก็เป็นคนถือขันหมาก แล้วก็ขันสินสอด ตัวเฒ่าแก่ และผ้าไหว้ หรือบางทีตัวเฒ่าแก่ก็เดินคุมหลัง หรือเดินเคียงขบวน จะว่าอะไรขึ้นก่อนนี้ไม่แน่นอน บางทีอาจใช้ขันหมากนำหน้า เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญ

การยกขันหมากหมั้น

เมื่อได้ฤกษ์งามยามดี เฒ่าแก่ขั้นหมากหมั้น จะทำการยกขั้นหมากหมั้นไปยังบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งทางฝ่ายหญิงจะจัดเฒ่าแก่ไว้ต้อนรับเช่นกัน เมื่อขั้นหมากหมั้นยกมาถึง จะมีเด็กเล็กๆ หน้าตาหมดจดแต่งตัวน่ารัก โดยมากมักเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิง ทำหน้าที่ถือพานหมากออกมารับ ในพานจะมีหมากพลูที่เจียนและจีบเป็นคำๆ ใส่ไว้นับเป็นจำนวนคู่ พอขันหมากหมั้นมาถึง เด็กจะส่งพานหมากพลูให้แก่เฒ่าแก่ฝ่ายชาย เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายรับแล้วก็จะให้เงินเป็นของขวัญพร้อมทั้งคืนพานหมากให้ด้วย ซึ่งก่อนคืนอาจับไปเคี้ยวกินพอคำเป็นพิธี

หลังจากนั้น เด็กจะนำไปยังสถานที่ซึ่งทางฝ่ายหญิงจัดไว้เพื่อทำพิธีหมั้น ซึ่งก่อนจะถึงห้องที่เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงคอยต้อนรับอยู่ บางทีจะมีเด็ก (ลูกหลานฝ่ายหญิง) ถือเข็มขัดเงินหรือสายสร้อยเงินมากั้นประตู เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะต้องภามว่าประตูอะไร ผู้กั้นจะตอบว่า "ประตูเงิน" แล้วเฒ่าแก่ฝ่ายชายก็ควักเงินห่อที่เตรียมไว้ ให้เป็นรางวัล เด็กจึงยอมให้ผ่าน อาจกั้นตั้ง 2-3 ประตูก็ได้ ยิ่งประตูเข้ามาใกล้ยิ่งมีค่ามากขึ้น คือใช้ทองหรือเพชรกั้นประตู ซึ่งเฒ่าแก่ฝ่ายชายต้องมีการตกลงกับทางฝ่ายหญิงก่อนว่าจะมีการกั้นประตูหรือไม่ และกี่ประตู จะได้เตรียมเงินไว้เป็นรางวัลถูก เมื่อห้องที่เตรียมไว้แล้ว เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะออกมาต้อนรับเชิญเฒ่าแก่ฝ่ายชายให้นั่งและวางขันหมากและบริวารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากพักดื่มน้ำพอหายเหนื่อยแล้วจึงจะเริ่มทำพิธี

การนับสินสอดทองหมั้น

ก่อนทำพิธีเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะเจรจา เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนออกและเป็นผู้เริ่มต้นก่อน โดยพูดถึงฤกษ์ยามอันเป็นมงคลในวันนี้ ตนได้ทำหน้าที่นำ ขันหมากหมั้น ของฝ่ายชายซึ่งเป็นบุตรคนนั้นๆ มาให้ฝ่ายหญิงด้วยเงินสินสอดทองหมั้นเท่านั้นเท่านี้ตามที่ตกลงกันไว้ และขอให้เฒ่าแก่ ฝ่ายหญิงทำการเปิดตรวจนับดูว่า ถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า

เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะแสดงความรับรู้และกล่าวเห็นดีเห็นงามในการหมั้นครั้งนี้ด้วย และร่วมพูดคุยเพิ่มความสนิทสนม หลังจากนั้น เฒ่าแก่ฝ่ายชายก็เปิดผ้าที่คลุมออกแล้วส่งให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อตรวจนับสินสอดตามธรรมเนียม โดยต้องมีการตรวจบนับต่อหน้า เฒ่าแก่และญาติทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นสักขีพยาน เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงก็จะนำแป้งกระแจะซึ่งใส่โถปริกเตรียมพร้อมไว้แล้ว ออกมาเจิมเงินสินสอดเพื่อเป็นสิริมงคล

หากมีแหวน หรือสร้อยกำไล เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะเรียกให้ฝ่ายชายหรือว่าที่เจ้าบ่าวทำการสวมให้ฝ่ายหญิง หรือว่าที่เจ้าสาวของตน ต่อหน้าทุกคนเพื่อให้เป็นสักขีพยาน ซึ่งพิธีการสวมแหวนหมั้นนี้นิยมใช้กันมาก คือตัดขั้นตอนการยกขบวนขันหมากหมั้นออกไป เหลือเพียง แต่นำสินสอด หรือของหมั้นมาหมั้นฝ่ายหญิง และมีการกินเลี้ยงฉลองกันในหมู่ญาติ ทั้งแล้วแต่จะเห็นสมควร ส่วนเงินนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เก็บรักษา อาจนำเงินสินสอดมาในวันทำพิธีแต่งงาน ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่การตกลงของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย

เมื่อฝ่ายหญิงนำสินสอดทองหมั้นหรือของหมั้นไปเก็บรักษาไว้ ก็คืนขันหรือภาชนะมักจะมีของแถมพกให้แก่ผู้ที่ทำการยกขันหมากทุกคน สำหรับผู้เฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะได้ของสมนาคุณพิเศษ หลังจากนั้นร่วมกันกันเลี้ยงฉลองการหมั้น ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

การผิดสัญญาหมั้น

หากฝ่ายชายผิดสัญญาไม่มาทำการแต่งงานตามวันเวลาที่กำหนด ทำให้ฝ่ายหญิงเป็นหม้ายขันหมาก ฝ่ายชายจะต้องถูกริบสินสอด ทองหมั้น จะเรียกร้องคืนไม่ได้

หากฝ่ายหญิงผิดสัญญา คือไม่ยอมแต่งงานกับฝ่ายชายด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องคืนสินสอดทองหมั้นทั้งหมดแก่ฝ่ายชาย ด้วยเหตุนี้เฒ่าแก่อาจต้องจดบันทึกรายการของหมั้นเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่มักไม่นิยมเพราะเหมือนกับว่าไม่ไว้ใจกัน การผิดสัญญาหมั้น

ฤกษ์ยามเกี่ยวกับการแต่งงาน

คนไทยเป็นชาติหนึ่งที่เชื่อถือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ยาม เคล็ดลาง มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะฤการทำพิธีมงคลต่างๆ รวมกระทั่ง เรื่องการแต่งงาน จะต้องมีการดูฤกษ์ยามตั้งแต่ วันที่ส่งเฒ่าแก่ไป เจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันแต่งงาน รวมไปถึงฤกษ์ในการปลูกเรือนหอ ส่งตัวเจ้าสาว และฤกษ์เรียงหมอน

เกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ยาม เริ่มจากวัน คือต้องเป็นวันดี เช่น วันอธิบดี วันธงชัย ส่วนเดือนที่นิยมแต่งงานกัน ได้แก่ เดือน 6 เดือน 9 เดือน 10 เดือน 2 และเดือน 4 แล้วแต่ความนิยมเชื่อถือ

ฤกษ์เดือนแต่ง

การที่นิยมแต่งงานเดือน 2 เดือน 4 เดือน 10 เพราะนิยมถือเป็นเดือนคู่ ซึ่งคำว่าคู่ หรือสิ่งที่เป็นคู่นี้มีความหมาย และสำคัญมากในพิธีการแต่งงาน เพราะหมายถึงการเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่

บางทีก็แต่งงานเดือน 9 ถือเคล็ดถึงความก้าวหน้า เนื่องจากคำว่า "เก้า" กับ "ก้าว" ออกเสียงใกล้เคียงกัน บางตำราบอกว่าเป็นการเลื่อนการแต่งงานในเดือน 8 ซึ่งเป็นเดือนคู่ แต่เป็นช่วงเข้าพรรษา จึงเลื่อนมาเป็นเดือน 9 แทน คือเลี่ยงเทศกาลทางศาสนาและถือเคล็ดความก้าวหน้าไปพร้อมกัน บางทีอาจแต่งในเดือน 8 แต่แต่งงานก่อนวันเข้าพรรษา

เดือนที่นิยมแต่งงานมากที่สุดคือ เดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน อาจเพราะบรรยากาศโรแมนติกกว่าแต่งงานหน้าอื่น และเป็นต้นฤดูทำการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งเป็นการเริ่มชีวิตใหม่สร้างฐานะครอบครัวร่วมกัน

เดือนที่ไม่นิยมแต่งงานคือ เดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่สุนัขติดสัด แม้ว่าเป็นเดือนคู่ก็ตาม คงเพราะเป็นช่วงที่น้ำป่าไหลท่วมบ้านเรือน หรือข้าวปลาอาหารไม่สมบูรณ์ การคมนาคมไม่สะดวกก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องเดือนนั้นไม่เคร่งครัดเท่าไร

ฤกษ์วันแต่ง

วันที่ไม่นิยมแต่งงานกัน คือ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันอังคารและวันเสาร์ เพราะถือว่า วันทั้งสองเป็นวันแข็ง เหมาะสำหรับใช้ทำการเกี่ยวกับพิธีเครื่องรางของขลัง สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันพุธ เพราะถือเป็นวันสุนัขนาม คือถือเคล็ดเกี่ยวกับชื่อ สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันพฤหัสบดี เพราะถือเป็นวันครู และมีตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า คือพระพฤหัสบดีที่ทำการแต่งงานกับบุตรสาวในวันนี้ ต่อมาบุตรสาวมีชู้จึงถือว่า เป็นวันที่ไม่ควรทำพิธีแต่งงาน บุตรสาวของพระพฤหัสบดีคือพระจันทร์ แต่งกับพระอาทิตย์ เป็นชู้กับพระอังคาร นอกจากนี้ยังมีวันที่ห้ามแต่งงานในวันที่ตรงกับ วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ซึ่งจะไม่ตรงกันในแต่ละปี

พิธีรับไหว้

การทำพิธีรับไหว้นี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะนบนอบต่อบิดามารดา และบรรดาผู้ใหญ่ นอกจากนี้เงินที่ได้จากพิธีรับไหว้ ถือว่าเป็นเงินทุนให้แก่คู่บ่าวสาวอีกด้วย เหมือนกับพิธียกน้ำชาในการแต่งงานแบบคนจีน หลายคนคงเคยเห็นในภาพยนตร์จีนมาแล้ว

สำหรับสถานที่ในการจัดงาน นิยมเน้นความสะดวกของคู่บ่าวสาว คือจัดเก้าอี้ หรือเสื่อไว้ ผู้ใดจะทำพิธีไหว้ก็มานั่งในสถานที่นั้นต่อหน้าคู่บ่าวสาว พอทำพิธีเสร็จแล้วจึงลุกออกไป เพื่อให้ผู้อื่นมาทำพิธีรับไหว้ต่อ ซึ่งการไหว้นั้นจะเรียงตามลำดับอาวุโส ส่วนใหญ่ พ่อแม่ฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นเจ้าภาพจะให้เกียรติโดยให้ทางฝ่ายชายก่อน หรือจะให้ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก่อนก็ได้ ไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าไร

พิธีการรับไหว้ เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงหรือชายไปนั่งคู่กันในที่จัดไว้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งนั่งคู่กันอยู่ตรงข้าม จะกราบลงพร้อมกันที่หมอนสามครั้งรวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ถ้าหากเป็นญาติคนอื่นๆ กราบหนึ่งครั้ง โดยไม่ต้องแบมือ แล้วส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้ พ่อแม่รับและให้ศีลให้พรอวยพรให้ทั้งคู่

หลังจากนั้น หยิบเงินรับไหว้ใส่ในพาน หยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เส้นเล็กๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวแสดงการรับไหว้ หลังจากทำพิธีรับไหว้เสร็จ อาจมีการเพิ่มทุนให้แก่คู่บ่าวสาว โดยนำพานใส่ใบเงินใบทองมาวางไว้ นำเงินรับไหว้มาทับไว้ข้างบน ต่อจากนั้นพ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายที่มีความประสงค์จะมอบเงินเพิ่มทุนให้แก่คู่บ่าวสาว ก็ใส่เพิ่มตามความพอใจ ต่อจากนั้น จึงนำถั่วงา และแป้งประพรมพร้อมอวยพร

พิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว

ตามธรรมเนียมไทย เมื่อทำพิธีหรืองานมงคลใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องทีการทำบุญสร้างกุศลมาเกี่ยวข้องเสมอ เพื่อเป็นการสร้างสิริมงคล และนี้ก็เช่นกันการร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว ซึ่งนิยมทำกันหลังจากพิธีรับไหว้ คือเจ้าภาพจะเป็นผู้นิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต

การตักบาตรสมัยก่อนให้คู่บ่าวสาวตักคนละทัพพี แต่ปัจจุบันนิยมให้ตักทัพพีเดียวกัน ตักบาตรพร้อมกัน ต่อไปชาติหน้าจะได้เกิดมาคู่กันอีก มีความเชื่อเกี่ยวกับการตักบาตรของคู่บ่าวสาว ถ้าผู้ใดจับที่ยอดหรือคอทัพพี ผู้นั้นจะได้เป็นใหญ่เหนือกว่าคู่ของตน ซึ่งต้องเลื่อนมาจับที่ปลายทัพพี อย่างนี้คงต้องแย่งกันจับน่าดูเลย วิธีแก้เคล็ดด้วยการผลัดกันจับที่คอทัพพีอย่างนี้ ก็ไม่มีใครเหนือใคร เสมอภาคแบบนี้ดีกว่า

เกี่ยวกับการนิมนต์พระมาสวด แต่ก่อนนิยมมาเป็นคู่ เช่น 4 หรือ 8 องค์ แต่ปัจจุบันนิยม 9 องค์ เพราะคนไทยเชื่อถือเกี่ยวกับตัวเลข 9 ว่าเป็นเลขมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า โดยนับพระประธานเป็นองค์ที่ 10 ครบจำนวนคู่พอดี

ในการทำพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไปนั้น เจ้าภาพจะทำหน้าที่จุดธูปเทียนบูชาพระ แต่ในงานมงคลสมรสมักนิยมให้คู่บ่าวสาว เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในงาน รวมถึงการถวายขันและเทียนเพื่อให้พระทำน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งจะนำมาเป็นน้ำสังข์สำหรับหลั่งในพิธีรดน้ำต่อไป

การตักบาตรร่วมกันของคู่บ่าวสาว อาจกระทำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น หลังจากวันแต่งงาน โดยคู่บ่าวสาวต้องตื่นนอนแต่เช้า นำอาหารคาวหวานไปดักรอพระที่ออกบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน หรือจะไปตักบาตรที่วัดเลยก็ได้ ต้องทำติดต่อกัน 3 วัน, 7 วัน หรือ 9 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคล

พิธีรดน้ำสังข์

หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ พระผู้เป็นประธาน จะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน

หลังจากนั้น จึงทำมงคลแฝดสวมให้คู่บ่าวสาวคนละข้าง มีสายโยงห่างกันประมาณ 2 ศอกเศษเพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคล จะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ และหางสายสิญจน์ พระสงฆ์จะส่งกันไปโดยจับเส้นไว้ในมือ จนถึงพระองค์สุดท้ายก็จะวางสายสิญจน์ไว้ที่พาน หากเป็นการรดน้ำตอนเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จะเป็นมงคลแฝดแบบไม่มีสายโยง

คู่บ่าวสาวต้องนั่งในที่จัดไว้ ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองรับมือและพานรองน้ำสังข์ ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวจะยืนให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง และญาติผู้ใหญ่ก็จะทยอยกันมารดน้ำสังข์ตามลำดับ เกี่ยวกับการเลือกเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว มีคติความเชื่อว่า ควรเลือกที่อายุน้อยหรือใกล้เคียงกับคู่บ่าวสาว และในช่วงที่ใกล้หรือมีโครงการจะแต่งงานเร็วๆ นี้ เพราะหากว่าเป็นคนโสดอาจจะต้องกลายเป็นเพียงเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันไปตลอด ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวตัวจริงกันเสียที แต่ความจริงแล้วอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ต้องการให้ผู้ที่ใกล้แต่งงานได้ดูขั้นตอนการแต่งงาน เมื่อถึงคราวตนเองจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและไม่เคอะเขิน

ขั้นตอนในการทำพิธีรดน้ำ

ความเป็นมาของหอยสังข์ที่นำมาใช้ในพิธี คุณเคยคิดสงสัยไหมว่า ทำไมต้องใช้หอยสังข์เป็นภาชนะใส่น้ำมนต์หลั่งอวยพรให้คู่บ่าวสาว ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า หอยสังข์เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 14 อย่าง อันเกิดจากกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูร บางเชื่อว่าครั้งหนึ่งสังข์อสูรได้ลักเอาพระเวทไปซ่อนไว้ในหอยสังข์ พระนารายณ์ได้อวตารไปปราบและสังหาร แล้วทรงล้วงเอาพระเวทออกมาจากสังข์ ทำให้ปากหอยสังข์มีรอยพระหัตถ์ของพระนารายณ์ จึงถือกันว่าสังข์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเคยเป็นที่รองรับพระเวท การนำมาใส่น้ำมนต์รดให้คู่บ่าวสาว เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล

เมื่อคู่บ่าวสาวสวมแฝดมงคล และนั่งพนมมือคู่กันในที่จัดไว้แล้ว จะมีคนคอยตักน้ำพระพุทธมนต์เติมในสังข์ เพื่อส่งให้ผู้ที่จะรดน้ำอวยพร โดยเริ่มจากพ่อแม่ของคู่บ่าวสาว หรือญาติผู้ใหญ่ ตามลำดับ นิยมรดใส่ในมือให้เจ้าสาวก่อน แล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว และกล่าวอวยพรให้คู่บ่าวสาวประสบความสุขความเจริญ อยู่ด้วนกันจนแก่เฒ่าถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ขณะรดน้ำสังข์ พระสงฆ์จะสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว แต่ในปัจจุบัน นิยมทำพิธีรดน้ำกันตอนเย็น ก่อนเวลากินเลี้ยงฉลองสมรส ซึ่งมักจะจัดที่โรงแรม หรือหอประชุม หากจะให้มีพระสวดชยันโตในเวลารดน้ำต้องนิมนต์พระมาด้วย

มีเคล็ดลางเกี่ยวกับพิธีรดน้ำสังข์ คือหลังจากพิธีรดน้ำสังข์เสร็จแล้ว หากฝ่ายใดลุกขึ้นยืนก่อน ฝ่ายนั้นจะได้เป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตน เช่น เจ้าสาวลุกขึ้นก่อน สามีจะกลัว หากถือมากเกินไปคงจะวุ่นวายน่าดูเลย หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำต่างตนต่างรีบลุก ควรช่วยกันประคองกันแบบนี้จะดีกว่า แถมดูแล้วน่าประทับใจ

สมัยโบราณ ในพิธีการแต่งงานจะไม่มีการรดน้ำสังข์ แต่จะมีพิธีซัดน้ำ พระสงฆ์จะเป็นผู้ทำพิธี โดยตักน้ำมนต์ในบาตรซัดสาดใส่คู่บ่าวสาว บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งมีอยู่หลายคู่ แกล้งนั่งห้อมล้อมให้คู่บ่าวสาวนั่งเบียดกันชิดกัน การซัดน้ำนี้บางทีซัดจนเปียกปอนต้องเปลี่ยนชุดหลังเสร็จพิธี แบบนี้ก็น่าสนุกไปอีกแบบ

การกินเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรส

เมื่อเสร็จพิธีหลั่งน้ำสังข์ หรือพิธีซัดน้ำแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงาน อาจมีดนตรีประกอบเพื่อความสนุกสนาน ครื้นเครง โฆษกจะกล่าวเชิญให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาว รวมทั้งคู่บ่าวสาวกล่าวขอบคุณแขก

ในช่วงนี้อาจมการหยอกล้อ คู่บ่าวสาว เช่นเจ้าสาวเป็นฝ่ายหอมแก้มเจ้าบ่าว ร้องเพลงคู่กัน และอื่นๆ ซึ่งควรทำอย่างหอมปากหอมคอ เพราะทั้งคู่ต่าง เหน็ดเหนื่อย กับงานมาทั้งวัน หรืออาจจะไม่ค่อยได้พักผ่อน ในช่วงที่เตรียมงาน โฆษกจะบอกกล่าวถึง ความเป็นมาว่าเจ้าบ่าว เจ้าสาวพบกัน ครั้งแรกเมื่อไร ความรักเริ่มผลิดอกเบ่งบานไปอย่างไร ซึ่งบางทีก็พูดเกินจริง เพื่อความสนุกสนาน เป็นการหยอกล้อคู่บ่าวสาว หลังจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเดินไปขอบคุณแขกตามโต๊ะ ต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งแจกของชำร่วย เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ถ้ามีการกินเลี้ยงในตอนเย็น เจ้าสาวมักเปลี่ยนจากชุดไทยเป็นชุดราตรียาว หรือที่เรียกกันว่า "ชุดเจ้าสาว" ในงานเจ้าสาว จะดูโดดเด่นและสวยกว่าใครๆ แขกที่มางานจึงไม่ควรที่จะแต่งตัวให้เด่นแข่งกับคู่บ่าวสาว โดยเฉพาะแขกผู้หญิงไม่ควรใส่ชุดขาว แข่งกับเจ้าสาวเป็นมารยาทที่ไม่เหมาะสม

เมื่อมาถึงสถานที่จัดเลี้ยง คู่บ่าวสาว หรือผู้ทำหน้าที่ต้อนรับจะพาไปลงชื่อในสมุดอวยพร หากนำของขวัญ หรือต้องการให้ ซองช่วยงานก็มอบให้ตอนนี้ เพราะจะมีคนทำหน้าที่ลงบัญชีโดยเฉพาะ แต่บางคนก็จะเก็บไว้เพื่อให้ กับคู่บ่าวสาว กับมือเองตอนที่ นำของชำร่วยไปแจกที่โต๊ะตอนกินเลี้ยง

พิธีการปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว

พิธีการส่งตัวมักทำกันตอนกลางคืน ถ้าหากมีการเลี้ยงฉลองสมรสตอนกลางคืน จะต้องมีการเลิกก่อนถึงฤกษ์ส่งตัวเล็กน้อย เพื่อคู่บ่าวสาวจะได้มีเวลาเตรียมตัว พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะจะเชิญผู้มีเกียรติ ซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาอาวุโส ให้ทำพิธีปูที่นอนในห้อง หรือเรือนหอ ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมาจนแก่เฒ่า มีฐานะดีและมีลูกหลานที่เลี้ยงง่ายและลูกๆ ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน

การทำพิธีปูที่นอน ในปัจจุบันทำพอเป็นพิธี เพราะว่าได้มีการจัดเตรียมไว้ก่อนวันแต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นพอได้ฤกษ์ผู้ทำพิธีก็จัดแจง ปูที่นอน จัดหมอนผ้าห่มกางมุ้ง พอถึงฤกษ์เรียงหมอน ผู้ทำพิธีฝ่ายชายก็ล้มตัวนอนทางด้านขวา ผ่ายหญิงนอนทางซ้าย เป็นการนอน เอาเคล็ด

สิ่งของอันเป็นมงคลที่ใช้ในพิธีปูที่นอน มีอยู่หลายตำรา เช่น ใช้หินบดยา ฟักเขียว แมวตัวผู้สีขาว ซึ่งทาแป้งและของหอมไว้ทั้งตัว รวมทั้งถั่วทอง งาเมล็ด ข้าวเปลือก อย่างละหยิบมือห่อผ้าไว้ในพาน ผู้ทำพิธีปูที่นอนจะหยิบของเหล่านี้วางบนที่นอนพร้อมกับแมว และกล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคล แล้วนอนลงพอเป็นพิธี แล้วจึงลุกขึ้น สิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีน่าจะมาจากคติคำอวยพรที่ว่า "ขอให้เย็นเหมือนฝัก หนักเหมือนแฟง ให้อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า ให้เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว"

ก้อนเส้า คือหินเตาไฟสำหรับหุงต้มในสมัยโบราณ แต่เห็นว่ามีคราบเขม่าสีดำสกปรกง่าย จึงเปลี่ยนเป็นหินบดยาแทน ส่วนแมวนั้น ถือกันว่าเป็นสัตว์ที่เชื่องเหมือนกับผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมา และถือเป็นสัตว์มงคล แมวคราว คือ แมวตัวผู้ที่มีอายุมาก มักนอนอยู่กับเรือนไม่ค่อยออกไปเที่ยวไหนๆ บางทีมีการนำกลีบดอกไม้ เช่นดอกกุหลาบ กลีบบานไม่รู้โรย หรือกลีบบัวมาโรย ไว้บนเตียงนอนให้คู่บ่าวสาวด้วย

การส่งตัวเจ้าสาว

เมื่อผู้ทำหน้าที่ปูที่นอนลุกขึ้นแล้ว โดยทำเป็นเพิ่งตื่นนอน ฝ่ายหญิงจะพูดในสิ่งอันเป็นมงคล เช่น ฝันว่าอย่างโน้น อย่างนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม ฝ่ายชายก็จะทำนายทายทักปลอบขวัญ ต่อจากนั้น จึงพากันลุกออกไป

เฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่าย จึงให้คู่บ่าวสาวไปยังที่นอน พ่อแม่ของฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวมาส่งให้เจ้าบ่าว พร้อมทั้งกล่าวฝากฝังให้ช่วยดูแล บอกว่าเจ้าสาวยังเล็กไม่รู้เรื่องการเรือนเท่าไรนัก หากมีสิ่งใดบกพร่อง ขอให้เจ้าบ่าวคอยว่ากล่าวตักเตือน อย่าให้ถึงกับดุด่าจนมีปากเสียง ให้เจ้าบ่าวรักใคร่เอ็นดู เหมือนน้องสาว ช่วยปกป้องคุ้มครองและให้การเลี้ยงดู อย่าได้ทอดทิ้ง ฯลฯ ฝ่ายเจ้าบ่าวก็รับคำเป็นอันดี

จากนั้น พ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ก็อบรมคู่บ่าวสาว ให้รู้จักหน้าที่ของสามีภรรยาที่ดีซึ่งต่อไปจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนลงที่นอน โดยเจ้าบ่าวนอนด้านขวา และเจ้าสาวนอนด้านซ้าย บางทีก่อนนอนก็ให้เจ้าสาวกราบบอกสามีก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะถือว่าสามีเป็นผู้ให้ความดูแลคุ้มครอง

เหตุที่เจ้าบ่าวนอนด้านขวา เพราะอยู่ใกล้ประตู หากมีเหตุอันตราย สามีจะสามารถคุ้มครองปกป้องภริยาของตนได้ เพราะถือว่า ผู้ชายมีความแข็งแรงกว่าหญิง ควรทำหน้าที่ดูแลปกป้อง